สรุปหนังสือ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม เขียนโดย ดร.ต้นสน สันติธาร เสถียรไทย หนึ่งในนักเขียนที่ผมชื่นชอบในผลงานจากเล่มก่อนหน้า Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต มาเล่มนี้บริบทการเล่ามาจากโลกยุค ChatGPT หรือ Generative AI ยุคที่เราเคยแค่จินตนาการว่ากว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานระดับนี้ได้น่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าสิบปี แต่ดูเหมือนว่าโลกเราพัฒนาไปได้เร็วกว่าที่คิดจนมันเกิดขึ้นแล้วในวันนี้
วันที่เราสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ด้วยภาษามนุษย์ปกติ คอมพิวเตอร์หรือ AI สามารถตอบคำถามเราได้เสมือนอับดุล หรือ Jarvis ใน IRON MAN จากสิ่งที่เคยเห็นผ่านภาพยนต์เรื่อง HER ที่มนุษย์เริ่มหลงรัก AI ที่มีแค่เสียงและเห็นโลกผ่านกล้อง แต่ก็สามารถเข้าใจไปพร้อมกันนั้นเกิดขึ้นแล้ว
ดูเหมือนโลกเรานับจากนี้ไปจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เรามาลองดูบางช่วงบางตอนบางแง่บางมุมที่ผมเห็นว่าน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้กันนะครับ
Digital อิ่มตัว
จากกระแส Work From Anywhere หลังเชื้อไวรัสโควิด19 เริ่มซา ที่เราคาดว่าน่าจะเป็นกระแสหลักของการทำงานในโลกยุคหลังโควิดนั้นกลับไม่เป็นดังที่คิดเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานจากที่บ้าน 100% ก็มีบางคนถวิลหากันพบกันที่ออฟฟิศบ้าง จนทำให้เกิดการแวะมาที่ออฟฟิศสักสัปดาห์ละ 1-2 วัน แต่ดูเหมือนวันนี้จำนวนวันที่ต้องกลับเข้าออฟฟิศแทบจะ 5 วันเต็มเสมือนปกติก่อนหน้าจะเกิดโควิด19
บริษัทที่เคยมีมูลค่าหุ้นพุ่งทะยานในเวลานั้นกลับมีมูลค่าค่อยๆ ลดลงจนเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง สตาร์ทอัปบางตัวถึงขั้นไปต่อไม่ไหวต้องปิดตัวไปก็เยอะ และนี่ก็มาจากการกดดันที่ต้องเร่งเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด เพราะจากช่วงโควิดที่เคยมีผู้ใช้บริการพรวดพราด แต่ดูเหมือนว่าหลังโควิดมาจำนวนผู้ใช้บริการจะหยุดนิ่งอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีบริการดิจิทัลบางส่วนมีผู้ใช้ลดลงทั้งในแง่ของจำนวนไปจนถึงระยะเวลาการใช้งาน
เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่ผมติดตามรายงาน Thailand Digital Stat จาก We Are Social เป็นประจำทุกปีก็เริ่มพบสัญญาณนี้ตั้งแต่ปี 2022 จำนวนคนออนไลน์ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดูเหมือนว่าใครทำ Digital Product จะต้องมาเน้นการเพิ่ม Customer Lifetime Value จากการทำ Data Monetization เป็นกลยุทธ์หลักแทนแล้วครับ
Digital Business จาก Data
และจากที่ผู้คนแห่กันมายังดิจิทัลหรือออนไลน์ในช่วงการล็อคดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ให้บริการดิจิทัลทั้งหลายเต็มไปด้วยดาต้ามากมาย จนคนไม่เคยซื้อของออนไลน์ก็ต้องหัดซื้อ จนวันนี้การสั่งของออนไลน์แล้วมีคนมาส่งที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติไม่ได้ลดลงกลับไปเหมือนก่อนหน้า
และจากสิ่งที่พูดมาก็ทำให้เกิดธุรกิจ Digital Lending หรือการให้บริการกู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีเอกสารค้ำประกัน แค่ขอดู Digital Footprint หรือ Data หน่อยว่าเป็นอย่างไร เพียงเท่านี้ก็สามารถประเมินวงเงินกู้ให้ได้ง่ายๆ ในเวลาไม่กี่นาทีจริงๆ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ปล่อยกู้ก็มีสัดส่วนการได้รับเงินคืนที่สูงกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้ก็มาจากการใช้ Algorithm ปรับจูนโมเดลคำนวนความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละรายโดยใช้ Data หรือ Digital Footprint จริงๆ อีกทีครับ
ดังนั้นใครยังไม่เริ่มคิดหาทางใช้ดาต้าให้ดีกว่านี้ คุณอาจไม่เหลือที่ให้ไปต่อแล้วในอีกสองปีข้างหน้าก็ได้
Redefine New Creativity นิยามใหม่ความสร้างสรรค์
เพราะวันนี้ Generative AI เช่น ChatGPT สามารถทำสิ่งที่เราเคยคิดว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกลอน แต่เพลง เขียนหนังสือ หรือแม้แต่ทำงานศิลปะ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า Creativity มันคือการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจาหัวสมองของเราเอง แต่ดูเหมือน Generative AI จะสามารถทำได้ดีไม่แพ้มนุษย์ หรือถ้าเอาเข้าจริงจะเรียกว่าดีกว่ามนุษย์หลายคนที่ทำงานแบบส่งๆ เช้าชามเย็นชามด้วยซ้ำ
ดร.ต้นสน บอกว่าผู้เขียนหนังสือ Tomorrowmind ได้จำแนกความสร้างสรรค์ไว้เป็น 4 กลุ่ม
- Connect the Dots สามารถมองเห็นความเหมือนในความต่าง เห็นจุดเชื่อมโยงในสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวกัน
- สามารถมองเห็นความแตกต่างในความเหมือน แยกแยะสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นก้อนเดียวกันออกมาได้เป็นชิ้นเล็กๆ ย่อยๆ
- สามารถดูออกว่าสิ่งที่ดูสำคัญอาจไม่สำคัญ และสิ่งที่ดูไม่สำคัญ จริงๆ แล้วอาจสำคัญ
- สามารถจินตนาการสิ่งที่จินตยาการยาก และไม่อาจเคยเห็นมาก่อน
ส่วนตัวผมชอบนิยามความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ นี้ เพราะมันแทบจะไม่เกี่ยวกับการลงมือทำ แต่มันเกี่ยวกับการใช้ Critical Thinking จริงๆ
เมื่อการลงมือทำไม่สำคัญเท่าวันวาน เพราะเรามี Generative AI ที่สามารถช่วยทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะแต่งเพลง วาดรูป สร้างภาพ หรือสร้างวิดีโอทั้งเรื่องขึ้นมาใหม่ เราอยู่ในยุคที่คำว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เกิดขึ้นจริงแล้ว
นับจากนี้ไปเราจะแข่งกันว่าใครสามารถคิดในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึงได้ก่อน
จากเสือตัวที่ 5 สู่ตัวประกอบของอาเซียน
ดูเหมือนประเทศไทยนับจากนี้ไปจะค่อนข้างวิกฤต จากเดิมเศรษฐกิจเราเคยดี เราเคยเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ภูมิภาคอาเซียนนี้ แต่การเข้ามาของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า EV ส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตรถน้ำมันเดิมไม่น้อย
ส่วนในด้านของอุตสาหกรรมสีเขียวเราก็ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่น้อยมาก ดูเหมือนว่าในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ประเทศไทยค่อยๆ ถูกลืมจากนักลงทุนไปเรื่อยๆ
แต่เรื่องนี้ก็มีทางออก ถ้าเราสามารถสำนึกตัวได้ไวและเปลี่ยนกฏกติกาข้อบังคับที่มีกฏหมายยุบยับเป็นตัวห้าม เราก็อาจจะพอดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้ดีเหมือนเดิม
ถ้าเราสามารถลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เรื้อรังมานานได้หมดสักที หรือเอาให้ลดลงสักหน่อยก็ได้ ก็คงทำให้เรากลับมามีสเน่ห์ขึ้นในสายตาเวทีโลก
ถ้าเราสามารถดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกให้อยากมาอยู่เมืองไทยได้ ไม่ใช่ผลักไล่ใสส่งเด็กรุ่นใหม่หัวดีให้ย้ายประเทศไปสร้างความเจริญให้ที่อื่นแบบก่อนหน้า เราก็จะมีทรัพยากรมนุษย์ทองคำมากมายที่จะพัฒนาประเทศนี้
ถ้าประเทศลงลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ดีและรวดเร็ว บวกกับไร้การคอร์รัปชั่นได้มากกว่านี้ ประเทศไทยประเทศนี้คงกลับมามีที่ยืนบนเวทีโลกได้ไม่ยาก
แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังไม่มีทิศทางว่าจะปรับตัวได้ทัน แถมเรายังเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนาสักที ติดหล่มคำว่ากำลังพัฒนามาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว บวกกับประเทศเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเรียบร้อยแล้ว จำนวนประชากรเราจะเริ่มลดลงนับจากนี้ไป คิดไม่ออกเลยว่าประเทศนี้จะมีอนาคตอย่างไร คนส่วนใหญ่ในประเทศที่ยังยากจนจะใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่ประเทศไทยกลายเป็นแค่ตัวประกอบของอาเซียนครับ
STAN Singapore Tourism Analytics Network
STAN หรือ Singapore Tourism Analytics Network คือแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศสิงค์โปร ที่พัฒนาโดยภาครัฐที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลจากภาคเอกชนกว่าสองหมื่นราย
Tourism Data ที่มาจากเอกชนเองก็มาจากการทำสัญญาแบ่งปันข้อมูล Data Sharing Agreement กับ 15 บริษัทเทคใหญ่ๆ ไม่ว่าจะ GRAB, Tencent หรือ Expedia ทำให้รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ดีเพื่อจะได้เอาไปใช้วิเคราะห์ต่อยอดเป็นกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจภาคการท่องเที่ยวได้อย่างแม่นยำ
และนั่นก็ทำให้ประเทศสิงค์โปรค้นพบ Insight จาก Data ว่า นักท่องเที่ยวจีนและอินโดนีเซียเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุดเวลาไปช้อปปิ้ง ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ารู้ว่าควรออกแคมเปญพิเศษในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวสองชาตินี้เข้ามาเยอะกว่าปกติ
1 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศสิงค์โปรมักจะมีการเปลี่ยนโรงแรมระหว่างทริป โดยมักจะอัปเกรดไปอยู่โรงแรมที่แพงขึ้น ทำให้โรงแรมสามารถคิดกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าให้อยู่พักกับตัวเองนานๆ แทน ไม่ต้องเดาสุ่มในการทำการตลาดหรือออกโปรโมชั่นมั่วๆ อีกต่อไป
SkillsFuture โครงการแจกความรู้ให้ประชาชนของรัฐบาลสิงค์โปร
ดูเหมือนประเทศนี้รัฐบาลเขาจะมีวิสัยทัศน์ค่อนข้างล้ำ ในขณะที่ประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศไทยเราเน้นการแจกเงินเป็นหลัก ประเทศเขาได้ทำการแจกความรู้ให้กับประชาชนแทน
SkillsFuture คือโครงการแจกเหมือนกัน แต่สิ่งที่แจกไม่เหมือนกัน นั่นก็คือให้เครดิตหรือคูปองดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวสิงค์โปรที่อยากเรียนรู้ทักษะใหม่สำหรับอนาคตสามารถเลือกเรียนอะไรก็ได้ตามใจ
โดยทุกคนจะได้คูปองเหมือนๆ กันตอนต้นปี และต้องรีบใช้เรียนให้ทันปลายปีที่คูปองจะหมดอายุ
ดูเหมือนว่าการติดกระดุมเม็ดที่ 0 ของเขาจะฉลาดกว่าเราที่ยังวุ่นกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะเป็นการใช้งบประมาณ 500,000 ล้านที่ไม่ค่อยเกิดผลกระทบในระยะยาวหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานสักเท่าไหร่
From Product Design to Brand Ecosystem Design
เดิมทีเรามักแข่งกันออกแบบสินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง หรือมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากๆ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่พอสำหรับโลกวันนี้ นับจากนี้ไปถ้าบริษัทไหนอยากอยู่ต่อและเติบโตได้ ต้องเริ่มหันมาใส่ใจกับการออกแบบ Brand Ecosystem
อย่าง Apple ที่ไม่ได้ออกแค่สินค้ามาขายเป็นชิ้นๆ แต่ยังออกแบบให้ทุกชิ้นสามารถทำงานส่งเสริมกันได้ เช่น ถ้าคุณมี Macbook กับ iPad สามารถนำไป iPad มาต่อเป็นจอแยกได้ง่ายๆ ไม่วุ่นวายเหมือนรายอื่น
แล้วก็มี iCloud ให้คุณเก็บข้อมูลมากมายได้บนนั้นในราคาเดือนละไม่กี่บาท ส่วนคนที่ใช้ iPhone ก็สามารถ copy ลิงก์หรือข้อความลงคอมพิวเตอร์ Macbook หรือ iMac ได้สบายๆ
หลักคิดการออกแบบ Brand Ecosystem นั้นมีมานานมาก แต่มีน้อยบริษัทที่จะสามารถทำได้จริงอย่าง Apple ในวันนี้ ลองคิดดูนะครับว่าคุณจะต่อยอดทำเงินจากลูกค้าคนเดิมอย่างไรได้บ้าง
เพราะนี่คือกลยุทธ์การตลาดแบบ Customer Lifetime Value หรือการทำเงินจากลูกค้าคนนึงให้นานที่สุดตลอดช่วงอายุที่เขาเป็นลูกค้าเรา
น้ำไม่เต็มแก้ว
นี่คือประเด็นสุดท้ายในเล่มนี้ที่จะขอพูดถึง มันคือการกลับมาย้ำจุดง่ายๆ อย่างเรื่อง “น้ำไม่เต็มแก้ว” แต่ในนิยามใหม่
น้ำไม่เต็มแก้วไม่ใช่การพูดหวาน พูดเพราะ อ่อมน้อมถ่อมตน แต่มันคือการยอมรับว่าเราไม่รู้ และเราพร้อมจะเรียนรู้จากทุกๆ คนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย
เพราะเราอยู่ในยุคที่ความรู้หมดอายุไวขึ้นทุกวัน หลายสิ่งที่เคยรู้มาเมื่อปีก่อนกลับไม่สามารถใช้งานได้แล้วในปีนี้
เราต้องยอมรับว่าเราไม่รู้ เพื่อที่เราจะได้รู้ เราจะต้องขยายขนาดแก้วของเราให้ไว เพื่อที่จะได้เติมความรู้ใหม่ๆ เข้ามา
สรุปหนังสือ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม
นี่คือหนังสือที่ให้แง่คิดและเผยให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ของโลกยุคหลังโควิด19 ที่ก้าวเข้าสู่ยุค AI เต็มตัวแล้วในวันนี้
จากสิ่งที่เราเห็นจาก AI ยุคใหม่หรือที่เรียกว่า Generative AI จาก LLM ทำได้ มันทำให้เราจินตนาการถึงโลกใหม่ที่เคยแต่คิดฝันว่าอีกนานกว่าจะมา กลายเป็นว่าแค่พรุ่งนี้หรืออีกไม่กี่วันข้างหน้าสิ่งนั้นก็พร้อมให้เราใช้งานแล้ว
เราอยู่ในโลกยุคที่เมื่อวานจะล้าสมัยเร็วขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจะหายไปไวมาก เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยจุดเลี้ยว จุดเปลี่ยน และจุดหักเห ไปจนถึงจุดจบ และก็ยังมีจุดเริ่มต้นของอีกหลายสิ่งมากมายที่คาดการณ์ไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่คาดการณ์ได้ก็คือมนุษย์จะยังคงเป็นมนุษย์เหมือนเดิม ดูเหมือนว่ามนุษย์ที่พร้อมจะเข้าอกเข้าใจมนุษย์ที่สุด เข้าใจข้อจำกัดของมนุษย์ด้วยกันมากที่สุด รู้จักในข้อดีของมนุษย์มากที่สุด จะเป็นคนที่ได้ไปต่อและขึ้นมาเป็นคนระดับท็อปในโลกยุค AI ครับ
อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 20 ของปี
สรุปหนังสือ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม
เข้าใจการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สร้าง “โอกาส” ใหม่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
สันติธาร เสถียรไทย เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ: https://summaread.net/category/economy/
สั่งซื้อออนไลน์
https://s.shopee.co.th/4ptzEMEjp8