สรุปอย่างสั้น เมื่อเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะในรูปแบบที่มีตัวตนจริงๆที่จับต้องได้ หรืออาจจะเป็นแค่ระบบที่จับต้องไม่ได้อย่าง AI ก็ตาม กำลังจะเข้ามาปฏิวัติชีวิตเราทุกคนบนโลกที่เกี่ยวข้องกับระบบ “ตลาด” อย่างไม่อาจจะต้านทานได้ การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ครั้งนี้จะรุ่นแรงยิ่งกว่าเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไปอย่างเทียบกันไม่ได้
ลองคิดดูซิว่าตอนที่คอมพิวเตอร์เริ่มกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำนักงาน ก็ทำเอาผู้ใหญ่หลายคนในตอนนั้นต้องปรับตัวเรียนรู้ใหม่มากขนาดไหนกว่าจะลงตัว
หรืออย่างตอนที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกหย่อมหญ้าด้วยพลังของสมาร์ทโฟนราคาถูก ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลบนออนไลน์นั้นเป็นเรื่องง่ายที่คนรุ่นปู่ย่าก็ทำได้ จนขาดไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ
การปฏิวัติหุ่นยนต์นี้ถ้าจะเรียกว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องของ Big Data, Machine Learning และ AI หรือที่เรียกรวมๆได้ว่า “ระบบอัตโนมัติ” ก็ได้ครับ
แล้วเจ้าระบบอัตโนมัตินี่แหละที่จากที่เคยเอามาทดแทนแรงงานแบบทำซ้ำได้ เช่น การผลิตรถยนต์ทุกวันนี้แทบจะไม่ต้องใช้คนงานเท่าสมัยก่อนอย่างเทียบไม่ได้ เพราะสามารถใช้หุ่นยนต์ในการทำงานซ้ำๆที่แน่นอนเหล่านั้นได้รวดเร็วและแทบไม่มีความผิดพลาดเลย แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไปไกลกว่านั้น เพราะเทคโนโลยีจะไม่ได้เข้ามาแย่งงานที่ต้องทำอะไรซ้ำๆแบบเดิมๆไปเหมือนเมื่อวันวาน แต่ยังสามารถเข้ามาแย่งงานที่ “คาดเดา” ได้ออกไปจนหมดได้ด้วย
งานที่คาดเดาได้เอาให้นิยามง่ายๆก็คืองานของชนชั้นที่เรียกว่า White Collar หรือชนชั้นกลางส่วนใหญ่นั่นเองครับ นั่นหมายความว่าอนาคตเทคโนโลยีจะทำให้งานจริงๆเหลือน้อยลง จนอาจจะไม่เหลืออะไรให้เราทำอีกเลยก็ได้ครับ
เช่น อย่างแพทย์ที่ต้องคอยอ่านภาพ X-ray เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ จากเดิมที่ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์หลายสิบปีทำ แต่วันนี้ AI สามารถเข้ามาช่วยในการอ่านภาพที่ว่าแทนหมอได้แล้ว แถมที่สำคัญยังสามารถวินิจฉัยได้แม่นยำกว่าหมอจริงๆทำได้อีกด้วย
ขนาดหมอยังโดน AI แย่งงาน แล้วคนธรรมดาจะไปเหลืออะไรล่ะครับ
หรืองานอย่างการบริการลูกค้าที่เรียกว่า Customer Service โดยเฉพาะ Call Center เองจากเดิมที่ถูกโอนย้ายงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น พนักงาน Call Center ของบริษัทในอเมริกาส่วนใหญ่คือคนอินเดียครับ เพราะต้นทุนในการให้คนอินเดียรับโทรศัพท์ตอบคำถามลูกค้าที่อยู่อเมริกานั้นถูกกว่ากันมาก
แต่ในขณะเดียวกัน วันนี้งานเหล่านี้กำลังจะถูกโอนย้ายกลับประเทศอเมริกาแล้ว แต่ไม่ได้เอามาให้คนอเมริกาทำนะครับ แต่ให้ AI ทำ เพราะวันนี้ AI สามารถฟังและพูดโต้ตอบได้ดีไม่แพ้คนจริงๆ ที่สำคัญคือสามารถตอบได้ทีเป็นพันๆสายโดยไม่ต้องหยุดพัก แถมไม่มีเหวี่ยงใส่ลูกค้าในวันที่อารมณ์ไม่ดีแบบคนจริงๆด้วย
ว่าจะสรุปสั้นๆก่อนเข้าเรื่อง ไหงกลายเป็นยาวได้ก็ไม่รู้ งั้นขอสรุปต่อแบบยาวเลยแล้วกันนะครับ
เริ่มด้วยบทที่หนึ่ง “ลูกคลื่นอัตโนมัติ”
ผลกระทบของเทคโนโลยีอัตโนมัติทุกวันนี้ แม้เราจะเห็นว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ว่าจะ GDP หรือผลกำไรของบริษัทก็ตาม แต่รู้มั้ยครับว่าตัวเลขที่กำไรเพิ่มขึ้นเหล่านั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นตามไปเลย หรือแม้แต่เงินเดือนพนักงานส่วนใหญ่เองก็แทบไม่ได้ขยับขึ้นมานานแล้วด้วยซ้ำ
เพราะทุกครั้งหลักจากประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆต้องหาทางปรับตัวให้อยู่รอดได้ ทางแรกคือการลดต้นทุน และการลดต้นทุนที่ง่ายที่สุดก็คือการเลิกจ้างพนักงาน จากนั้นก็หาเทคโนโลยีใหม่ๆมาเพิ่งประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นว่าบริษัทส่วนใหญ่สามารถหาทางเพิ่มประสิทธิภาพโดยลดพนักงานไปได้พร้อมกัน
ฉะนั้นต่อไปนี้อย่าเชื่อแค่ตัวเลขผลประกอบการหรือกำไร แต่ให้ดูว่าบริษัทนั้นขึ้นเงินเดือนพนักงานบ้างมั้ย หรือแม้แต่มีการจ้างงานเพิ่มบ้างมั้ยดีกว่าครับ
เพราะที่สุดแล้วกำไรส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในมือคนไม่กี่คน ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งกว้างมากขึ้นเรื่อยๆครับ
เพราะเทคโนโลยีอย่าง Robot หรือ AI เองนั้นถูกออกแบบมาให้ชดเชยแรงงานที่ทำงานแบบ “รูทีน” โดยคำว่า “รูทีน” แบบเดิมนั้นอาจจะหมายถึงพนักงานในโรงงานที่ต้องทำอะไรซ้ำๆเดิมๆ อย่างการติดกระจกเข้ากับตัวถังรถ แต่วันนี้มันยังหมายถึงการทำงานเดิมๆที่ต้องใช้ความๆซ้ำๆแล้วก็ได้ อย่างงานผู้ช่วยทนายความ จากเดิมที่ต้องใช้เด็กจบใหม่มากมายในการจัดการกับเอกสารจำนวนมาก แต่วันนี้บริษัททนายความหลายแห่งเริ่มเอาระบบอัตโนมัติมาช่วย ทำให้การจ้างงานเด็กจบใหม่นั้นแทบไม่จำเป็น หรือที่จะจ้างเข้ามาก็ไม่ใช่เพื่อทำงานอ่านเพื่อค้นหาเอกสาร แต่เป็นการสอน AI ให้รู้จักทำงานที่ตัวเองควรจะได้ทำเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น
ลองคิดดูซิว่าครับเมื่อเด็กจบใหม่อยากเป็นทนายความ แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นเพราะตัวเองได้แต่สอน AI ให้ทำหน้าที่แทนตัวเองได้ในอนาคต สุดท้ายแล้วจะเหลืออะไรให้ทำอีกล่ะครับ
เพราะความหมายของงานที่ “คาดเดาได้คือ” พนักงานใหม่เรียนรู้งานของคุณโดยดูจากงานที่คุณเคยทำได้หรือเปล่า? หรือพวกเค้าสามารถพัฒนาทักษะโดยทำเหมือนที่คุณทำซ้ำไปซ้ำมาได้มั้ย? ถ้าได้ ก็มีโอกาสที่ AI หรือ อัลกอริธึมอาจเรียนรู้งานของคุณ แล้วเข้ามาทำงานแทนคุณได้ในบางส่วน จนสามารถแทนคุณได้ทั้งหมดเลยก็ได้
ยิ่งมีข้อมูลให้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆที่เรียกว่า Big Data มันก็จะเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองตามข้อมูลได้ไม่รู้จบ
สุดท้ายคืออะไรที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้ในอนาคต งานนั้นจะแพงมากเพราะไม่คุ้มทุนที่จะพัฒนา AI เข้ามาแทน หาให้เจอนะครับว่าอะไรบ้างที่ AI ทำไม่ได้
ทุกวันนี้มีหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานง่ายๆทั่วไปได้เหมือนมนุษย์ เพราะมีรูปทรงคล้ายมนุษย์ เลยสามารถเอามาตั้งแทนมนุษย์เดิมได้ หุ่นยนต์นั้นชื่อว่า Baxtor โดยเจ้าหุ่นเลียนแบบนี้สามารถทำงานน่าเบื่อๆแทนคนงานเดิมได้ อย่างงานแพ็คสินค้าใส่กล่อง
ลองคิดดูซิว่าเราสามารถฝึกหุ่นตัวเดียวให้ทำงานแบบเราได้เพราะมันสามารถหยิบของได้เหมือนเรา จากนั้นเราก็เอาไฟล์ที่เราฝึกมันเสร็จแล้วไปใส่กับหุ่นอีกร้อยตัวที่เหลือ เราก็จะได้กองทัพช่วยงานมากมาย แล้วคนงานที่เคยแพ็คสินค้าใส่กล่องก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
มีบริษัทของเล่นประกอบชิ้นส่วนที่ชื่อ K’NEX ใช้เจ้าหุ่น Baxtor นี้แพ็คของลงกล่องแล้วพบว่า มันสามารถเอาของลงกล่องให้ชิดสนิทกันได้มากกว่าที่คนเคยทำ จนทำให้ลดกล่องที่บริษัทต้องใช้ได้มากถึง 20-40% ทุกวันนี้ไม่ต้องถามนะครับว่ายังมีคนมาคอยแพ็คสินค้าใส่กล่องก่อนส่งขายอยู่มั้ย
โชคดีที่ยังเหลือกล่องให้คนงานที่เป็นคนจริงๆทำ เพราะยังไม่มีหุ่นเพื่อขนกล่องที่แพ็คแล้วไปใส่รถบรรทุก แล้วขนกล่องนั้นเอาไปวางที่ชั้นขายของตามห้างสรรพสินค้า
หรือร้านฟาสต์ฟู้ดในอนาคตอาจไม่มีพนักงานที่เป็นคนจริงๆเหลือแล้วนะครับ เพราะมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Momentum Machines กำลังสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อผลิตแฮมเบอร์เกอร์ชั้นดี ในขณะที่คนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดอาจโยนเนื้อบดแช่แข็งลงบนเตา แต่เครื่องจักรของเค้าจะปั้นเบอร์เกอร์จากเนื้อบดสดใหม่ แล้วย่างบนเตาตามสั่งโดยไม่ผิดพลาด และเจ้าเครื่องนี้ยังสามารถผลิตเบอร์เกอร์ได้ชั่วโมงละ 360 ชิ้น เรียกได้ว่ายังไงคนก็สู้ไม่ได้ครับ
อย่างโรงงาน Foxconn ที่รับช่วงผลิต iPhone จาก Apple มาช้านานและต้องใช้แรงงานมหาศาลเมื่อก่อนกำหนดวางขาย ตอนนี้มีการใช้หุ่นยนต์มากมายนับล้านแทนคนงานเรือนแสนเหล่านั้นแล้ว จากเดิมที่คนงานเคยบ่นว่าสภาพการทำงานย่ำแย่ ต้องทำงานติดต่อกันหลายช่วงโมงในช่วงเร่งด่วน คราวนี้เลยไม่มีอะไรให้บ่นเพราะไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วครับ
หรือแม้แต่การทำงานในสวนในไร่ที่คิดว่ายังไงก็สงวนไว้ให้คนได้ก็ต้องคิดใหม่ เพราะตอนนี้ที่ประเทศออสเตเรีย จากเดิมที่ต้องานแรงงานชั่วคราวมากมายในฤดูเก็บเกี่ยว ตอนนี้เค้าเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทำแทนให้มากที่สุด ด้วยการออกไปสำรวจตัวอย่างดินรอบโคนต้นไม้แต่ละต้น จากนั้นก็วิเคราะห์ว่าต้นนั้นต้องการน้ำและปุ๋ยเท่าไหร่ ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีได้ถึง 80% เพราะไม่ต้องใช้หว่านๆเท่าๆกันหมดแบบที่คนเคยทำครับ
บทที่ 2 ครั้งนี้จะต่างออกไปไหม?
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี เราจะพบว่าแม้งานเก่าๆจะหายไป แต่ก็จะมีงานใหม่ๆเกิดขึ้นตามมามากมาย แต่การปฏิวัติด้วย AI นั้นต่างออกไปครับ เพราะอย่างที่บอกว่าจากตัวเลขรายได้ต่างๆเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำไรเพิ่มขึ้น ผลิตภาพเพิ่มขึ้น แต่ค่าตอบแทนนั้นเท่าเดิมมานานหลายปีแล้วครับ หรืออาจจะดูเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขเงิน แต่เมื่อหักลบกับอัตราเงินเฟ้อก็แทบไม่ได้ขยับอะไรซักเท่าไหร่ครับ
แทบยังไม่ได้แค่เงินเดือนเท่าไหร่ แต่งานใหม่ๆนั้นกลับได้ค่าจ้างลดลงด้วยเมื่อเทียบกับสมัยก่อน
ลองคิดดูนะครับว่าเด็กจบใหม่สมัยนี้เงินเดือนเท่าไหร่ แล้วลองเอาไปเทียบกับสิบปีที่แล้ว เทียบกับค่าครองชีพดู แล้วจะพบว่าเงินเดือนเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเลย
หรือสรุปได้ว่า เศรษฐกิจฟื้นแต่งานตายครับเพราะเทคโนโลยีอัตโนมัติทั้งหลายครับ
บทที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศ คือปัจจัยพลิกโฉมแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ถ้านึกย้อนกลับไปตอนที่ไฟฟ้าเข้ามาเปลี่ยนชีวิต ต้องบอกว่าไม่มีใครที่ไม่ได้ประโยชน์จากไฟฟ้า ทุกคนมีชีวิตที่ได้ขึ้น เกิดโอกาสใหม่ๆมากขึ้น แต่การปฏิวัติจากเทคโนโลยีสารสนเทศทุกวันนี้ มีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตคนส่วนใหญ่น้อยกว่าไฟฟ้านัก
โอเค เราอาจจะบอกว่ามันทำให้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไง มันทำให้เราสะดวกสบายขึ้นไง
อันนั้นไม่เถียงครับ แต่ที่กำลังจะบอกคือด้วยการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือทำให้ทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัล จนกลายเป็นระบบ Cloud หรืออัพทุกอย่างขึ้นบนเน็ตนั้น ทำให้มันมีความสามารถในการรู้คิดได้
พอมันมีข้อมูลมากพอ มันก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ยังไม่นับว่ามันสามารถเขียนโปรแกรมให้ตัวเองใหม่ได้เพื่อให้เก่งขึ้นอีก โดยไม่รู้จักเหนื่อยหรือหยุดพัก ตราบใดที่ยังมีไฟฟ้าให้มันใช้เสมอ
และยิ่งเศรษฐกิจทุกวันนี้เป็นแบบแบ่งงานกันทำตามความถนัด ก็ยิ่งทำให้ AI เข้ามาแทนที่ได้ง่ายเข้าไปใหญ่
แม้วันนี้และอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์หรือ AI อาจจะยังไม่สามารถเทียบเท่าคนได้ทุกด้าน แต่ทุกวันนี้มันเก่งกว่าเรามากในบางด้านจนเราตามมันไม่ทันแล้ว เช่น มันสามารถขับรถเองได้ดีกว่าเรา หรือแม้แต่เอาเครื่องบินขึ้นและลงจอดได้จากระบบอัตโนมัติ
อย่างที่บอกครับว่าอาจจะอีกนานกว่ามันจะตามเราทันได้ทุกได้ แต่คงไม่นานมากเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้ครับ
บทที่ 4 White Collar ถึงจุดเสี่ยง
งานการเขียนข่าวที่ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่น่าจะมีแต่คนที่ฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะทำได้ดี แต่รู้มั้ยครับว่าข่าวที่เขียนด้วย AI วันนี้มีให้เราอ่านมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว
ซอฟต์แวร์ที่ใช้เขียนข่าวที่ชื่อว่า StatsMonkey นั้นจะเรียนรู้จากข่าวกีฬามากมาย แล้วก็หาความเชื่อมโยงและรูปแบบต่างๆ จนสามารถเขียนข่าวได้เองเหมือนนักข่าวคนที่เป็นมืออาชีพ ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติแบบคน แล้วก็รู้จักโฟกัสที่ช่วงสำคัญของการแข่ง รวมถึงเน้นที่นักกีฬาดังบางคนที่คนส่วนใหญ่สนใจจะอ่านเป็นพิเศษด้วยครับ
ฝึกเขียนกันมาแทบตาย สุดท้ายโดน AI แย่งงาน
ห้าง Target ที่ต่างประเทศเองก็สามารถทำการตลาดไปหากลุ่มเป้าหมายที่กำลังจะเป็นแม่ได้ดีกว่านักการตลาดร้อยเท่าพันเท่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อจนพบรูปแบบสำคัญว่าใครกันที่กำลังตั้งท้อง จากนั้นก็ส่งคูปองเพื่อชิงเค้ามาเป็นลูกค้าประจำก่อนห้างอื่น
เพราะกลุ่มที่กำลังตั้งท้องนั้นมีแนวโน้มจะใช้เงินมากกว่าลูกค้าทั่วไป ตั้งแต่ก่อนคลอดไปยันหลังคลอดเลยครับ
อาชีพนักแปลภาษาเองก็เสี่ยง เพราะแม้ Google Translate วันนี้อาจจะยังแปลได้ไม่เท่ากับมืออาชีพ แต่มันก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจเนื้อหาของภาษาอื่นได้ไม่น้อย จากการที่มันเอาเอกสารและหนังสือที่มีการแปลไว้แล้วมากมายมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาเขียนแปลแกรมว่าอะไรต้องแปลยังไงครับ
หรือในอนาคต Google กำลังจะออกหูฟังที่สามารถแปลภาษาที่ได้ยินได้แบบทันทีทันใด เสมือนมีล่ามมือหนึ่งตามมากับเราด้วยทุกที่ คิดดูแล้วกันว่าอีกหน่อยกำแพงภาษาจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปครับ
หรืองานอย่างนักวิเคราะห์ระดับกลางที่จากเดิมบริษัทต้องจ้างไว้มากๆ เพื่อสรุปเนื้อหาให้ผู้บริหารตัดสินใจอีกทีนึงก็กำลังถูก AI เข้ามาแทนที่เรื่อยๆ จนอีกหน่อยงานวิเคราะห์เอกสารเหล่านี้จะไม่ต้องใช้คนอีกต่อไป และ AI สามารถสรุปและทำเป็นภาพได้สวยงามอีกด้วย
Facebook เองก็ใช้โปรแกรมอัจฉริยะที่ชื่อ Cyborg ที่คอยเฝ้าดูแลเซิฟเวอร์หลายหมื่นตัวในการตรวจจับปัญหาและแก้ไขเองได้อยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ช่างเทคนิคคนเดียวสามารถดูแลคอมพิวเตอร์ได้ถึง 20,000 เครื่อง
ฟังดูน่าทึ่งแต่ก็คิดดูซิว่างานช่างเทคนิคจากเดิมที่อาจจะต้องจ้างหลายร้อยคนก็หายไป
สิ่งสำคัญที่สุดคือ อัลกอริธึม เหล่านั้นสามารถพัฒนาตัวเองได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
จากทฤษฎีของดาร์วินที่พูดถึงการคัดเลือกตามธรรมชาติ สายพันธุ์ไหนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดขยายเผ่าพันธุ์จนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าต่อปเรื่อยๆ
อัลกอริธึมของ AI เหล่านี้ก็เหมือนกัน มันสามารถพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆจากข้อมูลที่ป้อนเข้ามา จนทำให้ตอนนี้นักวิทยาการคอมพิวเตอร์หและศาสตราจารย์ที่ปรึกษาจากสแตนฟอร์ดนิยามให้ว่า “automated invention machine” หรือ “เครื่องจักรประดิษฐ์คิดค้นอัตโนมัติ” โดยเค้าเริ่มที่จะเรียนรุ้จากวิธีคิดของเครื่องจักรเหล่านี้แทนที่จะสอนมันแล้ว
บทที่ 5 เปลี่ยนโฉมการศึกษาขั้นสูง
การเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาลัยอาจไม่เพียงพอที่จะใช้ทำงานได้อีกต่อไป ทำให้ทุกวันนี้เราต้องเรียนรุ้ไม่หยุดยั้ง เพราะเทคโนโลยีต่างๆเปลี่ยนไปไวมาก จนเกิดสถาบันออนไลน์มากมาย แม้แต่มหาวิทยาลัยดังๆระดับโลกก็ยังลงมาเปิดคอร์สเรียนออนไลน์กับเค้าด้วย
แต่ก็มีปัญหาเรื่องการโกงเรียนบนออนไลน์ตามมา เช่น เราอาจลงทะเบียนเป็นชื่อเรา แต่เราอาจให้ใครก็ได้เข้ามาเรียนหรือทำข้อสอบแทนเรา
จนทำให้เกิดอัลกอริธึมที่จะเข้ามาตรวจสอบใบหน้าเราตลอดเวลาระหว่างเรียนผ่านกล้อง webcam ที่ติดบนคอมพิวเตอร์เราทุกคน ทำให้การโกงเรียนออนไลน์ก็จะยากขึ้นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้
บทที่ 6 ความท้าทายของบริการสุขภาพ
จากเดิมความรู้ของหมอแต่ละคนแยกจากกัน ใครประสบการณ์มากก็เก่งมาก แต่อีกหน่อยความรู้ทั้งหมดของหมอจะถูกเก็บไว้ที่ศูนย์กลาง หรือ AI ที่จะกลายมาเป็นผู้ช่วยหมอนั่นเอง
อีกหน่อยเราอาจจะแค่ไปหาใครคนนึงที่ทำหน้าที่สอบถามอาการเราตามที่ฝึกฝนมา แต่ไม่ต้องเป็นหมอ แล้วจากนั้นเค้าก็จะใส่ข้อมูลอาการของเราเข้าไปในระบบ แล้วระบบก็จะให้คำวินิจฉัยแบบหมอมาให้ ทำให้ประหยัดเวลาของหมอในการรักษาเล็กๆน้อยๆที่กินเวลาถึง 50% ของการทำงาน ให้ได้ไปโฟกัสกับการรักษาใหญ่ๆหรือยากๆแทน
ห้องยาก็ไม่จำเป็นต้องใช้เภสัขหรือคนมาจัดยาให้เรารอนานอีกต่อไปแล้ว
แผนกจ่ายยาที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก ใช้ระบบอัตโนมัติจัดการกับยาหลายพันชนิด โดยที่เภสัชไม่ต้องแตะขวดยาเลยแม้แต่ขวดเดียว
เจ้าระบบอัตโนมัติที่เป็นแขนกลนั้นจะหยิบยาออกมาแล้วเทใส่ซองให้เรา จากนั้นก็ติดป้ายหน้าซองพิมพ์ชื่อเราพร้อม และสามารถเตรียมยาได้เป็นหมื่นโดสทุกๆวันโดยไม่รู้จักเหนื่อยหรือขอพักเข้าห้องน้ำเลยซักนิด
บทที่ 7 เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
พูดถึงเรื่องการพิมพ์สามมิติ และรถที่วิ่งเองได้
การพิมพ์สามมิติที่จากเดิมเชื่อว่าเราจะพิมพ์สิ่งของต่างๆเองจากที่บ้านได้ กลับไม่ใช่ที่หวือหวามากมายนัก แต่สิ่งที่การพิมพ์สามมิติจะทำให้หวืหวาคือการสามารถพิมพ์อาหารต่างๆที่อยากกินจากที่บ้านได้
อีกหน่อยเราอาจจะแค่จ่ายค่าข้อมูลสูตรอาหารดิจิทัล แล้วก็รอเครื่องพิมพ์ที่บ้านพิมพ์มันออกมาให้มีหน้าตาเหมือนในรูปและรสชาติอร่อยล้ำทุกมื้อเลยก็ได้ครับ
เท่านั้นยังไม่พอ แต่การพิมพ์สามมิติยังจะพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถพิมพ์บ้านออกมาได้ จะทำให้การสร้างบ้านซักหลังนั้นถูกลงมากเพราะค่าแรงที่หายไป แต่นั่นก็หมายความว่าคนงานที่เคยสร้างบ้านก็จะมีงานให้ทำน้อยลงไปอีกครับ
ส่วนรถยนต์อัตโนมัติก็ไม่ต้องอธิบายมาก เอาง่ายๆในเมื่อมันพาตัวเองไปไหนมาไหนเองได้แล้ว แล้วคนที่ต้องทำอาชีพขับรถทั้งหลายจะมีไปทำไม คนขับแท็กซี่เอย หรือคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าเอย
นี่ยังไม่นับรวมไปถึงผลกระทบในระดับอุตสาหกรรมอีกนะว่า ในเมื่อมันวิ่งเองได้เราจะอยากมีรถไปทำไม เพราะอีกหน่อยเราจะสามารถกดเรียกรถผ่านแอพให้มารับตอนที่เราต้องการ และมันก็วิ่งไปให้บริการคนอื่นต่อไป ถ้าไม่เชื่อลองเสริชว่า nuTonomy ดูครับ เรื่องนี้กำลังทดลองที่สิงค์โปรมาหลายปีแล้ว
บทที่ 8 ผู้บริโภค ขีดจำกัดการเติบโต และวิกฤต?
สรุปง่ายๆคือเมื่อเทคโนโลยีอัตโนมัติทั้งหลายเข้ามาแทนที่คนทำงานมากมาย แล้วคนมากมายที่ไม่มีงานทำจะเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
งานที่ต้องใช้ความรู้ความจำแบบเดิมๆถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีได้หมด ตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ รถแท็กซี่ดำนั้นคนขับต้องผ่านการทดสอบความรู้ว่ามีความรู้เรื่องถนนหนทางเป็นอย่างดี ถึงจะสามารถออกมาวิ่งรับผู้โดยสารตามท้องถนนได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอที่ศูนย์ให้มีคนเรียกถึงจะออกมารับได้
แต่วันนี้ความสามารถนั้นถูกแทนที่ด้วย GPS หรือ Google Map โดยสิ้นเชิงครับ
เมื่อไม่มีงานให้คนทำ แล้วคนจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ไม่แน่ว่านั่นอาจจะเป็นจุดจบของเทคโนโลยีก็ได้ครับ
บทที่ 9 ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ และซิงกูลาริตี
ว่าด้วยถ้าวันนึง AI มันฉลาดมากจนอาจฉลาดพอที่จะรู้ว่าต้องรับใช้มนุษย์ไปทำไม อาจจะเกิดได้สองเหตุการณ์แบบหนังสองเรื่อง คือหนึ่ง Matrix ที่มนุษย์เป็นทาสหุ่นยนต์ หรือสอง HER มันฉลาดพอจนบรรลุและพาตัวเองหายไป หรือลบตัวเองไปก็ได้
ไม่ว่าจะแง่มุมไหนก็คงไม่ดีสำหรับเราหรอกครับ
บทที่ 10 สู่กระบวนทัศน์เศรษฐกิจใหม่
บทนี้ว่าด้วยเมื่อวันนึงเทคโนโลยีมันล้ำมากจนสามารถทำอะไรๆเองได้ และคนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนั้นก็จะเป็นแค่กลุ่มคน 1% ที่กอบโกยผลประโยชน์ทั้งหมดไป จนคนอีก 99% บนโลกไม่มีงานไม่มีเงิน จนผู้เขียนเสนอทางออกว่า บางทีการใช้นโยบายแบบแจกเงินให้ทุกคนอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้แต่ละคนสามารถใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ โดยไม่ต้องติดอยู่กับการดิ้นรนเพื่อปัจจัยพื้นฐานของชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป
จะว่าไปก็คล้ายๆ Utopia นะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนั้นมั้ย เพราะแนวคิดนี้จะต้องปฏิวัติแนวคิดทางการเมืองทุกอย่างที่เคยเชื่อและเป็นมาอย่างมาก ถ้าไม่นับว่าหุ่นยนต์จะปฏิวัติเราก่อนมั้ยด้วยนะ
ผู้เขียนบอกว่าบรรดานักการเมืองหรือคนรวยมักจะออกมาต่อต้านเวลาจะขึ้นภาษีคนรวยเหล่านั้น ว่าจะเป็นการทำลายการเกิดธุรกิจใหม่ๆ ทำให้คนไม่อยากก่อร้างสร้างตัวให้เป็นคนรวยเพื่อมาจ่ายภาษีเยอะๆ
แต่รู้มั้ยครับว่า Apple และ Microsoft ก็ก่อตั้งขึ้นมาในยุค 1970 ยุคที่ภาษีสหรัฐมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 70% ผมเลยคิดว่าการขึ้นภาษีคนรวยไม่ได้อยากให้คนที่ยังไม่รวยอยากดิ้นรนให้ตัวเองทำงานหนักสร้างตัวเป็นคนรวยหรอก แต่เค้าไม่คิดว่าตัวเองจะรวยได้มากขนาดนั้นต่างหาก มีแต่คนที่รวยอยู่แล้วเท่านั้นแหละที่กลัวว่าตัวเองจะรวยน้อยลงนิดหน่อยเท่านั้นเอง
และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปหนังสือ Rise of The Robots ที่สนุกมากและอ่านง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ อาจเพราะช่วงนี้ผมกำลังอินกับหนังสือแนวนี้มากอยู่ หลังจากอ่าน Homosapiens แล้วก็ต่อด้วย ชีวิตศตวรรษ แล้วก็ต่อด้วย รู้ทันอนาคตที่(อาจจะ)ไม่มีคุณ แล้วก็มา ทางรอดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ จนมาถึงเล่มนี้ ทำให้ผมได้เห็นภาพกว้างของอนาคตมากขึ้น และก็เริ่มเห็นภาพลางๆที่น่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ผมคงไม่ได้อ่านเพื่อจะไปปฏิวัติอะไรกับเค้าหรอกครับ ผมแค่อ่านเพราะผมอยากรู้ให้ทันโลกเราเท่านั้นเอง
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 7 ของปี 2019
Rise of The Robots
หุ่นยนต์ผงาด เทคโนโลยี และภัยแห่งอนาคตที่ไร้งาน
Martin Ford เขียน
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แปล
สำนักพิมพ์ SALT
20190206