ทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น การดำเนินกิจการ 100 ปีที่ยั่งยืน
สรุปหนังสือทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น การดำเนินกิจการ 100 ปีที่ยั่งยืน รวมเคสธุรกิจในญี่ปุ่นที่มีอายุร้อยปีขึ้นไป รวมหาเหตุผลให้เข้าใจว่าทำไมธุรกิจเหล่านั้นถึงยังคงอยู่ได้นานกว่า 100 ปี และที่สำคัญกว่านั้นคือธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยเงินทุนหนุนหลัง แต่เป็นธุรกิจรายเล็ก รายย่อย ธุรกิจครอบครัวชาวบ้าน หรือที่เราเรียกคุ้นปากว่าธุรกิจ SME ครับ ถ้าเป็นธุรกิจ SME บ้านเราจะทำให้เกิน 10 ปีแรกยังยาก ทำให้ส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานยิ่งเหลือรอดได้น้อยนิดมากอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กับที่ประเทศญี่ปุ่นมีอะไรต่างจากเรา ทำไมธุรกิจส่วนใหญ่บ้านเขาถึงมีอายุหลักร้อยปีขึ้นไปเยอะมากจนดูเป็นเรื่องปกติ งั้นเรามาเริ่มต้นจากรู้จักไปทีละธุรกิจในหนังสือเล่มนี้ ที่ผมขอหยิบบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจมาสรุปเล่าให้ฟังครับ ยามานิ โชยุ เมืองริกุเซ็นทากาตะ จังหวัดอิวาเตะ ผู้บริหารรุ่นที่ 4 จากผู้ผลิตโซยุชื่อดังแต่ต้องมาโรงงานพังเพราะพิษสึนามิ แต่นั่นกลายเป็นว่าทำให้ตัวเขาได้ปลดล็อคจากสิ่งเดิมที่เคยทำสืบต่อกันมา ได้ค้นพบ New S Curve ใหม่ของธุรกิจที่ได้แต่คิดแต่ไม่เคยทำ เมื่อทุกอย่างถูกล้างกระดานจากสึนามิ ก็เลยได้โอกาสเริ่มต้นทำสิ่งที่คิดไว้สักที นั่นคือการขายใบอนุญาตผลิตโซยุที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เดิมผู้ผลิตโซยุในญีปุ่นจะเป็นเจ้าของโรงงานที่ทำการผลิตเอง แล้วก็จะหวงสูตรของตัวเองมาก ไม่ยอมปล่อยให้คนนอกได้ล่วงรู้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้ธุรกิจเสียหายจนเจ๊งได้ แต่กับผู้บริหารรุ่นที่ 4 รายนี้ไม่ เลือกจะปฏิวัติการทำธุรกิจโซยุของตัวเองใหม่ ด้วยการหาโรงงานที่ยังพอผลิตโซยุได้ จากนั้นก็ขายใบอนุญาตการผลิตโซยุสูตรนี้ แล้วคิดเงินตามยอดขายหรือส่วนแบ่งที่ผู้ผลิตขายได้ เรียกว่าตัวเองไม่ต้องเหนื่อย แถมยังได้ขยายแบรนด์ตัวเองออกไปด้วย […]