สรุปหนังสือ Leaders’ Wisdom รวมบทสัมภาษณ์ผู้นำแห่งยุคที่คุณไม่ควรพลาด จากคุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจแปดบรรทัดครึ่ง
มีคนเคยบอกว่า “คนโง่ไม่เรียนรู้อะไรเลย ส่วนคนธรรมดาเรียนรู้จากความผิดพลาด แต่คนฉลาดนั้นเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น”
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่อยากรู้ว่าคนที่เก่งและประสบความสำเร็จระดับประเทศเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอะไร เขาทำอะไร เขาตัดสินใจอย่างไร ไปจนถึงเขาเคยเจอความผิดพลาดอะไรในชีวิตมาบ้าง
แถมการสัมภาษณ์ก็ไม่ใช่การถามแบบทื่อๆ ทั่วไป แต่เป็นการสัมภาษณ์จากมุมมองคนเป็น CEO ในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจริงๆ ดังนั้นบอกได้เลยว่าเนื้อหาความลึก ความกลมกล่อมของบทสัมภาษณ์ผู้บริหารทุกคนในเล่มนี้ หาอ่านไม่ได้ง่ายๆ จากที่อื่นแน่นอนครับ
เริ่มตั้งแต่…
พี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ (ท่านนี้เคยเขียนคำนิยมหนังสือ Data Thinking ให้ผมด้วย ขอบคุณพี่โจ้มากจริงๆ ครับ) คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ CEO AIS จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา คุณท็อป BitKub คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล คุณพริษฐ์ วัชรสิทธุ คุณปฐมา จันทรักษ์ คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ คุณชวพล จริยาวิโรจน์ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล คุณณัฐวุฒิ อมรวิรัตน์ คุณภัณฑ์พงษ์ พานทองประเสริฐ คุณเฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง คุณสรวิศ ศรีนวกุล คุณรวิศ หาญอุตสาหะ คุณเอ๋ นิ้วกลม คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์
แค่ชื่อแต่ละคนก็คุ้นหู คุ้นตากันไม่น้อยแล้วใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นลองมาดูบางช่วง บางคำถามของการสัมภาษณ์ ที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวมากๆ จนอยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
เมื่ออายุถึง 50 เราจะรู้ว่าชีวิตนั้นวางแผนไม่ได้
ในบทสัมภาษณ์ของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ มีช่วงหนึ่งที่พี่โจ้บอกว่า ชีวิตคนเราพออายุ 50 แล้ว จะรู้ว่ามันวางแผนไม่ได้ แผนน่ะมี แต่บางทีมันก็ไม่เหมือนแผนที่วางไว้สักนิด
พี่โจ้ ยกตัวอย่างสถานการณ์โควิด-19 จะมีสักกี่คนบนโลกที่คาดคิดว่าอยู่ดีๆ เราจะเกิดโรคระบาดจนถึงขั้นที่ต้องหยุดออกจากบ้าน ล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วโลกเป็นเดือนๆ ได้จริงๆ
ใช่ครับ ในชีวิตจริงและการทำธุรกิจผมก็เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมาแบบนั้น ทำให้เวลาใครมาปรึกษาแผนการตลาดประเภท Year Plan หรือ 5 Year Plan ผมจะบอกเสมอว่า แผนของคุณใช้ได้จริงถึง 3 เดือนก็เก่งแล้ว
เพราะสถานการณ์โลกทุกวันนี้มันผันผวนมาก และสงครามจากสองประเทศก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลกได้ไม่ยาก เหมือนที่เรากำลังประสพสถานการณ์ของแพงกันอยู่
ไหนจะภาวะเงินเฟ้ออย่างน่ากลัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เท่ากับหนึ่งยูโรแล้ววันนี้ เห็นไหมครับว่าบรรดาแผนส่วนใหญ่มันไม่เป็นไปตามคาดหรอก เพราะเรามักวางแผนจากการคิดว่าสถานการณ์โดยรอบนั้นหยุดนิ่ง แต่ในบริบทความเป็นจริงไม่มีอะไรนิ่งตามแผนการณ์เราเลย
ดังนั้นเลิกการวางแผนตายตัวระยะยาว แต่หันมากำหนดเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้เสร็จ หรือบรรลุให้ได้จะดีกว่า
แผนก็เป็นแค่แนวทาง ถึงเวลาหน้างานเมื่อเจอทางขรุขระ ก็ต้องรู้จักปรับตัวตามสถานการณ์จริงให้เป็น ต้องรู้จักปรับแผนและเป้าหมายใหม่ให้ไวครับ
ส่วนอีกเรื่องที่อยากพูดเพิ่มเติมส่วนตัวคือ เรื่องของแผนการชีวิต
ผมเจอน้องๆ คนรุ่นใหม่บางคนบอกผมว่า วางแผนชีวิตไว้แบบนั้น อีกห้าปีจะแบบนี้ หรือบางคนก็เครียดว่ายังไม่มีแผนอะไรให้ชีวิตตัวเองเลย จะเรียนจบปีหน้าอยู่แล้ว
ผมอยากจะบอกว่าชีวิตคนเรามันเปลี่ยนแปลงได้มากและไวกว่าที่คิด จงใช้ชีวิตให้สนุก ให้มีความสุข ทำในสิ่งที่อยากทำ และอย่าทำในสิ่งที่เดือดร้อนคนอื่น ทำดีไว้ให้มากกว่าทำแย่ แล้วชีวิตคุณจะไปได้ไกลกว่าที่คาดและก็มักจะออกมาดีกว่าที่หวังเสมอครับ
จงทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำงานให้เสร็จ
ในบทสัมภาษณ์ของพี่โจ้ ธนา อีกเช่นกัน พูดถึงลูกน้องที่หัวหน้ารัก พนักงานที่บริษัทอยากได้ คือคนที่ไม่ใช่แค่ทำงานที่สั่งหรือมอบหมายให้เสร็จ แต่ต้องเป็นคนที่ทำงานนั้นให้สำเร็จครับ
ทำงานให้เสร็จคือ ถ้าสั่งให้ตามเก็บเงินลูกค้า คนนั้นก็อาจทำแค่อีเมลหา แล้วจบ
แต่กับคนที่ทำงานให้สำเร็จคือ อาจเริ่มจากโทรหาก่อนเพื่อถามว่าจะมีกำหนดรับเช็คจริงๆ เมื่อไหร่ จากนั้นจึงค่อยส่งอีเมลไปเป็นหลักฐานยืนยันการคุยอีกที นี่แหละครับคือความแตกต่างระหว่างการทำงานให้เสร็จ คือแค่ทำตามที่สั่ง กับการทำงานให้สำเร็จ คือทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสั่งงาน
ใครเป็นพนักงานแบบหลัง รับรองว่าหัวหน้ารักตาย และบริษัทไม่ยอมปล่อยคุณไปไหนง่ายๆ แน่นอน
และลูกน้องอีกแบบที่หัวหน้าอย่างพี่โจ้ชอบคือ คนที่ทำงานจนทำให้หัวหน้าเป็นง่อย
นั่นหมายความว่าลูกน้องแบบนี้จะทำให้หัวหน้าสบาย พอหัวหน้าสบายหัวหน้าก็จะขาดเราไม่ได้ พอเขาขาดเราไม่ได้เวลาเราจะต่อรองขออะไรเพิ่มเติมก็จะมีพาวเวอร์มากขึ้น
เรื่องนี้ผมเข้าใจดี เพราะส่วนตัวเคยเป็นแบบนั้น ทำงานเกินคำสั่ง คิดแทนหัวหน้าว่าอะไรคือสิ่งที่จะดีต่อบริษัทที่สุด ทำงานจนเพื่อนร่วมงานบางคนไม่ชอบหน้า บางคนทักว่าเราทำเกินหน้าที่ไปหรือเปล่า
แต่ไม่เป็นไรครับ ท้ายที่สุดแล้วเรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทั้งหมดที่ทำไปมันจะย้อนกลับมาเป็นผลดีกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งครับ
เทคนิคการเป็นผู้บริหารที่ดี คือการไม่ทำตัวเหมือนผู้บริหารทั่วไป
ประโยคนี้สั้นๆ แต่ลึกซึ้งกินใจ เพราะคนทั่วไปส่วนใหญ่มักทำงานแบบ Average แต่การที่เราจะทำให้ดีกว่าคนอื่น คือการที่เราต้องไม่ทำเหมือนค่าเฉลี่ย
เช่น หัวหน้าส่วนใหญ่ชอบสั่งงานเยอะๆ ให้ดูตัวเองบ้างาน แต่ลืมคิดไปว่าลูกน้องก็คือคนที่ต้องการเวลาผ่อน เวลาส่วนตัว แถมการสั่งงานมากไปก็ทำให้ลูกน้องไม่ได้โฟกัส ไม่มีเวลาทำให้ผลงานออกมาดีสักอย่าง เพราะต้องเอาเวลาที่มีเท่าเดิมไปกระจายให้กับงานหลายๆ อย่างเสร็จตามคำสั่งหัวหน้า
ดังนั้นจงอย่าทำเหมือนที่คนส่วนใหญ่ทำกัน ถ้าคุณอยากจะเป็นคนที่โดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นครับ
Work-Life Balance ไม่มีจริง ตั้งแต่เราทำงาน 5 หยุด 2 แล้ว
คุณชวพล จริยาวิโรจน์ หรือ ดร.เจ President ของ Huawei ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเรื่อง Work-Life Balance ไว้อย่างน่าสนใจ ว่ามันไม่มีหรอก เพราะเราทำงาน 5 วัน แล้วหยุดแค่ 2 วัน แค่นี้มันก็ไม่ Balance แล้ว
สำคัญคือต้องทำอย่างไรให้รู้สึกเหมือนไม่ได้มาทำงาน ต้องรู้สึกให้ได้ว่าการอยู่กับทีมที่ทำงานด้วยกันนั้นเป้นเรื่องสนุก ทำให้ทุกเช้าวันจันทร์เป็นวันที่เราอยากตื่นไปทำงาน เหมือนกับอยากตื่นไปโรงเรียนเพื่อเจอเพื่อนแล้วเล่นสนุกกันครับ
อ่านแล้วก็คิดถึงสมัยก่อนที่เจอทีมที่ดี ทุกเช้าวันจันทร์เป็นวันที่อยากตื่นไปทำงาน ทุกวันหลังเลิกงานก็อยากนั่งทำงานต่อเพราะสนุกกับการทำงานให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่อยู่เพื่อเม้ามอยเพื่อนร่วมงานไปเรื่อย
นึกถึงบรรยากาศตอนเลิกงานก็ยังคุยงานกันเหมือนเล่นสนุก ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมเก่งขึ้นอย่างมาก เพราะเรารู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงาน แต่เหมือนได้เล่นเกมอะไรสักอย่างกับพี่ๆ เพื่อนร่วมงานตลอดเวลาครับ
Collect the Dot Before Connect the Dot ทำให้โชคอยากเข้าหา
ประโยคคลาสสิคที่ว่า Connect the Dot หรือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวให้กลายเป็นสิ่งใหม่ บทสัมภาษณ์ระหว่างคุณต้อง แปดบรรทัดครึ่ง และคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขียนเอาไว้ทำนองว่า ที่ Steve Jobs เคยบอกว่า ชีวิตคือการ Connect the Dot แต่เราจะลากจุดไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่บ้าง เราทำได้แค่ลากจุดจากอดีต จากสิ่งที่เคยผ่านมา
ใช่ครับ เราจะสร้างสิ่งใหม่ได้ก็จากการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ที่มี นั่นหมายความว่าเราต้องมีจุดของความรู้และประสบการณ์สะสมไว้มากพอ เหมือนกับการต่อ Lego ให้เป็นสิ่งต่างๆ ได้นั้นต้องอาศัยจำนวนชิ้นตัวต่อ Lego ไม่มากก็น้อย
ใครหัวดีหน่อยก็ใช้จำนวนชิ้นน้อยแต่สามารถกลายเป็นสิ่งที่ต้องการสื่อได้ แต่ถ้าใครอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อลังการ ก็ต้องใช้จำนวนชิ้นตัวต่อ Lego เป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่สะสมเจ้าชิ้นตัวต่อ Lego ไว้ เราก็จะไม่มีอะไรมาต่อภาพในหัวให้ออกมาได้ครับ
กับการจะสร้างสรรสิ่งใหม่หรือสิ่งใดก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องมีฐานความรู้สะสมไว้ก่อน จะใช้ไม่ใช้ไม่รู้ แต่ถ้าถึงเวลาที่ต้องใช้แล้วไม่มี มันน่าเสียดายยิ่งกว่าการรู้แล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ในเวลานี้ครับ
นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงอ่านหนังสือ หรือบทความต่างๆ สะสมไว้เรื่อยๆ
และไม่ใช่แค่อ่านเท่านั้น แต่ยังเอามาเล่าต่อหรือถ่ายทอดผ่านการสรุป ผ่านการเขียนออกมาเป็นบทความ ผ่านการพูดในงานบรรยายหรือสัมมนาต่างๆ เพราะเราจะยิ่งเข้าใจมันเป็นอย่างดี ถ้าเราต้องถ่ายทอดเรื่องนั้นให้คนอื่นอีกทีครับ
และนั่นก็หมายความว่า ยิ่งเราสะสมความรู้และประสบการณ์ไว้มากเท่าไหร่ โอกาสก็จะยิ่งอยากวิ่งเข้าหาเรามากกว่าคนอื่นเท่านั้น
จงทำตัวให้โชคดีหรือโอกาสอยากวิ่งเข้าหา ด้วยการเริ่มสะสม Dot ความรู้ และก็อย่าลืมถ่ายทอด Dot นั้นให้กับคนอื่นด้วยเช่นกันครับ
ทำก่อนเดี่ยวรู้ว่าอยากทำต่อไหม
ช่วงสุดท้ายในบทสัมภาษณ์ของคุณชัชชาติ พูดถึงหนังสือ Designing Your Life คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking
ที่พูดว่าอย่ากังวลกับเรื่อง Passion มากนัก ถ้าสนใจอะไรก็ลองทำดูก่อน จะได้รู้ว่าเราอยากทำมันจริงๆ อย่างที่คิดไว้ก่อนเริ่มลงมือทำหรือเปล่า
หลายครั้งเราคิดมากไปจนไม่ได้ทำ แต่พอได้ลองทำเราก็มักรู้ว่าสิ่งนี้อาจไม่เหมาะกับเราเท่าไหร่ ยิ่งลองรู้ผิดมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใกล้กับการรู้ถูกมากเท่านั้น
คุณชัชชาติบอกว่าเขามาค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร หรือมี Passion กับอะไรก็ตอนที่ตัวเองอายุ 50 ปีแล้ว ดังนั้นถ้าคุณเพิ่งจบใหม่ อายุยังอยู่ในวัยเลข 2 อย่าคิดเยอะครับ ลองทำให้เยอะๆ ไว้ก่อน จะได้รู้จักตัวเองเร็วขึ้น จะได้รู้ว่าตกลงแล้วตัวเองชอบทำอะไรจริงๆ กันแน่
คบเพื่อนชื่อ Facebook ให้น้อย และคบเพื่อนชื่อวินัย นามสกุล ใจสู้ ให้มาก
คุณกระทิง พูนผล ให้ข้อคิดที่น่าสนใจในบทสัมภาษณ์ในหนังสือ Leaders’ Wisdom ไว้ว่า อยากแนะนำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลากับ Facebook ให้น้อยๆ และหันไปใช้เวลากับสิ่งที่สำคัญ และจงมีวินัยกับสิ่งนั้นให้มาก
นี่คือเคล็ดลับที่คุณกระทิงสามารถอ่านหนังสือได้ร้อยกว่าเล่ม และลดน้ำหนักได้ 12 กิโล ในช่วงโควิด-19 แถมยังเรียนออนไลน์จบไป 12 คอร์ส
สมัยเด็กๆ คุณกระทิงตื่นมาอ่านหนังสือตอนตีสี่ทุกวัน วันไหนไฟดับจุดเทียนอ่าน หรือเอาไฟฉายมาส่องเพื่อให้ได้อ่าน
คุณกระทิงบอกว่าเรามีข้ออ้างเสมอที่จะไม่ทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเราในระยะยาว
ดังนั้นจะเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จล้วนเริ่มจากการมีวินัย ไม่ตามใจตัวเองมากกว่าคนทั่วไป
ในช่วงเช้าที่ใครๆ ก็อยากนอนตื่นสาย คนที่ประสบความสำเร็จเขามักตื่นขึ้นมาทำอะไรก่อนคุณเสมอ
และขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังเล่นโซเชียลมีเดียอย่างเพลิดเพลิน คนที่ประสบความสำเร็จก็จะใช้เวลานั้นในการเพิ่มพูนความรู้ หรือทำงานมากกว่าคนส่วนใหญ่ทั้งนั้น
ภายใต้ 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เราใช้เวลาไม่เหมือนกัน
เป็นสิ่งที่คุณท็อป BitKub ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่าก่อนที่ BitKub จะประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักของคนไทยมากมายอย่างทุกวันนี้ ในช่วงตั้งต้นธุรกิจเขาต้องใช้เวลาทุ่มเทกับ BitKub หรือการทำงานมากกว่าคนอื่นหลายเท่า
เขายอมสละเวลาไม่ใช้กับครอบครัว ไม่ใช้กับแฟน ไม่ใช้กับอะไรที่คนส่วนใหญ่ทำกัน และนั่นก็เลยทำให้เขาเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย เชื่อได้ว่าคนที่สนใจเรื่องเงินและการลงทุน ต้องรู้จักชื่อท็อป BitKub แน่นอนครับ
สรุปหนังสือ Leaders’ Wisdom ของคุณต้อง แปดบรรทัดครึ่ง
หนังสือเล่มนี้คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับราคา เพราะเราสามารถเข้าถึงประสบการณ์ของคนที่เก่งระดับประเทศได้มากมาย ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ถามโดยคนที่เป็น CEO หรือผู้บริหารในบริษัทชั้นนำด้วยเช่นเดียวกัน
ใครอยากรู้ว่าคนเก่งมากๆ เขาคิด เขาทำ เขาตัดสินใจอย่างไร หนังสือเล่มนี้มีคำตอบให้ เพื่อที่คุณจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเหล่านี้ คนที่เป็นผู้บริหารแห่งยุคที่คุณไม่ควรพลาดครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 26 ของปี
สรุปหนังสือ LEADERS’ WISDOM รวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้นำแห่งยุคที่คุณไม่ควรพลาด กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจแปดบรรทัดครึ่ง สัมภาษณ์ พัทธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรียบเรียง สำนักพิมพ์ KOOB
อ่านสรุปหนังสือของคุณต้อง กวีวุฒิ ในอ่านแล้วเล่าต่อ > คลิ๊ก
สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://www.naiin.com/product/detail/550296