สรุปหนังสือโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เล่มที่ 6 ที่มีชื่อประจำเล่มว่า ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวังเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใหม่อะไร แต่เป็นหนังสือที่ผมตามหามานานกว่า 6 ปีแล้วครับ
ต้องบอกว่าชุดหนังสือโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีนี่แหละที่ทำให้ผมคนที่เคยไม่คิดจะอ่านหนังสือได้จบเล่ม กลายเป็นหนอนหนังสือขึ้นมา เปลี่ยนจากกองหนังสือเป็นชั้นหนังสือ และทำให้ผมพัฒนาจากชั้นหนังสือจนมีห้องหนังสือของตัวเองได้ทุกวันนี้
ในช่วงที่ผมได้อ่านหนังสือของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นครั้งแรกของสำนักพิมพ์ Openbooks ที่เป็นชุด 10 เล่ม เชื่อมั้ยครับว่าหนังสือของอาจารย์ที่ผมได้อ่านในตอนนั้นทำให้ผมถึงกับวางไม่ลงเลยจริงๆ จากนั้นผมก็เลยปวารณาตัวเองเป็นแฟนตัวยงของอาจารย์วรากรณ์แกโดยไม่ได้ขออนุญาต และนั่นก็ทำให้ผมพยายามตามหาหนังสือที่อาจารย์เขียนมาอ่านเป็นอาหารสมองให้มากที่สุดครับ
จากหนังสือชุด 10 เล่มของสำนักพิมพ์ Openbooks สู่การเปิดโลกว่าอาจารย์แกก็เขียนให้กับสำนักพิมพ์มติชนด้วย และนั่นก็ทำให้ผมตามหาหนังสือชุดโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีของแก และผมก็สามารถหาได้ทุกเล่มยกเว้นเล่มที่ 6 เล่มนี้มานานถึง 6 ปี
และที่ผมได้มาก็ไม่ใช่ว่าด้วยความพยายามดั้งด้นอุตสาหในการเสาะหาใดๆ อีก (เชื่อเถอะก่อนหน้านี้ผมพยายามหาอย่างเต็มที่จนตัดใจแล้ว) แต่ด้วยความหน้าด้านนิดๆ ของผมที่บังเอิญเป็นเพื่อนกับคุณทศ (ผู้บริหารฝ่ายการตลาดออนไลน์ของสำนักพิมพ์มติชน) บนเฟซบุ๊ก และด้วยความที่ได้เป็นเฟรนกันและรู้ว่าเขาเองก็เป็นแฟนเพจ การตลาดวันละตอน ของผมเช่นกัน ผมเลยถือวิสาสะใจกล้าบวกหน้าด้านเอ่ยปากบอกไปตรงๆ ว่า
เนี่ย ผมตามหาหนังสือโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีเล่มที่ 6 ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ มานานมาก อยากให้มติชนพิมพ์อีกครั้งให้ผมซักเล่มจังเลย
คุณทศหายไปซักพักแล้วถ่ายรูปส่งกลับมาให้ผมทาง Facebook messenger แล้วบอกว่า “เล่มนี้หรอครับ?”
แม่เจ้า! ผมแทบจะกรี๊ดลั่นบ้านเพราะไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีเหลืออยู่อีก ผมเลยรีบบอกคุณทศว่า “ขอให้ผมได้ซื้อต่อเถอะ!”
แต่เชื่อมั้ยครับว่าคุณทศปฏิเสธผมอย่างไม่ใยดีแล้วบอกว่า “ผมไม่ขาย ผมให้คุณฟรี”
ผมนี่แทบจะกรี๊ดอีกรอบ ผมแทบอยากจะขับรถบึ่งออกไปรับหนังสือมันทันทีเลย
และในที่สุดผมก็ได้เจอคุณทศกับหนังสือเล่มนี้ เราได้คุยกันยาวกว่า 4-5 ชั่วโมงประหนึ่งเพื่อนซี้กันมานานทั้งที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก แปลกดีเหมือนกันนะครับชีวิต จากคนแปลกหน้ากันสุดขีด กลายเป็นเหมือนเพื่อนซี้ไปซะอย่างนั้น (ผมถือวิสาสะนับคุณทศเป็นเพื่อนซี้แล้วนะครับ ถอนตัวไม่ได้แล้ว)
พูดเรื่องอื่นไปเยอะ ขอกลับมาที่หนังสือเล่มนี้ครับ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เล่มที่ 6 ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง
หนังสือเล่มนี้แม้จะพิมพ์มานานกว่า 12 ปี แต่เนื้อหาเกือบจะทั้งเล่มกลับเป็นอะไรที่ผมยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยจริงๆ และอาจารย์วรากรณ์แกก็ยังสามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่าย แม้จะไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ยังสามารถอ่านสนุกและได้ความรู้กลับไปได้ และก็ยังสามารถเปลี่ยนเรื่องที่เคยฟังมาน่าเบื่อให้กลายเป็นเรื่องใหม่ที่ฟังแล้วสนุก ไม่ว่าจะเงินเฟ้อ เงินฝืด อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อะไรอีกมากมาย เรียกได้ว่าถ้าหนังสือของอาจารย์แกเป็นหนังสือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เด็กไทยได้เรียนตั้งแต่ชั้น มัธยม หรือ ประถมเป็นต้นไป ผมว่าประเทศไทยจะยิ่งเจริญยิ่งขึ้นกว่านี้แน่นอนครับ
เอาล่ะ นอกเรื่องไปเยอะอีกแล้ว ทีนี้ผมขอเล่าประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจสุดๆ ในเล่มให้ฟัง เผื่อว่าคุณจะอยากไปหามาอ่านเหมือนผม แต่พูดตรงๆ ถ้าคุณไม่ใช่เพื่อนกับคุณทศก็คงไม่ได้แบบผมหรอกนะ(พูดให้คนอ่านหมั่นใส้อีกแน่ะ)
1. เศรษฐศาสตร์กับการเรียกร้องความสนใจของสัตว์
อาจารย์วรากรณ์เล่าบทนี้ไว้อย่างน่าสนใจมาก สัตว์ทั้งหลายถ้าอยากได้ความสนใจจากพ่อแม่ก็ต้องจ่ายด้วยการร้องเพื่อเรียกความสนใจ และเมื่อเราร้องออกไปพ่อแม่ก็จะรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วก็จะเข้ามาประคบประหงมให้ความสนใจ นั่นเลยเป็นธรรมชาติว่าทำไมสิ่งมีชีวิตแรกเกิดถึงต้องร้องเรียกหาแม่อยู่เสมอ
แต่แน่นอนว่าถ้าสัตว์ตัวไหนหรือแม้แต่ลูกมนุษย์เอาแต่ร้องเพื่อเรียกความสนใจโดยไม่ได้มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น แรกๆ พ่อแม่ก็จะเข้ามาดู แต่พอนานวันเข้าพ่อแม่เองก็เริ่มเรียนรู้ว่าที่ลูกนั้นร้องก็แค่อาการเรียกร้องความสนใจ และนั่นก็จะทำให้พ่อแม่ค่อยๆ เฉยเมยกับการร้องของลูกน้อยไป และสิ่งที่ตามมาคือลูกน้อยต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น นั่นก็คือการร้องให้ดังขึ้น
เมื่อพ่อแม่ได้ยินเสียงร้องที่ดังผิดปกติ ก็จะรีบกรูเข้ามาดูว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกน้อยหรือเปล่า มีแมลงสัตว์กัดต่อยเข้ามาทำร้ายมั้ย แต่ถ้าเข้ามาแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ พ่อแม่ก็จะเรียนรู้ว่าก็เป็นแค่อาการเรียกร้องความสนใจเหมือนเดิม และก็ทำให้ลูกน้อยต้องจ่ายแพงขึ้นด้วยการแหกปากร้องให้ดังยิ่งขึ้นๆ ไปอีกครับ
2. เทคโนโลยีดาวเทียมจารกรรมถูกนำมาใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ของการปลูกส้ม
เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐอเมริกากับบราซิล โดยบราซิลเป็นผู้ส่งออกส้มรายสำคัญของโลก และผลผลิตที่เกี่ยวกับส้มส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มาจากบราซิล ด้วยความที่ส้มของบราซิลถูกมากแม้จะต้องส่งมาจากแดนไกลหลายพันหลายหมื่นไมล์ ก็ยังมีราคาถูกกว่าส้มที่ปลูกในอเมริกาด้วยกันเอง
และนั่นก็เลยทำให้แต่ละประเทศพยายามสืบรู้ให้ได้ว่าตอนไหนบ้างที่อีกฝ่ายกำลังปลูกส้มอยู่ และนั่นก็เลยเป็นที่มาของการใช้ดาวเทียมทางการทหารที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงได้จากนอกโลก สามารถเห็นได้แม้กระทั่งหลังคารถ และนั่นก็หมายความว่าสามารถรู้ได้ว่าตอนนี้อีกฝ่ายกำลังมีต้นส้มที่พร้อมออกผลมากแค่ไหน
เพื่อคาดคะแนว่าช่วงไหนของปีที่ผลส้มของแต่ละฝ่ายจะไหลเทเข้าตลาด จะได้มาแข่งกันที่ราคาว่าจะเทเข้ามาแข่งเพื่อกดราคาให้ต่ำ หรือจะปล่อยให้อีกฝ่ายขายไปจนหมดแล้วถึงคราวตัวเองโก่งราคาคืนบ้าง
ไม่น่าเชื่อนะครับว่าการปลูกส้มระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้ ที่ผ่านมาผมรู้แต่ว่าส้มโชกุนภูเรือที่ผมชอบกินราคาก็ช่างแพงบาดใจเสียเหลืเกิน
3. การเปลี่ยนจากสมบัติของชาติให้กลายเป็นสมบัติสาธารณธ สามารถแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าได้
เพราะสมบัติของชาติ หรือสมบัติสาธารณะ คือการบอกให้รู้ว่าของสิ่งนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และเมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็เลยทำให้มีคนไม่น้อยที่จ้องจะฉวยโอกาสขโมยสิ่งนั้นมาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดการลักลอบตัดไม้เนื้อแข็ง เพราะถูกกฏหมายห้ามใครครอบครองไว้มานานมาก หรือกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าสวงน ที่ห้ามใครมีไว้ในครอบครอง ทำให้เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ เพราะมีได้แค่รัฐเป็นเจ้าของ ก็เลยยิ่งทำให้คนอยากล่าไปครอบครองจนสัตว์เหล่านี้สูญพันธ์ไปไม่น้อย
ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่พิสูจน์มาแล้วคือปล่อยให้ผู้คนสามารถครองครองสัตว์หรือต้นไม้สำคัญได้ เพราะเมื่อมีความเป็นเจ้าของเกิดขึ้น ก็จะทำให้แต่ละคนจะพยายามดูแลรักษาสิ่งเหล่านั้นให้ดีที่สุด เหมือนกับบ้านของเราๆ ก็ต้องดูแลปกป้องให้มันดีเสมอ
เห็นมั้ยครับว่าแค่เปลี่ยนมุมในการมอง เปลี่ยนให้สามารถครอบครองได้ ปัญหาการสูญพันธ์ทั้งหลายก็หมดไปอย่างง่ายดายเลยครับ
4. อาชญากรรมเป็นของแถมจากแรงงานนำเข้าที่ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้กันดีว่าเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างเต็มแม็กซ์ก่อนชาติใดในโลกแล้ว และนั่นก็เลยทำให้แรงงานในญี่ปุ่นขาดแคลนอย่างหนัก จนทำให้ต้องเกิดการนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ใต้หวัน หรือหลายชาติที่ดูหน้าตาใกล้เคียงกับญี่ปุ่นเข้ามาชดเชยแรงงานที่แก่ตัวไป แต่สิ่งที่ตามมาคือสังคมญี่ปุ่นก็เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว
แน่นอนว่าการนำเข้าแรงงานนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเราได้แรงงานราคาถูกในระยะเวลาที่รวดเร็ว ข้อเสียคือก็เกิดการผสมผสานของหลายๆ สิ่งที่อาจจะไม่ถูกใจเจ้าถิ่นใด ดังนั้นชาติใดนำเข้าแรงงานก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าจะเจอปัญหาแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่ครับ เรียกได้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีจริงๆ ได้แรงงานเขามาง่ายๆ ยังได้อาชญากรรมที่ไม่ต้องการตามเข้ามาด้วย แถมยังต้องจ่ายเงินเดือนให้เข้าอีกแน่ะ
5. การใช้ Presenter ที่เป็นดารา ทำไมถึงดีกว่าการใช้นักธุรกิจ หรือนักการเมือง
เพราะ Presenter ที่เป็นดารานั้นคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ว่าเพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะเสียชื่อเสียงเพราะการฉ้อโกงทางธุรกิจหรือผิดกฏหมาย เมื่อเทียบกับบรรดานักธุรกิจหรือโดยเฉพาะนักการเมือง คนกลุ่มนี้มีโอกาสจะทำให้แบรนด์เสียชื่อเสียงได้ง่าย
และนี่ก็เป็นส่วนหนังของหนังสือเล่มนี้ เล่มนี้คงจะหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ผมต้องขอขอบคุณคุณทศ ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง ที่ให้หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับมิตรภาพดีๆ ครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 70 ของปี 2019
สรุปหนังสือ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เล่มที่ 6
ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง
อาจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
20191210
อ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์ต่อ > https://summaread.net/category/economy/