Super Class ไม่ใช่มหาเศรษฐีหมื่นหรือแสนล้าน แต่หมายถึงคนที่มีอำนาจมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนนับล้านได้ ถ้าบางคนที่มีทรัพย์สินหลายหมื่นล้าน แต่ไม่คิดจะทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อคนนับล้านๆบนโลก ก็ไม่นับว่าเป็นซูเปอร์คลาส
แต่ถ้านายพลคนนึงที่มีทรัพย์สินแค่ไม่กี่ล้าน แต่สามารถสั่งกองทัพให้เข่นฆ่าคนได้นับล้านในวันเดียว นั่นหมายความว่าเค้ามีอำนาจมากพอที่ทำให้โลกต้องสนใจ จนเค้าสามารถกลายเป็นหนึ่งใน Super Class ที่ทรงอำนาจได้
หรือยิ่งกว่านั้นคือคนที่มีทั้งทรัพย์สินและอำนาจ ก็ยิ่งเป็น Super Class ขั้นกว่าครับ
งานประชุม World Economic Forum ที่กรุงดาวอสประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็คืองานรวมตัวของเหล่า Super Class ทั่วโลกที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ตกลงผลประโยชน์ ต่อรองเรื่องต่างๆที่ต้องการ เป็นการประชุมที่ไม่ได้จำกัดแค่เหล่ารัฐบาลหรือข้าราชการเท่านั้น แต่เป็นที่ๆใครก็ตามที่มีอิทธิพลต่อโลกก็สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่นั่นก็หมายความว่าบางประเทศในโลกที่ไม่มีใครในประเทศที่มีอิทธิพลพอต่อโลกเลยก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมเช่นกัน
งานนี้มีทั้งนักธุรกิจระดับโลก CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ นายพลของประเทศเผด็จการ ผู้ค้าอาวุธในตลาดมือ นักเขียนชื่อดังที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่านหลายล้านคน หรือแม้แต่ผู้นำทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็ตาม
Bono นักร้องนำวง U2 เองก็ถือเป็น Super Class เพราะแม้จะไม่มีทรัพย์สินมากเท่าคนอื่นๆในงานประชุมนี้ แต่อิทธิพลที่เค้ามีแต่แฟนเพลงหลายร้อยล้านคนทั่วโลกก็สามารถทำให้เค้าส่งผลกระทบต่อคนล้านๆได้ โดยเฉพาะหลายๆโครงการที่เค้าร่วมผลักดันจนเกิดผลดีต่อคนหลายล้านคนทั่วโลกมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือโปรเจค RED ที่เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเอดส์ในทวีปแอฟริกาใต้
ส่วนหนึ่งของสงครามอิรักก็มาจากการกดดันของธุรกิจสงครามและน้ำมัน ถ้าไม่เชื่อลองสังเกตุซิว่า รบกันจริงๆจะได้ซักกี่วัน ที่เหลือก็กลับไปกดดันทางเศรษฐกิจไม่ก็ต้องเจรจาสันติแบบจำยอม เพราะถ้ารบเศรษฐกิจก็ตก แล้วการจะย้ายฐานการผลิตหรือทุนสมัยนี้ก็ไม่ได้ยุ่งยากเท่าสมัยก่อน เงินทุกวันนี้ก็เป็นแค่ digital data ไม่ได้ขนเงินจริงๆเข้ามาลงทุนกันแล้ว
ส่วนคนเก่งๆถ้าเจอภาวะสงครามก็ไม่ต้องคิดมาก แค่ขึ้นเครื่องบิน First Class ไปยังประเทศปลายทางที่พร้อมเปิดรับให้เข้าไปพัฒนาลงทุนมากมาย
โดยเฉพาะเหล่า Super Class ที่มีพาหนะเครื่องบ่งบอกสถานะคือเครื่องบินไอพ่นส่วนตัว Gulfstream G5 ที่สามารถสั่งตกแต่งภายในได้ดังใจ จะใส่อ่างจากกุชชี่ก็ยังได้ เวลาจะบินไปไหนก็สะดวกไม่ต้องรอเวลาเครื่องขึ้นพร้อมใคร แต่สามารถเลือกเวลาบินได้ดังใจตามตารางนัดที่มี
เพราะสิ่งที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของเหล่า Super Class ไม่ใช่เงินทอง เพชร หรือบ่อน้ำมัน แต่เป็น “เวลา” ที่มีเท่ากันวันละ 24 ชั่วโมง แถมจะซื้อเพิ่มก็ไม่ได้ ทำให้สิ่งที่เหล่า Super Class มักบ่นเหมือนกันคือเรื่องที่ว่ามีเวลาเท่าไหร่ก็ไม่พอ ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้ Super Class มีเวลามากขึ้นซักชั่วโมงหรือแม้แต่นาที บอกเลยว่าเท่าไหร่ก็ยอมจ่ายครับ
แต่เหล่า Super Classs ก็ยังหนีเรื่องชนชั้นไม่พ้น เพราะในกลุ่มคนรวยก็ยังมีที่รวยมาก รวยน้อย หรือบางคนอาจนับว่าจนในหมู่คนรวยด้วยซ้ำ
อำนาจของบริษัทหรือ CEO ผู้นำองค์กรในตอนนั้นมีผลต่อทิศทางของโลกมาก เหมือนที่บริษัท Goldman Sachs เคยจับเอาประเทศรอง 4 ประเทศที่ยังไม่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนในยุค 90 อย่าง Brazil, Russia, India และ China มาจับมัดรวมกันเป็นกลุ่มก้อนขายให้นักลงทุนภายใต้ชื่อว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ BRICs ที่โกยกำไรไปได้หลายพันล้าน และทำให้ประเทศเหล่านี้เร่งพัฒนาตามจากเงินลงทุนมากมายในวันนั้น จนวันนี้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกไปแล้ว
แต่ Super Class ก็ไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวร เพราะส่วนใหญ่มักอยู่ในชนชั้นนี้ได้แค่ไม่กี่ปี ก็ต้องเปลี่ยนไปตามตำแหน่งเก้าอี้ที่บริษัทมีให้ แถม Super Class ในวันนี้ก็ไม่ใช่พวกอายุ 60+ เป็นส่วนมากแล้ว แต่กลับเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ๆที่ยังอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น
ประชากรของชาติใดชาติหนึ่งจะเสื่อมความสำคัญลง และประชากรโลกจะก้าวเข้ามาแทนที่ในอนาคต เมื่อโลกก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์มากขึ้น ทรัพยากรที่เคยเป็นของเฉพาะตามพื้นที่ก็ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปตัวเงินเสรีที่จะใช้ที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะเงินที่อยู่ในรูปตัวเลขดิจิทัลที่ไม่ต้องอ้างอิงกับเงินจริงด้วยซ้ำ ทำให้ Data จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญของโลกาภิวัฒน์จริงๆครับ
สุดท้ายนี้ที่เคยมีคำกล่าวกันว่า “โลกมันแคบ” คำนี้เป็นความจริงแต่ไม่ได้หมายความว่าจะจริงกับทุกคน เพราะโลกมันแคบเฉพาะกลุ่มคนข้างบนที่มีจำนวนน้อยนิด ที่มักจะพบปะกันตามงานประชุมสำคัญระดับโลก หรือบังเอิญนั่งใกล้คนรู้จักบนชั้น First Class ประจำครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 28 ของปี 2019
สรุปหนังสือ Super Class
The Global Power Elite and the World They are Making ซูเปอร์คลาส ชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจอิทธิพล กับโลกที่พวกเขาสรรค์สร้าง David Rothkopf เขียน อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล สำนักพิมพ์ Post Books
จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/