สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast หนังสือสรุปเรื่อง Artificial Intelligence แบบเต็มไปด้วยภาพเข้าใจง่าย รู้ทัน AI ในยุค AI Driven

Simply AI, Facts Made Fast

สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast เล่มนี้เป็นหนังสือภาษาอังกฤษล้วนไม่กี่เล่มที่ผมอ่านจบได้ ด้วยความที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาพ ตัวหนังสือน้อย ยิ่งทำให้อ่านง่าย อ่านไว แต่ยังเข้าใจสาระประเด็นหลัก หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดภาพรวมของคำว่า AI ที่กำลังเห่อและเป็นกระแสอย่างหนักในวันนี้ ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร มีวิวัฒนาการมาแบบไหน และแก่นหลักของ AI จริงๆ มีกี่แบบ

AI คืออะไร ?

เริ่มต้นที่คำถามหลัก คำถามที่พื้นฐานที่สุด แต่จะทำให้เราเข้าใจแก่นสิ่งนั้นมากที่สุด ก็คือ What is AI ? หรือ AI คืออะไร ?

จากคำตอบของหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า AI คือรูปแบบการคิดหรือตัดสินใจ โดยอ้างอิงจากข้อมูลหรือสถิติเป็นหลัก และ AI จะเป็นประโยชน์มากเมื่อใช้กับงานหรือปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงชัดเจน

เช่น ช่วยคิดหน่อยว่าลูกค้าที่เพิ่งซื้อสินค้าชนิดนี้ไปควรแนะนำขายอะไรต่อดีถึงจะทำให้เกิดโอกาสซื้อซ้ำมากที่สุด หรือ ช่วยหาหน่อยว่าลูกค้าคนไหนบ้างมีโอกาสจะเลิกเป็นลูกค้าเราในเร็วๆ นี้ โดยทั้งหมดนี้ก็จะอ้างอิงจากข้อมูลการซื้อหรือข้อมูลของลูกค้าในอดีต เทียบกับลูกค้าคนก่อนหน้าแล้วเอามาหาความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซนต์

จุดเริ่มต้นของ AI

เรื่องราวของ AI มีมานานมาก นานระดับไม่ใช่แค่หลักสิบปี แต่มีมายาวนานร่วมพันปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกหรือจีนโบราณ ที่พยายามประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลที่มีชีวิตขึ้นมา เริ่มจากการพยายามเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในด้านของการขยับ การเคลื่อนไหว จนมาเริ่มจริงจังในยุคศตวรรษที่ 18

มีการคิดค้นคำว่า Automata ขึ้นมาในเวลานั้น แล้ว Automata คืออะไร ?

Automata ในยุคเริ่มต้นเปรียบได้กับของเล่น เช่น นาฬิกาโบราณที่เวลาครบ 1 ชั่วโมงตรงจะมีนกโผล่ออกมาจากนาฬิกา แบบนี้เป็นต้น หรือเครื่องจักรของเล่นที่ทำท่าเลียนแบบมนุษย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของการพยายามประดิษฐ์ AI ให้มีความคล้ายสิ่งมีชีวิตมากขึ้นทุกที

ทั้งหมดที่พูดมานี้ มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่า Aunimatronics

ส่วนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แรกที่จำลองการคิดก็เกิดขึ้นในช่วงปี 1940 จากนั้นช่วงปลาย 1950 ก็มีการศึกษาเรื่อง AI จริงจัง

และด้วยความสามารถในการประมวลผลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ส่งผลให้ AI ก้าวล้ำไปกว่าที่หลายคนคิด ใกล้เคียงกับคำว่าวันนี้ AI เหมือนกับมีชีวิตจิตใจขึ้นทุกที อย่างเช่น ChatGPT 4o ที่เราเห็นล่าสุดว่าสามารถตอบด้วยน้ำเสียงคล้ายคน สามารถคุยหยอกล้อเล่นได้เหมือนคน จนอีกหน่อยเราคงแยกไม่ออกว่าตกลงที่คุยด้วยนี่มนุษย์หรือ AI

8 ด้านของคำว่า Intelligence

คำว่า AI หรือ Artificial Intelligence จะครบถ้วนสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยความฉลาดทั้ง 8 ด้านดังนี้

  1. Linguistic Intelligence ความฉลาดทางด้านภาษา การพูด การสื่อสาร
  2. Artistic Intelligence ความฉลาดทางด้านความงาม ความสุนทรีย์ หรือด้านศิลปะต่างๆ ต้องเข้าใจว่าสวยคืออะไร ไม่สวยคืออะไร แม้จะมีความปัจเจกแต่ก็ยังมีความเป็น Common sense ร่วมกันอยู่ สามารถอธิบายได้ว่าทำไมแบบนี้ถึงสวยกว่าแบบนั้น
  3. Numerical Intelligence ความฉลาดทางด้านการคิดคำนวน ซึ่งข้อนี้ Computer หรือ AI กินขาดมนุษย์แน่
  4. Sensory Intelligence ความฉลาดทางด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 สามารถรับรู้ได้ทุกอย่างตั้งแต่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
  5. Spatial Intelligence ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์ เห็นสิ่งรอบตัวแล้วรู้ว่าควรทำอะไร การเข้าใจพื้นที่แบบสามมิติสำคัญมาก ไม่ได้เห็นโลกแบบภาพ 2D แต่รู้ว่าอะไรอยู่ใกล้หรือไกล ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจสำคัญๆ มากมาย
  6. Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ รู้ว่าตอนนี้อีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร น่าจะตอบสนองกลับไปแบบไหน จึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ
  7. Physical Intelligence ความสามารถในการใช้ร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ขยับเขยื้อนได้ดี
  8. Reflective Intelligence ความฉลาดในการคิดให้ตกผลึก คิดให้ตกตะกอน คิดตรวจสอบย้อนความคิดหรือการกระทำตัวเองได้

การจะเป็น AI โดยสมบูรณ์ดูเหมือนจะไม่ง่าย เอาง่ายๆ แค่มนุษย์อย่างเราจะมีให้ครบทั้ง 8 ด้านในระดับพื้นฐานก็ยังไม่ง่ายเลยครับ

นี่คือเรื่องราวของ AI เบื้องต้น ลองมาทำความรู้จัก AI ประเภทหลักๆ กันอีกสักนิดดีกว่า

Classical AI

Classical AI อยู่ในช่วง 1950-1990 มันคือ AI แบบดั้งเดิมที่เราต้องสอนวิธีคิด วิธีทำให้ชัดเจน มนุษย์ยังคงเป็นผู้สอนหลักของ AI ประเภทนี้ เช่น AI ที่สามารถเล่นเกมกับเราได้ หรือ AI ที่สามารถตอบคำถามพื้นฐานจากการจำคีย์เวิร์ดหลักๆ ที่ถูกป้อนเข้ามาได้

Classical AI สำคัญคือต้องกำหนดกฏเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับมัน หรือจะเรียกว่าเป็น Rules Base เช่น ถ้าเราสอน AI ว่าแอปเปิลคือผลไม้ และสอน AI ต่อว่าผลไม้ดีต่อสุขภาพ AI จะสามารถเข้าใจได้ว่าถ้าอย่างนั้น Apple ก็ดีต่อสุขภาพซิ ถ้าเมื่อไหร่มีคนถามว่าแอปเปิ้ลดีต่อสุขภาพมั้ย มันก็จะตอบว่า “ดีซิ เพราะแอปเปิ้ลเป็นผลไม้”

นี่คือการกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน อารมณ์แบบ IF ELSE ครับ

ยังมีอีกหลาย Logic หรือ Algorithm ที่น่าสนใจใน Classical AI ไม่ว่าจะเป็น Modelling Changes คือการสอนให้ AI เข้าใจความสัมพันธ์ของแต่ละสิ่ง เช่น ถ้าเมฆเยอะก็เป็นได้ว่าฝนจะตก หรือ Model Uncertainty การหาตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น ฝนตกรถมักจะติดใช่มั้ย

หรือโมเดลประเภท Automated Advice ที่ใช้ประสบการณ์ความฉลาดของคนสอน AI เข้าไป เพื่อให้ AI สามารถตอบคำถามหรือแก้ปัญหานั้นได้แทนคน ส่วนถ้าเจอคำถามใหม่ที่มันไม่เคยรู้มันก็จะส่งกลับมาถามคน เมื่อคนตอบเข้าไปก็จะถูกนำไปใช้ตอบผู้ถามอีกที

หลังจากนั้นก็ต้องติดตามผลด้วยว่าคำตอบที่ให้ไปใช้ได้ผลกี่เปอร์เซนต์ เพื่อเอาไปปรับปรุงคำตอบให้ดีขึ้น

Statistical AI เอไอจากสถิติ

นี่คือเอไอในยุคปัจจุบัน ที่ใช้หลักสถิติหรือความน่าจะเป็นเป็นตัวกำหนดคำตอบขึ้นมา ไม่ต้องใช้มนุษย์สอนหลักการคิดมากแบบเมื่อก่อน ซึ่งเทคนิคหลักที่มักใช้กันคือ Machine Learning ที่เอา AI มาเรียนรู้หาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ จากชุดข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่ต้องสอนว่าถ้าฝนตกรถมักติด แต่เมื่อเห็นความเชื่อมโยงกันเองจากดาต้า AI ก็จะสามารถอนุมานได้ระดับหนึ่ง

เคสที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยๆ ก็อย่างการสอนให้ AI แยกระหว่างหมากับแมวออกจากกัน เริ่มต้นด้วยการใส่ชุดข้อมูลรูปแมวเข้าไปจำนวนมากๆ แล้วก็ใส่ชุดข้อมูลรูปหมาเข้าไปเยอะๆ จากนั้น Machine Learning จะเริ่มเข้าไปเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าแมวมีองค์ประกอบอย่างไร หมามีองค์ประกอบในรูปภาพแบบไหน

เมื่อส่งภาพชุดใหม่เข้าไปมันจะสามารถแยกหมากับแมวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรในช่วงแรกก็ยังจำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วยปรับจูนโมเดลให้มีความแม่นยำมากขึ้น

ขอยกตัวอย่างรวมๆ ประมาณนี้ จริงๆ ยังมีรายละเอียดอีกมาแต่ให้เล่าทั้งหมดคงไม่ไหว มาเข้าสู่ช่วงท้ายเล่ม คำถามน่าคิดกับ AI สักหน่อย

Philosophical Zombies ทำโดยเข้าใจเจตนาหรือเปล่า

เมื่อ AI เรียนรู้ที่จะเลียนแบบหรือทำตามมนุษย์ จนทำให้เกิดคำถามว่ามันแค่ทำตามจากสิ่งที่เห็น หรือมันทำตามเพราะมันเข้าใจจริงๆ ว่ามนุษย์คิดและรู้สึกแบบนี้

ถ้า AI เห็นมนุษย์กินไอศกรีมแล้วทำสีหน้าท่าทางพร้อมกับพูดว่า “อร่อยจัง” แล้ว AI ก็เลียนแบบตามนั้นเมื่อกินไอศกรีม คำถามสำคัญจริงๆ คือมันรู้มั้ยว่าไอศกรีมนั้นอร่อยจนทำให้มนุษย์ต้องแสดงออกแบบนั้น

ถ้า AI ไม่เข้าใจมันอาจแสดงออกว่าอร่อยทุกครั้งได้ ทั้งที่บางครั้งไอศกรีมนั้นอาจไม่ได้รสชาติอร่อยสักเท่าไหร่

หรือ AI อาจเริ่มแยกแยะความอร่อยของมนุษย์ออกจากการรับรู้ข้อมูลรสชาติไอศกรีมต่างๆ มันเรียนรู้ว่ารสแบบนี้คืออร่อยของมนุษย์ จากการที่มนุษย์แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง กับรสแบบนี้คือไม่อร่อยของมนุษย์ จากการที่มนุษย์แสดงสีหน้าท่าทางอีก

แล้วทีนี้ถ้าเกิดมนุษย์กลุ่มนึงตั้งใจหลอก AI ให้เข้าใจผิดด้วยการแกล้งทำหน้าอร่อยกับไอศกรีมรสชาติที่แย่ แล้วแกล้งทำท่าไม่อร่อยกับไอศกรีมที่อร่อยจริงๆ เจ้า AI จะรับรู้มั้ย หรือ AI ทำได้แค่เลียนแบบมนุษย์ไปเท่านั้น

Power of Exploitation เบื้องหลัง AI อาจเป็นมนุษย์ที่ถูกกดขี่

ในอนาคตอันไกลจะมีคนที่ได้ประโยชน์จาก AI มากๆ อยู่จำนวนน้อยนิด และมนุษย์ที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง อาจเป็นได้แค่ผู้ช่วยฝึกสอน AI ให้ฉลาดขึ้นด้วยค่าแรงอันน้อยนิด เพื่อให้ AI นั้นกลับไปรับใช้มนุษย์ผู้ร่ำรวยอีกทีหนึ่ง

น่าคิดว่าถ้าสังคมมนุษย์เป็นแบบนั้นจริง มนุษย์ชั้นล่างมีสถานะที่ต่ำกว่า AI ที่คั่นอยู่ตรงกลางกับมนุษย์ชั้นบน โลกมนุษย์จะเป็นอย่างไร เราจะรู้ไหมว่าเบื้องหลัง AI ที่แสนรู้ใจนั้นเต็มไปด้วยมนุษย์ที่แสนทนทุกข์ทรมานอยู่

สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast

สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast หนังสือสรุปเรื่อง Artificial Intelligence แบบเต็มไปด้วยภาพเข้าใจง่าย รู้ทัน AI ในยุค AI Driven

นี่คือหนังสือที่เล่าเรื่อง AI ยากๆ ให้เข้าใจง่าย ให้เข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยน จนถึงปัจจุบันของ AI ว่ามีอะไรบ้าง และถูกนำไปใช้แบบไหนบ้างแล้ว

สำคัญมากที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง AI Literacy เพราะเราก้าวเข้าสู่ยุค AI เรียบร้อยแล้ว ทุกสิ่งรอบตัวล้วนมี AI แทรกอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างระบบแนะนำคำที่เรากำลังจะพิมพ์ ทำให้เราสามารถพิมพ์ได้เร็วขึ้น หรือระบบคัดกรองรูปภาพในโซเชียลมีเดีย

หรือการที่เราเห็นโพสใดก็ตามบนหน้าฟีดล้วนมาจากการที่ AI คัดมาให้ทั้งนั้น ดังนั้นการรู้และเข้าใจไว้ว่า AI ทำงานอย่างไร ทำให้เราสามารถคิดล้ำหน้า AI ไปได้หนึ่งขั้น ทำให้เราไม่ถูก Manipulate ชักจูงจากเจ้าของ AI ว่าอยากให้เราคิดหรือตัดสินใจอย่างไร เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วนับต่อนับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 24 ของปี

สรุปหนังสือ Simply AI, Facts Made Fast
สำนักพิมพ์ DK

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ: https://summaread.net/category/ai/

สั่งซื้อออนไลน์: https://s.shopee.co.th/5pmuaFzx6O

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/