สรุปหนังสือ COINED เงินเปลี่ยนโลก ชีวิตอันรุ่มรวยของเงิน และประวัติศาสตร์ของเงินตรากับมนุษยชาติ
“เงิน” เรื่องไกล้ตัวที่น้อยคนนักจะรู้จัก เชื่อว่าทุกคนบนโลกนั้นต้องเกี่ยวข้องกับเงินในทุกวัน มากบ้าง น้อยบ้าง ต่างกันตามอัตภาพ จะเกิดก็ต้องใช้เงิน จะโตก็ต้องใช้เงิน จะแต่ง(งาน)ก็ต้องใช้เงิน แม้แต่จะตายก็ยังต้องใช้เงิน(แถมบางทียังต้องใช้เยอะกว่าตอนเกิดด้วยซ้ำ) หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ถึงความเป็นมาของเงิน ให้ความเข้าใจแน่แง่ของสิ่งที่เงินเป็น และให้ภาพในหัวว่าอนาคตของเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป
ในยุคที่ Bitcoin กำลังมาจนบางประเทศอย่างญี่ปุ่นนั้นถึงขั้นเปิดรับการจ่ายภาษี ค่าน้ำไฟ ด้วยสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่โดยพื้นฐานของเงินในทุกวันนี้คือเรื่องของ “การบัญชี” โดยแท้จริง เงินเป็นเหมือนการทดบัญชีเอาไว้ที่สมุดบัญชีกลางของแต่ละประเทศว่า เงินจำนวนนี้อยู่กับใคร และใครกำลังได้รับเงินอยู่บ้าง เอาง่ายๆคิดถึงภาพตัวเลขในสมุดบัญชีของเรา หรือเวลาเราเปิดแอพธนาคารเช็คยอดเงินนั่นแหละครับ ตัวเลขบัญชีเหล่านั้นคือ “เงิน” ในความหมายทุกวันนี้
ทุกวันนี้เด็กๆรุ่นใหม่มองเงินเป็นแค่ตัวเลขเหล่านี้จริงๆ เพราะแม้กระทั่งค่าอาหารจานละไม่กี่สิบบาทก็ยังยืมเงินเพื่อนจ่ายแล้วโอนผ่าน promt pay ให้กันเลย เวลาช็อปปิ้งสมัยนี้เราก็แทบไม่ต้องพกตัวเงินจริงๆอีกแล้วแค่หยิบบัตรไปรูดๆ หรือกดจ่ายผ่านมือถือเอาเลยก็ได้ในบางร้านที่มี qr code แท๊กซี่บางคันที่ผมเคยเห็นแปะป้ายว่ารับจ่ายเงินด้วย promt pay ไปแล้วด้วยซ้ำ
แต่ถอยกลับไปเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน เงินยังไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีจริงๆอย่างทุกวันนี้ หรือเงินก็ยังไม่ได้เป็นแค่ธนบัตร หรือกระดาษ หรือแบงก์ที่เราเรียกกันชินปากเมื่อเราหมายถึงเงิน แต่เงินเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อนยังหมายถึง เหรียญ “เงิน” จริงๆที่ทำจากเงิน ทอง หรือโลหะที่มีค่าในตัวมันเอง นั่นแหละคือความหมายที่แท้จริงของเงินที่ใช้กันมาหลายพันปีตั้งแต่ในสมัยโรมัน กรีกโบราณ ย้อนไปถึงเมโสเปเตเมีย และอณาจักรแรกในโลกที่ทำการผลิต “เหรียญเงิน” ออกมาก็คืออณาจักร “ลิเดีย”
ขอสลับกับมาที่ ธนบัตร ทั้งหลายว่ามีความหมายยังไง
ธนบัตรก็เป็นเหมือนตัวเลขทางหน่วยบัญชีที่ระบุว่ากระดาษแผ่นนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ไม่ว่าจะ 20บาท หรือ 100ดอลลาห์สหรัฐก็ตาม แต่ในเนื้อกระดาษนั้นหาได้มีมูลค่าในตัวมันเองเหมือนอย่างเหรียญเงินจริงๆไม่ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าธนบัตรโดยแท้จริงไม่ได้มีมูลค่าใดๆในตัวเพราะวัตถุที่ผลิตมันมามีค่าเท่ากับกระดาษหนึ่งแผ่นเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้มันมีมูลค่าคือรัฐบาลในแต่ละประเทศ มอบอำนาจให้กระดาษเหล่านั้นสาารถแทนเหรียญเงินจริงๆจำนวนมากมายได้ ธนบัตรก็เลยนับเป็น “เงินอ่อน” ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตจริงๆของคนในยุคหลังมาสะดวกขึ้นอีกเยอะ
ลองนึกภาพดูซิว่าถ้าเราต้องพกแต่เหรียญที่เป็น “เงินแข็ง” ในชีวิตประจำวัน การพาหญิงไปเดทกินข้าวร้านหรูๆทีเราคงต้องพกเงินเหรียญเป็นกระเป๋าไปจ่ายค่าดินเนอร์มื้อนั้นแน่ๆ คงเสียบรรยากาศเป็นแน่แท้ ขอบคุณ “เงินอ่อน” ที่ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
ทีนี้กลับมาที่ “เงินแข็ง” หรือเหรียญเงินอีกครั้ง อย่างที่บอกไปว่ามีใช้กันมาดั้งเดิมหลายพันปีก่อนแล้ว เงินในสมัยนั้นทำจากแร่เงิน ทอง หรือโลหะมีค่าต่างๆตามที่แต่ละสังคมจะให้ค่ากันไป แต่เมื่อย้อนกลับไปให้ลึกขึ้นอีกพื้นฐานของเงินคืออะไรกันล่ะ?
โดยพื้นฐานแล้ว “เงิน” คือการ “แลกเปลี่ยน” ระหว่างสิ่งที่ต้องการหรือจำเป็นของสิ่งมีชีวิตสองอย่าง คิดง่ายๆสมัยก่อนถ้าเราปลูกข้าวได้เยอะเกินที่เราจะกินหมด เราก็สามารถเอาข้าวนี้ไปแลกกับของอื่นที่เราต้องการกับคนอื่นที่กำลังต้องการข้าวอยู่ มันคือการแลกโภคภัณฑ์กับโภคภัณฑ์ด้วยกัน หรือเรียกว่า C to C
แต่เมื่อมนุษย์เรามีวิวัฒนาการมากขึ้น สามารถมีจิตนาการ เข้าใจถึงสัญลักษณ์บางอย่างร่วมกันได้ ก็เลยเกิดการแทนสิ่งกลางที่เข้าใจร่วมกันว่ามีค่า และใช้สิ่งนั้นในการแลกเปลี่ยนด้วยกันกับคนในสังคม ก็เลยเป็นที่มาของ “เงิน” ที่เป็น “ตัวกลาง” ในการ “แลกเปลี่ยน”
จาก C to C กลายเป็น C to M to C หรือ โภคภัณฑ์แลกมาเป็นเงิน แล้วเอาเงินไปแลกเป็นโภคภัณฑ์ที่ต้องการ ทีนี้ก็ถึงคำถามว่านอกจากมนุษย์แล้วในธรรมชาติหรือสัตว์อื่นล่ะ มีการใชเงินเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนมั้ย?
มีครับ
ตัวอย่างก็คือผึ้งกับดอกไม้ ดอกไม้อยากผสมเกสรให้ดอกไม้ดอกอื่น เพื่อให้ขยายเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ลำพังถ้าดอกไม้จะรอแค่ให้ลมพัดไปจนเกสรไปตกที่อีกดอกนึง โอกาสก็จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ดอกไม้เลยสร้างเงินของตัวเองขึ้นมาซึ่งก็คือ “น้ำหวาน” ทีนี้พอมีน้ำหวานแล้ว ผึ้งก็เลยเป็นเหมือนแรงงานรับจ้างที่เข้ามารับ “เงิน” จากดอกไม้ในรูปแบบ “น้ำหวาน” แล้วรับเอาเกสรดอกไม้นั้นติดตัวไปด้วย เมื่อผึ้งออกไปรับค่าจ้างจากดอกไม้ดอกอื่นอีก ผึ้งก็ได้ช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ต่างๆมากมาย เพราะถ้าไม่มีผึ้ง ก็จะไม่มีดอกไม้พืชพันธุ์มากถึงทุกวันนี้ และถ้าดอกไม้ไม่ให้ “เงิน” ในรูป “น้ำหวาน” กับผึ้ง ผึ้งก็จะไม่มีทางบินมาเฉียดดอกไม้ให้เสียเวลา นี่คือตัวอย่างของเงินที่ธรรมชาติสร้างขึ้น
ในมนุษย์ก็เหมือนกัน เงินถูกใช้แทนการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มนุษย์เราต้องการเพื่อความอยู่รอดและขยายเผ่าพันธ์ในสมัยก่อน ก่อนการแลกเปลี่ยนของมนุษย์จะซับซ้อนมากขึ้นอย่างทุกวันนี้
นอกจากเหรียญเงินจะมีค่าด้วยโลหะหายากในตัวมันเองเท่านั้น เหรียญเงินยังบรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาผ่านรูปลักษณ์ของมันด้วย ตัวอย่างเหรียญที่โด่งดังและแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คือเหรียญ “MCMVII Double Eagle” เหรียญทองคำมูลค่า 20 ดอลลาห์ของสหรัฐอเมริกา ที่มีการผลิตจำนวนจำกัดในยุคประธานาธิบดีรูสเวลต์ มูลค่าล่าสุดของเหรียญนี้ถูกประมูลออกไปด้วยราคา 7.6 ล้านดอลลาห์สหรัฐ
ผู้เขียนยังมองไปถึงอนาคตของเงินว่า จะกลายเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมมากขึ้น และ Bitcoin เองก็เป็นการปฏิวัติของเงินในแบบที่ไม่ยึดกับอำนาจรัฐอีกต่อไป เพราะเงินในทุกวันนี้หาใช่สิ่งที่มีค่าในตัวมันเองแบบเหรียญเงินในสมัยก่อนไม่ แต่ “เงิน” คือสิ่งที่ทุกคนต่างให้ค่ามันร่วมกันต่างหาก ถ้าธนบัตรที่เป็นกระดาษรัฐบาลเริ่มให้ค่า และเราทุกคนต่างก็ให้ค่ายึดถือมันในการแลกเปลี่ยนกับเงิน กับทองจริงๆได้ แล้วทำไมเงินดิจิทัลอย่าง bitcoin จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกจะให้ค่าร่วมกันไม่ได้
แต่ในอีกแง่มุมนึงคือ “เงิน” อาจจะย้อนกลับไปสู่รูปแบบดั้งเดิมได้เช่นกันเมื่อถึงคราววุ่นวาย ไม่ว่าจะในรูปแบบของทองแท่ง หรือแม้แต่การตุนข้าวปลาอาหาร ที่เป็นแหล่งพลังงานความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เหมือนที่ในยุคนึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินของบางประเทศในยุโรปนั้นเฟ้อมากจนคนเอาปึกเงินธนบัตรมาจุดไฟหุงข้าวแทนฟืนกันมาแล้ว
สุดท้ายนี้แม้ว่าเงินจะเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เพราะถ้าไม่มีเงินเราก็คงไม่มีข้าวกิน ไม่มีน้ำไฟใช้ แต่ก็อย่าปล่อยให้เงินครอบงำเราจนเราลืมความเป็นเราไป เราต้องมีเงินเพื่อใช้ชีวิต แต่เราอย่าถึงกับต้องใช้ชีวิตเพื่อหาเงิน
และทั้งหมดนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า “เงิน” คือสิ่งที่มาช่วยเศรษฐกิจในระบบตลาดทุกวันนี้เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วมาก แต่ทั้งหมดก็คือการทำงานเพื่อหา “เงิน” แล้วเอาเงินไปแลกกับทั้ง “ปัจจัย 4” ข้าวปลาอาหาร หรือแม้แต่สิ่งอื่นๆที่เกินความจำเป็น ถ้าเราไม่อยากตกอยู่ในวงจรนี้ เราก็แค่ต้องยอมถอนตัวออกจากตลาด ออกไปสร้างสิ่งที่โดยพื้นฐานเป็นเงินของเราโดยธรรมชาติ นั่นก็คือ “พลังงาน” ไม่ว่าจะน้ำ ไฟ อาหาร หรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หรือไม่ต้องการเงินเกินจำเป็น ผมเชื่อว่าชีวิตเราก็คงมีความสุขขึ้นอีกเยอะครับ
อ่านเมื่อปี 2017
สรุปหนังสือ COINED เงินเปลี่ยนโลก
ชีวิตอันรุ่มรวยของเงิน และประวัติศาสตร์ของเงินตรากับมนุษยชาติ
Kabir Sehgal เขียน
วนาลี เศรษฐกุล แปล
สำนักพิมพ์ Post Books
อ่านสรุปหนังสือเกี่ยวกับเงินๆทองๆเพิ่มเติม https://summaread.net/category/crypto-currency/
สนใจสั่งซื้อ https://www.asiabooks.com/coined-163390.html