หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแปลกในความคิดผม เพราะเป็นหนังสือที่เอาคำพูดที่คุณ สฤณี อาชวานันทกุล ที่ไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องของ “ทางรอดทุนนิยม: สังคมแห่งความร่วมมือ” ในวันนั้น พร้อมกับสิ่งที่ผู้บรรยายและผู้ฟังในวันนั้นได้ถกเถียงกันให้กลายเป็นหนังสือเล่มนี้
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เลยให้อารมณ์เหมือนได้ฟังเลคเชอร์ร่วมกับผู้ฟังคนอื่นๆ ขาดก็แต่ไม่ได้ร่วมถกเถียงความคิดที่แวบขึ้นมาในหัวด้วยเท่านั้น
“ทุนนิยม” กลายเป็นระบบทางเศรษฐกิจยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกในวันนี้ แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็ยังยอมที่จะเป็นทุนนิยม จีนก็เป็นหนึ่งในทุนนิยมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกต่อเนื่องมากว่า 30 ปี นับแต่เปิดประเทศรับทุนเข้ามาและปล่อยให้ทุนไปตามความนิยมของเจ้าของทุนมากขึ้น
แต่เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า “ทุนนิยมในปัจจุบัน” หรือ “ทุนนิยมแบบตลาดเสรี” นั้นจะดีต่อเราและโลกจริงหรือ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศโตวันโตคืน แต่กับทรัพยากรและธรรมชาตินั้นกลับร่อยหรอลงทุกทีๆ จนวันนี้ธรรมชาติเริ่มกลับมาเอาคืนมนุษย์เรามากขึ้นผ่านภัยธรรมชาติทั้งหลายที่เราก็ยังรับมือไม่ค่อยไหว
เพราะแนวทางของทุนนิยมทุกวันนี้นั้นคือการแข่งกันลงเหว หรือที่เรียกว่า Race to the Bottom ยิ่งเอาทรัพยากรไปสนองความต้องการของคน ไปเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจมากเท่าไหร่ ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งสูญเสียไปมากเท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสียกับทุนนิยมมากขึ้นทุกที”
เพราะในบัญชีรายรับจายจ่ายของบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ไม่ได้มีงบในส่วนของผลกระทบภายนอกรวมอยู่ด้วย เช่น การผลิตดินสอซักแท่งนอกจากจะมีต้นทุนเรื่องค่าต้นไม้ที่ต้องตัดจัดหามาแล้ว แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆอีกไม่ว่าจะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้นไม้ลดลงหนึ่งต้น หรือต้นไม้ต้นนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำที่ผลิตน้ำมาเลี้ยงประชากรปลายทาง เมื่อไม่ถูกนับหรือวัดค่าได้ ก็ไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ เมื่อไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ก็เท่ากับว่าไม่มีต้นทุนจริง แต่จริงๆต้นทุนนั้นกลับแย่งชิงจากธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน
แต่คุณสฤณี ก็ไม่ได้บอกว่าต้องล้มเลิกทุนนิยมให้หมด แต่บอกเล่าถึงแนวทางของวิวัฒนาการทุนนิยมที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อโลกที่ยั่งยืน และโลกที่ยั่งยืนก็ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อโลกสวย แต่เพื่อให้ลูกหลานเรายังอยู่บนโลกใบนี้ได้ หรืออย่างน้อยก็ให้เราสามารถอยู่และหายใจได้เต็มปอดตอนแก่ตายครับ
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 แม้จะนานกว่าสิบปีแต่ยังมีแง่คิดดีๆให้เก็บเกี่ยวอีกเพียบ เป็นเหมือนแสงสว่างนำทางให้รู้ว่านอกจากผลกำไรเข้ากระเป๋าเราแล้ว เรายังสามารถได้กำไรทั้งที่ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้พร้อมกันด้วย
คุณสฤณียกตัวอย่างบริษัทที่ทำเพื่อสังคมและโลกที่โด่งดังในอเมริกาจนมีมูลค่ามหาศาลอย่าง Whole Foods ที่ยึดมั่นในโมเดลผู้มีส่วนได้เสีย เชื่อว่าธุรกิจมีเป้าหมายอันสูงส่งกว่าการทำกำไรสูงสุด ขนาดคิดแบบนี้ยังทำให้บริษัทมีมูลค่าได้ถึง 13.7 พันล้านดอลลาร์ตอนที่ Amazon ซื้อไป
นี่คือหนึ่งตัวอย่างขอการเป็นบริษัทที่คิดดีทำดีและยังมีกำไรดีด้วยครับ
สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามทุนนิยมไปอย่างไม่ต้องใจ ก็คือผู้แพ้ เพราะในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเรามักจะเห็นผู้ชนะมากมาย เช่น คนนั้นเคยเป็นคนจนมาก่อน แต่วันนี้เค้ากลายเป็นมหาเศรษฐีลำดับต้นๆของโลก หรือคนนั้นเป็นดาราที่ประสบความสำเร็จมาก จนมีรายได้มหาศาลไปจนแก่แบบไม่ต้องทำอะไรเลย
คนที่ประสบความสำเร็จคือแรงผลักดันให้ทุนนิยมเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ลืมไปว่าเมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้ไม่ชนะ และเหล่าผู้ไม่ชนะที่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจตัวเองประสบความสำเร็จ หลายคนเจ๊ง หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หลายคนหมุนเงินแบบเดือนชนเดือน หรือบางคนอาจแค่พออยู่รอดหายใจได้ นี่คือผู้เล่นตัวจริงในระบบทุนนิยม เกมที่มีผู้ชนะน้อยนิดเพื่อกระตุ้นให้เหล่าผู้เล่นมากมายต้องวิ่งตามฝันต่อไป
เราเชื่อว่าทุนนิยมดีเพราะเราไม่เห็น หรือเรามองข้ามเรื่องพวกนี้มาตลอด เราเชื่อว่ายิ่งปล่อยให้ทุนนิยมเสรีอย่างที่มันเป็นในปัจจุบันมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดีต่อเรากันมากเท่านั้น
กฏหมายลิขสิทธิ์ในระบบทุนนิยมก็เหมือนกัน แรกเริ่มเดิมทีมันก็ดีนะครับที่ทำให้ผู้คนอยากคิดค้นอะไรใหม่ๆขึ้นมาแล้วสังคมโดยรวมก็ดีขึ้น แต่ในวันนี้กฏหมายลิขสิทธิ์เหล่านั้นอาจกำลังย้อนกลับมาทำร้ายสังคมมากเกินไป เพราะจากเดิมที่เคยคุ้มครองว่าตั้งแต่เริ่มสร้างจนผู้สร้างตายไป 10 ปี ถึงจะกลายเป็นของสาณารณะ กลับขยายเพิ่มเป็น 20 ปี 50 ปี จนวันนี้กลายเป็น 95 ปีไปแล้วครับ
และเบื้องหลังการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ยืดขยายออกไปเรื่อยๆนี้ก็มีตัวการ์ตูนที่เราแทบทุกคนบนโลกรู้จักและหลงรักมันดีเป็นแรงผลักดัน นั่นก็คือ “มิกกี้เมาส์”
มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวละครที่มีค่ามากที่สุดของวอล์ท ดิสนีย์ แม้เจ้าตัวที่สร้างขึ้นมาจะตายไปหลายปีดีดักแล้ว แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลดังกล่าวกลับไม่เคยหมดอายุเลย จนกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้มีคนตั้งชื่อเรียกให้ว่า Mickey Mouse Extension Act คือต่ออายุให้ลิขสิทธิ์มิกกี้ เม้าส์เข้าปาไป 95ปีแล้วครับ
คุณสฤณีเล่าถึงบริษัททุนนิยมแนวใหม่ที่น่าสนใจที่ว่า เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อขายมาเป็นการให้บริการแทน ที่ประเทศฝรั่งเศษ แทนที่บริษัทจะขายเครื่องทำความร้อน จะมุ่งขายแต่เครื่องทำความร้อนเพียงอย่างเดียว เข้าก็คิดออกมาในแง่ของการบริการ โดยทำสัญญากับลูกค้าว่าในฤดูหนาวบริษัทจะรับประกันว่าอุณหภูมิในบ้านคุณจะไม่ต่ำกว่าเท่านี้เท่านั้น หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ทีนี้บริษัทก็ไม่ต้องขายเครื่องทำความร้อนอย่างเดียว แต่สามารถใช้วิธีอื่นๆอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้อุณหภูมิในบ้านลูกค้าไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่อย่างที่ตกลงกัน อาจจะเอากระจกมาติดเพิ่มก็ได้ หรือเพิ่มฉนวนกันความร้อนให้แค่ช่วงหน้าหนาวก็ได้
ลองคิดดูซิว่าถ้าสิ่งของที่เราซื้อทิ้งขว้างบ่อยๆอย่างเสื้อผ้า เปลี่ยนให้ลงมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อรับชุดใหม่ๆของเราแต่เป็นชุดเก่าของคนอื่นที่ผ่านการทำความสะอาดปลอดเชื้อมาอย่างดีแทน จากเดิมเสื้อตัวหนึ่งใส่แค่หนึ่งคน แถมดีไม่ดียังใส่ไม่ถึงสิบครั้ง กลายเป็นเสื้อตัวเดียวสามารถใส่ได้หลายคนจนกว่าเสื้อนั้นจะไม่เหมาะแก่การใส่แล้ว
แบบไหนจะดีต่อสังคม โลก และเรามากกว่ากัน ลองคิดดูนะครับ
ทุนนิยมใหม่เสนอแนวคิด “ประกันภัยอากาศ” จากเดิมเกษตรกรมักจะซื้อประกันราคาผลผลิต หรืออาจไม่ซื้อประกันที่ว่าแต่ไปรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยรับประกันให้อย่างที่เราคุ้นเคยกัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐวิบัติ เช่น ถ้ารู้ว่าปลูกข้าวแล้วไม่ดีแต่ถ้ามีประกันไว้รับความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำ ทำให้ยังไงก็เลือกปลูกข้าวไว้ดีกว่าเพื่อความชัวร์ ทำให้ตลาดไม่ได้รับในสิ่งที่ควรจะได้จริงๆ
แต่กับประกันภัยอากาศนั้นเป็นการรับประกันว่าถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลตามที่ควรจะเป็น บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้คุณ หรืออะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้การเพาะปลูกของคุณสะดุด เราจะชดเชยให้
แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณปลูกแบบไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย แต่ฝนตกต้องตามฤดูกาลดี น้ำท่าไม่ได้แห้งแล้ว คุณก็ต้องรับผิดชอบเองเต็มๆ
วิธีนี้ดีกว่าการรับประกันราคาผลผลิต ที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่กับการรับประกันจนไม่ได้พัฒนาไปไหนเลยเห็นมั้ยครับ
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในเรื่องของทุนนิยมแบบร่วมมือกัน ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันพัฒนาในสิ่งที่ซ้ำซ้อนกันจนสิ้นเปลืองทรัพยากร หนึ่งในตัวอย่างนั้นก็คือ VISA ระบบการจ่ายเงินที่กลายเป็นมาตรฐานโลกในทุกวันนี้
แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากแต่ก่อนนั้นแต่ละธนาคารก็จะมีระบบจ่ายเงินของตัวเอง ทำให้แต่ละธนาคารก็ต้องทุ่มเวลา กำลัง ทรัพยากรลงไปเพื่อให้ระบบตัวเองทำงานได้ดี แต่ระบบของแต่ละธนาคารกลับไม่ทำงานร่วมกัน เป็นผลให้ผู้บริโภคอย่างเราๆลำบากในการใช้บัตรเครดิตอย่างมากในตอนนั้น
และเมื่อ VISA มาอาสาเป็นคนกลางในการทำระบบเพื่อทุกธนาคารให้ โดยทุกธนาคารแค่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดหน่อย เพื่อแลกกับการไม่ต้องปวดหัววุ่นวายในเรื่องนี้ และเพื่อให้ตัวธนาคารเองเอาเวลาไปใช้กับการหาลูกค้าใหม่ๆแทน ผลคือ VISA กลายเป็นระบบที่พัฒนามาเพื่อทุกคนในตลาด เพื่อให้ทุกคนในตลาดได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ หรือธนาคารหน้าใหม่รายย่อย ก็สามารถเข้าสู่ระบบ VISA ได้
สรุปได้ว่าทุนนิยมเสรีไม่ได้เลวร้าย แต่สิ่งที่เลวร้ายคือผู้ที่มีอำนาจในระบบทุนนิยม หรือการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมมากกว่า ดังนั้นถ้าระบบทุนนิยมของประเทศไหนที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เราก็จะเห็นความเท่าเทียมในสังคมจริงๆ อย่างประเทศที่ไม่ค่อยมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวมมากนัก อย่างญี่ปุ่น เดนมาร์ก และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
อ่านจบแล้วรู้สึกว่าอยากเห็นประเทศไทยของเรา พัฒนาไปสู่ทุนนิยมแบบที่มีหัวใจ แบบที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าคนรวยต้องเอาเงินตัวเองไปช่วยคนจน แต่หมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมได้เท่าๆกันครับ
อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ ทุนนิยมที่มีหัวใจ ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา
สฤณี อาชวานันทกุล บรรยาย
พิณัฐฐา อรุณทัต และ กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ openbooks
เล่มที่ 121 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 20181111