สรุปหนังสือฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 33 เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ในฐานะที่เป็นแฟนคลับหนังสือฟาร์ตฟู้ดธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มแรกยันเล่มนี้ บอกได้เลยว่าไม่ควรพลาดเหมือนเดิม แต่หนังสือเล่มนี้ก็มีความแปลกไม่เหมือนหนังสืออีก 32 เล่มก่อนหน้า เพราะมีวิธีการหยิบหนังสือเล่มอื่นมาสรุปในบางตอน หรือมีการหยิบสารคดีที่ดูมาเล่าให้ฟัง ที่บอกว่าแปลกคือท้ายบทมีการลงรูปภาพหน้าปกหนังสือเล่มนั้น หรือ QR Code ให้สแกนเข้าไปดูวิดีโอเพิ่มเติม เรียกได้ว่าเป็นการทำ Offline 2 Online ในแบบที่ผมเองก็แพลนไว้ว่าจะทำในหนังสือฉบับหน้า จะได้เก็บ Data ว่ามีคนอ่านที่สนใจจนตามไปดูข้อมูลอีกมากขนาดไหน
ว่าแล้วขอสรุปหนังสือเล่มนี้ด้วยการหยิบบางช่วงตอนของบางบทที่ผมชอบมาเล่าสู่กันฟัง ขอเริ่มจากบทแรกที่อ่านแล้วชอบมาก “คุณค่าความหวัง” ครับ
คุณค่า “ความหวัง”
ตอนคุณหนุ่มเมืองจันท์ทำบ้านใหม่ นอกจากจะซื้อข้าวกลางวันไปแจกในวันที่แวะไปตรวจดูความคืบหน้าของงานแล้วยังพบว่าการซื้อหวยไปแจกให้คนงานนั้นทำให้พวกเขามีความสุขกว่า
เพราะความสุขของพวกเขามาจากความหวัง ความหวังว่าจะถูกหวยรวยเงินล้านจะได้ไม่ต้องทำงานหนักแลกเงิน จากการให้ความหวังด้วยหวยนี้ทำให้คนงานมีความสุขมากกว่าได้ข้าวกล่องมากมาย
แม้ดูจากมูลค่าของหวยก็ไม่ได้สูงกว่าข้าวกล่องมากมาย แต่ความรู้สึกทางใจนั้นกลับสูงกว่ามาก
บทนี้ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ทำให้ผมคิดได้ว่า เราได้สร้างความหวังดีๆ ให้กับคนรอบตัวบ้างหรือยัง
เพราะชีวิตจริงของใครหลายคนอาจจะเจอความทุกข์มากกว่าความสุข ดังนั้นการได้มีความหวังสักนิดแม้ยากจะเป็นได้จริงก็ยังดีกว่าการไม่ได้กลิ่นของความหวังเลย
“สวน” แห่งความสุข
เป็นเรื่องราวของเนลสัน แมนเดลา หนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกที่หลายคนคุ้นชื่อและบางคนก็รู้เรื่องราวของเขาเป็นอย่างดี ตอนที่เขาถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมืองที่ไม่รู้ว่าจะถูกปล่อยตัวเมื่อไหร่ คนอื่นปล่อยให้ตัวเองห่อเหี่ยวและเฉาตาย แต่เนลสัน แมนเดลา คนนี้ไม่ เขาเลือกที่จะหาอะไรเล็กๆ ทำเพื่อสร้างความหวังและทำให้ตัวเองยังรู้สึกมีความสุขกับการใช้ชีวิตทุกวันแม้จะเพียงเล็กน้อย
สิ่งที่เนลสัน แมนเดลา ทำก็คือทำสวนปลูกดอกไม้ครับ เริ่มจากสวนเล็กๆ จนผู้คุมก็เริ่มให้พื้นที่ขยับขยายกว้างขึ้นเพราะผู้คุมเองก็ได้ประโยชน์จากสวนของเนลสัน แมนเดลาคนนี้ด้วย จนถึงวันที่เขาถูกปล่อยตัวออกมาจากการจองจำหลายสิบปี หลายคนสงสัยว่าทำไมเขาถึงยังดูสดชื่นไม่ห่อเหี่ยว ผิดกับคนอื่นที่พอติดคุกนานปีเข้าก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนละคน
นั่นก็เพราะเนลสันผู้ยิ่งใหญ่คนนี้มีสวนแห่งความสุขเล็กๆ ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ท้ายบทนี้บอกว่า ในวันที่จิตใจย่ำแย่ที่สุด เราต้องพยายามมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้รู้จักรอคอยและมีความหวัง สั่งสมชัยชนะเล็กๆ เพื่อเป็นกำลังใจในการก้าวต่อไป
อ่านถึงตรงนี้ทำให้ผมคิดถึงหนังสือ Atomic Habit การจะพิชิตเป้าหมายใหญ่ในชีวิตได้ไม่ได้เกิดจากการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ครั้งเดียวแล้วพิชิตเลย แต่เกิดจากการทำทุกวันเพื่อสั่งสมผลลัพธ์และสร้างเป็นนิสัยใหม่ของเราขึ้นมา
ก็เหมือนกับการลดน้ำหนักไม่มีใครทำได้ในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมการลดน้ำหนักออกทีวันละนิดจนกลายเป็นคนใหม่ที่ผอมเพรียวได้ในที่สุด (เชื่อเหอะผมลดน้ำหนักตัวเองสิบโลได้ภายในไม่กี่เดือนมาแล้ว ด้วยการวิ่งสัปดาห์ละสองวัน วันละสิบโล)
ดังนั้นถ้าวันไหนคุณรู้สึกท้อแท้ ย่ำแย่ และห่อเหี่ยว พยายามหาอะไรสักอย่างทำที่สามารถทำสำเร็จได้ทุกวัน แล้วคุณจะรู้สึกว่าชีวิตนี้ยังมีเรื่องที่คุณทำให้สำเร็จได้ จนมีแรงใจไปพิชิตเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่ขึ้นได้ในที่สุด
“หมา” และ “เมล็ดพันธุ์”
บทนี้เป็นเรื่องราวของพี่เตา บรรยง พงษ์พานิช คนที่ผมบังเอิญได้อ่านหนังสือของพี่เตา จนรู้สึกชื่นชอบและติดตามมานับจากนั้น ผมได้รู้จักพี่เตามากขึ้นผ่าน Clubhouse แพลตฟอร์มที่เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันโดยไม่เห็นภาพ (นอกจากภาพโปรไฟล์) และหนึ่งในเรื่องราวของบทนี้ก็คือเรื่องที่ผมได้ยินพี่เตาพูดบ่อยๆ ใน Clubhouse ตอนที่แกยอมเป็นหมาเพื่อทำให้บริษัทที่รับผิดชอบไม่ต้องพังทลาย
เรื่องมีสั้นๆ ก็คือว่าสมัยก่อนตอนพี่เตายังคงทำงานเป็นนักค้าหุ้น เกิดความผิดพลาดในคำสั่งซื้อขาย เดิมที 20,000 หุ้น แต่ดันเคาะตัวเลขการขายไป 20 ล้านหุ้น และที่หนักกว่านั้นนี้บริษัทนี้มีหุ้นแค่ 13 ล้านหุ้นเท่านั้น ซึ่งราคาความผิดพลาดครั้งนั้นก็มหาศาลหลักหมื่นล้าน จนทำให้พี่เตาต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อหยุดยั้งความวิบัติครั้งนี้ให้ได้
ถึงขั้นยอมไปคุกเขาอ้อนวอนขอเลขาผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ช่วยบอกว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นไปทำธุระที่ไหน พี่เตาถึงขนาดบอกว่าจะให้ก้มกราบเท้าก็ยอม แต่เลขาท่านนั้นก็ใจอ่อนยอมบอกสถานที่ที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นอยู่ในเวลานั้น
พี่เตาตามไปยังร้านอาหารที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นอยู่ และก็เหมือนเดิมครับ คุกเข่าขอร้องและบอกว่าจะให้ก้มกราบเท้าในร้านอาหารท่ามกลางสายตาผู้คนมากมายก็ยอม
และนั่นก็ทำให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นใจอ่อนยอมช่วยเหลือพี่เตาและบริษัทให้พ้นวิกฤตไปได้ นี่คือบทเรียนที่บอกว่าถึงเวลาเป็นหมาเราก็ต้องยอมเป็นหมา
อย่ามัวแต่ยึดศักดิ์ศรีใดๆ เพราะเมื่อทุกอย่างพังทลายไปมันไม่เหลือค่าราคาเลย
พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ จึงบอกเสริมตอนท้ายว่า เหมือนกับภาษิตเม็กซิกันบทหนึ่ง “พวกเขาพยายามจะกลบฝังเราให้จมดิน โดยหารู้ไม่ว่า เรานั้นคือเมล็ดพันธุ์”
นั่นแหละครับ ยิ่งเมล็ดพันธุ์ถูกกดให้จมดินมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งฝังรากได้ลึกแตะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้มากเท่านั้น
ดังนั้นถ้าคุณถูกสถานการณ์กดให้จมดินจงจำไว้ว่า ถ้าคุณรอดผ่านสถานการณ์นั้นมาได้คุณก็มีโอกาสจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ในวันหน้าได้ไม่ยาก
นิสัย-ฝีมือ
เมื่อถูกถามว่าบริษัทต้องการคนแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่างคนที่ทำงานเก่ง หรือคนที่นิสัยดี เชื่อได้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะตอบแบบบาลานซ์กัน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รู้ไหมครับว่าจากประสบการณ์ตรงของตัวผมเองก็เห็นด้วยกับบทนี้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อคุณทำงานผ่านไปสักพักในระดับที่เรียกว่าเป็นมืออาชีพในวงการแล้ว ฝีมือความเก่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ต่างกันมาก (ยกเว้นว่าเป็นระดับเทพของวงการอันนี้ข้ามไป) แต่สิ่งที่คนมองหานอกจากความเก่งที่ใกล้เคียงกันก็คือใครมีนิสัยดีน่าทำงานด้วยมากกว่ากัน
นิสัยที่ดีจะทำให้เราได้รู้จักผู้คนมากมาย มีคนอยากสนับสนุนให้เราไปได้ไกลขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ฝีมือใกล้ๆ กันแต่กลับนิสัยไม่ดีไม่น่าคบ ส่งผลให้ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าใกล้เท่าไหร่ครับ
ดังนั้นผมอยากจะบอกว่านิสัยจะทำให้เราไปได้ไกลกว่าในหน้าที่อาชีพการงาน ยกเว้นว่าคุณมั่นใจในฝีมือว่าเป็นระดับเทพที่ทุกคนต้องง้อคุณ อันนี้อาจเป็นข้อยกเว้นเดียว แต่เชื่อไหมครับว่าแทบจะเป็นหนึ่งในล้าน คำถามคือคุณแน่ใจหรือเปล่าว่าคุณจะเป็นหนึ่งนั้น หรือเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้ากันแน่
การเป็นคนนิสัยดีไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหาย แต่การเป็นคนนิสัยดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนยอมคนเสมอไป และไม่ใช่การประจบประแจงเอาใจใครด้วย
การเป็นคนนิสัยดีคือการมีมรรยาท ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติ ถ้าไม่ชอบใครก็อย่าเข้าใกล้คนแบบไหน และก็ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาเอาเปรียบเราได้ง่ายๆ
เพราะโลกในวันนี้ต้องการคนที่ทำงานเป็นทีม เราไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่เราต้องการคนเก่งที่นิสัยดีครับ ความเก่งทำให้คนอยากเข้ามาเมื่อมีปัญหา แต่ความน่ารักจะทำให้คนอยากเข้าใกล้เราไปนานๆ ครับ
พูดแล้วคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Give and Take ลองไปหาอ่านดูนะครับ เสียดายผมเคยอ่านจบแล้วแต่ตอนนั้นไม่ได้เอามาเขียนสรุปไว้
และนี่ก็เป็นการสรุปหนังสือที่ผมตั้งตารองานหนังสือทุกปีตั้งแต่เริ่มอ่านมา เพราะรู้ว่าทุกงานหนังสือจะได้อ่านฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มใหม่ และตั้งแต่ตามอ่านมา 33 เล่มก็พบว่าไม่เคยรู้สึกผิดหวังแต่อย่างไรครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 17 ของปี 2021
สรุปหนังสือ เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 33 หนุ่มเมืองจันท์ เขียน สำนักพิมพ์ มติชน
อ่านสรุปหนังสือฟาสต์ฟู้ดธุรกิจต่อ > กดที่นี่
สั่งซื้อออนไลน์ > https://www.naiin.com/product/detail/525077