หนังสือเล่มนี้สรุปภาพอนาคตจากสิ่งที่เป็นในวันนี้ บวกกับการคาดการณ์จากความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้เขียน ดร. สันติธาร เสถียรไทย ชายผู้ใช้คำว่า “อิจฉริยะ” ก็น่าจะน้อยไป แต่ขอโทษด้วยเพราะผมไม่สามารถหาคำไหนที่ดีกว่านี้ได้ในตอนนี้
ถ้าใครสนใจใคร่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรขึ้น ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ และถ้าใครสนใจว่าอนาคตที่ไกลออกไปจะมีรูปร่างหน้าตาประมาณไหน ก็ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น รวมถึงจะมีอะไรบ้างที่จะดับสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะสิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน นี่ไม่ใช่แค่หลักธรรมของพุทธ แต่เป็นสัจธรรมของจักรวาล ขนาดดาวฤกษ์ดวงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ยังดับสูญสลายหายไปเป็นหลุมดำได้ นับประสาอะไรกับเศษเสี้ยวฝุ่นธุลีเล็กๆเช่นมนุษย์เรา
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ขอผมเล่าให้คุณฟังหน่อยว่า ดร. สันติธาร เสถียรไทย คนนี้เป็นใคร ทำไมเค้าถึงคาดการณ์อนาคตได้น่าสนใจขนาดนั้นครับ
ดร. สันติธาร เสถียรไทย คนนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานในระดับชาติ ที่ไม่ใช่แค่ชาติไทยแต่ยังถูกสิงค์โปรเชิญไปให้ทำด้วย ถูกยกย่องจากสื่อระดับนานาชาติมาไม่น้อย แถมปัจจุบันยังเป็นผู้บริหารของบริษัท SEA Group ที่เป็นบริษัทแม่ของ Garena, Shopee และ AirPlay ที่เราน่าจะเคยใช้บริการไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งใช่มั้ยครับ
ดังนั้น ดร. สันติธาร เสถียรไทย เลยมีข้อมูลมากมายมหาศาลในหัว มีประสบการณ์มากมายในตัว บวกกับได้คลุกคลีมากับหลายวงการทั้งราชการและบริษัทข้ามชาติทำให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นภาพกว้างของสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และคาดการณ์ได้ว่าอะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น
ถ้าจะบอกว่า ดร. สันติธาร คนนี้เป็นนักอนาคตศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก หรือจะบอกว่าเป็นสุดยอดพหูสูตในวันนี้ก็ถือว่ายังน้อยไป แต่ฟังแบบนี้แล้วไม่ต้องกลัวว่าเนื้อหาในเล่มจะหนัก หรืออ่านยากย่อยไม่ลง เพราะเค้าเขียนขึ้นมาด้วยภาษาที่เหมือนการเขียนจดหมายคุยกับลูกเค้าในอนาคต ต่อให้คุณไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์แสงมากนัก แต่ถ้าคุณเล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำ อ่านข่าวรอบตัวบ้าง ผมเชื่อว่าคุณก็อ่านเล่มนี้ได้สนุกเหมือนที่ผมไม่อยากให้จบเลยล่ะครับ
ผมขอเลือกอนาคตบางช่วงที่น่าสนใจมากๆๆๆจริงๆมาเล่าสู่กันฟัง ที่ต้องเน้นคำว่ามากๆๆๆหลายรอบนั้นเพราะผมอยากจะบอกว่ามันน่าสนใจทั้งเล่มเลยจริงๆครับ
อนาคตของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับ Data
เพราะการค้าโลกที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจ โทรศัพท์ Smartphone ในมือหนึ่งเครื่องก่อนจะมาอยู่หน้าร้านให้คุณซื้อนั้นคุณรู้มั้ยว่ามันเดินทางไปทั่วโลกมาแล้ว
การออกแบบอาจอยู่ที่อเมริกา หน้าจาถูกส่งมาจากเกาหลี ชิปประมวลผลส่งมาจากใต้หวัน เซนเซอร์ส่งมาจากยุโรป แล้วก็เอามาผลิตรวมในจีน ก่อนจะส่งออกไปตามหน้าร้านต่างๆทั่วโลก แต่เรื่องแบบนี้กำลังจะลดน้อยลงไปทุกที ด้วยเทคโนโลยีต่างๆไม่ว่าจะ machine-learning, ai, robotic หรือ 3D printing ที่ทำให้สามารถทำแทบทุกอย่างได้ในที่เดียว
อย่างที่เราเริ่มเห็นข่าวว่าบริษัทใหญ่ๆเริ่มดึงฐานการผลิตกับไปยังบ้านเกิด แต่การดึงไปนี้ไม่ได้ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากอย่างที่คิด เพราะเครื่องจักรอัจฉริยะหรือ ai เข้ามารับงานส่วนนี้ไปเกือบหมด ผิดกับ Data สามารถดึงมาจากไหนก็ได้ และส่งต่อไปที่ไหนบนโลกก็ได้ แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ดังนั้นชาติที่จะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในยุคหน้านี้ จะไม่ใช่แค่ชาติที่มีน้ำมัน มีเหมืองแร่ หรือมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าแบบแต่ก่อน แต่เป็นชาติที่มี Data มากกว่า และสกัดมูลค่าออกมาได้มากที่สุด
อนาคตของ AI ที่เราเป็นกังวล
มีหลายคนอาจกำลังกังวลเรื่อง “หุ่นยนต์” เทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนคน แต่ก็มีบางคนกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “หุ่นยนต์เกิดขึ้นมาเพื่อเตือนเราว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นคน”
ดังนั้นในยุค AI นี้ ทักษะการสื่อสารและเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน จะมีค่ายิ่งกว่าทักษะใดๆในอดีตครับ
อนาคตของความรู้
หมดเวลาของเรียนจบครั้งเดียวแล้วทำงานเดิมได้ไปตลอดชีวิตครับ อนาคตจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือที่เรียกว่า Life Long Learning เพราะอนาคตของการแพทย์จะทำให้เราส่วนใหญ่อายุยืนยาวขึ้น แต่แทนที่จะเป็นโชคดีอาจกลายเป็นโชคร้าย เพราะถ้าเราไม่ปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปเร็วขึ้นตลอดเวลา เราก็จะไม่มีพื้นที่ในสังคม
จากเดิมเราเคยทำงานเดียวชั่วชีวิต แต่วันหน้ามันจะไม่เป็นแบบนั้น เราจะต้องเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น เราต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าทักษะความรู้ที่เรามีในวันนี้จะไร้ความสำคัญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราต้องพร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ
กลับไปเรียนรู้ แล้วกลับไปทำงาน แล้วพออายุความรู้นั้นหมดลงด้วยเทคโนโลยี AI ทดแทน เราก็ต้องกลับเข้าไปเรียนรู้ใหม่ ชีวิตมันจะเป็นประมานนี้ครับ
บางคนอาจคิดว่าอายุเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ แต่คุณรู้มั้ยครับว่าเค้คิดผิด เพราะอุปสรรคที่แท้จริงของการเรียนรู้ตลอดชีพไม่ใช่อายุ แต่เป็น Mindset หรือวิถีความคิดของเราครับ
อนาคตของมหาวิทยาลัยและใบปริญญา
ผู้เขียนบอกว่า ปริญญาใบหนึ่งก็เหมือนกับเพลงหนึ่งอัลบั้ม จะลองลงเรียนบางวิชาที่ตัวเองสนใจเพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนคณะนี้ได้หรือเปล่าก็ทำไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าเรียนทุกวิชาของคณะนั้น เสมือนที่ต้องซื้อเทปทั้งอัลบั้ม
ทำไมล่ะครับ ในยุคที่เราสามารถเลือกโหลดเฉพาะเพลงที่ชอบ ไม่ต้องทนซื้อทั้งอัลบั้มเพื่อให้ได้อีก 8 เพลงที่ไม่ใช่ นั่นบอกให้รู้ว่าใบปริญญาก็เหมือนกัน ต้องสามารถให้เราปรับเปลี่ยนเลือกวิชาที่เราอยากลงเรียนเองได้ เหมือนที่เราสามารถสร้าง playlist ของตัวเองได้
และข้อสอง การเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะคล้ายกับการเรียนดนตรีหรือกีฬามากขึ้น คือครูจะต้องเล่นบทโค้ชด้วย และห้องเรียนต้องกลายเป็นห้องซ้อมดนตรี
ครูจะไม่ได้มีหน้าที่ป้อนความรู้ให้นักเรียน เพราะนักเรียนสามารถเข้าถึงทุกความรู้ที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว ครูต้องมีหน้าที่ทำให้เด็กคนนั้นไปต่อได้ ก้าวข้ามอุปสรรคได้ หรือทำให้นักเรียนที่หลากหลายสามารถจับกลุ่มทำงานร่วมกันได้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ยิ่งกว่า
แต่อนาคตของการศึกษาอาจจะยิ่งขาดแคลน
เพราะในอนาคตของการเรียนรู้ตลอดชีพ การเข้าถึงทักษะใหม่ๆนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนมาก แต่ที่ผ่านมาการศึกษาที่ดีถูกสงวนไว้ให้แค่คนชนชั้นบนเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ทำให้คนรวยก็ยิ่งรวยนต่อไป และคนจนก็ยิ่งยากจนกว่าเดิม
การศึกษาต้องถูกปฏิวัติให้คนจนเข้าถึงได้มากกว่าคนรวย หรืออย่างน้อยทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพื่อกระจายโอกาสในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก
อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินโลก
รู้มั้ยครับว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของอเมริกาไม่ใช่ โค้ก แมคโดนัลด์ ไม่ใช่ยีนส์ลีวาย แต่เป็นเงินดอลลาร์สหัรฐ เพราะแทบทุกประเทศบนโลกเวลาจะค้าขายระหว่างกันก็จะใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลาง หรือแม้แต่ถูกเอาไว้ใช้ตุนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยซ้ำ
แต่ในอนาคตเงินหยวนของจีนก็จะค่อยๆเพิ่มความสำคัญมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำให้เงินดอลลาร์ของสหัฐหายไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนด้วยว่าพร้อมจะปล่อยเงินตัวเองให้กลายเป็นเงินของโลกได้มากขนาดไหน
จากแนวโน้มที่รัฐบาลจีนต้องการควบคุมทุกอย่างของตัวเองให้มากที่สุดก็น่าจะทำให้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะปล่อยให้เงินตัวเองเป็นเงินของโลก นั่นหมายความว่ารัฐบาลจีนต้องปล่อยการควบคุมที่มีกับเงินหยวนไปไม่น้อยเลยทีเดียว
อนาคตของเศรษฐกิจโลกจาก Data อีกครั้ง
การเกิดขึ้นของ 5G จะไม่ใช่แค่ทำให้เราดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ได้คมชัดขึ้น หรืออัพโหลดรูปและคลิปรวมถึงเข้าเว็บได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ทุกอย่างรอบตัวเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หมด หรือที่เรียกว่า IoT จริงๆซักที
จากที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของคนกับคน และคนกับของ แต่ 5G จะเป็นเรื่องของสิ่งของกับสิ่งของที่จะพูดคุยกันเองโดยไม่ต้องผ่านคน เช่น ตอนที่ผมกำลังจะเลี้ยวรถเข้าบ้าน โทรศัพท์มือถือผมอาจจะส่งข้อความไปบอกแอร์ที่ห้องนอนให้เปิดรอ บอกประตูบ้านให้เตรียมเปิดรับรถที่จะเลี้ยวเข้าไปจอดเพื่อผมจะได้ไม่ต้องแตะเบรกรถให้เสียเวลา แล้วพอผมลงรถปุ๊บมันก็สั่งให้ประตูปิดเอง
เป็นยังไงครับ ในยุค IoT เราไม่ต้องบอกให้สิ่งของต่างๆทำอะไร มันเรียนรู้และบอกกันเองว่าแต่ละอันต้องทำอะไรบ้าง
ด้วย 5G และ IoT จะทำให้เกิด Data มหาศาลจากเซ็นเซอร์รอบตัวเรา แต่เช่นเดียวกันว่าใช่ว่ามี Data มากกว่าแล้วจะได้เปรียบเสมอไป เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ใช่ Data ที่มี แต่ขึ้นอยู่กับการสกัดเอาคุณค่าออกมาจาก Data นั้นต่างหาก
เพราะ Data ก็เหมือนน้ำมันดิบครับ ถ้าสกัดออกมาไม่เป็น หรือสกัดออกมาไม่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ Data เป็นทรัพยากรชนิดเดียวที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดเหมือนเหล็ก เหมือนน้ำมัน แต่ยิ่งใช้กลับยิ่งเจอคุณค่าใหม่ๆเพื่อเอามาสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นครับ
ถ้าคุณสงสัยว่า Data จะมีค่ามากขนาดไหนกัน เอาอย่างนี้แล้วกันครับ กับข้อมูลของสภาพภูมิอากาศของบริษัทหนึ่งที่ชื่อว่า The Wealther Company มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อ IBM ขอซื้อไปใช้งานต่อ
นี่แค่ข้อมูลสภาพภูมิอากาศฝนตก แดดออก ฟ้าครึ้มนะครับ ลองคิดดูซิว่า data อื่นๆถ้ารวบรวมไว้ดีๆจะมีมูลค่าได้อีกขนาดไหน
หรือแอพเรียกรถแท็กซี่ที่จีนอย่าง Didi Chuxing นั้นมีทั้ง Alibaba และ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเข้าไปร่วมลงทุนด้วย คุณคิดว่าเค้าอยากได้อะไร กำไรจากการเรียกรถของผู้โดยสารทั่วไปหรอ เปล่าเลยครับ เค้าต้องการ data ต่างหาก
ลองคิดดูซิว่าเค้าจะสามารถเข้าถึง data ที่อยู่จริงๆ ที่ๆคนๆนั้นชอบไป เวลาที่ชอบเดินทาง เพื่อเอาข้อมูลพวกนั้นไปประกอบกับ data อื่นๆที่เค้ามีเพื่อทำให้เข้าใจแต่ละคนมากขึ้นครับ
อนาคต Data อาจใช้จ่ายได้แทนเงินจริงๆ
ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองฮัมบูร์กที่ชื่อว่า Datenmarkt ให้ลูกค้าใช้รูปส่วนตัว 5 รูปเพื่อแลกกับผลไม้กระป๋องแล้ว หรือบริษัท Fintech ที่ชื่อว่า WeLab ในฮ่องกงก็ให้ส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้กับคนที่ยอมให้เข้าไปดู Facebook และ LinkedIn ครับ
อนาคตของ Cryptocurrency อาจพลิกไปจากที่คิด
จากเดิมจุดตั้งต้นของเทคโนโลยี Blockchain คือการต้องการกำจัดตัวกลางออกไป ที่เรียกว่า Decentralization เพราะสถาบันการเงินเป็นตัวกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ ต้องการกระจายอำนาจทั้งหมดให้กับทุกคนที่เข้ามาในระบบตามแนวคิดประชาธิปไตยที่แท้จริง
แต่กลายเป็นว่าตอนนี้แบงก์ชาติของหลายชาติทั่วโลกกำลังทดลองใช้ Cryotocurrency ในระบบปิดของตัวเอง และถ้าสำเร็จเมื่อไหร่ก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปในประเทศได้ใช้กัน นั่นเท่ากับว่าเราจะมีกระเป๋าเงินจริงๆ และกระเป๋าเงิน Cryptocurrenct ที่ออกเงินดิจิทัลโดยแบงก์ชาติ ฟังดูเป็นเรื่องแต่รู้มั้ยครับที่น่ากลัวคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในวันนี้จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
เพราะเมื่อแบงก์ชาติสามารถออกเงินเองและส่งให้ถึงมือประชาชนเอง การพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ในการกระจายเงินให้ถึงประชาชนผ่านสาขาหรือตู้ ATM ต่างๆก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
ทีนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือแบงก์ชาติจะสามารถตามรอยเงินทุกบาทของเราทุกคนได้ เหมือนติด GPS ไว้ที่เงินเลยครับ
ทีนี้ที่น่ากลัวหนักกว่าคือถ้าวันนึงแบงก์ชาติเกิดปรับอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบเหมือนกับบางประเทศพัฒนาแล้วพยายามทำเพื่อให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้น งานนี้จะเอาเงินหนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะยานแม่สั่งปุ่มเดียวเงินเราก็จะเป็นไปตามนั้นเลยครับ
และทั้งหมดนี้ก็ผิดวัตถุประสงค์ของ Blockchain โดยแท้ที่ต้องการกำจัดการรวมศูนย์ กลายเป็นทำให้การรวมศูนย์นั้นแข็งแกร่งจนน่ากลัวมากเลยครับ
อนาคตของการนโยบาย Negative List Approach
เรื่องนี้น่าสนใจครับ เป็นวิธีการออกกฏระเบียบของรัฐบาลสิงค์โปร คือเค้าต้องการเป็นผู้นำด้านการเงินโลกในอนาคต ผู้นำด้าน FinTech ผู้นำด้าน Cryptocurrency แต่ปัญหาคือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีใครมีประสบการณ์มาก่อน และปัญหาสำคัญคือประเทศส่วนใหญ่มักใช้กฏระเบียบแบบเก่ามาครอบ ทำให้เทคโนโลยีไม่พัฒนาไปอย่างที่ควร หรือเริ่มด้วยการออกกฏว่าอะไรบ้างที่ทำได้ผ่านความรู้เดิมและการคาดเดาในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือเรียกว่า Positive List คืออะไรที่ทำได้บ้าง
ฟังดูดีแต่นี่เป็นการจำกัดการเรียนรู้และเติบโตของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้อย่าง FinTech อย่างมากครับ
รัฐบาลสิงค์โปรเลือกใช้วิธีการทำไปก่อนแล้วค่อยห้าม เพราะตัวเองก็ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ดังนั้นก็ต้องปล่อยให้เอกชนทำไป ให้หน่วยงานต่างๆทำไปโดยมีอิสระเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ตามดูทุกย่างก้าว และเมื่อเห็นว่ามีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น และไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ก็จะค่อยออกกฏว่าสิ่งนี้ห้ามทำ ให้ไปทำสิ่งอื่น
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว ได้เห็นศักยภาพอย่างที่วิธี Positive List ให้ไม่ได้ เพราะถูกจำกัดมาแต่แรกแล้วว่าให้ทำอะไรได้บ้าง นั่นหมายความว่ามีอีกล้านๆอย่างที่ถูกห้ามทำครับ
อนาคตเป็นของคนที่ร่วมมือกัน
ในระดับนโยบายของประเทศนั้นเรามักไม่ค่อยเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เรามักจะเป็นการแยกกันทำงานเป็นส่วนๆ เอาง่ายๆ ข้อมูลทะเบียนรถยนต์หรือใบขับขี่เราระหว่างจราจรกับกรมขนส่งยังไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้เลย ทั้งๆที่ก็ใช้รถเป็นข้อมูลเดียวกัน รายนึงเก็บภาษี อีกรายนึงเก็บค่าปรับ ทั้งที่ถ้ารวมกันได้จะทำให้รัฐได้รายได้เพิ่มอีกมหาศาล และทุกฝ่ายก็ทำงานสะดวกขึ้น
เช่น ถ้าขับรถฝ่าไฟแดงวันนี้ก็ค่อยให้ตามจ่ายอีกทีตอนต่อทะเบียนครั้งหน้า หรือถ้ารถคันนี้ขึ้นทางด่วนก็ไม่ต้องคอยชะลอเพื่อจอดหยิบเงินจ่าย แต่สามารถเอาไปรวมยอดกันตอนสิ้นปีที่ต้องต่อภาษีรถได้เลย
ง่ายๆแค่นี้รวมกันได้มั้ยครับ ไม่ต้องแย่งกันทำงาน
ผู้เขียนเปรียบเทียบปัญหานี้ได้ดีว่าเหมือนบ้านที่มีแต่ห้องรับแขก ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีครัว การทำงานไม่ต่อเนื่องไหลลื่น เพราะแต่ละฝ่ายอยากได้หน้า ทำให้บ้านไม่เป็นบ้านซักทีครับ
และทั้งหมดนี้ก็คือบางช่วงบางตอนจากหนังสือ Futuration เล่มนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องของอนาคตที่เราทุกคนต้องเผชิญ ด้วยภาษาง่ายๆในรูปแบบจดหมายที่พ่อคนนึงเขียนคุยกับลูกตัวเอง ดังนั้นต่อให้คุณไม่ได้จบสูง ไม่ได้ทำงานสายเทคโนโลยีใดๆ คุณก็สามารถอ่านเข้าใจได้อย่างสนุก
ผมนับถือ ดร. สันติธาร เสถียรไทย ตรงที่สามารถถ่ายทอดเรื่องที่ทั้งยากและซับซ้อนมากๆให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆได้ มีการเปรียบเทียบตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวให้เห็น สามารถเปรียบเทียบปัญหาสถาบันการศึกษาให้เหมือนกันธุรกิจเพลงที่เราส่วนใหญ่ล้วนคุ้นเคยดี คนที่สามารถทำแบบนี้ได้ต้องเป็นคนที่เข้าใจจนถึงแก่นจริงๆครับ เพราะถ้ารู้แต่ผิวก็จะเต็มไปด้วยศัพท์แสงเทคนิคมากมายที่ฟังกี่รอบก็ไม่เข้าใจ ผมเชื่อว่าคุณคงคุ้นกับสถานการณ์แบบนี้ดี
สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ ดร. สันติธาร เสถียรไทย เป็นการส่วนตัวครับ ที่ช่วยเขียนบทความดีๆออกมาและรวบรวมเป็นหนังสือเล่มนี้ ผมขอฝากตัวเป็นแฟนคลับติดตามผลงานอีกคนนับแต่วันนี้ไปเลยแล้วกันนะครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 26 ของปี 2019
สรุปหนังสือ Futuration
เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต
ถอดรหัสโลกอนาคตผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
ดร. สันติธาร เสถียรไทย เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
20190426