ฉลาดกว่า AI ไม่อยากตกงานยุค AI Disruption ต้องอ่านเล่มนี้
สรุปหนังสือฉลาดกว่า AI ฉบับแปลไทยของสำนักพิมพ์ Amarin How To เล่มนี้ เขียนที่หน้าปกบอกว่าเป็นหนังสือ AI ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่ผมได้รับมานานมาก แต่ก็เพิ่งจะได้อ่านจบเอาเมื่อตอนปลายปี 2022 เอง เรียกว่าเป็นหนังสือ AI ที่ไม่ต้องแบกกระไดมาอ่าน เพราะไม่ได้ใช้ศัพท์แสงสูงอะไรมาก เรียกได้ว่าเล่าเรื่อง AI ในภาษาชาวบ้านที่ใครๆ ก็อ่านเข้าใจได้
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกเรื่องเทคนิคใดๆ ให้ปวดหัว แต่บอกเปรียบเปรยว่า AI ในวันนั้น(วันที่เขียนหนังสือเล่มนี้) นั้นฉลาดขนาดไหน หลายส่วนก็ยังคงคล้ายกับความสามารถของ AI ในปัจจุบัน ซึ่งที่หลายคนกังวลว่าเราจะตกงานเพราะ AI ใช่หรือไม่ ส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าทั้งใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะปล่อยให้ตัวเองตกรุ่นไวขนาดนั้นหรือเปล่า
เพราะการก้าวเข้ามาของ AI Disruption คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต อุตสาหกรรมทั้งหลายและธุรกิจทั้งหมด
หรือแม้แต่งานประเภทช่วยวิเคราะห์ สรุปข้อมูล พวกนี้ก็เริ่มมี AI เข้ามาทำหน้าที่แทนให้เราแล้ว นั่นหมายความว่างานอะไรประเภทนี้จะถูกเอา AI เข้ามาช่วยงาน ส่วนคนที่เคยทำงานตรงนี้ก็ต้องเลือกว่า จะปล่อยให้ AI แย่งงานไปเฉยๆ หรือจะเรียนรู้ที่จะทำงานกับ AI แทน
ส่วนตัวผมเริ่มเรียนรู้การใช้ Open AI Chat GPT บอกได้เลยว่าเสพติดมาก จนผมยอมสมัครแบบเสียเงินเพื่อจะได้ถามได้เร็วๆ ไม่สะดุดแล้วตอนนี้ มันช่วยหาข้อสรุปให้ผมได้ไวๆ ช่วยเอาข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดมาให้ตรงหน้า แต่ที่สำคัญกว่าในการใช้ AI คือเราต้องรู้ว่าอะไรที่เชื่อได้ และอะไรที่เชื่อไม่ได้
เราต้องรู้กว้างพอจะรู้ว่าอะไรจริงไม่จริง และเราต้องพอจะรู้ลึกในบางเรื่องที่ถาม เพื่อจะได้เอาไปต่อยอดได้มากกว่าแค่ที่ AI จั่วหัวมาให้
ดังนั้นถ้าใครไม่อยากตกงานยุค AI ผมคิดว่าไม่ยากครับ แค่หาทางใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ มอง AI เป็นเครื่องมือช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น เท่านี้เราก็จะยังอยู่รอดต่อไปในโลกยุคใหม่ AI Disruption ได้ไม่ยาก
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย AI มันฉลาดแต่กำเนิดเลยไหม หรือเราต้องสอนมันอย่างไรให้มันฉลาด
หนังสือเล่มนี้ก็ฉายภาพให้เข้าใจว่าการจะสอน AI ให้ฉลาดนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดี และผู้สอนที่ฉลาดก่อน
การสอน AI ก็เหมือนกับการสอนเด็กคนหนึ่งให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะตัดสินใจแบบไหนถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้
เพียงแต่ถ้าเป็น AI ภาพที่ใช้สอนจะต้องมากกว่านั้นหน่อย (จริงๆ ไม่หน่อยแต่มหาศาล) แต่พอมันเรียนรู้ที่จะแยกแยะได้แล้วการจะให้มันมาช่วยงานแยกแยะผลไม้สองชนิดนี้ใส่ถุงก็จะเป็นเรื่องที่สบายสุดๆ ไปเลยครับ
ระหว่างที่มันเริ่มทำการแยกแยะผลไม้สองชนิดนี้ด้วยตัวเอง แรกๆ อาจทำได้ไม่ดีพอ ยังต้องอาศัยมนุษย์ผู้สอน AI เข้ามาช่วยตรวจคำตอบที่ AI เลือกอีกที
แต่พอผ่านไปสักพักเจ้า AI ก็จะฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอัตราความแม่นยำสูงมาก แทบจะ 99.99% เรียกได้ว่าค่าผิดพลาดอยู่ในสัดส่วนที่รับได้ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต้องใช้มนุษย์มาทำงานแทนชั่วโมงต่อชั่วโมง พอนึกภาพการทำงานในยุค AI Disruption ออกบ้างแล้วใช่ไหมครับ
แต่สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายต่อ AI คือบริบทแบบมนุษย์
หมายความว่าการให้ AI แยกคำถามง่ายๆ ระหว่าง “อร่อย” กับ “ไม่อร่อย” นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก
เช่น ถ้าเราพิมพ์ถาม Google หรือพูดถาม Siri หรือ AI ตัวใดก็แล้วแต่ว่า “ช่วยแนะนำร้านอาหารญี่ปุ่นอร่อยๆ ระแวกนี้ให้หน่อย” เราจะได้คำตอบที่แม่นยำแทบไม่ผิดหวัง ยกเว้นจะโดนรีวิวหลอกเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเราถาม AI เพิ่มไปนิดนึงว่า “ช่วยบอกร้านอาหารที่ไม่อร่อย 10 ร้านให้หน่อย” แน่นอนว่าเจ้า AI ยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “อร่อย” กับ “ไม่อร่อย” ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นข้อมูลร้านอร่อยเหมือนเดิม หรือร้านที่ได้รีวิวดีๆ เหมือนเดิม
AI ก็เช่นกัน ก่อนจะเชื่อสิ่งใดที่ AI บอก เราต้องเข้าใจให้มากพอก่อนเชื่อใจ
และนี่ก็เป็นสรุปภาพรวมของหนังสือ ฉลาดกว่า AI เล่มนี้ หนังสือที่จะทำให้เรารู้ว่าการก้าวเข้ามาของ AI Disruption ไม่ได้เข้ามาทำลายล้างมนุษย์ แต่เข้ามาช่วยให้มนุษย์เราทำสิ่งที่อยากทำได้ดีขึ้น ไวขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันกับคนที่ไม่พร้อมปรับตัวเรียนรู้ทำงานกับ AI ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ และก็ดูเหมือนว่าจะมีคนไม่น้อยที่น่าจะปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้ยาก หวังว่าคุณที่อ่านสรุปหนังสือเล่มนี้ จะไม่ใช่คนเหล่านั้นครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 46 ของปี 2022
สรุปหนังสือ ฉลาดกว่า AI รู้เท่าทันขีดความสามารถของ AI เพื่อจะขัดเกลาทักษะที่คุณมีให้เหนือกว่า อาราอิ โนริโกะ เขียน อาคิรา รัตนาภิรัต แปล สำนักพิมพ์ howto
จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/
สรุปหนังสือย่องเบาเข้าญี่ปุ่น หนังสือแนวใหม่สำหรับผม เป็นแนวออกจะไปทางนวนิยายเรื่องแต่งผสมเกร็ดความรู้บนเรื่องจริง ฉะนั้นเลยขอสรุปเฉพาะเกร็ดความรู้เรื่องญี่ปุ่นที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนและคิดว่าน่าสนใจแทนแล้วกันนะครับ Made in USA คือผลิตในเมืองยูซ่าประเทศญี่ปุ่น ต้องบอกก่อนว่าประเทศญี่ปุ่นในยุคแรกเริ่มสร้างประเทศ ก็เริ่มจากเป็นประเทศแรงงานราคาถูก ผลิตสินค้าเลียนแบบตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายในวันนี้ ณ วันนั้นสินค้าที่คนอเมริกาชอบ และคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกชอบก็หนีไม่พ้นสินค้าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา หรือ Made in U.S.A. ก็ในเมื่อผู้คนต่างชอบจะซื้อสินค้าที่มีตราว่าผลิตในอเมริกามาก ญี่ปุ่นก็เลยเกิดไอเดียว่าถ้างั้นเราเอาเมืองหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเราที่ชื่อว่า ยูซ่า (ไม่รู้ว่าเมืองนี้มีจริงมาตั้งแต่ต้นไหม หรือเพิ่งมาคิดเอาได้ว่าต้องมีแล้วจึงสร้างมันขึ้นมา) ก็เลยผลิตสินค้าเลียนแบบฝั่งอเมริกาแล้วก็ติดป้ายว่า Made in USA ที่ไม่ได้หมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะถ้าเป็นแบบนั้นต้องเขียนโดยมีจุดตัวย่อว่า U.S.A. ถึงจะเท่ากับ United State of America เรียกได้ว่าหัวหมอยิ่งกว่าคนจีนที่เราเชื่อกัน เรื่องนี้กลายเป็นคดีความกันยกใหญ่ในเวลานั้น แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็ชนะไปด้วยการบอกว่าเราไม่ได้โกหกว่าผลิตในอเมริกา แต่มันคือการผลิตในเมืองอุษาประเทศญี่ปุ่น แล้วพอเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็คือ USA ที่บังเอิญคล้ายชื่อย่อสหรัฐอเมริกาไงเล่า!! จากการเลียนแบบนานวันเข้าก็กลายเป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างนวัตกรรมของตัวเอง นานไปกว่านั้นจากนักปลอมของคนอื่น กลายเป็นผู้สร้างความเป็นของแท้ Original แบบ Japan ที่ชาติอื่นๆ อยากเลียนแบบแทนมากมาย ด้วยความที่คนญี่ปุ่นก็ชอบคิดนอกกรอบ คิดอะไรที่หลุดโลกแบบสุดๆ […]
สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast เล่มนี้เป็นหนังสือภาษาอังกฤษล้วนไม่กี่เล่มที่ผมอ่านจบได้ ด้วยความที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาพ ตัวหนังสือน้อย ยิ่งทำให้อ่านง่าย อ่านไว แต่ยังเข้าใจสาระประเด็นหลัก หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดภาพรวมของคำว่า AI ที่กำลังเห่อและเป็นกระแสอย่างหนักในวันนี้ ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร มีวิวัฒนาการมาแบบไหน และแก่นหลักของ AI จริงๆ มีกี่แบบ AI คืออะไร ? เริ่มต้นที่คำถามหลัก คำถามที่พื้นฐานที่สุด แต่จะทำให้เราเข้าใจแก่นสิ่งนั้นมากที่สุด ก็คือ What is AI ? หรือ AI คืออะไร ? จากคำตอบของหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า AI คือรูปแบบการคิดหรือตัดสินใจ โดยอ้างอิงจากข้อมูลหรือสถิติเป็นหลัก และ AI จะเป็นประโยชน์มากเมื่อใช้กับงานหรือปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงชัดเจน เช่น ช่วยคิดหน่อยว่าลูกค้าที่เพิ่งซื้อสินค้าชนิดนี้ไปควรแนะนำขายอะไรต่อดีถึงจะทำให้เกิดโอกาสซื้อซ้ำมากที่สุด หรือ ช่วยหาหน่อยว่าลูกค้าคนไหนบ้างมีโอกาสจะเลิกเป็นลูกค้าเราในเร็วๆ นี้ โดยทั้งหมดนี้ก็จะอ้างอิงจากข้อมูลการซื้อหรือข้อมูลของลูกค้าในอดีต เทียบกับลูกค้าคนก่อนหน้าแล้วเอามาหาความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซนต์ จุดเริ่มต้นของ AI เรื่องราวของ AI มีมานานมาก […]