สรุปรีวิวหนังสือ 30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา สมชัย เลิศสุทธิวงค์ กับชีวประวัติเรื่องราวความเป็นมาของคนธรรมดาที่ไต่เต้าจากพนักงานขึ้นมาสู่ตำแหน่ง CEO บริษัทมหาชนอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง AIS ที่เป็นหนึ่งในผู้นำเรื่องเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือมาช้านาน ในฐานะที่ตัวผมเองก็เป็นลูกค้า AIS มาจะ 13 ปีแล้ว พอได้รู้ว่ามีหนังสือเรื่องราวเจาะลึกเอไอเอส ก็ยิ่งทำให้อยากอ่านดูว่าบริษัทนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ เริ่มจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วขยับไปสู่นักธุรกิจสัมพันธ์ และก็กลายเป็นนักการตลาด สุดท้ายวันนี้คือเป็น CEO อยู่ที่ AIS ครับ
จากเรื่องราวของคนธรรมดาที่เน้นการสู้งานหนัก ขยัน ซื่อสัตว์ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด นี่คือสูตรเด็ดหรือเคล็ดลับที่ทำให้เขาคนนี้ประสบความสำเร็จแบบไม่ธรรมดา
ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยกับ 3 ข้อที่คุณสมชัยบอกว่าเป็นเคล็ดลับ เพราะจากประสบการณ์ที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาก็พบว่ามันก็มีเท่านี้แหละ แค่ทำงานให้มากกว่าคนอื่น สร้างโอกาสให้มากกว่าคนอื่น ในระยะเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน เราใช้แต่ละชั่วโมงไปเพื่ออะไรบ้าง เราใช้เพื่อตัวเราเองในวันนี้เป็นส่วนใหญ่ หรือเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับตัวเองในอนาคต
และนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญในหนังสือที่ผมอยากหยิบเอามาเล่าแบบสรุปให้เพื่อนๆ ได้เรียกน้ำย่อยไปซื้อหามาอ่านแบบเต็มๆ กันครับ
คนเก่งมักถ่อมตัว
คนที่เป็น CEO บริษัทระดับนี้สามารถคุยถึงความเก่งกาจของตัวเองได้ แต่ในหนังสือ 30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เล่มนี้กลับไม่ใช่แบบนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ออกไปทางถ่อมตัว แถมยังไม่ค่อยเอาดีเข้าตัว กระจายความดีให้ทุกคนรอบตัวที่ทำงานด้วยกันแทน
คุณสมชัยเล่าว่าตัวเองจบสถิติมาแล้วก็ผันตัวไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ช่วงแรกเขียนโปรแกรมไม่เป็นแต่ก็ฝึกฝนเอาจนเขียนเป็น แล้วสักพักก็เขียนเก่ง แต่คุณสมชัยก็ยังถ่อมตัวว่าที่เขียนโปรแกรมได้เก่งไม่ได้มาจากพรสวรรค์แต่อย่างใด แต่มาจากความขยันมากกว่า ฝึกบ่อยเข้าก็ทำได้
นี่แหละครับคุณสมบัติข้อหนึ่งของคนเก่ง เขามักจะคิดว่าความเก่งเป็นเรื่องของพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์ เพียงแค่ลงมือทำทุกวันให้ตัวเองเก่งเรื่องนั้น สะสมไม่กี่ร้อยวันก็เก่งได้กว่าคนอื่นมาก
เลือกทำงานที่ได้เรียนรู้ แม้เงินเดือนน้อยแต่ให้มองว่าเราได้เงินค่าเรียนด้วย
คุณสมชัยเล่าว่าจุดเปลี่ยนที่เขาออกจากธนาคารไทยพานิชย์ทั้งที่ตำแหน่งก็ดี เงินเดือนก็เยอะ แถมบริษัทก็ยังใหญ่โตมั่นคงกว่าเอไอเอส หรือบริษัท ชิน ในเวลานั้นมากก็เพราะ เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบงานด้านโปรแกรมเมอร์สักเท่าไหร่ ระหว่างเขียนโปรแกรมไปใจก็คิดแต่เรื่องค้าขายและการตลาด
คุณสมชัยจึงแนะนำไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรต้องทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่ามัวอดทนกับสิ่งที่ไม่ชอบ นอกจากไม่สนุกยังเติบโตยาก แม้ว่าเราจะทำผลงานในช่วงแรกได้ดีก็ตาม
เรื่องนี้เหมือนกับชีวิตผมช่วงหนึ่ง ผมเคยยอมลดเงินเดือนตัวเองลง 30% เพื่อจะได้ทำในเนื้องานที่ผมอยากทำ ตำแหน่งก็ลดลงตามไปด้วย ผลคือเป็นการตัดสินใจที่ดีมากครับ เพราะจากจุดนั้นจึงทำให้ผมเป็นหนุ่ย การตลาดวันละตอนทุกวันนี้ ถ้าวันนั้นไม่ตัดสินใจยอมเสียบางสิ่งเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถ้ายังมัวมองว่าเราได้เงินเดือนลดลงไปตั้งหลายหมื่น แต่ถ้าเรามองมุมใหม่ว่า เราได้เรียนรู้งานใหม่ในสิ่งที่อยากลอง แถมระหว่างนั้นเรายังได้เงินค่าเรียนควบคู่ไปได้ มันจะมีอะไรดีกว่านี้แล้วหละจริงไหม
ดังนั้นฝากถึงน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำงานอะไรดี ให้เลือกจากงานที่ตัวเองอยากลอง อยากทำ จะได้รู้ว่าเรารักที่จะทำมันจริงไหม ให้มองว่าเงินเดือนแม้จะไม่มากเท่ากับสิ่งที่ทำได้ดีในตอนแรก แต่ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่รักเราก็มักจะทำได้ดี หรือหาทางทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง เมื่อนั้นแหละผลตอบแทนที่คู่ควรก็จะตามมาครับ
3 ระดับของความเป็นเซลล์แมน
คุณสมชัยอธิบายระดับของความเป็นพนักงานขายหรือเซลล์แมนไว้ได้อย่างน่าสนใจ ขอหยิบมาสรุปเล่าให้ฟังดังนี้
เซลล์แมนระดับที่ 1 Order Taker
หรือพนักงานขายที่รับคำสั่งมาแล้วก็ทำตามนั้น ลูกค้าบอกแบบไหนจัดให้แบบนั้น ไม่ขาดตกบกพร่องแต่ก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติมให้ลูกค้า ทำให้แม้จะทำงานได้ดีแต่ก็ยากจะก้าวหน้าได้ เพราะผลงานเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ไม่โอเวอร์สแตนดาท นี่คือเซลล์แมนส่วนใหญ่หรือคนทำงานทั่วไปที่พบเจอได้ตลอดเวลาครับ
เซลล์แมนระดับที่ 2 Salesman
อ่านแล้วคุณอาจงง ก็เรากำลังพูดถึงเซลล์แมน แล้วทำไมระดับที่สองของเซลล์แมนจึงใช้คำว่า Salesman หละ
เพราะคนที่จะเป็นเซลล์แมนพนักงานขายจริงๆ ได้คือคนที่มีลูกล่อลูกชนเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ไม่ได้ดูแค่ว่าลูกค้าบอกอะไร หรือขาดอะไร แต่หาทางนำเสนอขายเพิ่มคิดโปรโมชั่นใหม่ตลอดเวลา เรียกได้ว่านี่คือเซลล์แมนชั้นดี ที่เป็นตัวทำยอดขายเด่นๆ ให้บริษัทครับ
แต่ที่เหนือกว่า Salesman ขึ้นไปอีกระดับคือสิ่งที่คุณสมชัยเรียกว่า Partner
เซลล์แมนระดับที่ 3 Partner
Partner ไม่ใช่แค่คนที่ขายของเก่งแบบเซลล์แมน แต่เป็นคนที่คิดเสมือนเป็นเพื่อนจริงๆ ของลูกค้า กล้าแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควร หาทางออกที่ดีที่สุดให้ แม้บางครั้งอาจไม่ได้จบลงด้วยการขาย แต่มันก็ทำให้ได้ใจลูกค้ามากจนลูกค้าอยากซื้อเอง และก็ทำให้ลูกค้ารายนั้นอยากแนะนำเซลล์แมนคนนั้นให้คนอื่นด้วย
เพราะรู้สึกถึงความจริงใจที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
คนที่จะเป็น Partner ได้คือคนที่คิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง เรื่องนี้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะการจะยอมตัดเรื่องผลประโยชน์ออกไปก่อนได้ นี่แหละคือสิ่งที่ยากที่สุดในใจเรา
นี่แหละครับคือเซลล์แมนสามระดับที่คุณสมชัยเล่าในหนังสือเล่มนี้
อยากโตต้อง Unlock ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยโตได้ด้วยการปลดล็อค
เรื่องนี้คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักว่าการปลดล็อคโทรศัพท์คืออะไร ผมขอเล่าย้อนวัยกลับไปสมัยยังเด็ก ยุคแรกเริ่มของตลาดโทรศัพท์มือถือ สมัยนั้นเราซื้อเครื่องกับเครือข่ายไหนก็ต้องใช้เครือข่ายนั้นเท่านั้น เพราะแต่ละเครื่องจะถูกล็อคหมายเลข IMEI ไว้กับเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสลับซิมเป็นค่ายอื่นได้ถ้าเราไม่พอใจ ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ทุ่มเทลงทุนสร้างฐานลูกค้าไป แต่อีกมุมมันคือการล็อคตลาดไว้ให้ไม่โตอย่างมีฟรีดอม
ในด้านหนึ่งเพราะรายได้ของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือย่าง AIS และ DTAC เวลานั้นคือค่าโทรกับค่าเครื่อง ในด้านหนึ่งจึงเป็นการป้องกันการเอาโทรศัพท์มือถือราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาใช้งาน แต่นั่นก็หมายความว่าทำให้คนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้ยากยิ่งไปพร้อมกัน
การป้องกันธุรกิจในวันนั้นกลายเป็นการป้องกันลูกค้าโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อเกิดการปลดล็อคกันขึ้นให้สามารถใช้เครื่องไหนก็ได้ของทั้งสายค่าหลัก ส่งผลให้ตลาดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือโตขึ้นอย่างมหาศาล เกิดผู้นำเข้ามากมาย เกิดแบรนด์ต่างๆ ไหลทะลักเข้ามา จากเครื่องละหลายหมื่นเหลือไม่กี่พัน แต่ถ้าใครอยากได้เครื่องฟรีก็แค่ผูกสัญญากับเครือข่ายนั้นไป
ดังนั้นสรุปได้ว่าถ้าเราอยากให้เกิดการเติบโตมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องทำลายข้อจำกัดและปลดล็อคมากเท่านั้น
และไม่ใช่แค่การปลดล็อคจากการผูกค่าย แต่ยังมีการปลดล็อคที่สองที่ทำให้ตลาดโต นั่นคือการปลดล็อคจากค่าบริการรายเดือน เดิมทีผู้ใช้งานมือถือได้ต้องสมัครใช้งานแบบรายเดือนเท่านั้น แถมเมื่อก่อนยังมีค่าธรรมเนียมการใช้งานที่ต้องจ่ายฟรีๆ ไปเดือนละ 500 บาท แล้วค่อยคิดค่าโทรเพิ่มเป็นนาทีไป แต่เมื่อปลดล็อคค่าธรรมเนียมลงไปก็ทำให้ตลาดโตขึ้น
แต่จุดสำคัญที่สุดคือการปลดล็อคจากการมีค่าธรรมเนียมใช้ก่อนจ่ายทีหลัง มาสู่การจ่ายก่อนใช้ทีหลัง หรือที่เรียกว่าโทรศัพท์แบบเติมเงินที่ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นงบน้อยหันมาใช้งานโทรศัพท์มือถือมหาศาล
นี่แหละครับสองการปลดล็อคครั้งสำคัญของวงการโทรศัพท์ไทย ส่งผลให้ใครๆ ก็เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือได้ในราคาถูก ทั้งค่าเครื่องและค่าโทร ไปจนถึงไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ววันนี้
Customer Intimacy ทำให้ลูกค้าหลงรัก ด้วยโปรแกรม CRM ในแบบที่เลือกใช้ AIS นั้นคุ้มกว่า
ต้องยอมรับว่าโปรแกรม CRM หรือถ้าเรียกให้ถูกคือ Reward ของ AIS เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นทรงพลังมาก ลูกค้า AIS สามารถใช้สิทธิ์พิเศษรับส่วนลดต่างๆ นาๆ จากร้านค้ามากมายด้วยการกดดอกจันทร์ ตามด้วยรหัสโปรโมชั่น แล้วก็ยื่นให้พนักงานดู ง่ายๆ แค่นี้ก็ได้ลด 5-10 บาทตลอดเวลา บวกกับการมี Standy ตั้งตามหน้าร้านค้าต่างๆ ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้คนหันมาใช้ AIS มากขึ้น บอกตรงๆ ผมก็เป็นหนึ่งในเวลานั้นที่เลือกใช้ AIS เพราะอยากได้ส่วนลดยุบยิบทั้งหลายครับ
ต้องบอกเลยว่าในเวลานั้นไม่มีใครทำได้ดีเท่า AIS เป็นเวลานาน แม้เจ้าอื่นจะพยายามทำก็ไม่สามารถทำให้ครอบคลุมแบบ AIS ได้ เป็นสิทธิพิเศษของลูกค้าที่เราได้ใช้จริงๆ ผิดกับหลายๆ แบรนด์ในเวลานั้นที่ปากบอกมีแต่ก็หาร้านที่ใช้งานได้จริงน้อยมาก
แม้ค่าโทรอาจจะสูงกว่าคนอื่นหน่อย แต่เมื่อผู้บริโภคอย่างผมบวกลบคูณหารในใจก็รู้สึกว่าคุ้มกว่า และนั่นทำให้ผมยังคงเป็นลูกค้า AIS มานานกว่า 13 ปี แม้จะมีไม่ถูกใจบ้างบางครั้ง แต่โดยรวมทั้งหมดที่ผ่านมาก็ถือว่าทำได้ดี จนแทบนึกไม่ออกเลยว่าเคยไม่พอใจอะไร AIS บ้างครับ
ความผิดพลาดล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
ผมชอบประโยคนี้ เพราะเป็นหนึ่งในประโยคที่ได้เรียนรู้กับชีวิตจริงของตัวเอง เพราะคนส่วนใหญ่กลัวความผิดพลาด กลัวที่จะล้มเหลว เพราะมันดูเป็นเรื่องน่าอาย ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ในชีวิตจริงคนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องผ่านความล้มเหลวและผิดพลาดมามาก
ถ้าลองไปสังเกตดูบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ได้มาจากการทำ 10 อย่างแล้วประสบความสำเร็จ 7-8 แต่มาจากการทำเป็นสิบแล้วอาจถูกแค่หนึ่งหรือสอง เพียงแต่หนึ่งหรือสองนั้นมันเพียงพอที่จะกลบความล้มเหลวทั้งหมดให้เป็นการเรียนรู้ไป
เหมือนที่กว่าเอดิสันกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟได้เขาล้มเหลวมามากมาย แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ล้มเหลวแต่อย่างไร เพียงแค่เขาได้พบวิธีที่ไม่ใช่ จนทำให้ได้เจอวิธีที่ใช่และใช้งานได้จริงในท้ายที่สุด
จำไว้นะครับว่าคนที่ประสบความสำเร็จเบื้องหลังเต็มไปด้วยความผิดพลาดมากกว่าที่เราคิด ดังนั้นถ้าเราอยากประสบความสำเร็จให้เร็วขึ้น จงรีบผิดพลาดให้ไวและเรียนรู้ให้เร็ว เพื่อจะได้เจอสิ่งที่ใช่สำหรับเรา
ผมเป็น CEO ได้ คนอื่นในองค์กรก็เป็นได้
คุณสมชัยเล่าว่าตอนที่เขาต้องพิชตำแหน่ง CEO กับฝรั่งต่างชาติและคนเก่งๆ มากมายจากนอกบริษัท นอกจากเขาจะเตรียมตัวมาอย่างดีในการนำเสนอวิสัยทัศน์ว่าจะพาองค์กรไปทางใด อีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการเลือกเขาคือการบอกให้รู้ว่าการเลือก CEO จากคนในนั้นดีกว่าการใช้คนนอกอย่างไร ตรงที่รู้ว่าตรงไหนทำงานอย่างไร แล้วจะได้แก้ปัญหาได้ไวเมื่อมีอำนาจบริหารงานแบบ CEO ขึ้นมา
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบคือมันคือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในได้เห็นว่า การเริ่มต้นจากพนักงานธรรมดาก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็น CEO ได้ เป็นการกระตุ้นให้คนข้างในมุ่งมั่นทำงานเพื่อจะเป็น CEO คนถัดไป ผมว่านี่คือกลยุทธ์และแรงบันดาลใจดีที่ ของ CEO AIS คนนี้ที่ชื่อว่าสมชัย เลิศสุทธิวงค์
สรุปรีวิวหนังสือ 30 ปี AIS ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
หนังสือเล่มนี้บอกเล่าทั้งประวัติความเป็นมาของคนๆ หนึ่ง และประวัติความเป็นมาของบริษัทหนึ่งที่วันก่อนทำหน้าที่อย่าง แล้วก็มาทำหน้าที่อีกอย่าง ทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 30 ปีที่อ่านจบได้ในหนังสือหนึ่งเล่ม
เขียนด้วยภาษาอ่านสบาย เสมือนคุณสมชัย มาเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง ดังนั้นใครที่อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิตควรอ่าน จะได้รู้ว่าเราจะต้องเจออะไรบ้าง แล้วเราจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหานั้นอย่างไร
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 12 ของปี
สรุปรีวิวหนังสือ 30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา สมชัย เลิศสุทธิวงค์ อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > คลิ๊ก
สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > คลิ๊ก