สรุปหนังสือ Super Productive รวิศ หาญอุตสาหะ

สรุปหนังสือ Super Productive ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เล่มนี้เป็นหนังสือที่เรียกว่าผมต้องลัดคิวขึ้นมาอ่านในฐานะที่ผมแฟนคลับของคุณรวิศ และยิ่งเป็นเกียรติมากที่คุณรวิศอุตส่าห์เขียนคำนิยมให้กับหนังสือการตลาดแบบรู้ใจ Personalized Marketing ของผมครับ และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบก็รู้สึกว่า ขออ่านเล่มสองต่อเลยได้มั้ย ไม่อยากให้จบแล้วจริงๆ

เพราะเนื้อหาในหนังสือ Super Productive เล่มนี้นอกจากจะมีความรู้ใหม่ๆ มากมาย ที่ผมชอบที่สุดคือการมีประสบการณ์ตรงของคุณรวิศ ที่เอามาแชร์โดยไม่หวง และเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากจนต้องขอถือเอาไปใช้ในการทำงานเลยนั่นก็คือ 5 วิธีรับมือกับฟีดแบคแย่ๆ บนออนไลน์ของแบรนด์เรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกแบรนด์ย่อมต้องเคยเจอ Negative feedback หรือฟีดแบคแย่ๆ กันทั้งนั้น ขนาดเพจอ่านแล้วเล่า หรือเพจการตลาดวันละตอนเองยังเคยเจอเหมือนกัน และถ้าเป็นเพจแบรนด์ที่เป็นจำพวกธุรกิจต่างๆ รับประกันได้เลยว่าคุณต้องเคยเจอลูกค้าเข้ามาด่าบนแฟนเพจหรือโซเชียลมีเดียแน่ๆ ครับ ถ้าใครทำธุรกิจแล้วมีแฟนเพจแล้วไม่เคยมีใครมาด่า ขอผมเรียนรู้วิชาด้วยคนนะครับ

คำแนะนำของคุณรวิศในเรื่องการรับมือกับฟีดแบคแย่ๆ บนโซเชียลนั้นดีมาก คุณรวิศบอกว่ามีแค่ 5 ขั้นตอนเท่านั้นที่คุณต้องทำ ซึ่งนั่นก็ประกอบด้วย

  1. ตอบให้เร็ว > ก็เวลาคนเราอยู่บนโซเชียลนั้นหัวร้อนง่าย ลองผ่านไปหนึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ตอบซิ รับรองกลายเป็นไวรัลแน่
  2. อย่าขอโทษโดยที่ไม่ได้ขอโทษ > หรือการสักๆ แต่ว่าขอโทษไปโดยไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆ ไม่ได้ขอโทษด้วยความจริงใจ ขอโทษแบบขอไปที เรื่องแบบนี้คนอ่านเค้าจับความรู้สึกได้นะครับว่าคุณรู้สึกผิดจริงมั้ย ถ้าไม่เตรียมตัวรับดราม่าได้เลยครับ
  3. หาปัญหาที่แท้จริงให้เจอ > แน่นอนว่าเวลาลูกค้าโมโหนั้นจะโพสด้วยข้อความที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ดังนั้นแอดมินคนอ่านก็ต้องแยกแยะอารมณ์ออกจากข้อความให้เป็น จนเหลือแต่ปัญหาที่แท้จริงแล้วก็รีบจัดการแก้ไขมันซะ
  4. เปลี่ยนการสื่อสารจากออนไลน์เป็นออฟไลน์ > อย่ามัวเอาแต่ตอบลูกค้าบนโซเชียล ง่ายที่สุดคือโทรหาลูกค้าตรง บอกว่าคุณเสียใจจริงๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น(และคุณก็ต้องรู้สึกแบบนั้นด้วยจริงๆ) จากนั้นก็ให้เขารู้ว่าคุณกำลังร้อนใจอยู่เหมือนกัน ไม่ได้นิ่งเฉย หรือถ้าจะถึงขึ้นไปหาลูกค้าถึงบ้านแน่นอนว่านั่นจะต้องดีกว่าแน่ แล้วพอสื่อสารออฟไลน์เสร็จก็ค่อยเข้ามาตอบบนออนไลน์ให้คนอื่นที่อ่านรู้ด้วย ว่าคุณกำลังดำเนินการอยู่ไม่ได้นิ่งดูดายนะครับ
  5. ลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่คำขอโทษ > อะไรที่บอกลูกค้าไว้ก็ต้องทำตามสัญญาให้เรียบร้อย ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด ไม่อย่างนั้นคุณจะโดนสึนามิรอบสอง รับรองว่าคราวนี้จะแก้ก็ยากแล้วครับ

นี่คือ 5 ขั้นตอนการรับมือกับ Negative feedback บนออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของคุณรวิศ ถ้าถามว่าผมพอรู้ขั้นตอนแบบนี้มั้ยก็ต้องบอกว่าพอรู้บ้าง จากสายงานที่ทำด้านการตลาดิจิทัล แต่พอได้อ่านที่คุณรวิศเขียนก็พบว่าเข้าใจง่ายมาก และก็เหลือแต่ประเด็นสำคัญแบบไม่เวิ่นเว้อ ไม่ทฤษฎีจ๋า เรียกได้ว่าอ่านจบปุ๊บเอาไปใช้ได้ปั๊บ ผมแนะนำให้ลองอ่านที่คุณรวิศเขียนเต็มๆ แล้วเอาไปประยุกต์ใช้งานในแบบของตัวเองดูครับ

ส่วนประเด็นอื่นๆ ในเล่มที่น่าสนใจก็มีไม่น้อย แต่ผมขอคัดมาเฉพาะที่ผมเห็นว่าเด็ดในความคิดผมแล้วกันครับ

อย่างการแยกแยะให้ออกระหว่าง Career Hungry กับ Workaholic นั้นมีแค่เส้นบางๆ คั่นอยู่ นั่นก็คือความแตกต่างระหว่างคนที่อยากประสบความสำเร็จกับคนที่แค่บ้างานนั้นต่างกันอย่างไร

คุณรวิศอธิบายว่าคนที่อยากประสบความสำเร็จจะไม่เอาแต่นั่งทำงานเป็นบ้าเป็นหลังทั้งวัน แต่เขาจะทำเฉพาะที่สำคัญต่อความสำเร็จเขาจริงๆ ทำเสร็จแล้วก็พอ ทำหมดแล้วก็พอ ไม่ได้ทำไปเรื่อยๆ และนั่นก็คือความต่างระหว่างคนที่เป็น Workaholic คือจะรู้สึกไม่ดีถ้าตัวเองว่างแล้วไม่ทำงาน เรียกได้ว่าว่างไม่ได้ต้องเปิดคอมทำงานไปเรื่อยไม่งั้นรู้สึกผิด และผลงานที่ได้ออกมาจากการทำงานก็ไม่ได้ impact อะไรมากมาย เรียกได้ว่าทำเพื่อให้ได้รู้สึกว่าทำอย่างไรล่ะครับ

องค์กรไหนมีพนักงานแบบแรกถือว่าโชคดี เพราะเรียกได้ว่าทำน้อยได้มาก แต่คนพวกนี้ทำมายิ่งได้แบบ Super impact ครับ ผิดกับพนักงานแบบหลังที่ดูเหมือนขยันและตั้งใจทำงาน แต่ผลงานที่ได้กลับไม่ค่อยปังเท่าไหร่ และที่สำคัญพนักงานเก่งๆ ก็ต้องการองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ ที่สำคัญต้องกล้าให้พนักงานได้ผิดพลาดเพื่อเรียนรู้ด้วย

องค์กรที่ดีในวันนี้ต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้ผิดพลาดได้ ผิดแล้วไม่ถือเป็นความผิด เพราะถ้าองค์กรไหนออกแบบมาให้ไม่ยอมรับความผิดพลาด ก็ยากที่องค์กรจะก้าวไปข้างหน้าให้ทันโลกที่หมุนเร็วเหลือเกินได้ครับ

ส่วนถ้าองค์กรไหนอยากจะเปลี่ยนแปลงคุณรวิศก็แนะว่าต้องเริ่มจากขอบขององค์กร เริ่มจากการตั้ง unit ใหม่ขึ้นมา อย่าเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางขององค์กรเดิม เพราะจะเกิดแรงต้านมาก ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นหลายธนาคารใหญ่ในวันนี้แตกบริษัทย่อยออกมาใหม่ ปล่อยให้ธุรกิจเดิมก็ทำไป และธุรกิจใหม่ก็ออกไปเติบโตอย่างมีอิสระ

ที่สำคัญคือต้องหาให้เจอว่าพนักงานคนไหนที่อยากเปลี่ยนแปลง และพนักงานคนที่ไหนไม่อยากเปลี่ยนแปลง จากนั้นผู้นำองค์กรต้องแยกพนักงานออกจากกัน แล้วเพิ่มอำนาจพลังให้กับกลุ่มคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง และไปลดพลังของกลุ่มคนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงให้ค่อยๆ อ่อนอำนาจลงไปในที่สุดครับ

อีกข้อที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ คุณรวิศชี้ให้เห็นความสำคัญที่แตกต่างระหว่าง Generalist กับ Specialist นั่นก็คือระหว่างคนที่เก่งกว้างๆ ไปทุกเรื่อย กับคนที่เก่งแบบเชี่ยวชาญหนักมากเฉพาะบางเรื่อง คนสองกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ต่างกันไปตามรูปแบบขององค์กร

ถ้าธุรกิจไหนเป็นธุรกิจที่เริ่มนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงช้า จะเป็นที่ๆ เหมาะของกลุ่ม Generalist เพราะสามารถเอาความรู้ความหลากหลายที่มีก่อให้เกิดสิ่งใหม่ เอาของเดิมที่มีไปต่อยอดให้กลายเป็นอะไรใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

ส่วน Specialist ก็จะเหมาะกับองค์กรที่ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นต้องเป็นคนที่รู้ลึกถึงจะพาองค์กรไปให้สุดได้ก่อนครับ

เคล็ดลับการเรียนรู้ของเบนจามิน แฟรงคลินก็น่าสนใจ นั่นคือกฏการเรียนรู้เรื่องใหม่ได้ภายใน 5 ชั่วโมง

เบนจามิน แฟรงคลิน แนะนำว่าถ้าอยากเรียนรู้เรื่องอะไรใหม่ ให้ใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่เรียนรู้เรื่องนั้น 5-6 วันติด เท่านั้นเราก็พอจะมีความรู้เรื่องนั้นได้ดีในระดับหนึ่ง

ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงตัวผมเองเวลาทำงาน ผมมักจะทำงานชิ้นละ 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่จะทำต่อเนื่องทุกวันไปเรื่อยๆ ถึงวันที่ต้องใช้งาน เพราะจากประสบการณ์ผมพบว่าระหว่างงานที่ทำวันเดียว 10 ชั่วโมง กับงานที่ทำวันละ 1 ชั่วโมง 10 วัน งานชิ้นหลังนั้นมีคุณภาพกว่างานชิ้นแรกมากครับ

แต่ถ้าคุณมี 10 งานให้ทำพร้อมกัน ผมก็ได้แต่หวังว่าคุณจะโชคดีพอทำเสร็จทุกงานได้ทันเวลาครับ

ในวันที่เรามักต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงจนเริ่มได้ยินคำว่า Burnout หรือหมดไฟบ่อยๆ คุณรวิศก็ได้แนะไว้อย่างน่าสนใจว่า ระวังอาการ Burnout หลอกล่ะ บางทีเราอาจแค่เหนื่อนหรือเพลีย หรือแค่ขี้เกียจ แต่ยังไม่ได้หมดไฟกับเรื่องนั้นจริงๆ

ส่วนทางแก้ Burnout หลอกนั้นก็ง่ายมาก แค่ฝืนใจทำมันไปให้ลุล่วง ถ้าไม่ใช่ Burnout จริงๆ คุณก็จะกลับมารู้สึกดีและมีชีวิตชีวาอีกครั้งครับ

อีกหนึ่งเคล็ดลับการรับ Feedback ของคุณรวิศจากหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบมาก ในวันที่ใครๆ ก็คอมเมนต์ได้ แต่คนรับคอมเมนต์ถ้าไม่รู้จักคัดกรองเอาแต่ของดีๆ กลับมาปรับปรุงตัวเองก็จะยิ่งทำให้รู้สึกแย่ไปใหญ่ ในเรื่องการจัดการกับ Feedback คุณรวิศพูดไว้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือให้จดคอมเมนต์ไว้บนกระดาษขนาด 1 x 1 นิ้ว เท่านั้นพอ

ใช่ครับ เท่านั้นพอ จดไหวแค่ไหน ก็เอาไปใช้แค่ไหน ส่วนที่เหลือก็ทิ้งไป อย่าเก็บเอาทุกอย่างมาใส่ใจให้รกสมองครับ

ขอปิดท้ายด้วยคำคมในหนังสือที่บอกว่า

The wise man doesn’t give the right answers, he poses the right questions
ผู้มีปัญญามิได้ให้คำตอบที่ถูกต้อง แต่เขาถามคำถามที่ถูกต้องต่างหาก

เหมือนที่ผมเชื่อเสมอว่า “คำถามสำคัญกว่าคำตอบ” เพราะคำตอบดีแค่ไหนก็ไร้ค่าถ้าคำถามตั้งต้นไม่ถูกต้องครับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกคนที่อยากจะเก่งขึ้นจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักศึกษาที่กำลังจะจบ เป็นคนที่กำลังจะหางานใหม่ เป็นคนที่กำลังจะก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้างาน หรือเป็นผู้บริหารเจ้าของกิจการ และแม้แต่พ่อค้าแม่ขายออนไลน์ก็ตาม คุณควรมีหนังสือเล่มนี้ติดบ้านไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าจะใช้เวลาในชีวิตอย่างน้อยนิดอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ

สรุปหนังสือ Super Productive รวิศ หาญอุตสาหะ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 72 ของปี 2019

สรุปหนังสือ ​Super Productive
เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในตัวเอง ธุรกิจ และทีม เริ่มที่การจัดการ
รวิศ หาญอุตสาหะ เขียน
สำนักพิมพ์ KOOB

20191218

อ่านสรุปหนังสือของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เล่มอื่นต่อ > https://summaread.net/business/the-disruptor/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/2POrUA8

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/