สรุปหนังสือ Dollars and Sense คุณมีเหตุผลอยู่กี่ดอลลาร์ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นแฟน Dan Ariely ต้องไม่พลาดหนังสือเล่มนี้เป็นแน่ โดยหลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้คือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Behavioral Economics ที่นักการตลาดและคนทำธุรกิจอย่างผมสามารถเอามาประยุกต์ใช้เป็นศาสตร์ของจิตวิทยากับการตลาด Marketing Psychology นั่นเองครับ
หนังสือคุณมีเหตุผลอยู่กี่ดอลลาร์เล่มนี้บอกให้รู้ว่ามนุษย์เราส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีเหตุผลในการตัดสินใจสักเท่าไหร่ กับเรื่องเงินก็เช่นเดียวกัน เรามักใช้เงินอย่างไม่ค่อยมีเหตุผลกันทั้งนั้น หรือไม่ก็เอาความไม่สมเหตุสมผลมาเป็นเหตุผลซัพพอร์ทการตัดสินใจเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นถ้าใครอยากรู้เท่าทันตัวเอง รู้เท่าทันการตัดสินใจใช้เงินของมนุษย์ส่วนใหญ่ หนังสือเล่มนี้เหมาะมาก เพราะถ้าคุณเข้าใช้เหตุผลที่ไร้เหตุผลในการใช้เงินทุกบาทของคนส่วนใหญ่ คุณก็จะรู้ว่าจะต้องทำการตลาดแบบไหนหรือใช้กลยุทธ์ในการตั้งราคาสินค้าอย่างไรจึงจะทำให้ยอดขายไหลมาเทมา
ลองมาดูตัวอย่างการใช้เงินที่ไม่ค่อยมีเหตุผลของมนุษย์เรากันนะครับ
คุณรู้ไหมครับว่าบัตรเครดิตมักทำให้เราใช้จ่ายเงินมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จาก Data ในธุรกิจอาหารก็บอกให้รู้ว่าเมื่อลูกค้าใช้บัตรเครดิตจะมีอัตราการใช้เงินที่สูงกว่าการใช้เงินสดถึง 15% โดยประมาณ คุณรู้ไหมว่าคนส่วนใหญ่ประเมินราคาจากเวลา ถ้าเราลืมกุญแจเข้าบ้านแล้วเรียกช่างมาสะเดาะกลอนประตูให้ ถ้าช่างใช้เวลาทำแค่สิบวินาที (ซึ่งก็เป็นความสามารถของช่างอะนะ) เราจะรู้สึกว่าช่างเป็นการจ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่าเลย แต่ในขณะเดียวกันถ้าช่างคนนึงทำท่าเป็นว่ากลอนนี้สะเดาะยาก ต้องใช้เวลาสักพัก ด้วยราคาที่จ่ายค่าช่างไปเท่ากันแต่คนกลุ่มหลังกลับรู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า ทั้งที่ก็ผลลัพธ์แบบเดียวกันแต่เรากลับให้ค่าของเวลา หรือหยาดเหงื่อแรงกายในการแก้ปัญหาอย่างไรเหตุผลทั้งนั้น คนเราส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอสำหรับเกษียณ แม้เราจะรู้ว่าแก่ตัวไปเรามีความต้องการใช้เงินเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงใช้เงินไม่ลดลงและนั่นก็ทำให้อัตราเงินออมเราไม่ค่อยเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายเกษียณของเราเท่าไหร่เลย เราใช้เวลาไม่ค่อยฉลาด เรามักขับรถวนไปหาของที่ราคาถูกกว่ากันไม่กี่บาทโดยลืมคิดไปว่าค่าน้ำมันที่เราต้องขับไป รวมถึงชั่วโมงของเราที่ต้องเสียไป เมื่อเทียบกับเงินไม่กี่บาทนั้นช่างเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลสักเท่าไหร่เลย
นี่เป็นแค่ตัวอย่างของการใช้เงินอย่างไม่ค่อยมีเหตุผลของเรา ลองมาดูตัวอย่างที่น่าสนใจขึ้นจากหนังสือ Dollars and Sense คุณมีเหตุผลอยู่กี่ดอลลาร์เล่มนี้เพิ่มเติมครับ
จงออกโปรโมชั่นที่กำหนดเลยว่าได้คูปองเงินสดไปแล้วจะใช้กับอะไร
จากการทดลองพบว่าเมื่อเราบอกว่าจะให้เงินเปล่าๆ เป็นมูลค่าหนึ่ง แต่พอเอาเงินมูลค่านั้นไปเปลี่ยนเป็นสิ่งของร่วมสมัยบางอย่าง กลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่เลือกสิ่งของมากกว่าตัวเงิน จากการทดลองของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ออกโปรโมชั่นที่มีราคารวม 1,000 ดอลลาร์
โดยโปรโมชั่นแรกถ้าคุณจ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์ คุณจะได้รับเครื่องเสียงชั้นดี พร้อมกับคูปองเงินสดมูลค่า 300 ดอลลาร์ที่สามารถเอาไปซื้อสินค้าใดก็ได้ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ ส่วนอีกโปรโมชั่นหนึ่งก็จ่ายในราคา 1,000 ดอลลาร์เดียวกันและก็ได้รับเครื่องเสียงชั้นดีแบบเดียวกัน เพียงแต่คูปองเงินสดส่วนลด 300 ดอลลาร์นั้นจะถูกระบุว่าสามารถใช้ซื้อได้แค่แผ่นเสียงเท่านั้น
ถ้าว่ากันตามด้วยหลักเหตุผลแล้วการได้รับคูปองเงินสดมูลค่า 300 ดอลลาร์ที่สามารถซื้ออะไรก็ได้ดูน่าจะเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลกว่า แต่ในความเป็นจริงคือคนส่วนใหญ่เลือกโปรโมชั่นที่จำกัดว่าต้องซื้อแต่แผ่นเสียงเท่านั้น
เรื่องนี้ผมมองได้สองมุม
คนเราเลือกจากความสอดคล้องกันของสินค้า ก็เป็นได้ว่าเมื่อซื้อเครื่องเสียงแล้วสิ่งที่คนน่าจะต้องการก็คือการซื้อสิ่งที่ทำให้เครื่องเสียงโชว์ความสามารถได้เต็มที่ นั่นเลยทำให้คนส่วนใหญ่เลือกโปรโมชั่นใช้เงิน 300 ดอลลาร์ซื้อแผ่นเสียงเท่านั้นครับ เมื่อตัวเงินถูกระบุว่าต้องนำไปซื้ออะไร ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เร็วขึ้นว่าเงิน 300 ดอลลาร์นี้จะถูกนำไปใช้กับอะไรได้บ้าง
แอบคิดเพิ่มเติมต่ออีกหน่อย ถ้ามีการทดลองเพิ่มเติมในการระบุประเภทสินค้าที่สามารถซื้อได้จากคูปองเงินสด 300 ดอลลาร์เป็นตัวเลือกอื่นๆ บ้างคงจะดี เราจะได้รู้ว่าแท้จริงแล้วคนเลือกจากการถูกระบุสิ่งที่ต้องใช้ หรือคนเราเลือกจากความสอดคล้องกันของสิ่งที่กำลังซื้อหรือตัดสินใจตรงหน้ามากกว่ากันแน่ครับ เช่น ทองคำ หรือโทรศัพท์มือถือใหม่
คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการราคาที่จริงใจ เพราะชอบราคาโปรโมชั่นที่เร้าใจมากกว่า
จากกรณีศึกษาจนเกือบเจ๊งของห้าง JC Penny ในอเมริกาที่พบว่าการขายสินค้าด้วยราคาจริงใจ ไร้การใช้โปรโมชั่นใส่ไข่ประเภทขึ้นราคาแล้วค่อยมาติดป้ายลดราคานั้นผู้บริโภคนักช้อปไม่ชอบใจเอาเสียเลย
เดิมทีห้าง JC Penny มักจะมีการให้คูปองส่วนลดกับบรรดาลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการช้อปปิ้ง แต่ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสินค้าลดราคาของห้างนี้ก็ไม่ได้ต่างจากราคาปกติของห้างอื่นเลย
เมื่อ CEO ใหม่เข้ามาด้วยคุณธรรมเต็มเปี่ยม บอกว่าต่อไปนี้เราจะยกเลิกการทำธุรกิจที่หลอกลวงผู้บริโภคว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีของถูกรอให้ช้อป ยกเลิกโปรโมชั่นที่ไม่จริงใจทั้งหมดออกไปแล้วก็เสนอตัวขายทุกอย่างในราคาถูกแต่แรก ดังนั้นจะไม่มีการทำโปรโมชั่นใดๆ เพิ่มเติม เพราะทุกราคาของสินค้าทุกชิ้นในห้าง JC Penny คือถูกที่สุดแล้ว
ฟังดูก็แฟร์ดี ยุติธรรมดา ซื่อตรงดีใช่ไหมครับ แต่ความซื่อตรงนี้กลับไม่ถูกซื้อโดยลูกค้าสักเท่าไหร่ ส่งผลให้หลายคนรู้สึกว่าห้าง JC Penny นี้ไม่มีของราคาถูกอีกต่อไป หมดสเน่ห์ความท้าทายให้น่าค้นหา หมดอารมณ์ในการเอาคูปองส่วนลดที่มีไปเดินช้อปให้รู้สึกสนุกสนานเหมือนเดิม
หลังจากปรับตัวเป็นคนดีได้ไม่นานทาง CEO คนนี้ก้ต้องรีบกลับลำไปเป็นพ่อค้าหัวหมอ สินค้าทุกชิ้นใน JC Penny ถูกปรับราคาขายเริ่มต้นให้สูงกว่าคู่แข่งใกล้เคียง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีระดมแจกคูปองส่วนลด หรือเอาป้ายสินค้าราคาพิเศษเฉพาะวันนี้มาติดที่สินค้าบางชิ้นเพิ่ม แล้วทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้ยอดขายของ JC Penny กลับมาคึกครื้นเหมือนเดิม ลูกค้าได้คุ้ยหาของถูก ลูกค้าได้รู้สึกว่าของขิ้นนี้มันช่างเป็นราคาพิเศษจริงๆ
ก็ในเมื่อคนเราไม่ค่อยมีเหตุผลในการใช้เงิน หรือใช้เงินค่อยไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลสักเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าเรารู้ Insight นี้แล้วรีบเอาไปประยุกต์ใช้ก็จะได้เปรียบคู่แข่งคนที่ไม่รู้ข้อมูลนี้ครับ
Contextual marketing การตลาดไข่มุกดำ อยากยกระดับราคาต้องเอาของแพงมารายล้อม
การตลาดแบบฉลาดฉวยโอกาสจากบริบท นี่เป็นคำนิยามส่วนตัวของผมกับคำว่า Contextual marketing เชื่อไหมครับว่าไข่มุกดำที่เคยไร้ค่า แต่เมื่อนักการตลาดหัวใสคนหนึ่งเอาเครื่องเพชรราคาแพงมารายล้อม ผลลัพธ์คือไม่นานนักผู้คนเริ่มเชื่อว่าไข่มุกดำนั้นราคาแพงไม่ต่างจากเครื่องเพชรชั้นดี จากที่เคยลดราคาให้ก็ไม่มีใครอยากซื้อ กลายเป็นมีแต่คนมาขอแย่งกันซื้อขึ้นราคาได้มหาศาล
เรื่องมีอยู่ว่าตอนที่พ่อค้าเพชรชาวอิตาลีชื่อซัลวาดอร์ พยายามขายไข่มุกดำตาฮิติในช่วงแรกแต่กลับไม่มีใครสนใจซื้อเลยแม้แต่รายเดียว เขาเลยไปเกลี้ยกล่อมเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นพ่อค้าเพชรพลอยให้จัดวางไข่มุกดำภายในตู้กระจกหน้าร้านบนถนน Fifth Avenue
ให้จัดวางไข่มุกดำโดยเอาเพชรและอัญมนีอื่นมาห้อมล้อมโดยรอบ ปรากฏว่าไข่มุกดำได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และราคาของมันก็พุ่งทะยาน จากที่ไม่มีใครต้องการจนมีแต่คนมาต่อคิวรอแย่งกันซื้อ
นี่คือการสร้างบริบทแวดล้อมของสิ่งของที่คนไม่เคยให้ค่า ด้วยการเอาของที่มีมูลค่ามหาศาลมาล้อมรอบ จากการกระทำง่ายๆ แค่นี้ก็สามารถสร้าง Perception ภาพจำใหม่ให้กับคนทั่วไปรู้สึกว่าถ้าของเพชรพลอยแพงๆ พวกนี้ยังต้องมาล้อมรอบไข่มุกดำให้เด่นเป็นสง่าตรงกลาง ก็แสดงว่าเจ้าไข่มุกดำนี้ต้องไม่ธรรมดาเป็นแน่ครับ
Rebranding Redesign Reprice อยากขึ้นราคาต้องอัพลุค
การขึ้นราคาเป็นอะไรที่ทำใจได้ยาก เพราะเป็นที่รู้ว่าถ้าเราขึ้นราคาสินค้าเดิมเมื่อไหร่มักจะถูกต่อต้านจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นแน่ ทำให้หลายแบรนด์เลือกที่จะคงราคาเดิมไว้แต่แอบปรับลดขนาดหรือไซส์ลงไปแทน เพราะคนจะรู้สึกทันทีว่าทำไมต้องขึ้นราคา แม้สภาพเศรษฐกิจในเวลานั้นจะย่ำแย่เหลือเกิน
แต่หนังสือเล่มนี้ก็บอกเทคนิคดีๆ ในการขึ้นราคาที่จะทำให้ลูกค้ายอมรับได้ นั่นก็คือการสร้างระดับมาตรฐานใหม่ ทำให้คนไม่มีตัวเปรียบเทียบเดิมในใจว่าตกลงตอนนี้ราคาที่จ่ายมันถูกหรือแพงกว่าเดิม
เรื่องมีอยู่ว่าอาหารเช้าซีเรียลแบรนด์หนึ่งวางขายในราคา 3.99 เหรียญมานาน แต่อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาก็ต้องการขึ้นราคาตามต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น พวกเขาเลยใช้กลยุทธ์ว่าเราจะสร้างแบรนด์ใหม่ สินค้าใหม่ เพื่อจะได้กำหนดเพดานราคาใหม่ที่ลูกค้ากลุ่มเก่าไม่รู้สึกว่าซื้อของเดิมในราคาแพงขึ้นแต่อย่างไร
สิ่งที่พวกเขาเลือกทำคือโฆษณาด้วยคุณสมบัติของการเป็นสินรค้าออร์แกนิก โดยบอกหน้ากล่องว่าเป็นรสวนิลาไขมันต่ำ แต่ตรงมุมซ้ายบนของกล่องมีข้อความเล็กๆ เขียนว่า มันคือซีเรียลยื่อห้อมเดิมที่คุณชอบนี่แหละ แต่อยู่ในโฉมใหม่ที่มีรสชาติเยี่ยมเหมือนเดิม
แล้วนั่นก็ทำให้แบรนด์นี้สามารถตั้งราคาใหม่ที่ 6.99 เหรียญโดยไม่ถูกต่อต้านว่า แต่ยังไม่จบเท่านี้ ในช่วงแรกของการวางขายพวกเขาออกโปรโมชั่นช่วงแนะนำสินค้าใหม่ราคาพิเศษ ซึ่งราคาพิเศษก็คือราคาขายเดิม 3.99 เหรียญนั่นเองครับ
คุณลองคุณภาพดูซิว่าพอหมดช่วงโปรโมชั่นไปแล้วการที่พวกเขาจะขยับราคากลับมาเท่าราคาหน้ากล่องเดิมก็จะไม่ถูกผู้บริโภคมองว่าเป็นการขึ้นราคาแต่อย่างไร เพราะผู้บริโภคยอมรับจากหน้ากล่องว่าราคาเดิมมันคือ 6.99 เหรียญ ที่เราได้มาก่อนหน้าคือราคาพิเศษที่เป็นชั่วคราวต่างหากหละ
เห็นข้อดีของการทำ Rebranding Redesign เพื่อนำไปสู่ Reprice หรือยังครับ ถ้าคุณอยากขึ้นราคาก็ต้องทำลายมาตรฐานราคาเดิมในใจของลูกค้า ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาซื้อคือของใหม่ เพียงแต่ได้รสชาติแบบเก่าที่คุ้นเคยเท่านั้นเอง
เงินเท่ากันแต่ให้คุณค่าไม่เท่ากัน ด้วยหลักบัญชีในใจ
เรื่องความไม่มีเหตุผลของมนุษย์เรานี่คงเล่ากันอีกได้ยาว แต่จากตัวอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เห็นภาพชัดๆ เลยคือมีการทดลองมาแล้วว่า ระหว่างเงินสดหาย 100 ดอลลาร์ กับการทำตั๋วเข้าชมงานราคา 100 ดอลลาร์หาย ในบางสถานการณ์เรากลับไม่ได้คิดถึงตัวเลขที่สูญเสียไปมากนัก แต่เราจะคิดถึงว่าเราใช้เงินนั้นไปกับอะไรแล้วมากกว่า
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อถามคนกลุ่มหนึ่งว่าระหว่างที่คุณกำลังจะเดินทางไปดูคอนเสิร์ต คุณมีเงินอยู่ 200 ดอลลาร์ในมือ แต่คุณพบว่าคุณทำเงินหายไป 100 ดอลลาร์ระหว่างทาง คุณจะยังซื้อตั๋วเพื่อดูคอนเสิร์ตตามที่ตั้งใจไว้ต่อไหม
กับอีกคนกลุ่มหนึ่งถูกถามว่าระหว่างคุณกำลังเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่ซื้อตั๋วไว้แล้วมูลค่า 100 ดอลลาร์ แต่พอถึงหน้างานคุณพบว่าตั๋วนั้นหายไปตอนไหนไม่รู้ คุณจะยอมควักเงิน 100 ดอลลาร์เพิ่มเพื่อซื้อตั๋วใหม่ที่หน้างานไหม
เชื่อไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มคนที่สมมติว่าให้ซื้อตั๋วเข้างานไว้เรียบร้อยแล้วเลือกที่จะซื้อตั๋วใหม่น้อยกว่าคนกลุ่มแรกที่ให้สมมติว่าแค่ทำเงินหายไป
แม้จะเป็นเงิน 100 ดอลลาร์เท่ากันแต่ในความรู้สึกเรากลับให้มูลค่าที่แตกต่างกัน คนกลุ่มแรกมองว่าเงินที่หายไปเป็นความโชคร้ายไม่เกี่ยวกับตั๋วคอนเสิร์ตแต่อย่างไร แต่กลับคนกลุ่มหลังนั้นรู้สึกว่าเขาต้องเสียเงินถึง 200 ดอลลาร์ แพงกว่าคนอื่นมากในการดูคอนเสิร์ตครั้งนี้ ก็เลยเลือกที่จะถอดใจไม่จ่ายเพิ่ม
เห็นเหตุผลของความไม่มีเหตุผลในเรื่องเงินๆ ทองๆ ของมนุษย์เรามากขึ้นหรือยังครับ
เหตุผลเบื้องหลังที่สวนสนุกอย่าง Disney หรือ Universal เลือกให้คนส่วนใหญ่จ่ายเงินซื้อตั๋วล่วงหน้ามากกว่าการขายตั๋วหน้างาน
เพราะจากการทดลองพบว่ายิ่งเราเอาการจ่ายเงินไปไว้ไกลๆ จากการสร้าง Customer Experience มากเท่าไหร่ ตัวลูกค้าก็จะยิ่งมีความสุขและพึ่งพอใจมากเท่านั้น
แต่ถ้าเราเอาวันที่จ่ายเงินไว้ในวันเดียวกับการเล่นสนุกหรือทำกิจกรรม คนจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้สิทธิ์ให้มากๆ เล่นให้มากๆ เที่ยวให้มากๆ หรือกินให้มากๆ เราทำเพื่อชดเชยความรู้สึกของเงินที่เพิ่งจ่ายไป
แต่ในขณะเดียวกันกับกลุ่มคนที่จ่ายเงินซื้อทริปท่องเที่ยวต่างๆ ไว้ล่วงหน้าไกลๆ เรียกได้ว่าจ่ายจนลืมว่าเคยซื้อทริปนี้ไว้ พวกเขาจะมีความสุขและความพึ่งพอใจมากกว่า เพราะคนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าทุกอย่างล้วนได้ฟรีหรือไม่ได้เสียออะไร ทั้งที่ลืมไปว่าทั้งหมดที่กำลังใช้อยู่ก็ล้วนจ่ายเงินจำนวนเท่ากันกับคนที่เพิ่งจ่ายมาวันนี้
ดังนั้นถ้าอยากทำให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้นด้วยบริการเท่าเดิม จงทำให้ลูกค้าจ่ายล่วงหน้าไว้ให้ได้นานที่สุดครับ เพราะเค้าจะลืมไปเลยว่าเคยจ่ายเงินมาใช้บริการเราแล้ว
The Ikea Effect ยิ่งลงแรงมากเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกมีมูลค่ามากเท่านั้น
นักการตลาดส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับหลักการนี้ดี หลักการของร้านขายเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกอย่าง Ikea ที่ไม่ประกอบให้แต่ให้คนขนสินค้าไปประกอบเองที่บ้าน
แล้วด้วยการที่คนต้องลงมือลงแรงกับของชิ้นนั้นก็ยิ่งเป็นการทำให้รู้สึกภาคภูมิใจกับของชิ้นนั้นมากขึ้น เราอยากอวดเพื่อนบนโซเชียลมีเดียว่าเราประกอบมันได้ด้วยตัวเองนะ หรือพอเพื่อนมาบ้านเราก็มักจะพูดถึงเจ้าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นมากกว่าชิ้นอื่นที่แค่จ่ายเงินซื้อแล้วมาส่งแบบสำเร็จรูป
ถ้าเรามองแบบมีเหตุผลสักหน่อยเราจะเข้าใจว่าการที่เราต้องเสียเวลาต่อหรือประกอบเองนั้นล้วนเป็นต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สู้ถ้าเราเอาเวลาสองสามชั่วโมงหรือหนึ่งวันนั้นไปทำงานหาเงินคงจะได้มากกว่าค่าเฟอร์นิเจอร์ที่จ่ายไปด้วยซ้ำ
แต่ก็นั่นแหละครับเพราะมนุษย์เราไม่ค่อยได้ใช้เหตุผลในการคิดหรือตัดสินใจสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับเรื่องเงินยิ่งแล้วใหญ่ เราล้วนใช้เงินกับแบบไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่นัก
จริงๆ ยังมีอีกหลายบทหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ แต่ขอสรุปเอาไว้แค่ประมาณนี้พอเพราะอยากให้คุณได้ไปซื้อหาอ่านเองแบบเต็มๆ อ่านแล้วเอามาประยุกต์ใช้กับการตลาดและธุรกิจของเรา เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเหตุผลในการใช้เงิน เราก็จะได้หาเหตุผลดีๆ ให้ลูกค้าอยากใช้เงินกับเราเพิ่มขึ้นครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 14 ของปี 2021
สรุปหนังสือ Dollars and Sense คุณมีเหตุผลอยู่กี่ดอลลาร์ เมื่อต้องตัดสินใจไม่ให้พลาด ในเรื่องที่เรามักจะตัดสินใจอย่างไรเหตุผลที่สุด Dan Ariely และ Jeff Kreisler เขียน สำนักพิมพ์ WE LEARN
อ่านสรุปหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมต่อ > https://summaread.net/category/behaviour-economics/
สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://click.accesstrade.in.th/go/rR5l4Uye