สรุปหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต 12 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลก เขียนโดย Kevin Kelly สำนักพิมพ์ Nation Books

The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต

สรุปหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต 12 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลก เขียนโดย Kevin Kelly เล่มนี้เล่าภาพรวมของเทคโนโลยีรอบตัวที่จะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างคาดไม่ถึง หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่เรากลับไม่เคยคิดถึงแง่มุมเดียวกับที่ Kevin Kelly มาก่อน หรืออาจจะคิดไปไม่ถึงอย่างที่ผู้เขียนจินตนาการลึกลงไปว่าเทคโนโลยีหลายสิ่งในมือจะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไรในศตวรรษที่ 21 ครับ

ดังนั้นถ้าใครอยากรู้ว่าอนาคตในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร อยากรู้ว่าเราจะมีวิถีชีวิตแบบไหนจากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ ผมแนะนำหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต 12 พลังนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชิวตคนทั้งโลกเล่มนี้ครับ

ซึ่งพื้นฐานของ 12 นวัตกรรมทั้งหมดเป็นการต่อยอดมาจากอินเทอร์เน็ตครับ เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้หลายสิ่งกลายเป็นดิจิทัล กลายเป็นตัวเลข 0 กับ 1 กลายเป็นสิ่งที่สามารถทำซ้ำได้ไม่จำกัดและต้นทุนไม่โตตามเหมือนสินค้าหรือบริการในยุคก่อน

ลองคิดถึงหนังสือ เพลง หรือ หนังภาพยนต์ก็ได้ครับ วันนี้คนล้านคนสามารถฟังเพลงเดียวกันได้พร้อมกันโดยไม่ต้องมีเทป หรือแผ่น CD ของใครของมัน แค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็เท่านั้น

ว่าแล้วขอพาไปทำความรู้จักทั้ง 12 นวัตกรรมที่ว่า ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเราทุกคนบนโลกนี้ไปตลอดการแบบไม่มีวันจะกลับมาเหมือนเดิมครับ

1. เปลี่ยนแปลง (Becoming)

ไม่มีใครคิดว่าคนส่วนใหญ่บนโลกในวันนี้ยอมที่จะทำอะไรฟรีๆ ให้คนอื่นมากมาย เพราะการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลให้โซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มต่างๆ เติบโตอย่างมากจากการที่ทุกคนมาทุ่มเทเวลาผลิตคอนเทนต์ฟรีมากมายแบบไร้ข้อจำกัด

ไม่มีใครคิดว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงจากการได้รับเงิน ค่าแรง หรือค่าจ้าง แล้วจะค่อยลงแรงทำอะไรสักอย่างเพื่อแลกเปลี่ยน จะกลายเป็นยอมทำให้ฟรีๆ มากมายเพื่อที่จะได้รับโอกาสในการทำเงินตามมา (น่าจะคุ้นกับคำว่า Influencer ใช่มั้ยครับ)

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเว็บไซต์อย่าง Facebook หรือ YouTube หรือ Google หรืออะไรก็ตามที่ยอมให้เราเข้าไปใช้งานฟรีๆ จะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในแบบที่บริษัทผลิตของจริงๆ มาขายยังไม่สามารถไล่ตามได้ทัน

และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เกิดจากโลกอินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์ หรือถ้าให้เฉพาะเจาะจงขึ้นก็คือโลกบนโซเชียลมีเดีย

สมัยก่อนยุคโซเชียลมีเดียตอนที่เวลาจะพูดอะไรต้องผ่านเว็บไซต์ ก็ยังไม่มีคนมากมายทุ่มเทใช้เวลาในการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์มากมายลงไปบนอินเทอร์เน็ตเท่าทุกวันนี้ แต่มาวันนี้โซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้การทุ่มเทสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะรูปภาพหรือวิดีโอกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็อยากทำ เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้รับการยอมรับบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

และอินเทอร์เน็ตในวันนี้ก็ไม่ใช่โลกลึกลับแบบคุณจะปลอมตัวเป็นใครก็ได้อีกต่อไป เพราะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ในการสร้างความน่าเชื่อถือเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าคุณไม่แสดงตัวตนว่าคุณเป็นใคร การพยายามทุ่มเททำคอนเทนต์ต่างๆ ลงไปก็อาจจะไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีใดๆ กลับมา

และก็รวมไปถึงเว็บไซต์ประเภท Marketplace ที่เกิดขึ้นทำให้คนสามารถค้นหาของที่หาแสนจะยากในพื้นที่แถวบ้านได้ง่ายๆ ซึ่งบางทีก็สามารถทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกกันสามารถทำการค้าขายได้แบบที่ก่อนหน้านี้ 20 ปี คงไม่มีใครคาดคิดได้ว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงโลกไปได้มากขนาดนี้นั่นเองครับ

และการเปลี่ยนแปลงหรือ Becoming ครั้งนี้ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตเราเท่านั้น เพราะในตอนนี้เราไม่สามารถจิตนาการได้แล้วว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะยังใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้มากน้อยแค่ไหนครับ

2. สร้างอัจฉริยะ (Cognifying)

เมื่อ AI กลายเป็นสิ่งใกล้ตัว หลายคนคงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วรอบตัวเราล้วนเต็มไปด้วย AI ที่คอยทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เริ่มจาก AI ในกล้องมือถือที่ทำให้การถ่ายภาพในที่มืดเป็นเรื่องง่ายในระดับมืออาชีพ หรือทำให้การโฟกัสที่ใบหน้าเพื่อนทุกคนในรูปแบบให้คมชัดเท่ากันทุกจุดก็เคยเป็นอะไรที่ยากมาก แต่พอได้ AI เข้ามาช่วยอะไรๆ ก็ดูง่ายจนเหมือนว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติไปหมดแล้ว

ยังไม่นับ AI ในระบบแป้นพิมพ์มือถือที่มันจะเรียนรู้พฤติกรรมการพิมพ์ของเราว่าเราชอบพิมพ์คำไหนต่อจากคำไหน หรือถ้าเราไม่เคยพิมพ์คำนั้นมาก่อนมันก็จะไปเรียนรู้จากพฤติกรรมของคนอื่นที่มีลักษณะคล้ายเรา เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเราน่าจะพิมพ์คำว่าอะไร เห็นมั้ยครับว่าเราอยู่ในยุค AI ในแบบที่เราไม่รู้สึกตัวเลยจริงๆ

ในธุรกิจโรงพยาบาลก็มีการเอา AI มาช่วยแพทย์ให้วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ช่วยในการอ่านเคสมากมายและวิเคราะห์ว่าอาการของผู้ป่วยที่มารักษาเหมือนกับเคสไหนบ้างจากแฟ้มเป็นแสน เป็นล้านเคส

หรือช่วยในการแต่งเพลงก็ตาม เพราะอย่างเว็บ Jookdesk ก็เป็นเว็บที่ให้เราเข้าไปสร้างเพลงที่เราต้องการได้ง่ายๆ แค่เลือกว่าอยากได้ดนตรีโทนไหน ความเร็วเท่าไหร่ ท่อนฮุคอยู่วินาทีที่เท่าไหร่ ง่ายๆ แค่นี้ AI ก็จะแต่งเพลงมาให้เราเลือกจนกว่าจะพอใจได้อย่างไม่รู้จบ และถ้าอยากได้เพลงนั้นไปใช้งานโดยไม่มีลายน้ำก็เสียเงินแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง

และนั่นก็หมายความว่านวัตกรรม AI นี้จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชิวิตการทำงานของเราทุกคนไปมหาศาล อีกหน่อยเราต้องสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้ แต่ไม่ใช่การที่เรานั่งทำงานกับ AI แบบเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งนะครับ แต่เป็นการใช้ AI เป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการทำงาน ก็คล้ายๆ กับที่เราทุกคนต้องสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่อง ส่งอีเมลได้เป็น เรียกว่าการทำงานร่วมกับ AI จะกลายเป็นพื้นฐานที่คนทำงานในศตวรรษที่ 21 ทุกคนต้องสามารถทำได้ถ้าอยากมีงานทำนั่นเอง

เพราะมีการทดสอบมาหลายครั้งแล้วว่ามนุษย์ไม่สามารถสู้ AI ได้ แต่ถ้ามนุษย์กับ AI ทำงานร่วมกันก็ไม่มี AI ใดที่สามารถเอาชนะการทำงานประสานแบบนี้ได้เลย

อ่านถึงตรงนี้หลายคนที่เคยกังวลว่า AI จะเข้ามาแย่งงานเราไปหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าใช่ครับ ถ้าคุณยังคงเป็นหนึ่งคนที่ทำงานแบบเดิมนั่นหมายความว่าในที่สุดการเอา AI เข้ามาแทนที่คุณก็จะคุ้มต้นทุนกว่าในทางเศรษฐกิจ แต่เช่นเดียวกันเมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตเราอยู่ด้วย AI ก็ย่อมจะก่อให้เกิดอาชีพงานใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน

ใครจะคิดล่ะครับว่าวันนี้อาชีพ Content Creator จะสามารถทำเงินได้มากมายมหาศาล อาชีพรีวิวสินค้าจะทำให้หลายคนโด่งดังจนรวยมีบ้านมีรถเป็นล้านๆ ได้สบาย

เช่นเดียวกันกับ AI เมื่อเข้ามาก็จะทำให้งานเก่าๆ หายไป แต่ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ตามมาในที่สุดครับ

สุดท้ายแล้วถ้าใครไม่อยากถูกหุ่นยนต์แย่งงานทำ ก็อย่ามัวแต่ทำงานเสมือนเป็นหุ่นยนต์ไปวันๆ เพราะไม่อย่างนั้นคนเป็นนายจ้างก็จะเลือกเอาหุ่นยนต์มาทำงานแทนคุณนั่นเอง

3. ส่งกระแส (Flowing)

เมื่อทุกสิ่งล้วนกลายเป็น Data นั่นหมายความว่าหลายสิ่งที่เคยจับต้องได้ก็ไร้ความจำเป็นลงไปมากมาย หนังสือเป็นเล่มเหลือเป็นไฟล์ เพลงที่เคยเป็นแผ่นเหลือเป็นรหัสบิท Streaming เท่านั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เงิน ก็ได้ครับ

เงินเองเดิมทีต้องมีติดตัวไว้ถึงจะใช้ชีวิตได้ จะเป็นธนบัตรหรือเหรียญก็แล้วแต่ แต่มาวันนี้คนจำนวนมากหันมาใช้การจ่ายเงินด้วยมือถือเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนตัวผมเองมักไม่ค่อยพกเงินสดติดตัวแล้วด้วยซ้ำ ก็เมื่อการสแกนจ่ายเป็นเรื่องง่ายแล้วเราจะพกเงินสดทำไมให้ยุ่งยาก

เมื่อทุกอย่างกลายเป็น Data ที่ถูกส่งผ่านกระแสอินเทอร์เน็ตขึ้นไปบน Cloud เมื่อทุกสิ่งสามารถทำซ้ำและลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก จะเหลือก็แต่สิ่งเดียวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ซึ่งนั่นก็คือความไว้ใจอย่างไรล่ะครับ

ความไว้ใจจะกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากในยุคที่ทุกสิ่งไม่มีตัวตน เมื่อใดๆ ก็ล้วนหาได้ง่ายจนมีตัวเลือกมากมายก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือแล้วเราควรจะเลือกซื้อจากใคร หรือเราควรจะเลือกเชื่อใคร อ่านใคร ติดตามใครถึงจะดีล่ะ

และความไว้ใจนั้นเองก็จะกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจที่ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการก็ตาม ในเมื่อของแบบเดียวกันหาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่การเลือกซื้อกับคนที่เราไว้ใจกลายเป็นอะไรที่เรายอมจ่ายให้มากกว่า

ซึ่งในหัวข้อนี้ก็มี 8 หัวข้อย่อยที่บอกให้รู้ว่าท่ามกลางของฟรีล้นตลาดแล้วเราจะทำอย่างไรให้ต่างจนโดดเด่น เริ่มที่ความฉับไว ไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แล้วค่อยวางตลาด เพราะคนจำนวนไม่น้อยอยากจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สัมผัส Beta version นั่นเองครับ

และก็ตามมาด้วยการทำให้มัน Personalization ทำให้สินค้าหรือบริการนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเขาคนเดียวเท่านั้น เพราะยิ่งรู้ใจลูกค้าก็ยิ่งทำให้ลูกค้าติดพันคุณ แล้วทีนี้ใครอยากจะเปลี่ยนใจไปเรียนรู้ใหม่จากไหน เรียกได้ว่ายอมจ่ายแพงอีกนิดเพื่อความสะดวกสบายที่คุ้นเคยอย่างไรก็ดีกว่านั่นเอง

เอาเป็นว่ายังมีรายละเอียดอีกมากมาย ที่ขอไม่เล่าต่อแต่อยากให้คุณได้ลองหาอ่านเองครับ

และความไหลลื่นของ​ Data ทั้งหมดบน Cloud Economy ก็จะกลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนชีวิตเราไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อ Data อยู่เดียวๆ อาจไม่มีค่า แต่เมื่อเอา Data เดี่ยวๆ มากมายมาเชื่อมโยงถึงกันด้วยลิงก์ต่างๆ ก็ทำให้เกิดคุณค่ามหาศาลจากการที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายนั่นเอง

4. แสดงผล (Screening)

ใครจะคิดล่ะครับว่าหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปได้ขนาดนี้ เมื่อสัก 10-15 ปีก่อนที่เราจะติดโทรศัพท์มือถือกันจนไม่ยอมปล่อยออกจากมือได้แบบทุกวันนี้ ถ้าเราบอกใครสักคนว่าอีก 15 ปีข้างหน้าคนทั่วโลกจะติดหน้าจอเล็กๆ บนมือถืออย่างงอมแงมจนไม่ยอมเงยหน้ามองคนตรงหน้า คงจะถูกหาว่าบ้าได้ไม่ยากเลยจริงมั้ยครับ

แต่ด้วยการเชื่อมต่อไร้สายและการพัฒนาของอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้จอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงหน้าได้รับความสนใจยิ่งกว้าจอทีวีใหญ่โตมากมาย

เป็นมั้ยครับอยู่บ้านเปิดทีวีไว้แต่ก็ไม่วายดูแต่หน้าจอมือถือ จนไม่แน่ใจว่าตกลงเราจะดูอะไรกันแน่

หรือแม้แต่เรื่องของการอ่านเช่นกัน ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าใครจะมาบ้าอ่านตัวหนังสือบนหน้าจอเล็กๆ ได้ทั้งวัน ปวดตาแย่ ลำบากตายชัก แต่ดูวันนี้ซิครับเรากลับอ่านข่าวสารหรือข้อความบนหน้าจอยิ่งกว่าที่อ่านได้จากแผ่นกระดาษแผ่นใหญ่สบายตาเป็นไหนๆ

ดังนั้นถ้าเราจะคาดการณ์อนาคต เราต้องไม่ยึดติดกับบริบทปัจจุบัน แต่ต้องลองคิดถึงบริบทใหม่ๆ ว่าถ้าสิ่งนั้นเป็นจริงบริบทรอบตัวเราจะเป็นอย่างไร ถ้าวันพรุ่งนี้มือถือไม่ต้องมีหน้าจออีกต่อไป เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไรถึงจะเป็นการคาดการณ์อนาคตที่ถูกครับ

และหน้าจอเล็กๆ นี้ก็ทำให้เราสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลบนโลกได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะหนังสือเล่มไหน ความรู้ใด หรือการหางานที่ตรงตามความสนใจของเรา เดิมทีต้องไปหาหนังสือหางานไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเล่ม มาวันนี้อยากรู้อะไรก็แค่เข้าเว็บหรือแอปสมัครงานก็สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานที่มีให้เลือกไม่รู้จบนั่นเอง

ลองคิดภาพอีกหน่อยทุกสิ่งรอบตัวจะเต็มไปด้วยหน้าจอ ตั้งแต่ตู้เย็นที่คอยบอกให้รู้ว่าอาหารในตู้เป็นอย่างไร แก้วน้ำที่บอกว่าวันนี้เรากินน้ำไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว หรือในน้ำดื่มมีสารอาหารใดบ้าง หรือรถยนต์ที่เราต้องคอยกดที่หน้าจอไปยังจุดหมายปลายทาง แทนการใช้พวงมาลัยบังคับรถเพื่อขับไปให้ถึงปลายทางเหมือนเดิม

5. เข้าถึง (Accessing)

การทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ กลายเป็นรูปแบบใหม่ของเศรษฐกิจโลกอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าคำพูดข้างบนฟังดูยากไป ลองนึกถึง UBER, GRAB หรือ Airbnb ก็ได้ครับ

UBER เป็นบริษัทเรียกรถที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก แต่แทบจะไม่มีรถของตัวเองเลยสักคัน(หรือไม่มีเลยกันแน่นะ) ส่วน Airbnb ก็กลายเป็นบริษัทที่พักที่ใหญ่ยิ่งกว่าอาณาจักรธุรกิจโรงแรมใดเป็นไหนๆ แต่ก็กลับไม่มีที่พักของตัวเองเลยสักห้อง

ทั้งหมดนี้คือการสร้างธุรกิจจากการทำให้คนสามารถเข้าถึงปลายทางที่ตัวเองต้องการ หรือจะเรียกว่าเป็นการสร้างแพลตฟอร์มก็เป็นได้

UBER ทำให้คนนั่งได้เข้าถึงคนขับ ทำให้คนขับได้เข้าถึงลูกค้าที่ต้องการรถ ส่วน Airbnb ก็ทำให้เจ้าของบ้านที่มีห้องว่างๆ ได้เข้าถึงคนที่ต้องการที่พักชั่วคราวในราคาย่อมเยาว์ มาวันนี้ Airbnb ก็มีห้องพักให้เลือกมากมายหลายแบบตั้งแต่หรูสุดขั้วไปจนถึงถูกสุดขีด

Amazon กลายเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ววันนี้ หรือจะเรียกว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เปิดโอกาสให้นักเขียนมากมายเข้ามาอัพโหลดผลงานได้ไม่รู้จบ ทั้งที่ตัวเองแทบไม่มีนักเขียนใดในสังกัดเลยสักคน

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าความเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สำคัญเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่การเข้าถึงทรัพย์สินและการเข้าถึงข้อมูลทวีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมานั่นเองครับ

เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหนังสือสักเล่ม แต่เราสามารถเข้าถึงหนังสือทุกเล่มผ่าน Kindle ของ Amazon ได้ไม่ยาก เราสามารถมีหนังสือมากมายโดยไม่ต้องรกบ้านหรือซื้อตู้หนังสือเพิ่มได้สบายๆ

และนั่นก็สะท้อนผ่านสภาพเศรษฐกิจโลก ที่มีการผลิตลดลงแต่กลับมี GDP เพิ่มขึ้น

นั่นหมายความว่าเราใช้วัตถุดิบในการผลิตสิ่งต่างๆ ลดลงจากวันก่อน แต่เกิดรายได้ขึ้นมากมายนั่นเอง

เมื่อเราใช้วัตถุดิบลดลงเราก็ทำให้หลายสิ่งเบาขึ้นตามไป รถยนต์เดิมต้องใช้เหล็กกล้าเพื่อความปลอดภัย เราเริ่มใช้ชิปซิลิคอนมาทำให้รถยนต์ปลอดภัยกว่าเดิมด้วยระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเซนเซอร์ทำให้เบรกอัตโนมัติ หรือแม้แต่ระบบการวิ่งด้วยตัวเอง ทำให้รถยนต์ล้วนปลอดภัยได้โดยที่ไม่ต้องใช้วัตดุดิบอย่างเหล็กกล้ามาเสริมความแข็งแกร่ง

ก็เมื่อรถทุกคันล้วนไม่ชนกันด้วยการประมวลผล แล้วเราจะต้องใช้เหล็กไปทำไมให้หนักเปลืองพลังงานในการขับเคลื่อน นั่นหมายความว่าถ้าอีกหน่อยรถทุกคันขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ แบตเตอรี่ในรถยนต์เดิมจะสามารถพารถยนต์ที่เบาขึ้นให้ไปได้ไกลมากขึ้นครับ

แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัยคือ Brandwidth หรือความกว้างและไหลลื่นของสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้รถยนต์คันรอบข้างสามารถแลกเปลี่ยน Data กันได้แบบ Real-time เพียงเท่านี้เราก็แทบจะเอากระดาษมาหุ้มรถยนต์ก็ยังสบายใจได้เลยว่าจะปลอดภัยเพราะไม่ชน

การเข้าถึงสิทธิการใช้งานยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจซอร์ฟแวร์เดิม อย่างโปรแกรมในตระกูล Adobe เองที่เดิมทีค่าลิขสิทธิ์เป็นหมื่นๆ มาวันนี้เหลือจ่ายรายเดือนแค่หลักร้อยก็สามารถใช้งานได้ตลอดแบบไม่มีวันเชย เพราะมันจะคอยอัพเดทตลอดเวลาครับ

อย่างโปรแกรมในตระกูล Microsoft เองก็เช่นกัน วันนี้ก็สามารถสมัครสมาชิกรายเดือนหรือจ่ายรายปีใช้ได้ในราคาที่ถูกมาก ไม่ต้องมาซื้อเวอร์ชั่นใหม่ราคาแพงอีกต่อไป และนั่นก็จะหมายความว่า Everything as a Service นั่นเองครับ

นั่นหมายความว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์อีกหน่อยอาจจะมีแค่หน้าจอ ไม่ต้องมี CPU แรงๆ ไม่ต้องมี Harddisk หน่วยความจำความยุเยอะๆ เพราะเราสามารถ Access เข้าถึงหน่วยประมวลผลและพื้นที่ความจุบน Cloud ได้ตลอดเวลา ลองจินตนาการถึงโทรศัพท์มือถือ iPhone รุ่นหน้าที่เหลือแค่ความจุ 8GB และอาจจะกลับไปน้อยกว่านั้น เพราะในเมื่อเราสามารถอัพโหลดทุกอย่างขึ้นบน Cloud ได้แบบไม่ต้องกลัวความจุจะเต็ม แล้วเราจะต้องมีโทรศัพท์ที่จุได้เยอะๆ ให้เหลืองชิปหน่วยความจำไปทำไมจริงมั้ยครับ

6. แบ่งปัน (Sharing)

ใครจะไปคาดคิดล่ะครับว่าวันนี้โปรแกรมมากมายในโลกที่เราใช้ล้วนฟรีไม่เสียเงิน ครั้งหนึ่งในอดีต Bill Gates ยังเคยบอกว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละที่ทำโปรแกรมฟรีให้คนอื่นใช้ แต่ในวันนี้เมื่อดูจาก Wikipedia เป็นแหล่งความรู้ที่ฟรีทั้งที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุด นั่นแหละครับคือสิ่งที่คนเรามักเดาผิดเมื่อเอาแต่คิดถึงบริบทในปัจจุบัน

วันนี้ Mac OS เองก็เปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดและอัพเกรดฟรีได้แล้วด้วยซ้ำ ขนาด Google Docs ที่มาพร้อมกับโปรแกรมที่พร้อมแทนที่ Microsoft Offlice ก็ยังเปิดให้ใช้ก็ตามใช้ฟรีได้แทบจะไร้ข้อจำกัด

หนังสือเล่มนี้บอกว่าไม่แน่นะครับแนวคิดแบบสังคมนิยมเดิมที่ดูโหดร้าย จะกลายเป็นสังคมนิยมที่สดใสเพื่อทุกคนอย่างแท้จริงด้วยความเป็นดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และนวัตกรรมต่างๆ

เราสามารถเข้าถึงแทบจะทุกสิ่งที่ต้องการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เหลือก็แค่เมื่อไหร่อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลจะต้องจัดหาให้ประชาชนทุกคนเท่านั้นเอง

ขนาดบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่าง GE ยังใช้ประโยชน์จากการ Sharing บน Internet ของผู้คน ด้วยการเปิดแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Quirky ที่ให้คนเข้ามาแชร์ไอเดียระดมสมองดีๆ ให้ GE ไปต่อยอดธุรกิจเป็นสินค้าหรือบริการต่างๆ ซึ่งทำให้ทาง GE ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากแพลตฟอร์ม Quirky มาแล้วกว่า 400 อย่าง เรียกได้ว่าโลกออนไลน์ทำให้เราอยากแชร์อะไรๆ ยิ่งกว่าเดิมครับ

ดังนั้นจะเห็นว่า Internet ทำให้หลายสิ่งกลายเป็น Digital และนั่นก็ Drive ให้เราอยากจะ Sharing สิ่งต่างๆ มากมายแบบฟรีๆ กันถ้วนหน้า เพราะสิ่งที่ได้ตามมาก็คือความน่าเชื่อถือที่จะกลายเป็นเงินหรือโอกาสต่างๆ ในที่สุดครับ

7. คัดกรอง (Filtering)

เมื่อเรามีข้อมูลมากมายมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน คำถามสำคัญจะเปลี่ยนจากเราจะเข้าถึงข้อมูลหรือคำตอบเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่กลายเป็นคำตอบไหนที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และนั่นก็คือช่วงเวลาของนวัตกรรมการคัดกรองเพื่อ Filtering ข้อมูลมหาศาลให้เหลือแค่ที่ตรงกับความต้องการเราสุดๆ เพราะสิ่งหนึ่งที่อย่างไรก็ไม่เพิ่มตามเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้า ก็คือเวลานั่นเองครับ

ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตจะเร็วแค่ไหน มือถือจะล้ำไปสักเท่าไหร่ แต่เราทุกคนล้วนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม แต่แถมเนื้อหาที่ต้องทำกลับมากกว่าเดิมจนเวลาไม่เคยพอด้วยซ้ำ

ลำพังเพื่อนบนเฟซบุ๊กวันนี้ที่น่าหลายน่าจะมีถึงหลักพัน ยังไม่นับเพจต่างๆ ที่เราติดตามแบบไม่เคยลบออกไปเลยอีกกี่ร้อย นั่นหมายความว่าในแต่ละวันจริงๆ แล้วจะมีโพสมากมายที่รอป้อนให้เราเห็นจนเราไม่สามารถเห็นได้หมด

และนั่นก็ทำให้ Facebook พยายามสร้าง Algorithm ที่แสนซับซ้อนออกมาเพื่อเรียกความสนใจจากเวลาอันจำกัดของเราให้มากที่สุด มันจะพยายามเรียนรู้ว่าเราชอบคอนเทนต์แบบไหน หรือโพสจากใคร แล้วมันก็จะพยายามเลือกอันที่ตรงกับใจของเรามาให้มากที่สุดนั่นเองครับ

หรือการค้นหาคำตอบที่ต้องการบน Google ก็ยังผ่านการกรอง Filtering แบบ Personalization ถ้าไม่เชื่อก็ลองค้นหาคำเดียวกันกับเพื่อนหลายๆ คนดูแล้วจะรู้ว่าเราทุกคนจะไม่ได้รับคำตอบเดียวกันจาก Google เสมอไป

เช่น ถ้าผมเป็นนักลงทุนแล้วเสิร์ชคำว่า “เหมืองแร่” ผมจะได้เห็นลิงก์บทความที่เกี่ยวกับธุรกิจเหมืองแร่ว่าอันไหนน่าลงทุน หรืออันไหนไม่น่าลงทุน แต่ถ้าเพื่อนผมอีกคนเห็นสาย NGO นักกิจกรรม ก็จะเห็นลิงก์บทความหน้าแรกในทำนองข่าวเหมืองแร่ที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมหรือชาวบ้าน นี่แหละครับคือยุคของการ Filtering ที่ว่า หรือยุคของการคัดกรองข้อมูลให้ตรงกับความสนใจของเราแบบ Personalization

หรือมีคนคิดขนาดถึงขั้นว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ส่งอีเมลหากันได้ฟรี จะเป็นอย่างไรถ้าเราทำให้การส่งอีเมลหาใครสักคนมีต้นทุน และยิ่งถ้าส่งหาคนสำคัญที่เวลามีค่าเป็นเงินเป็นทองก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น นั่นคงทำให้เราคิดมากขึ้นว่าควรจะส่งหาเขาหรือไม่ และก็จะทำให้การเปิดอีเมลอ่านสามารถทำเงินได้แบบง่ายๆ ในที่สุด

ดังนั้นจะเห็นว่านวัตกรรมการคัดกรองหรือ Filtering จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราอย่างมาก เพราะนวัตกรรมนี้จะทำให้เรามีเวลาไปกับสิ่งที่ใช่มากขึ้น ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะทำอย่างไรให้เนื้อหาที่คุณส่งไปใช่กับผู้รับปลายทางมากที่สุดจนหลุด Filter เข้าไปได้

8. ผสมผสาน (Remixing)

เมื่อข้อมูลมากล้นพ้น และคอนเทนต์ต่างๆ มีมากมาย ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเอาสิ่งต่างๆ มามิกซ์ผสมกันกลายเป็นสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะผ่าน Meme หรือ Gif ใดๆ ก็ตาม หรือแม้แต่กลายเป็นหนังเวอร์ชั่นใหม่แบบ Fan Cut ยอดนิยมบน YouTube ด้วยซ้ำ

เมื่อเทคโนโลยีในมือทำให้เราสามารถตัดแปะสิ่งที่มีให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เอาตัวหนังสือมาวางทับสักหน่อย ใส่เสียง Effect ที่ตัวเองต้องการเข้าไปสักนิด เท่านี้ก็อาจจะกลายเป็นคอนเทนต์ใหม่ไวรัลยอดนิยมก็ได้

และนั่นก็ส่งผลให้นิยามของความเป็นเจ้าของนั้นเปลี่ยนไป เมื่อต้นฉบับเดิมของคุณถูกคนเอาไปดัดแปลงต่อจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมหรือความหมายเก่า แล้วคุณจะยังเป็นเจ้าของสิ่งนั้นหรือไม่ แล้วถ้าผลงานใหม่ที่สร้างผ่านการ Remix ได้รับการยอมรับ แล้วถูกคนเอาไปดัดแปลงและแก้ไขต่อ ผลงานนั้นจะยังเป็นของคุณอยู่หรือเปล่า

ดังนั้นนิยามความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ให้เหมาะกับยุคดิจิทัล หรือดีไม่ดีอาจกลายเป็นว่าเจ้าของผลงานยิ่งอยากให้มีคนเอาไปทำซ้ำให้มากที่สุดก็เป็นได้ครับ

9. สร้างปฏิสัมพันธ์ (Interacting)

คุณเคยเห็นคลิปตลกๆ อันหนึ่งที่เด็กน้อยคนนึงพยายามเอานิ้วยืดขยายภาพบนหนังสือภาพนิทานที่พ่อแม่ยื่นให้ พอเด็กคนนั้นเอานิ้วถูกไปถูกมาสักพักก็ไม่พบว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเหมือนกับที่เคยทำบน iPad เด็กน้อยคนนั้นก็หันไปบอกพ่อแม่ว่า “เสียๆ” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสิ่งนั้นคือหนังสือกระดาษที่ไม่สามารถ Interacting ได้เท่านั้นเอง

เมื่อคนยุคใหม่อย่าง Alpha นั้นเกิดมากับการที่ทุกสิ่งรอบตัวล้วนตอบสนองได้สักทาง ไม่ว่าจะด้วยภาพหรือด้วยเสียง อย่างในต่างประเทศที่เราเห็นเด็กน้อยมากมายสั่งซื้อของเล่นชิ้นใหญ่ผ่าน Alexa หรือ Google Home อุปกรณ์ลำโพงอัจฉริยะที่เราต้องการอะไรก็แค่พูดออกไปให้ลำโพงรู้

อนาคตของการใช้หน้าจออาจจะลดลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้ เมื่อทุกอย่างสามารถสั่งการด้วยเสียงได้แล้วเราจะมีหน้าจอไปทำไมจริงมั้ยครับ

ลองนึกถึงภาพที่เราสามารถสั่งได้ตั้งแต่ตู้เย็นยันทีวี สั่งได้ตั้งแต่แอร์ในบ้านยันเครื่องทำน้ำอุ่น แล้วปุ่มต่างๆ จะมีไปเพื่ออะไร แล้วหน้าจอต่างๆ จะยังจำเป็นอยู่ไหม

หรือการนิยามไปถึงเทคโนโลยีอย่าง VR และ AR ที่เราสามารถ Interacting กับสิ่งรอบตัวได้สบาย หรือแม้แต่การใส่อุปกรณ์เสริมทำให้เราสัมผัสได้ถึงโลกใน VR ได้เสมือนจริงจนไม่น่าเชื่ออีกด้วยครับ

อีกหน่อยเราคงแยกไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรดิจิทัล เมื่อดิจิทัลกลายเป็นจริง หรือโลกจริงกลายเป็นดิจิทัล ไม่แน่ว่าโลก Matrix แบบในหนังที่เคยดู อาจเป็นอะไรที่คนเลือกด้วยตัวเองว่าอยากใช้ชีวิตความจริงแบบนี้ มากกว่าชีวิตจริงที่ไม่สนุกอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ ด้วยซ้ำครับ

10. ติดตาม Tracking

เมื่อเซนเซอร์ต่างๆ ล้วนมีขนาดเล็กลงและถูกมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจทั้งใหญ่และแพง มาวันนี้เรามี Apple Watch ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจเราได้ตลอดเวลาแบบแม่นยำมากๆ ยังไม่นับถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่สามารถวัดได้ว่าคลื่นหัวใจเราเป็นอย่างไร ออกซิเจนในเลือดเราเป็นอย่างไร เราเดินมากพอไหมในแต่ละวัน หรือเราเดินขึ้นบันไดมากน้อยเท่าไหร่

เมื่อทุกสิ่งล้วนถูกวัดและเก็บเป็น Data นั่นหมายความว่าเอกชนต่างๆ จะมีข้อมูลของประชากรในประเทศที่อัพเดทและยิ่งใหญ่กว่าที่รัฐใดในโลกจะทำได้ จากเดิมรัฐต้องคอยไปเก็บข้อมูลว่าจังหวัดนี้มีคนอยู่อาศัยเท่าไหร่ แต่ลองคิดถึง Facebook ดูซิครับว่าแทบจะรู้แบบวันต่อวันเลยว่าเราไปไหนมาบ้างในปีนี้ เดินทางไปเที่ยวมากแค่ไหน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ไหนจังหวัดใดกันแน่

หรือ Google ที่มีข้อมูลสภาพการจราจรการเคลื่อนที่ของรถในถนนสายต่างๆ ที่แม่นยำยิ่งกว่ากระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานองค์กรใดแต่เดิม ถ้ารัฐอยากรู้ว่าควรปรับปรุงถนนสายไหนในกรุงเทพแล้วจะทำให้การจราจรไหลลื่น อาจจะต้องร่วมมือกับ Google เพื่อดูว่าจุดที่ทำให้รถติดอยู่ตรงแยกไหนไฟแดงใดครับ

ดังนั้นรัฐอาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองจากผู้เก็บรวบรวมข้อมูลให้กลายเป็นตัวกลางในการทำให้ข้อมูลเกิดการไหลผ่านได้คล่องตัว เพื่อให้ผู้ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้งานต่อยอดธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลเดิมที่อาจจะเป็นของรัฐแต่วันนี้เป็นของเอกชนได้ง่ายขึ้นครับ

11. ตั้งคำถาม (Question)

เมื่อเราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสาร และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับข่าวปลอมหรือ Fake News มากมาย ดังนั้นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 คือความสามารถในการตั้งคำถาม ว่าคำถามใดจะพาเราไปสู่คำตอบที่ใช่ที่สุด ที่ถูกที่สุด ที่แม่นยำที่สุดครับ

การสื่อสารด้วยความเร็วสูงแบบไร้สายทำให้เราสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลที่ต้องการแบบไม่ติดอยู่กับสถานที่ใดเหมือนวันวาน และนั่นก็ทำให้เราสามารถพบเห็นเรื่องเหลือเชื่อได้มากมายยิ่งว่าในยุคใด ไม่ว่าจะคลิปแปลกๆ คลิปตลกๆ คลิปที่ดูไม่น่าเชื่อ ดังนั้นเมื่อคำตอบกลายเป็นของราคาถูกหรือจนแทบไร้ราคา ส่งผลให้คำถามกลายเป็นสิ่งที่ราคาแพงเพราะช่วยกำจัดเวลาที่จะต้องใช้ไปกับคำตอบถูกๆ ไร้ค่ามากมาย

12. การเริ่มต้น (Begining)

ทั้งหมดที่เล่ามาไม่ใช่จุดสุดท้ายของอารยธรรมมนุษย์ แต่คือจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตแบบใหม่ เมื่ออินเทอร์เน็ตก้าวเข้ามาทำให้หลายสิ่งที่เคยจับต้องได้กลายเป็นดิจิทัลไร้ตัวตน แล้วเราก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI แบบเงียบๆ ที่น้อยคนนักจะรู้ตัวว่าที่มือถือรุ่นใหม่ถ่ายได้สวยก็ด้วย AI ในเลนส์ จาก Data ที่เคยอยู่ติดกับที่ก็ถูกอัพโหลดให้ไหลเวียนอยู่บน Cloud อยากเข้าถึงไฟล์สำคัญจากที่ไหนก็ได้แค่ปลายนิ้ว ผ่านหน้าจอส่วนตัวเล็กๆ แต่เรากลับใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับมันอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเป็นได้ แล้วเราก็เข้าสู่เศรษฐกิจแบบไม่ต้องเป็นเจ้าของแค่ขอเช่าใช้สินทรัพย์บางอย่างสักหน่อย บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากอย่าง UBER หรือ Airbnb ล้วนไม่มีทรัพย์สินใดเป็นของตัวเองนอกจากแพลตฟอร์มเท่านั้นเอง

แล้วเมื่อใครๆ ก็แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองรู้ทำให้อินเทอร์เน็ตนั้นเติบโตอย่างสวยงาม เต็มไปด้วยการแบ่งปันไอเดียดีๆ ต่างๆ ไม่รู้จบ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ส่งผลให้เมื่อข้อมูลมีล้นทะลักจากเวลาอันน้อยนิด ระบบการคัดกรองเฉพาะข้อมูลที่ใช่เพื่อให้เข้ากับเวลาที่จำกัดเท่าเดิมเกิดคุณค่ามากที่สุด แล้วจากสิ่งที่เราชอบก็ถูกเอามาดัดแปลงรีมิกซ์ใหม่จนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม คอนเทนต์ที่ถูกสร้างใหม่ส่วนใหญ่ในวันนี้ล้วนเป็นการเอาสิ่งเดิมที่มีมาต่อยอดออกไปทั้งนั้น

สุดท้ายแล้วมนุษย์ยุคใหม่ Generation Alpha ต่างคุ้นเคยกับการที่ทุกอย่างต้อง Interactive ได้ อะไรที่สั่งการไม่ได้กลายเป็นล้าสมัยหรือถูกมองว่าเสียแล้วใช้งานไม่ได้อย่างที่คนยุคก่อนก็คิดไม่ถึง และคนในยุคนี้ก็จะเต็มไปด้วยเซนเซอร์ราคาถูกขนาดเล็กมากมาย ตั้งแต่ Apple Watch ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจไปจนถึงตรวจเช็คว่าใครในบ้านหกล้มเกิดอุบัติเหตุหรือเปล่า

แล้วทักษะสำคัญที่จะกลายเป็นนวัตกรรมส่วนบุคคลก็คือการตั้งคำถาม เมื่อคำตอบกลายเป็นของถูกไร้ค่าก็ทำให้การตั้งคำถามที่ฉลาดกลายเป็นแพง เพราะช่วยลดเวลามากมายไปกับการอ่านคำตอบที่ไม่ใช่ในที่สุด และทั้งหมดนี้ก็คือการเริ่มต้นวิถีชีวิตใหม่ จากหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต 12 พลังนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลกครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 35 ของปี 2020

สรุปหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต 12 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลก เขียนโดย Kevin Kelly สำนักพิมพ์ Nation Books

สรุปหนังสือ The Inevitable โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต
12 พลังนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลก
Kevin Kelly เขียน
ดร.พิมพ์ใจ สุรินทรเสรี แปล
สำนักพิมพ์ Nation Books

20200906

สนใจอ่านหนังสือแนวอนาคตศาสตร์ต่อ > https://summaread.net/category/technology/

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://bit.ly/32YWrlB

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/