สรุปรีวิวหนังสือ Outliers สัมฤทธิ์พิศวงตีแผ่ความสำเร็จ ในมุมที่คุณคิดไม่ถึง Malcolm Gladwell สำนักพิมพ์ WE LEARN

Outliers สัมฤทธิ์พิศวง Malcolm Gladwell

สรุปรีวิวหนังสือ Outliers สัมฤทธิ์พิศวง ของ Malcolm Gladwell เล่มนี้ผมดองมานานมาก เพิ่งจะได้มีเวลาอ่านจนจบ และก็อ่านจบมาสักพักแล้ว เพิ่งได้มีเวลามาเขียนสรุป

ถ้าให้สรุปโดยภาพรวมคือ หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปดูว่าคนเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้นเค้ามี Pattern ของ Outliers ที่เหมือนกันแต่ไม่เหมือนกับชาวบ้านคนส่วนใหญ่ทั่วไปอย่างไร

และไม่ใช่แค่ความเก่งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งพอไปสำรวจ ติดตาม เก็บข้อมูล แล้วเอามาเปรียบเทียบกับคนทั่วไปดู จากที่เคยเชื่อว่าอาหารที่ดีส่งผลต่อสุขภาพที่ยืนยาว ส่งผลต่อโรคภัยไข้ป่วยไม่ค่อยถามหา กลายเป็นว่าไม่ได้ส่งผลมากนัก (ข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้นะครับ อย่าเพิ่งรีบเอาไปเหมารวมทั้งหมด)

แต่พวกเขากลับพบค่าความผิดปกติหรือ Outliers ของคนกลุ่มนี้ที่ไม่เหมือนกันคนกลุ่มอื่นในรัฐเดียวกันคือ คนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี บ้านหนึ่งหลังอยู่ร่วมกัน 3 Generation แถมยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน มีมิตรภาพที่ดีไม่ค่อยมีเรื่องดราม่า และทั้งหมดนั้นก็ทำให้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ค่อยเครียด และนั่นเองที่เป็นค่าผิดปกติที่ไม่เหมือนกับหมู่บ้านหรือชุมชนอื่นในรัฐแห่งนี้

นี่คือตัวอย่างของค่า Outliers เหตุผลลึกๆ เบื้องหลังว่าทำไมคนในหมู่บ้านนี้ถึงอายุยืน และไม่ค่อยเจ็บป่วยหรือเป็นโรคหัวใจเหมือนคนอื่นนัก

Photo: https://medium.com/analytics-vidhya/its-all-about-outliers-cbe172aa1309

กฏ 10,000 ชั่วโมง ค่า Outliers ที่คนเก่งมีร่วมกัน และคนไม่เก่งก็ไม่มีร่วมกัน

ตอนที่ผมโพสว่าผมกำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ เพื่อนๆ หลายคนบอกว่าชอบ “กฏ 10,000 ชั่วโมง” จริงๆ ผมก็พอรู้มาบ้างว่ากฏหมื่นชั่วโมงคือการทำอะไรซ้ำๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น

แต่หนังสือเล่มนี้ขยายมิติ เพิ่มมุมมอง กับกฏ 10,000 ชั่วโมงที่ลึกซึ้งครับกับผมครับ

คอนเซปหลักมันคือในเวลาชีวิตที่เท่ากัน เราใช้เวลาแต่ละวัน แต่ละชั่วโมงไปกับอะไร?

เราใช้เวลาไปกับการทำให้ตัวเองเก่งขึ้นหรือไม่? เราใช้เวลาไปกับการทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายในชีวิตที่เราพร่ำบอกว่าอยากเป็นบ้างหรือเปล่า?

แทบทุกคนมีความฝัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ลงมือทำทุกวันเพื่อฝันนั้น และมีแค่คนส่วนน้อยเท่านั้น ที่ลงมือทำทุกวันเพื่อความฝัน หรือเป้าหมายในระยะยาว

หนังสือ Outliers เล่มนี้ฉายให้เห็นภาพ นักไวโอลินที่เก่งกาจที่สามารถสอบเทิร์นโปรตอนอายุ 20 ได้ นั้นมาจากการซ้อมไวโอลินสะสมประมาณหนึ่งหมื่นชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  • นักไวโอลินระดับหัวกระทิ มากกว่า 10,000 ชั่วโมง
  • นักไวโอลินที่เล่นได้ดี ประมาณ 8,000 ชั่วโมง
  • นักไวโอลินที่สามารถสอนได้ ประมาณ 4,000 ชั่วโมง

เป็นอย่างไรบ้างครับ การสรุปออกมาแบบนี้ทำให้เห็นภาพชัดเลยว่า การจะเป็นคนที่เก่งกาจเหนือคนทั่วไปต้องใช้การทุ่มเทมากขนาดไหน ดังนั้นภายใต้เวลา 24 ชั่วโมงที่เราทุกคนมีเท่ากัน วันนี้เราใช้เวลาเพื่อตัวเราในอนาคตกี่ชั่วโมงแล้ว

สภาพแวดล้อมส่งผลต่อความสำเร็จ

การจะเป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ได้มาจากแค่ความพยายามทุ่มเทฝึกฝน แต่ต้องมาจากความเอื้ออำนวยของสภาพแวดล้อมด้วย เช่น คนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ไม่ได้มาจากการที่มีแค่ใจรัก แต่การที่มาจากสามารถเข้าถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ตามต้องการ

นั่นหมายความว่ายิ่งได้ใช้งานคอมพิวเตอร์จริงบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ฟีดแบคกลับมาปรับปรุงผลงานมากเท่านั้น เทียบกับบางมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาเดียวกัน ที่นักศึกษาคนไหนจะใช้งานต้องต่อคิวกันทีละคน ส่งผลให้วงจรป้อนกลับนั้นช้าเกินไป

ดังนั้นต่อให้ทุ่มเทเวลาหนึ่งหมื่นชั่วโมงเท่ากัน แต่ถ้าหลายพันชั่วโมงต้องเสียเวลาไปกับการรอ ก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าไหร่ครับ

สูงมากกว่านี้ ก็ไม่ทำให้ได้เปรียบอีกต่อไป

คุณรู้ไหมว่านักบาสระดับตำนานอย่างไมเคิล จอร์แดน นั้นไม่ได้สูงอะไรมากมายเมื่อเทียบกับนักบาสคนอื่นในวงการ NBA เลย ค่อนไปทางไม่สูงด้วยซ้ำ เพราะเขาสูงแค่ 198 เซนติเมตร ทั้งที่นักบาสส่วนใหญ่สูงกันสองเมตรขึ้นไปทั้งนั้น

แต่ในขณะเดียวกันความสูงของไมเคิล จอร์แดน ก็มากพอที่จะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่นักบาสอาชีพต้องมีได้ นั่นหมายความว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งความเก่งกาจขั้นพื้นฐานที่เคยช่วยให้เราได้เปรียบจากคนธรรมดา จะไม่ได้ผลเมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่เก่งเหมือนกัน

เราต้องมีจุดแหลมที่จะทำให้เราโดดเด่นท่ามกลางคนที่เก่งเหมือนกันได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นแค่คนเก่งอีกคนหนึ่ง แต่โลกไม่จำ หรือยากจะเป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จได้ครับ

คนเก่งที่ประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักเข้าหาคนที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้

เรื่องนี้เจอกับคนรอบตัวก็มาก เพราะคนเก่งหลายคนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่รู้จัก หรือแม้แต่ไม่ถูกเป็นที่ยอมรับ เพราะไม่รู้จักปรับตัวให้เข้าหาคนอื่นที่จะสนับสนุนให้เราได้แสดงความเก่งได้

ก็จะสอดคล้องกับข้อก่อนหน้าว่า เก่งมากกว่านี้ก็ไม่ช่วยอะไรแล้ว ที่เหลือมันต้องใช้ทักษะอื่นเขามาผสม รวมไปถึงทักษะการทำงานกับคนด้วย

ส่วนตัวผมมองว่าความเก่งเหมือนความดี คนเก่งจริงไม่ได้มาจากเจ้าตัวพูด แต่มาจากคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาคนนี้เก่งจริงๆ ครับ

ความเก่งจะมีค่า ก็ต่อเมื่อสร้างผลกระทบได้

และก็นั่นแหละครับ ถ้าความเก่งของเราไม่ถูกรับรู้ ไม่ถูกเอาไปใช้ ไม่ถูกหยิบไปต่อยอด เก่งแค่ไหน เก่งไปก็ไร้ค่า สิ่งสำคัญของคนเก่งที่ประสบความสำเร็จคือต้องรู้จักหาทางส่งต่อความรู้ ความเก่งนั้นให้คนอื่น

คนเก่งบางคนเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ จนกลายเป็นความได้เปรียบเมื่อเวลาผ่านไป

บางครั้งความเก่งไม่ได้มาจากการทำในสิ่งคนอื่นทำไม่ได้ แต่มาจากการทำในสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้แต่ไม่มีใครอยากทำ ตัวอย่างในเล่มนี้พูดถึงบริษัทกฏหมายที่เลือกทำงานฟ้องร้องการควบรวมบริษัทเมื่อหลายสิบปีก่อน ในวันนั้นไม่ใช่สำนักงานทนายความอื่นทำไม่ได้ แต่พวกเขารู้สึกว่านี่เป็นงานที่ไม่ค่อยมีเกียรติเท่าไหร่นัก

แต่นานวันเข้าเรื่องนี้กลายเป็นที่ต้องการของลูกค้าบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก ครั้นพอบริษัทสำนักงานกฏหมายจะเล่มไล่ตามการว่าความด้านนี้มันก็ยากไปเสียแล้ว

อยากเก่งต้องทำให้ง่าย ความลับทำไมคนเอเซียถึงเก่งเลขกว่าฝรั่ง

เรื่องปิดท้ายที่หยิบมาสรุปนี้เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากครับ เพราะทำให้ได้รู้ว่าการเก่งเลขหรือคณิตศาสตร์ของคนเอเซียนั้นไม่ได้มาจากสมองที่ซับซ้อน หรือไม่ได้มาจาก Gene ที่เหนือกว่า แต่มาจากภาษาของคนเอเซียโดยเฉพาะคนจีน ที่ทำให้การอ่านและพูดจำนวนนับอย่างตัวเลขเป็นเรื่องง่ายกว่าฝรั่งภาษาอังกฤษมาก

อย่างเช่น 7 ในภาษาจีนออกเสียงว่า ซิ แต่ฝรั่งต้องออกเสียงถึงสองคำ คือคำว่า เซ-เว่น หรือไทยก็พูดแค่คำว่า เจ็ด เท่านั้นเองครับ

ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยครับว่าระหว่างการออกเสียงหนึ่งพยางค์ กับสองพยางค์ จะส่งผลต่อความง่ายในการจำและเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้มากขนาดนี้

และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปรีวิว Outliers สัมฤทธิ์พิศวง

หนังสือที่จะบอกให้คุณรู้ว่าสิ่งที่คนเก่งและประสบความสำเร็จ มีร่วมกันโดยไม่รู้ตัวคืออะไร และนั่นก็คือค่าความผิดปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไป นั่นก็คือความทุ่มเทอุตสาหะใช้เวลาหนึ่งหมื่นชั่วโมงไปกับการสร้างความเก่งให้ตัวเอง

จากนั้นเขาต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือไม่ก็ต้องพาตัวเองไปยังสภาพแวดล้อมนั้นให้ได้ บวกกับพิจารณาถึงสภาพความพร้อมของตัวเอง หาให้เจอว่าเราเหมาะจะแข่งที่สนามไหนของเกมชีวิต

สุดท้ายคือต้องรู้จักเข้าหาคนที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จโดยส่วนใหญ่ ไม่มีใครสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยตัวคนเดียว

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 14 ของปี

สรุปรีวิวหนังสือ Outliers สัมฤทธิ์พิศวง
ตีแผ่ความสำเร็จ ในมุมที่คุณคิดไม่ถึง
Malcolm Gladwell เขียน
พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ, วิโรจน์ ภัทรทีปกร และ วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://summaread.net/category/we-learn/

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ > คลิ๊ก

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/