สรุปหนังสือ MUJI แนวคิด และ คำคม ก่อให้เกิดมูจิ บริษัทเรียวฮิน เคอิคะคุ เขียน ทินภาส พาหะนิชย์ แปล สำนักพิมพ์ Change+

MUJI แนวคิด และ คำคม ก่อให้เกิดมูจิ บริษัท เรียวฮิน เคอิคะคุ

MUJI หนึ่งในแบรนด์ที่คนไทยหลายคนชื่นชอบมาก และผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ยังจำได้ถึงวันที่ร้านมูจิยังไม่มีในไทย จะซื้อได้แต่ละทีก็ต้องเป็นโอกาสที่บินไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น สินค้าของมูจิที่ผมชอบมากสมัยก่อนคือ ปากกา และ สมุดจด

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงชอบของที่ดูธรรมดาแบบนี้มาก เพราะจากบรรดาปากกาทั้งหมดที่เคยใช้มา รู้สึกชอบการเขียนด้วยปากกามูจิมากที่สุด เขียนลื่น เขียนง่าย หมึกไม่เลอะนิ้ว สมัยก่อนผมเขียนเยอะมาก เขียนปากกาหมดเดือนละหนึ่งด้าม ทำให้ไปญี่ปุ่นแต่ละทีเมื่อก่อนไปปีสองปีครั้ง ก็มักจะซื้อเก็บมาเป็นสิบๆ ด้าม ยังไม่นับถือสมุดของมูจิที่ทำออกมาได้มากมายหลายขนาด ตอบโจทย์คนที่ต้องการสมุดที่มีขนาดพิเศษแบบผมจริงๆ

ขนาดพิเศษแบบไหนหรอที่ผมชอบ ก็คือขนาดที่ใส่ในกระเป๋าหลังกางเกงยีนส์ได้ และก็ต้องเป็นสมุดแบบไม่มีเส้น สำคัญคือต้องไม่เข้าเล่มแบบสันกาว

เพราะอะไรหนะหรอครับ สมัยนั้นผมทำงานอยู่ในเอเจนซี่โฆษณา ผมเลยต้องเขียนไอเดียที่บังเอิญคิดได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าจะเป็นสมุดเล่มใหญ่จนต้องถือก็จะลำบาก ผมเป็นคนไม่ชอบพกกระเป๋าอะไรไปทำงาน ก็เลยอยากได้สมุดขนาดเล็กที่ใส่ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ได้

ครั้นจะขนาดใหญ่ขนาดใส่กระเป๋าข้างก็ไม่ชอบ เพราะมันทำเดินไม่สะดวก ครั้นจะเลือกขนาดเล็กไปก็จะจดลำบากเกินไป เลยต้องเป็นขนาดใหญ่ที่สุดแต่ยังเล็กพอที่จะใส่กระเป๋าหลังกางเกงยีนส์ได้

หาทั่วกรุงเทพไม่เจอ ไปเจอที่ร้าน MUJI ตอนไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ชอบมาก จนต้องซื้อเก็บมาเป็นสิบๆ เล่ม นี่แหละครับสินค้าของชิ้นของร้านมูจิที่ช่วยชีวิตผมไว้ได้ในเวลานั้น

ดังนั้นการได้หยิบหนังสือ MUJI ขึ้นมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเล่มไหน ก็ยังมีแง่มุมใหม่ๆ ให้เรียนรู้เสมอ จากเล่มแรกที่เคยอ่านทำให้ผมเห็นถึงวิธีการใช้ Data Driven Marketing ในแบบของมูจิ จนเอาไปเขียนเป็นเนื้อหาในหนังสือการตลาดแบบฉลาดใช้ดาต้า หรือหนังสือเล่มที่สองของผมที่พิมพ์ครั้งแรกในปี 2020 มาวันนี้ได้หยิบหนังสือ MUJI อีกเล่มขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์หนังสือญี่ปุ่นที่ผมอ่านต่อเนื่องจากทริปเกียวโตเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จากความอินญี่ปุ่นทำให้ผมรื้อหนังสือญี่ปุ่นที่ดองไว้ทั้งบ้านมาอ่าน เรียกได้ว่านี่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นแทบจะเล่มสุดท้ายในบ้านผมแล้วครับ

เกริ่นมาก็เยอะ เรามาเข้าสู่การสรุปเนื้อหาหนังสือ MUJI เล่มนี้กันดีกว่าครับว่ามีอะไรที่น่าสนใจและให้เราได้เรียนรู้บ้าง

1. MUJI Strategy กลยุทธ์หลักของเราคือการทำประโยชน์

เรื่องนี้เรียบง่ายแต่ทำจริงไม่ง่าย ที่บอกว่าทำจริงไม่ง่ายไม่ใช่เพราะมันทำยาก แต่เพราะมันยากที่จะทำ มันคือการตั้งเป้าหมายใหม่ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่คิดกัน ส่วนใหญ่ธุรกิจมักตั้งเป้าการแสวงหาผลกำไรจากการขายสินค้าหรือบริการเป็นหลัก แล้วค่อยทำสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุดที่ลูกค้าจะจ่ายไหวออกมา แต่ถ้าเรากลับกลยุทธ์หลักตั้งเป้าหมายธุรกิจใหม่เป็น

“เราจะทำประโยชน์ให้ผู้คนผ่านสินค้าหรือบริการ หรือความเชี่ยวชาญที่เรามีให้มากที่สุด”

ผลคือวิธีคิดเราจะเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลไปสู่วิธีทำ เราอยากให้ลูกค้าได้ใช้ของที่ดีที่สุดในราคาที่คุ้มค่าที่สุด สิ่งที่เราจะทำจึงไม่ใช่สร้างของแพง หรือถูก แต่จะเป็นการคิดว่าฟีเจอร์ไหนจำเป็น วัสดุแบบไหนไม่จำเป็น ปากกาก็เป็นแค่ปากกา ไม่ต้องไปสร้างสีสันลูกเล่นอะไรให้มากมาย แค่ทำให้มันเป็นปากกาที่เขียนง่ายและใช้ได้ดีที่สุดก็พอ

จากกลยุทธ์การคิดแบบนั้นทำให้มูจิสามารถทำปากกาที่คนชื่นชอบ (คนอย่างผม) และสามารถขายได้ในราคาที่แพงกว่าปากกาทั่วไป แต่ก็ไม่ได้แพงเวอร์แต่อย่างไรเมื่อเทียบกับปากกาแบรนด์ดัง

ฉะนั้นถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้แล้วผมอยากให้คุณลองคิดดูว่า เราจะทำประโยชน์ให้ผู้คนได้มากที่สุดได้อย่างไร ด้วยสินค้า บริการ หรือความเชี่ยวชาญที่เรามี ถ้าเราทำได้สุดท้ายผลกำไรก็จะมาหาเราเอง

2. ต่อต้านสิ่งที่เป็นกระแส(ที่ตัวเองไม่เชื่อ)

หนึ่งในแนวคิดของ MUJI ที่น่าสนใจคือพวกเขาเริ่มต้นจากการต่อต้านสังคมบริโภคนิยม พวกเขาไม่เชื่อในการกระตุ้นให้คนซื้อ ไม่เร่งเร้าให้คนอยากได้อยากมี บวกกับไม่พยายามทำสินค้าให้ออกมาถูกลงจนเกิดขยะล้นตลาด แต่พวกเขาเชื่อที่จะทำให้ออกมาดี ดีจนมีแค่นี้พอไม่ต้องมีเพิ่ม ไม่เน้นการโปรโมทสินค้าใหม่เพราะแทบไม่มีอะไรใหม่ มีแต่ของจำเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือยังไม่ติดโลโก้แบรนด์ MUJI แต่อย่างไร

MUJI จึงได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์ เน้นฟังก์ชั่นที่คุ้มค่า ตัดความหรูหราที่ไร้สาระ และนั่นก็ทำให้มูจิชัดเจนจนกลายเป็นแบรนด์ในใจใครหลายคน

3. สร้างเสน่ห์ด้วยการตัดทอนและทำให้เรียบง่าย

จักรยานคืออะไร ? แค่ไหนคือจักรยาน ? คำถามเรียบง่ายแต่กลับต้องใช้เวลาคิดตลกผลึกนานมาก เพราะถ้าสังเกตระหว่างจักรยานแบรนด์อื่น กับจักรยานของ MUJI เราจะเห็นชัดถึงคำว่าเรียบง่ายแต่ยังใช้ได้ดีในแบบของมูจิอยู่

เพราะมูจิจะตั้งคำถามกับจักรยานที่มีขายอยู่เต็มท้องตลาดว่า

  • เราจำเป็นต้องมีถึงสิบเกียร์มั้ย ?
  • เราจำเป็นจะต้องมีไฟมั้ย ?
  • เราจำเป็นจะต้องมีโช้คมั้ย
  • เราจำเป็นจะต้องมีกี่สี ?
  • เราจำเป็นจะต้องมีตะกร้าหรือเปล่า ?

คำถามทั้งหมดนี้ทำให้มูจิได้ตัดทอนความไม่จำเป็นออก แล้วเอาทรัพยากรที่เหลือไปทุ่มเทพัฒนาสิ่งที่จำเป็นต้องมีในจักรยานให้ดีที่สุดที่คนทั่วไปต้องการในชีวิตประจำวัน

ไม่ต้องเอาดีเวอร์ขนาดนักปั่นมืออาชีพ แต่เอาขนาดที่ดีเพียงพอสำหรับทุกคนต้องการในการปั่นทุกวัน

นี่แหละหลักการคิดแบบ MUJI ตั้งคำถามมากๆ ไม่ใช่เพื่อเพิ่ม แต่เพื่อตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก แล้วค่อยไปเพิ่มกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ

4. น้ำก็คือน้ำ อากาศก็คืออากาศ

หลักคิดข้อนี้ของ MUJI คือการที่มีคนถามว่า ทำไมถึงวางขายสินค้าแบบเดียวกันหมดทั่วโลก ทำไมไม่ทำให้แตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศเพื่อจะได้สร้างจุดขายใหม่ๆ หละ

คำตอบของมูจิคือพวกเขาบอกว่า “เพราะเราขายน้ำ” ดังนั้นไม่ว่าน้ำจะขายที่ไหนบนโลก คุณสมบัติของน้ำที่คนต้องการก็คือสะอาด ดื่มได้ ปลอดภัย อากาศก็เช่นกัน หายใจเข้าไปแล้วปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ให้น้ำประเทศนี้ต่างจากประเทศนั้นอย่างไร เอาเวลาที่เหลือไปทุ่มเทให้น้ำนั้นสะอาด บริสุทธิ์ ปลอดภัย และขายได้ในราคาที่เป็นมิตรต่อลูกค้าและยังทำให้ธุรกิจมีกำไรเดินหน้าต่อไปได้จะดีกว่าครับ

5. อยากให้ง่ายต่อลูกค้า ต้องใช้ความใส่ใจมากกว่าคู่แข่ง

ชุดนอนเด็กของมูจินั้นมีความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ที่แบรนด์อื่นมองข้าม เขาบอกว่าพ่อแม่มักจะภูมิใจเวลาลูกน้อยของตัวเองเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองได้ อย่างกิจวัตรประจำวันอย่างการใส่ชุดนอน การจะติดกระดุมให้ตรงรูไม่สลับกันจนมารู้ตัวตอนท้ายแล้วต้องแกะทั้งหมดใส่ใหม่

ทางมูจิก็ช่วยให้ลูกน้อยของลูกค้าติดกระดุมเองได้ง่ายขึ้น ด้วยการทำกระดุมสลับสีไล่จากบนลงล่าง ทำให้เด็กๆ จำได้ว่าต้องติดเม็ดไหนก่อนหลัง รูไหนติดกระดุมเม็ดใด นี่เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญมากสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก การที่เด็กๆ สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ก็เท่ากับเป็นการลดภาระพ่อแม่ไปในตัวนั่นเอง

เสื้อกล้ามมีบราฟองน้ำก็เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่มูจิใส่ใจในกลุ่มลูกค้าผู้หญิง พวกเขาสังเกตเห็นว่าผู้หญิงไม่ว่าจะอยากสบายเมื่ออยู่บ้านอย่างไรก็จะเป็นต้องใส่บราเพื่อไม่ให้ดูโป๊ ครั้นจะใส่เสื้อยืดสบายๆ ไม่ใส่บราก็อาจถูกมองจากคนในบ้าน หรือคนรอบตัวได้ (สังคมญี่ปุ่น conservative สูงมาก)

พวกเขาเลยออกแบบเสื้อกล้ามให้มีบราฟองน้ำในตัว เพื่อให้ลูกค้าผู้หญิงรู้สึกใส่แล้วสบายแต่ก็ยังไม่โป๊ ผลคือขายดีมาก เหมาะกับผู้หญิงที่ใส่อยู่บ้านหรือออกไปทำธุระใกล้ๆ บ้านครับ

6. เลิกคิดหาสิ่งที่ควรทำ เริ่มคิดหาสิ่งที่เราไม่ควรทำ

เพราะการไม่ทำสำคัญกว่า หนึ่งในหัวใจของกลยุทธ์ทุกสิ่งไม่ว่าจะกลยุทธ์ธุรกิจหรือกลยุทธ์การตลาด มันคือการเลือกที่จะไม่ทำ และนั่นก็คือสิ่งที่มูจิให้ความสำคัญ ก่อนพวกเขาจะลงมือทำอะไรพวกเขาจะเริ่มต้นจากคำถามว่าเราจำเป็นต้องทำมันหรือเปล่า มันใช่แนวคิดมูจิของการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปให้เหลือแต่แก่นสำคัญหรือไม่

และจากการคิด การกระทำ ที่มาจากกลยุทธ์นั้น ทำให้มูจิสามารถโฟกัสและทุ่มเททรัพยากรไปกับการทำในสิ่งที่สำคัญ จนสุดท้ายก็กลายเป็นผลกำไรทางธุรกิจในท้ายที่สุด

ขอให้คุณลองเอาวิธีคิดแบบนี้ไปใช้กับตัวเองดู เพราะส่วนตัวผมก็ใช้แนวคิดแบบนี้มานานมาก

สรุปหนังสือ MUJI แนวคิด และ คำคม ก่อเกิดมูจิ

ใครที่เป็นแฟนมูจิคงจะประทับใจกับหนังสือเล่มนี้มาก ใครที่มีสินค้ามูจิอยู่บ้านก็คงจะรู้สึกเซอร์ไพรส์บวกชื่นชมแบรนด์นี้มากขึ้น ใครที่เป็นผู้บริหารไปจนถึงเจ้าของธุรกิจผมอยากให้คุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้มากๆ แล้วคุณจะรู้ว่ามูจิสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงในระดับโลกขึ้นมาได้อย่างไร

ด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย ใครๆ ก็สามารถลอกเลียนแบบทำตามได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องใช้ความแน่วแน่มุ่งมั่นว่าจะไม่ทำอะไร เพื่อจะได้เอาเงิน เวลา หรือทรัพยากรที่มีไปทุ่มให้กับสิ่งสำคัญที่ต้องทำจริงๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ามากที่สุดครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี

สรุปหนังสือ MUJI แนวคิด และ คำคม ก่อให้เกิดมูจิ
บริษัทเรียวฮิน เคอิคะคุ เขียน
ทินภาส พาหะนิชย์ แปล
สำนักพิมพ์ Change+

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อออนไลน์: https://s.shopee.co.th/9f08mQANI0

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/