สรุปหนังสือ ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 36 หนุ่มเมืองจันท์ เขียน รวมบทความประสบการณ์ชีวิตแง่คิดธุรกิจและการบริหาร

ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 36 หนุ่มเมืองจันท์

สรุปหนังสือไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 36 ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ตราบใดที่เรายังมีชีวิต เรายังมีโอกาสอยู่เสมอ บังเอญที่แนวคิดส่วนตัวผมตรงกับประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์โดยบังเอิญ ถือว่าไม่เสียทีที่อุตส่าห์เป็นแฟนหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจมาถึง 36 เล่ม เลยพอที่จะซึมซับความคิดจากพี่ตุ้มมาได้ไม่มากก็น้อย

ผมติดหนังสือเล่มนี้มาอ่านระหว่างบินไปเที่ยวเกียวโตอีกครั้ง แต่การไปเที่ยวเกียวโตครั้งนี้ผมไม่เหมือนกับสองครั้งก่อนหน้า เพราะสองครั้งก่อนหน้าผมได้แค่แวะเที่ยวแบบนั่งรถไฟจากโอซากา ไปเช้า เย็นกลับ ส่วนครั้งนี้ผมตั้งใจจะไปนอนเกียวโตสัก 10 วัน เอาให้มันได้ซึมซับวิถีชีวิตคนเกียวโตบ้าง

ที่พูดเรื่องเที่ยวเกียวโตขึ้นมาเพราะผมก็รู้สึกว่าทริปนี้ของผมมีความสอดคล้องกับหนังสือเล่มนี้เลย ถ้าย้อนกลับไปสมัยเที่ยวเกียวโตก่อนหน้าสัก 6-7 ปีก่อน ผมคงไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสมาเที่ยวเกียวโตแบบสบายๆ ไม่ต้องประหยัดอัตคัดอะไรมาก (แต่ก็ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าเวอร์เบอร์ใหญ่) เพราะชีวิตผมในวันนั้นเป็นแค่พนักงานกินเงินเดือน เดือนละไม่กี่หมื่น จะเที่ยวทีก็ต้องพยายามหาไฟท์ที่ถูกที่สุด ที่พักที่ถูกที่สุด และก็ต้องพยายามเตรียมข้าวของมาให้พร้อมเพื่อจะประหยัดเงินให้มากที่สุด

แต่ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตผ่านไปไม่ถึงสิบปี จะมีโอกาสได้เที่ยวสบาย ชิลๆ ไม่กดดัน บินแบบสบายๆ ในช่วงที่ตัวเองสะดวก เลือกที่นั่งแบบสบายๆ ยืดแข้งยืดขานอนได้ แล้วก็พักโรงแรมแบบสบายๆ เน้นสะดวก ห้องมีพื้นที่ให้กางกระเป๋าเดินทางแล้วเดินได้โดยไม่ต้องหลบ

ส่วนข้าวของก็ไม่ต้องเครียดวางแผนเตรียมอะไรมากนัก หยิบมาเท่าที่นึกออก ถ้าอะไรขาดเหลือก็หาซื้อหน้างานได้แบบไม่ลำบากนัก

อย่างที่บอกครับว่าถ้าให้นึกย้อนตัวเองกลับไปเมื่อ 6-7 ปีก่อนตอนนั้น ผมคงไม่คิดว่าชีวิตผมจะมีโอกาสมาได้ถึงจุดนี้ ในฐานะก็เป็นแค่ลูกชาวบ้านท้ายตลาด คนธรรมดาไม่ได้นามสกุลดังหรือมีการศึกษาดีแบบใคร แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราพยายามมากพอเราก็สามารถมีโอกาสดีๆ แบบเขาได้ ดังนั้นผมจึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวว่าตราบใดที่ยังมีชีวิต ยังมีลมหายใจอยู่ เรายังมีโอกาสเสมอ

เพียงแต่โอกาสนั้นอาจไม่ได้มาตามใจที่เราต้องการ ไม่ได้มาในวันที่เราเพรียกหา แต่โอกาสจะมาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ทำตัวให้พร้อมรับโอกาสอยู่เสมอ มาแล้วต้องรีบคว้าไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธโอกาสด้วย

ขอเล่าเรื่องนอกเล่มที่ไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาสให้ฟังสักหน่อย ก่อนเข้าสู่การสรุปเนื้อหาประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจตามปกติครับ

ครั้งหนึ่งผมเคยได้รับโอกาสไปร่วมงานกับบริษัทโฆษณาข้ามชาติชื่อดัง แบบพูดชื่อไปคนในวงการก็รู้จัก จะบอกว่าเป็น Top 5 หรือ Top 3 ของประเทศก็ไม่ผิดนัก

แต่ในวันนั้นผมเลือกจะปฏิเสธโอกาสไปเพราะได้รับโอกาสใหม่จากบริษัทเดิมด้วยเงินเดือนที่สูงกว่า ตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้ว หัวหน้าก็คุ้นเคยเป็นคนที่รักและไว้ใจเรา บริษัทก็คุ้นแนว รู้ว่าจะต้องทำงานอย่างไรให้ออกมาดี

กลายเป็นว่าหลังจากตัดสินใจได้ไม่กี่วัน บริษัทก็เปิดปัญหาทางการเงินและการบริหารภายในจนต้องประกาศปิดตัวลง

ตอนนั้นชีวิตผมมืดสิบแปดด้าน ก็เพราะเพิ่งตัดสินใจกู้ซื้อบ้านไปผ่อนได้ไม่กี่เดือน ต้องเตรียมพร้อมรับสภาพคนกำลังจะตกงาน เตรียมพร้อมรับสภาพคนที่ต้องดิ้นรนหางานใหม่

ด้วยความจนตรอกไม่มีทางออกเรื่องเงินเดือนค่าใช้จ่าย ผมเลยต้องบากหน้าโทรกลับไปหาพี่ HR บริษัทนั้นว่าขอโทษและขอโอกาสอีกครั้งได้ไหม

แน่นอนครับผมไม่แปลกใจกับคำตอบที่ได้ นั่นก็คือการปฏิเสธ ถ้าเป็นตัวผมเองก็คงไม่พอใจที่ตกลงจะมาร่วมงานกันแต่กลับมาปฏิเสธ แล้วจะกลับมาขอโอกาสอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้งานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาข้ามชาติ ที่แม้จะไม่ใหญ่และดังมากเท่ากัน แต่กลายเป็นว่าที่บริษัทแห่งนั้นทำให้ผมได้โอกาสเรียนรู้และทำงานใหม่ งานใหญ่มากมาย

ดังนั้นใครที่คิดว่าชีวิตตัวเองหมดหวัง อัปจนหมดสิ้นหนทาง ผมอยากบอกอีกครั้งว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ย่อมมีโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

เกริ่นเรื่องตัวเองมาเยอะแล้ว กลับมาสู่ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจแล้วอยากหยิบมาเล่าให้ฟังกันดีกว่าครับ

กลิ่นแกงที่เคยไม่ชอบกลายเป็นโอกาสให้ตื่นออกไปวิ่ง

เรื่องราวของพี่ต่อ ธนญชัย ผู้กำกับชื่อดังที่มีผลงานระดับโลกมากมายเล่าว่า ทีแรกข้างบ้านชอบทำแกงกลิ่นแรงทุกเช้า ทำให้ตัวเองไม่สามารถตื่นสายอย่างที่ใจต้องการได้ แรกๆ ก็หงุดหงิดไม่รู้จะทำยังไง ด้วยความที่พี่ต่อชอบนอนเปิดประตูหน้าต่างบานเฟี้ยมทั้งหมด บ้านไม่ติดแอร์เปิดพัดลมนอน ครั้นจะให้มาติดแอร์อีกก็ไม่ใช่ เพราะมันผิดความตั้งใจที่สร้างบ้านหลังนี้

จากการที่ต้องตื่นเช้าเพราะกลิ่นแกงที่รุนแรงทุกวัน ทำให้ต้องหาทางคิดว่าตื่นเช้ามาแล้วจะทำอะไรดี จนในที่สุดก็ค้นพบโอกาสดีที่ทำให้ตัวเองได้ออกไปวิ่ง

จากกลิ่นแกงที่เกลียด กลายเป็นกลิ่นแกงที่ช่วยปลุกแบบอ่อนๆ ไม่รุนแรงเหมือนเสียงนาฬิกาปลุกปกติ จนทำให้ได้โอกาสออกไปวิ่งเป็นประจำทุกวัน นี่แหละครับคือการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาส ถ้าเรื่องนั้นเกิดขึ้นแล้วเราก็แค่ต้องยอมรับและหาทางอยู่กับมันให้เป็นสุขมากที่สุด

ในช่วงเวลาที่ผมว่างงานจากที่เล่าว่าบริษัทปิดตัวกระทันหันไปเกือบสองเดือน ระหว่างสองเดือนนั้นผมก็ไม่ได้ใจหดหู่อยู่กับบ้านอย่างเดียว แม้จะหดหู่ก็ตาม แต่เลือกที่จะอ่านหนังสือให้มาก หาความรู้ให้เยอะ เมื่อถึงวันได้กลับไปทำงานอีกครั้ง ผมจะได้พร้อมกับการลงสนามความคิดสร้างสรรค์อีกหน

มองหาเรื่องที่ไม่ถูกใจในชีวิตตอนนี้ให้เจอ หาทางว่าจะใช้โอกาสนั้นทำชีวิตให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง

ลองต่อให้ก่อนศิลปะการเจรจาต่อรองขั้นสูง

การต่อรองระหว่างเจรจาธุรกิจนั้นส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เราอยากได้ ตามมาด้วยสิ่งที่เราพร้อมให้ ทำให้ผู้ฟังมักคิดในใจว่าเรากำลังเสียอะไรไปบ้าง และเราควรได้อะไรกลับมา แต่รู้ไหมครับว่าถ้าเราแค่เปลี่ยนลำดับการพูดนิดนึง เริ่มจากสิ่งที่เราอยากให้ ค่อยตามด้วยสิ่งที่เราอยากได้ การเจรจาต่อรองจะง่ายขึ้นมากจริงๆ

ในหนังสือเล่มนี้เล่าถึงตอนที่พี่ตุ้ม พี่โจ้ ธนา ต้องต่อรองกันในฐานตัวแทนบริษัทที่ตัวเองสังกัดอยู่ พี่ตุ้มในฐานะตัวแทนสำนักพิมพ์มติชน พี่โจ้ ในฐานะตัวแทน dtac ในเวลานั้น แต่การเจรจาต่อรองครั้งนั้นเริ่มต้นแบบไม่เหมือนปกติทุกครั้ง คือเริ่มต้นจากพี่ตุ้มเปิดไพ่บอกก่อนเลยว่ามติชนจะให้อะไร dtac เพิ่มบ้าง

พอเปิดมาแบบนั้นพี่โจ้ ธนา ก็บอกว่าแปลกใจแบบงงๆ ก็เลยต้องออฟเฟอร์สวนกลับให้ไม่น้อยกว่าที่อีกฝ่ายให้มา ไม่งั้นจะดูน่าเกลียด กลายเป็นว่าต่างคนต่างเกรงใจเสนอกันให้แบบเกินคาดไปเยอะมาก

จริงๆ ผมเคยอ่านเรื่องนี้จากหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจมานานแล้ว แต่เป็นเรื่องราวการเจรจาเส้นทางการบิน ซึ่งหลักคิดนี้ผมชอบ และก็ได้มีการเอามาใช้ในงานส่วนตัว เอามาใช้กับบริษัทตัวเอง เวลาอยากจะดีลงานกับใครผมมักจะเปิดด้วยการเสนอให้มากกว่าที่ต้องการเสมอ

เช่น ตอนผมซื้อบ้านใหม่ ผมอยากได้สปอนเซอร์มาซัพพอร์ทของในบ้าน ผมเริ่มจากคิดว่าผมรู้จักใครบ้างที่พอจะดีล barter กันได้ จนผมนึกถึง NocNoc เพราะเคยรู้จักน้องมิ้งค์ ผมเลยบากหน้าไปเปิดบทสนทนาว่า “มิ้งค์ๆ พี่เพิ่งซื้อบ้านใหม่ กำลังมองหาของเข้าบ้าน เรามาทำอะไรสนุกๆ ร่วมกัน มาทำคอนเทนต์ Partner & Barter กันดีมั้ย ?”

พอมิ้งค์เริ่มสนใจสอบถาม rate card ค่าใช้จ่ายในการทำคอนเทนต์ปกติกับทางผม ผมส่ง rate card ปกติให้ก่อน แต่ตอนท้ายผมบอกว่า NocNoc ซัพพอร์ตพี่เท่าไหร่ พี่บวกเพิ่มให้ไม่น้อยกว่า 50% เลย

เท่านั้นแหละครับการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น ผมเริ่มต้นจากการให้มากกว่าปกติ มากกว่าที่คนปกติจะเจรจากัน อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียม คือให้ 100 คืน 100 อย่างมากก็ 110-120 แต่ของผมจัดให้เต็มเริ่มต้นที่ให้ 100 ผมคืนให้ 150 เป็นอย่างน้อย และเอาเข้าจริงผมก็จัดเพิ่มให้ไปถึงเกือบเท่าตัวทีเดียว

ผมเอาหลักแนวคิดนี้มาใช้กับการเจรจาต่อรองทุกครั้ง ด้วยการเริ่มต้นจากการอยากให้ และให้มากกว่าที่อยากได้ แน่นอนว่ามันไม่ได้ผลทุกครั้งหรอกครับ แต่ส่วนใหญ่มักได้ผล และทำให้การเจรจาธุรกิจทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยดีและราบรื่นเสมอ

ดังนั้นถ้าคุณต้องเจรจาต่อรองกับใคร ลองเริ่มต้นให้กับลองต่อให้ก่อนจะขอ แล้วคุณจะพบว่าดีลนั้นง่ายกว่าที่คิดและเคยเป็นมาก

อยากได้ใจต้องเริ่มจากการใส่ใจหัวใจของการตลาดแบบ CRM

ความใส่ใจเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากได้ หนึ่งในแนวคิดหลักที่ผมให้กับลูกค้าที่ผมเป็นที่ปรึกษาทุกราย คือต้องกลับไปใส่ใจลูกค้าปัจจุบันให้มากที่สุด

เพราะการใส่ใจทำให้ผู้ได้รับมักรู้สึกประทับใจ และก็นำไปสู่การที่เราจะได้ใจลูกค้า แล้วพวกเขาก็อยากจะเป็นลูกค้าเรานานๆ จนอยากจะบอกต่อพาเพื่อนมาเป็นลูกค้าเราด้วย

การใส่ใจในหนังสือเล่มนี้พูดถึงตอนพี่ตุ้ม พี่โจ้ ทำหลักสูตร ABC ร่วมกัน ตอนนั้นทีมงานทุกคนใส่ใจในผู้เรียนอย่างมาก มากถึงระดับที่แม่บ้านที่คอยทำหน้าที่เติมลูกอมในถาดเล็กๆ ของผู้เรียนแต่ละคนคอยสังเกตว่าแต่ละคนชอบกินลูกอมอะไร แล้วก็เติมลูกอมชนิดนั้นให้มากเป็นพิเศษหน่อย

คำถามคือแล้วเราจะสังเกตหรือเก็บดาต้าจากอะไร ก็เก็บจากร่องรอยเปลือกห่อลูกอมที่ถูกกองทิ้งไว้บนโต๊ะอย่างไรหละครับ

และจากความใส่ใจในสิ่งละอันพันละน้อยของทีมงานหลักสูตร ABC ทั้งหมด จึงทำให้หลักสูตรนี้ดังระดับเป็นตำนานของไทยไปเรียบร้อยแล้ว

หลายหลักสูตรอยากทำให้เป็นแบบนี้ แต่ยังไม่มีหลักสูตรไหนเป็นได้

ย้ำอีกครั้งนะครับว่าถ้าอยากได้เงินลูกค้าต้องเริ่มจากการได้ใจลูกค้าก่อน และการจะได้ใจมาก็ต้องใช้ใจแลก นั่นก็คือใช้ความใส่ใจให้มาก แล้วคุณอาจจะพบว่าสิ่งที่ต้องให้นั้นช่างเล็กน้อยกว่าที่คิดก็ได้

Devil in Detail โอกาสอยู่ในรายละเอียด

หลอดประหยัดไฟราคาแพง ส่วนหลอดราคาถูกไม่ประหยัดไฟ คำถาม ถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่พื้นที่หลายพันหลายหมื่น ตรม ต้องติดหลอดไฟเป็นพันๆ ดวง คุณจะเลือกติดหลอดไฟแบบไหน ?

ลงทุนสูงเพื่อลดต้นทุนระยะยาว

ลงทุนน้อยเพื่อประหยัดต้นทุนทันที

คำตอบที่ถูกคือเราอาจไม่ต้องเลือกแค่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่เราอาจเลือกทั้งสองข้อพร้อมกันได้

คุณตัน อิชิตัน เล่าในหนังสือเล่มนี้ว่าตอนสร้างโรงงานนั้นค่าหลอดไฟ และค่าไฟ เป็นหนึ่งในต้นทุนไม่น้อย จะเลือกหลอดไฟประหยัดพลังงานก็มีราคาสูงกว่าหลอดไฟธรรมดามาก

คุณตันเลยตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วแทนที่จะเลือกแค่หลอดชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำไมเราไม่เลือกหลอดชนิดที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของโรงงานหละ

พื้นที่ไหนต้องใช้แสงสว่างไม่บ่อย เปิดไม่นาน ก็เลือกใช้หลอดธรรมดาต้นทุนต่ำ เพราะถึงอย่างไรก็เปิดน้อย เลือกหลอดไฟประหยัดพลังงานแพงๆ ไปก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ประหยัดเท่าไหร่อยู่ดี

ส่วนพื้นที่ไหนต้องเปิดไฟตลอดเวลา ต้องการความสว่างแบบแทบไม่ได้ปิดหลอดพัก พื้นที่นั้นก็เลือกหลอดประหยัดไฟราคาแพงได้ เพราะเมื่อเปิดไฟนานไปเดี๋ยวต้นทุนค่าหลอดก็คุ้มกับค่าไฟที่ประหยัดได้แล้ว

นี่คือการคิดแบบ Creativity การมองพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ไม่ได้มองทั้งหมดเป็นพื้นที่เดียว มันคือการตีกรอบของโจทย์ออกมาใหม่ ตีปัญหาออกเป็นส่วนแล้วแก้ มันคือมุมมองต่อ Data ที่ดี ที่นักการตลาด ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจควรมีครับ

เวลาเจอปัญหาใดนับจากนี้ ลองตั้งโจทย์ใหม่ ตีกรอบปัญหาใหม่ แบ่งปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อย เราอาจเจอทางแก้ใหม่จากตัวเลือกเดิมที่คาดไม่ถึงก็ได้

เปลี่ยนดอกเบี้ยให้เป็นโอกาส

เมื่อพูดถึงดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ หลายคนมักทำหน้ายี้มากกว่าหน้าดีใจ เพราะดอกเบี้ยเมื่อกู้เงินมาย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ในการทำธุรกิจ เรามักมองหาดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด หรือดีไม่ดีขอเป็นเงินที่ไม่ต้องมีดอกเบี้ยจะดีที่สุดครับ

แต่ดอกเบี้ยก็มีข้อดีของมันอย่างที่เราอาจไม่คาดคิดมาก่อน เพราะการจะลงทุนทำธุรกิจใดต้องใช้เงิน ยิ่งเป็นโครงการใหม่ โครงการใหญ่ ยิ่งมีความเสี่ยงเยอะ หลายบริษัทเลยต้องจำใจกู้เงิน แต่บางบริษัทเลือกที่จะกู้เงินธนาคารแม้จะมีเงินสดสำรองมากมายอยู่กับตัว

บางบริษัทเวลาจะทำโปรเจคใหม่ โปรโจคใดที่ล้ำๆ จะเลือกเอาโปรเจคนี้ไปเสนอขอกู้เงินกับธนาคาร เหตุผลไม่ใช่เพราะต้องการเงิน แต่ต้องการให้ธนาคารช่วยวิเคราะห์โปรเจคให้คำปรึกษา

เลยมองว่าค่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียคือค่าที่ปรึกษาเดิมที่ต้องเสียอยู่ดี แต่บริษัทที่ปรึกษาทั่วไปแค่ให้คำแนะนำแต่ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงด้วย ได้เงินแล้วก็ลอยตัวไป แต่กับธนาคารนั้นไม่กลายเป็นภาระผูกพันธ์ เรียกได้ว่าเป็นการมองธุรกิจแบบเฉียบขาด เอาค่าที่ปรึกษามาเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารแทน แน่นอนว่าถ้าโครงการนั้นเสียงไปธนาคารย่อมไม่อนุมัติเงินกู้ให้แน่ๆ ครับ

ดังนั้นถ้าใครเสียเงินจ้างที่ปรึกษาราคาแพงในการประเมินว่าโปรเจคใหม่นั้นมีโอกาสเกิดหรือเจ๊งมากกว่ากัน ถ้าบริษัทที่ปรึกษาบอกว่าไปรอดแน่ ก็ลองถามเค้าทิ้งท้ายว่า “งั้นมาลงทุนกับผมสัก 10% ของโปรเจคมั้ย ก็ในเมื่อคุณมั่นใจขนาดนั้น คุณก็ต้องกล้าลงเงินไปด้วยกันตามที่แนะนำซิ”

จากกองหน้าสู่กองหลังบทบาท CEO ที่เปลี่ยนไป

ปิดท้ายสรุปหนังสือเล่มนี้ด้วยบทนี้ครับ ที่ว่าด้วยการพูดถึงหน้าที่ของ CEO หรือเจ้าของบริษัทที่เปลี่ยนไป บริษัทส่วนใหญ่ตอนเริ่มต้นเจ้าของมักทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย วิ่งขายโปรเจค วิ่งขายของ วิ่งขายงาน ก็เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูบริษัทให้เติบโตจ้างคนเพิ่มเติมได้

แต่พอบริษัทเริ่มโตไปสักพัก เจ้าของบริษัทก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่งจากกองหน้าชนลูกค้าที่เป็นพนักงานขาย กลายเป็นคนดูแลบริษัทจากข้างหลัง เพื่อทำให้ระบบทั้งหมดเดินหน้าต่อไปได้ เพราะถ้าเราเอาแต่วิ่งขายโดยไม่ดูหลังบ้าน แม้ขายได้มากเท่าไหร่ก็อาจรั่วไหลจนไม่เหลือกำไรบรรทัดสุดท้ายตอนสิ้นปี

ดังนั้นบทบาทของเจ้าของธุรกิจย่อมเปลี่ยนไปตามการเติบโตของบริษัท อย่าเล่นบทเดียวไม่เปลี่ยน ต้องดูว่าเวลานี้เราควรทำหน้าที่อะไร อยู่ตรงไหนของบริษัท ถึงเวลาต้องหาคนใหม่ สร้างทีมเพิ่ม หรือวางตัวแทนเราคนถัดไปได้แล้ว

สรุปหนังสือ ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ฟาสต์ฟู้ธุรกิจ 36

สรุปหนังสือ ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 36 หนุ่มเมืองจันท์ เขียน รวมบทความประสบการณ์ชีวิตแง่คิดธุรกิจและการบริหาร

ในฐานะแฟนหนังสือชุดนี้ที่ตามอ่านตั้งแต่เล่มแรกไปจนถึงเล่มสุดท้าย อยากบอกว่าไม่เคยผิดหวังสักเล่ม ยิ่งนานวันเข้ายิ่งคม แม้จะเป็นเรื่องเดิมผสมบ้างแต่ก็มีมุมมองใหม่ให้เรียนรู้ในบริบทที่เปลี่ยนไป อย่างเรื่องการต่อรองแบบที่ให้ลองเสนอสิ่งที่ให้ได้ก่อนจะขออะไรกลับมา

ใครที่ชอบอยากเรียนรู้เรื่องธุรกิจ การตลาด การบริหารจัดการ ผมแนะนำให้อย่าพลาดหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจแม้แต่เล่มเดียวเลยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 8 ของปี 2024

สรุปหนังสือไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 36
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

อ่านสรุปหนังสือหนุ่มเมืองจันท์ ในอ่านแล้วเล่าต่อ: อ่าน

สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/3VNNlK341r
https://shope.ee/4fZL9U6wuv
https://shope.ee/7AGg85jpS7

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/