สรุปหนังสือ Human + Machine คนกับ AI โอกาสและความเสี่ยง ที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะเล่มก่อนหน้าคือ การปฏิวัติคอนเทนต์(Content & Creativity)ในยุคแห่ง AI พออ่านปุ๊บแล้วรู้สึกว่าอยากหาหนังสือ AI ที่เขียนด้วยภาษาชาวบ้านมาอ่านต่อ และก็เจอว่าชั้นหนังสือที่บ้านมีเล่มนี้ดองไว้นานแล้วพอดีครับ
ก็เลยถือโอกาสหยิบมาอ่านต่อซะ เผื่อว่าจะได้ความรู้ความเข้าใจถึงแง่มุมของการนำ AI ไปใช้กับธุรกิจด้านต่างๆ และก็ถือว่าไม่ผิดหวังเพราะหนังสือเล่มนี้เขียนให้เห็นภาพการนำ AI ไปใช้งานการทำธุรกิจ การทำงาน ที่สะท้อนไปถึงการตลาดในชีวิตประจำวันให้เข้าใจได้ง่ายๆ ให้รู้ว่าตอนนี้โลกกำลังจะไปทางไหน ส่วนคนที่เค้าเอา AI ไปใช้แล้วเค้าไปถึงไหนกันแล้วด้วยครับ
หนังสือ Human + Machine คนกับ AI เล่มนี้บอกให้รู้ว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้เขาใจผลกระทบของ AI ในปัจจุบัน และในอนาคต คือการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการธุรกิจนั่นเอง และสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคือ AI หรือ Machine จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ให้หมดไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นอีกแง่มุมหนึ่งคือจะเกิดงานใหม่ๆ ที่มนุษย์ต้องทำงานกับ AI ให้ได้จำนวนมาก เปรียบเสมือนกับตอนคอมพิวเตอร์เพิ่งเข้ามาในชีวิตประจำวัน แล้วเราก็เห็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของการรับคนเข้าทำงานคือต้องสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือโปรแกรม Microsoft Office เป็นนั่นเอง
แล้วพอนานวันเข้าคุณสมบัติเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกระบุเข้าไปยัง Job description งานอีกต่อไป เพราะมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เปรียบเสมือนสามารถอัปโหลดรูปลง Facebook เข้า YouTube เป็น และก็ส่ง Sticker LINE ได้นั่นเองครับ
ที่น่าสนใจคือเราเคยได้ยินคำว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” โดย Big Data, Machine learning หรือ AI มาก่อนใช่ไหมครับ แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่าพอ AI เข้ามาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจทั้งหมดที่เรียกว่า “คลื่นลูกที่สามของกระบวนการธุรกิจ”
คลื่นลูกที่สามของกระบวนการธุรกิจ
หนังสือเล่มนี้บอกว่าคลื่นลูกแรกของการปรับเปลี่ยนธุรกิจคือ การสร้างกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน Standardized process ซึ่งก็คือระบบสายพานการผลิตนั่นเองครับ เดิมทีของทุกอย่างต้องทำทีละชิ้น ทำโดยคนหนึ่งคนตั้งแต่ต้นจนจบ แต่พอระบบสายพานการผลิตเข้ามาก็ทำให้หนึ่งคนทำแค่หนึ่งอย่างให้เชี่ยวชาญ แล้วก็ส่งงานลำดับต่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญอีกคนแทน
ทำให้คนเราสามารถเก่งขึ้นได้เร็วมาก และการผลิตก็เป็นไปอย่างมีมาตรฐานที่ทำให้สินค้าทุกชิ้นออกมาดีเหมือนกันโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาแบบเดิม และผู้ที่นำระบบนี้เข้ามาปฏิวัติการทำธุรกิจก็คือ Henry Ford ที่เดิมทีการผลิตรถหนึ่งคันต้องใช้ช่างฝีมือมากประสบการณ์ ใช้เวลาในการทำนานมาก เพราะต้องทำตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวคนเดียว แถมยังมีราคาแพงอีกด้วย
แต่พอระบบสายพานการผลิตเข้ามาก็ทำให้การผลิตรถหนึ่งคันนั้นทั้งรวดเร็วและออกมามีมาตรฐานเดียวกันหมด ทำให้รถยนต์กลายเป็นประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้นั่นเองครับ
ส่วนคลื่นลูกที่สองของการปรับเปลี่ยนธุรกิจคือ ระบบอัตโนมัติ
เริ่มต้นในทศวรรษ 1970 และเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ยกเครื่องการทำงานหรือที่เรียกว่า Re-engineering นั่นเองครับ
ซึ่งการทำ Re-engineering ได้ก็มาจากความก้าวหน้าของ IT อย่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และ Software ต่างๆ ที่เปลี่ยนระบบเดิมที่เคยเป็นกระดาษหรือแยกออกจากกัน ให้สามารถเอามารวมกันไว้ในที่เดียวได้โดยง่าย ตัวอย่างที่เอาไปใช้แล้วประสบความสำเร็จก็อย่างเช่น Wallmart ที่ปรับรูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีกใหม่หมดด้วยการตั้งราคาเดียวได้ทั่วประเทศ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงราคาได้จากสำนักงานใหญ่แล้วกระจายออกไปทั่วประเทศเช่นกัน
และก็มาถึงคลื่นลูกที่สามของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ นั่นก็คือ Automation
คลื่นลูกที่สามของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ คือ กระบวนการธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะเรียกว่า Automation ได้มั้งครับ
คลื่นลูกนี้เกิดมาจากเมื่อระบบประมวลผลก้าวหน้าอย่างมากในวันนี้ เรามี Data มากมายจนคำว่า Big อาจดูน้อยไป และสุดท้ายคือการทำงานของ AI ที่มีมานานสามารถใช้งานได้จริงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้วเสียที
แล้วยิ่งข้อมูลในระดับ Big Data ซึ่งไหลเข้ามาแบบ Real-time นั้น ก็ทำให้ธุรกิจใดก็ตามที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้รวดเร็วและแม่นยำกว่า สามารถทิ้งห่างคู่แข่งไปได้สบายๆ
และนั่นก็หมายความว่าระบบการทำงานแบบเดิมที่อาศัยการวางแผนนานๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาก็ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนแผนงานหรือการทำธุรกิจต่างๆ แทบจะรายวันหรือบางครั้งอาจถึงรายนาทีครับ
นั่นทำให้ 5 Years Plan ที่ธุรกิจชอบทำนั้นไม่สำคัญอีกต่อไป หรือแม้แต่ Year plan ธรรมดาก็อาจต้องรื้อทิ้งใหม่เมื่อเจอข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น COVID-19 ที่เข้ามา Disrupt โลกทั้งใบแบบยิ่งกว่า AI หรือ Internet ครับ
ดังนั้นจะเห็นว่าธุรกิจในยุคนี้ต้องปรับตัวเร็วมาก และการจะปรับตัวได้เร็วมากขนาดนั้นก็ต้องมีระบบ Automation ที่ดี หรือมี AI ที่ต้องสามารถทำงานร่วมกันได้แบบเพื่อนที่รู้ใจนั่นเอง
Waze หรือ Google Maps ตัวอย่างสินค้าที่เป็น Automation
Waze ระบบนำทางอัตโนมัติของประเทศอิสราเอลที่ถูก Google ซื้อไปแล้วนำไปใช้กับ Google Maps ด้วยราคากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเคสตัวอย่างการทำให้เข้าใจภาพการทำ Transformation ของธุรกิจหรือสินค้าที่เข้าใจได้ง่ายจริงๆ
ต้องบอกว่าเดิมทีเวลาเราจะไปยังพื้นที่ๆ ไม่คุ้นเคยเลยต้องใช้แผนที่ใช่มั้ยครับ จากนั้นเมื่อ Digital เข้ามาแผนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลที่สามารถเปิดดูได้จากหน้าจอต่างๆ
และนั่นยังไม่ใช่ Digital business หรือ Digital product ที่แท้จริง เพราะมันก็เป็นแค่การแปลงคุณสมบัติจากมีตัวตนให้กลายเป็นไม่มีตัวตน แต่วิธีการใช้งานยังคงเป็นแบบเดิม
แต่ Waze นั้นพลิกมุมใหม่ ด้วยการเปลี่ยนจากแผนที่ธรรมดาเป็นระบบนำทางอัตโนมัติ ที่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางให้ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่ผู้ใช้งานตั้งไว้ เช่น จะไปถึงให้เร็วที่สุด หรือจะไปด้วยระยะทางสั้นที่สุด หรือจะหลีกเลี่ยงทางด่วน หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นจะเห็นว่าจากแผนที่ไม่ใช่แค่แผนที่อีกต่อไป แต่เป็นการนำทางจากจุดหมายหนึ่งบนแผนที่ไปสู่อีกจุดหมายถึงบนแผนที่นั่นเองครับ
ดังนั้นถามตัวเองให้ดีว่า เราทำธุรกิจแบบดิจิทัลจริงๆ หรือเราเอาแค่สิ่งเดิมๆ มาเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลและก็กลับไปทำงานแบบเดิมอยู่กันแน่
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่ผมชอบมาก นั่นก็คือ GE จากบริษัทขายสินค้า กลายเป็นขายบริการด้วย AI
เมื่อยุค Big Data ก้าวเข้ามา GE ก็เลยสร้าง Digital Twin และนำมาสู่บริการ Predix ที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าก่อนต้องซ่อม
อีกหนึ่งเคสการทำ Digital Transformation ของธุรกิจที่ผมชอบมากก็คือ GE หรือบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราคุ้นเคย แต่ความจริงแล้วบางคนอาจไม่รู้ว่าบริษัท GE นี่ผลิตของสำคัญและใหญ่มากๆ อย่างกังหันลมอันยักษ์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า หรือแม้แต่เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินก็ตามครับ
เดิมที GE ก็เป็นผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และก็มีบริการส่งช่างไปซ่อมบำรุงตามระยะเวลาที่กำหนด แต่รู้มั้ยครับว่าหลายครั้งชิ้นส่วนเหล่านั้นยังไม่ได้ใกล้เคียงที่จะเสียหาย ก็ทำให้ส่งช่างไปฟรีมากมาย เป็นค่าใช้จ่ายก็ไม่น้อย หรือหลายครั้งก็มีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันทำให้เกิดการเสียหาย ทำให้ลูกค้าต้องเสียงานส่วนทาง GE เองก็ต้องรีบจัดหาช่างหรือทีมงานไปดำเนินการแก้ไขให้ไว
นึกภาพง่ายๆ เหมือนกำหนดระยะเวลาการซ่อมบำรุงรถยนต์ของเราตามระยะทาง หรือระยะเวลาการซ่อมบำรุงลิฟต์ตามระยะเวลารายเดือนนั่นแหละครับ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วรถบางคันอาจต้องการการซ่อมบำรุงที่เร็วกว่าในบางช่วง เพราะอาจเพิ่งไปรับงานหนักมาก หรือรถบางคันอาจแทบไม่ต้องซ่อมแซมเลยก็ได้ เพราะเจ้าของขับดีมากตลอด
และด้วยยุค Big data, Cloud computing บวกกับ AI ทำให้ทั้งหมดนี้เปลี่ยนธุรกิจ GE ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Digital Twin หรือการเอาข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ ของอุปกรณ์ต่างๆ มาวิเคราะห์และจำลองสถานการณ์จริงว่าอุปกรณ์ชิ้นนั้นใกล้จะเสียหายแล้วหรือยัง หรือมีอะไรที่ผิดปกติที่ควรรีบส่งช่างเข้าไปดูก่อนจะเสียหายหนักหรือไม่ และจาก Digital Twin ก็ทำให้ GE เกิดธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า Predix หรือที่เป็นการพ้องเสียงมาจาก Predict ที่หมายถึงการคาดการณ์อนาคตล่วงหน้านั่นเองครับ
ไว้มีโอกาสจะทำการบ้านหาข้อมูลมาเพิ่มและเล่าให้ฟังต่อในเพจการตลาดวันละตอน ผมว่าเรื่องนี้นักการตลาดยุคใหม่ในยุค Data ควรต้องรู้ไว้เพราะสามารถเอาแนวคิดนี้ไปต่อยอดได้มากมาย
และยังมีอีกหลายแง่มุมในการเอา AI ไปใช้ช่วยในการทำงานต่างๆ ให้ง่ายขึ้นเสมือนตอนเราเริ่มเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำงานนั่นเอง
AI ช่วยให้เราได้ทำงานสมกับเป็นมนุษย์มากขึ้นที่ Virgin Trains
เมื่อมีลูกค้ามากก็ย่อมมีข้อร้องเรียนมากมายตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากจดหมาย อีเมล หรือข้อความบนโซเชียลมีเดียใดๆ ก็ตามที่ Virgin Trains ได้รับในแต่ละวันก็ช่างมากมายมหาศาลเสียเหลือเกิน ส่งผลให้พนักงานต้องจมอยู่กับกองข้อความซ้ำซากมหาศาล เพื่อคอยคัดและตอบกลับ รวมถึงค้นหาข้อร้องเรียนที่สำคัญจริงๆ ออกมาแก้ไขให้ทันที
ดังนั้นงานแบบรูทีนของพนักงานก็คือการคัดแยกจดหมายหรือข้อความมากมาย จนทำให้มีเวลาที่ได้บริการลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจจริงๆ น้อยมากครับ
แต่เมื่อ Virgin Trains เอา AI มาช่วยพนักงานในการคัดแยกข้อความออกมาและจัดการตอบกลับปัญหาง่ายๆ หรือข้อสงสัยสักถามที่ไม่ซับซ้อนออกไป ก็ส่งผลให้พนักงานมีเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนั่นก็ส่งผลให้พนักงานสามารถใช้เวลาในการดูแลพูดคุยกับลูกค้าจริงๆ ได้มากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าประทับใจกับ Virgin Trains เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เป็นอย่างไรครับกับตัวอย่างการทำงานร่วมกับ AI ที่ส่งผลให้มนุษย์เราได้ทำงานสมกับที่เป็นมนุษย์จริงๆ
AI กับ Marketing ช่วยให้รู้ว่าต้องเตรียมพนักงานแบบไหนในช่วงเวลาใดถึงจะเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างดี
เดิมทีร้านค้าปลีกไม่เคยรู้ในรายละเอียดของลูกค้าในร้านเท่าไหร่นัก แต่รู้มั้ยครับพอมีแบรนด์แฟชั่นร้านนึงเอา AI มาช่วยในการจำแนกใบหน้าลูกค้าออกมาว่าลูกค้าแบบไหนเข้ามาในช่วงเวลาใดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ก็ส่งผลให้แผนก Marketing และ Operation รู้ว่าร้านตัวเองมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเยอะมากในช่วงบ่ายของบางวัน นั่นก็เลยทำให้ทางร้านเตรียมพนักงานที่สามารถพูดภาษาจีนได้ดีเข้ามาเสริมในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้พนักงานเดิมที่พูดไม่ได้สามารถให้บริการลูกค้าทั่วไปได้อย่างสบายใจเพราะไม่ต้องอึดอัดเรื่องภาษา ส่วนยอดขายจากลูกค้าชาวจีนก็เพิ่มสูงขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
เมื่อ AI ทำให้ Chatbot กลายเป็น Brand Ambassador
ประเด็นการเอา AI มาใช้กับ Chatbot ข้อนี้ก็น่าสนใจครับ หนังสือ Human & Machine หรือ คนกับ AI ฉายภาพให้เห็นว่าทุกวันนี้หลายแบรนด์ชั้นนำเริ่มพัฒนาระบบการ Chat ตอบโต้อัตโนมัติหรือ Chatbot ของแบรนด์ตัวเองให้กลายเป็นการสร้าง Brand Experience ที่ดีไปพร้อมกัน
ดังนั้น Chatbot จะไม่ใช่แค่ Chatbot ที่ถามตอบ แต่จะกลายเป็น Chatbrand ที่ธุรกิจจะต้องคิดมากขึ้นว่าจะให้ Chatbot ตัวเองมีคาแรคเตอร์อย่างไร ให้เป็นชาย หญิง หรือไม่มีเพศ ให้คุยติดตลกหรือกวนๆ หรือออกแนวสุภาพผู้ใหญ่ จะให้ใช้สติกเกอร์ตอบโต้มั้ยหรือจะเอาแค่ตัวหนังสือที่ดูเป็นทางการ ดังนั้นเมื่อ AI ใน Chatbot ก้าวหน้า ธุรกิจก็ต้องคิดแล้วว่าจะสร้างแบรนด์ผ่าน Chatbot อย่างไรครับ
AI อาจย่อมาจาก Assistant Intelligence แทน Artificial Intelligence สำหรับธุรกิจ
เพราะเมื่อ AI ก้าวเข้ามาเอางานรูทีนซ้ำซากที่คนเราเบื่อออกไป ทำให้คนเราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ AI จะกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในชีวิตประจำวันเหมือนโทรศัพท์มือถือในท้ายที่สุด และนั่นก็ก่อให้เกิดคำที่เรียกว่า Cobot หรือการทำงานร่วมกับ AI จะกลายเป็นทักษะสำคัญของคนทำงานในยุคใหม่ที่เริ่มขึ้นแล้ว
เพราะแม้ AI จะเก่งกว่าคน แต่เมื่อคนและ AI ร่วมมือกันก็ทำให้ยากที่ใครจะต้านทาน เหมือนกับเก้าอี้ Elbo chair ที่นอกจากดีไซน์สะดุดตายังมีทนทานและใช้วัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก นี่คือตัวอย่างผลการร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI ที่ถ้ามนุษย์ตัวคนเดียวคงไม่อาจทำได้ และถ้าจะใช้แค่ AI อย่างเดียวก็ยากที่จะทำได้เหมือนกัน
หรือที่โรงงานผลิตรถเบนนซ์ในประเทศเยอรมนีก็เริ่มทำแบบเดียวกัน เดิมทีที่เอาหุ่นยนต์มากมายมาช่วยในการผลิตให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่มาวันนี้พวกเขาเริ่มวางแผนเอาหุ่นยนต์ออกเอาและเอาพนักงานที่เป็นคนกลับมาเป็นศูนย์กลางการผลิตมากขึ้น โดยพวกเขาวางแผนให้หุ่นยนต์ที่มีเซนเซอร์การรับรู้มนุษย์รอบตัวมาช่วยผลิตรถยนต์แทน
เพราะเมื่อเบนซ์อยากจะต่างด้วยการผลิตตามออเดอร์ที่มีความ Personalized มากขึ้นก็ส่งผลให้หุ่นยนต์แบบเดิมไม่สามารถทำได้อีกต่อไป นั่นคือช่วงเวลาที่มนุษย์ต้องก้าวเข้ามาเป็นผู้นำ และก็ต้องได้หุ่นยนต์ AI เข้ามาช่วยทำตามคำสั่งเชื่อมโน่น ประกอบนี่ ติดนั่น ให้รถหนึ่งคันสามารถทำแบบ Personalized ได้ครับ
Facebook เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดเก็บ Data ได้มีประสิทธิภาพก็ด้วย AI
รู้มั้ยครับว่าข้อมูลมากมายที่เกิดขึ้นบน Facebook นั้นไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้เหมือนกันหมด เพราะถ้าทำแบบนั้น Facebook ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่ด้วยการนำเอา Machine หรือ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ดูว่าควรจะจัดการตรงนี้อย่างไร ทาง Facebook ก็เลยค้นพบว่ามีข้อมูลแค่ 8% เท่านั้นที่มีความสำคัญถูกเรียกใช้บ่อยถึง 82%
และนั่นก็ทำให้ Facebook ออกแบบ Solution การเก็บข้อมูลที่ช่วยประหยัดต้นทุนและยังคงเต็มไปด้วยประสิทธิภาพมากมาย เป็นอย่างไรครับกับการเอา AI มาช่วยธุรกิจที่มี Data เป็นหัวใจสำคัญอย่าง Facebook
สรุปส่งท้ายหนังสือคนกับ AI หัวใจคือ Culture ไม่ใช่ Technology
บางบริษัทมักเข้าใจผิดว่าการจะทำ Digital Transformation หรือการจะเอา AI มาใช้ต้องหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดใส่เข้าไปแล้วมันก็จะเวิร์คเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องเริ่มที่ Mindset หรือ Culture ของคนในองค์กรครับ เริ่มจากการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่ห่างไกลจาก Culture เดิม
เหมือนที่ Walmart สร้างส่วนที่เรียกว่า Store No.8 ที่เป็นเหมือนยูนิตสตาร์ทอัพในองค์กรใหญ่ที่ไม่ต้องขึ้นเกี่ยวกับองค์กรเดิมและยังสามารถทำอะไรก็ได้
และสุดท้ายปัญหาของการเอา AI มาใช้ในธุรกิจไม่ใช่การทำให้ตำแหน่งงานเดิมหายไป แต่อีกปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือการขาดคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อธุรกิจนั่นเองครับ
ดังนั้นทักษะใหม่ๆ เหล่านี้ใครเข้าใจได้ดีกว่าและเรียนรู้ได้เร็วก่อนเพื่อน คุณก็มีโอกาสจะกลายเป็นคนสำคัญในอนาคตที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้
ถ้าจะบอกว่า AI ทำให้คนตกงานนั่นก็จริง แต่ที่จริงไม่แพ้กันคืองานใหม่ๆ ที่ต้องทำกับ AI นั้นก็หาคนมาทำได้ยากเหลือเกิน คำถามคือ..คุณทำได้ก่อนคนอื่นแล้วหรือยังถ้าจะไปต่อในโลกยุค AI
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 31 ของปี 2020
สรุปหนังสือ Human + Machine คนกับ AI โอกาสและความเสี่ยง
เตรียมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4
Paul R. Daugherty และ H.James Wilson เขียน
ขุนทอง ลอเสรีวานิช แปลและเรียบเรียง
สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์
20200816
อ่านสรุปหนังสือแนว AI ต่อ > https://summaread.net/category/ai/
สั่งซื้อออนไลน์ > https://www.naiin.com/product/detail/477137