สรุปหนังสือ History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นภายใน 1 วัน รงรอง วงศ์โอบอ้อม สำนักพิมพ์ torch

History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

สรุปหนังสือ History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นใน 1 วัน หนังสือเล่มนี้ผมอ่านระหว่างทริปเกียวโตเมื่อสงกรานต์ปี 2024 อ่านเพื่ออยากเข้าใจสถานที่ที่กำลังเดินอยู่ว่ามีเรื่องราวอย่างไรบ้าง และเกียวโตก็ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของญี่ปุ่นมายาวนานนับพันปี ก่อนจะย้ายมาสู่โตเกียวเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เลยขออนุญาตหยิบบางช่วงบางตอนที่รู้สึกสนใจส่วนตัวเป็นพิเศษมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ชื่อของประเทศญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปยังชื่อแรกเริ่มของประเทศญี่ปุ่นนั้นถูกตั้งสมญานามให้จากทางแผ่นดินจีนราชวงศ์ถัง ต้องบอกว่าสมัยนั้นจีนเป็นใหญ่ไม่ว่าใครก็ต้องยอมเชื่อฟัง คำว่าดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยนั้นไม่ได้มาจากคนญี่ปุ่นเรียกตัวเองแบบนั้น แต่มาจากการที่คนจีนนั้นเห็นว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และทิศนี้ก็มีประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ ก็เลยเป็นนิยามของประเทศญี่ปุ่นดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยนับจากนั้นมา

คนจีนในยุคราชวงศ์ถังจึงเรียกประเทศญี่ปุ่นว่า “รื่อ เปิ่น” แปลกว่า “จุดเริ่มต้นของตะวัน” หรือ “จุดเริ่มต้นของวัน” และชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นก็ยอมรับชื่อที่ชาวจีนเรียกประเทศตัวเองว่า “รื่อ เปิ่น” มาใช้เป็นชื่อเรียกตัวเอง แต่การออกเสียงที่ต่างกันไปตามสำเนียงภาษาที่พูด ก็เลยเพี้ยนมาเป็น “นิฮอน Nihon” หรือ “นิปปอน Nippon” ในท้ายที่สุดนั่นเอง

อีกหลักฐานหนึ่งก็คือบันทึกของนักเดินทางชื่อก้องโลกอย่าง มาร์โค โปโล Marco Polo ก็จดบันทึกไว้ว่าชาวจีนที่ตัวเขาพบเจอในเวลานั้นเรียกประเทศญี่ปุ่นว่า “ซีปันกู Cipangu”

กู มาจากคำว่า กั่น ที่หมายถึงประเทศ ส่วนคำว่า “ซีปัน” ก็น่าจะเพี้ยนไปตามสำเนียงของมาร์โค โปโล เอง จนทำให้คำว่าซีปันเป็นที่มาของคำว่า “แจแปน Japan” ที่ชาวตะวันตกเรียกประเทศญี่ปุ่นว่าแบบนั้น และทางภาษาพื้นถิ่นของชาวเซี่ยงไฮ้ในปัจจุบันก็ยังเรียกประเทศญี่ปุ่นในสมัยก่อนว่า “เจปเปิ่น Zappen” ดูแล้วก็มีความคล้ายกับคำว่า เจแปน ในปัจจุบัน

เป็นไงครับกับความน่าสนใจของชื่อประเทศญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์น่ารู้ซ่อนอยู่รอให้เราได้เรียนรู้

คนญี่ปุ่นนิยมดื่มชา เพราะเคยเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ

ความนิยมการดื่มชาอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้ ที่สูงล้ำแซงหน้าคนจีนที่เป็นต้นกำเนิดแห่งชามาจากความเชื่อในสมัยก่อนแล้วว่า ชา คือ ยาอายุวัฒนะ

จากจุดเริ่มต้นของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ชื่อว่า เออิไซ Eisai ที่เดินทางไปอัญเชิญพระพุทธศาสนามายังประเทศญี่ปุ่นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ถ้าเป็นของญี่ปุ่นก็คือสมัยคามากูระ

พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้เอาแค่พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายเซนมา แต่ยังนำเอาใบชาอันล้ำค่ากลับมาด้วย พระภิกษุรูปนั้นเลยหมายมั่นปั้นมือที่จะใช้ใบชาเป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนานิกาย เซน ดังนั้นการเกิดขึ้นของใบชาในประเทศญี่ปุ่น ก็ตรงกับการเกิดขึ้นของพุทธศาสนานิกาย เซน ไปพร้อมกัน

หลังจากนั้นไม่นานคนญี่ปุ่นจึงนิยมดื่มชาในชีวิตประจำวัน จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการดื่มชาไปจนถึงชาเขียว หรือชาประเภทต่างๆ มากในทุกวันนี้

เพราะไม่ยุติธรรมจึงปฏิวัติ

การปฏิวัติในประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งก็มาจากการที่ประชาชนคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ หรือการจงใจปล่อยวางทำเฉยของผู้ปกครอง

ในสมัยโบราณญี่ปุ่นเองก็มีการจัดเก็บภาษีประเภทหาเงินได้มากจ่ายมาก หาเงินได้น้อยจ่ายน้อย พ่อค้าเป็นชนชั้นที่หาเงินได้มากกว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไร่ชาวนาในเวลานั้น ตามกฏหมายญีปุ่นโบราณก็บอกว่าพ่อค้าต้องเสียภาษีมากเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

แต่บรรดาพ่อค้าจำนวนไม่น้อยกลับไม่ต้องเสียภาษีเพราะกฏหมายศักดินา ที่บอกว่าถ้าเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ศักดินาทั้งหลายก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี เพราะถือว่าสร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองทั้งที่ความจริงแค่แต่งงานก็อาจกลายเป็นผู้มีศักดินาแล้ว

หรือบรรดาผู้มีศักดินาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเองนั่นแหละที่หันไปจับการค้าขายจนทำให้เกิดช่องวางทางสังคม จนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในความไม่ยุติธรรม

และนั่นก็เป็นที่มาของการก่อเกิดจลาจลไปจนถึงการปฏิวัติในประเทศญี่ปุ่นหรือที่ใดๆ ในโลก จำไว้นะครับว่าถ้าเมื่อไหร่ออกกฏที่ไม่ยุติธรรม หรือไม่บังคับใช้กฏหมายอย่างยุติธรรม ก็จะก่อให้เกิดการเรียกร้องจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในท้ายที่สุด เพราะนี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้วซ้ำรอยอีกแต่ก็กลับไม่ค่อยยอมเรียนรู้กัน

ฉางอานคือต้นแบบของเมืองหลวงญี่ปุ่นในอดีต

ต้องยอมรับความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนในวันวานมาก เลยทำให้ขนาดชื่อประเทศญี่ปุ่นเองยังรับมาจากจีน ไปจนถึงการออกแบบเมืองหลวงของญี่ปุ่นโบราณเองก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองหลวงของจีน นั่นก็คือเมืองฉางอานครับ

เมืองนาระ ที่เดิมทีคือเมืองหลวงแรกๆ ของประเทศญี่ปุ่นก่อนจะย้ายมาสู่เมืองเกียวโตด้วยซ้ำ ในสมัยนั้นมีชื่อว่า เฮโจเกียว Heijokyo ก็สร้างผังเมืองและปราสาทราชวัลตามแบบเมืองฉางอาน Chang-an ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง

ในยุคนาระเองก็ถือว่าประเทศญีปุ่นเข้าสู่ยุคที่มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองแล้ว เนื่องจากมีความชัดเจนในหลายเรื่อง ตั้งแต่การเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ไปจนถึงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

Credit Photo: https://www.japan-guide.com/e/e4100.html

วัดไดบุตสึ Daibutsu ที่มีพระพุทธรูปใหญ่ยักษ์ก็ถูกสร้างขึ้นมากมายหลายแห่งในเวลานั้น เรียกได้ว่าภาพของประเทศญี่ปุ่นเริ่มชัดตั้งแต่สมัยเมืองนาระ หรือ นารา ที่เราคุ้นปากกัน ก่อนจะย้ายเมืองหลวงมาสู่เกียวโต แล้วก็มายังโตเกียวในปัจจุบันครับ

เพราะยกเลิกการสั่งสมกำลังทหาร เลยก่อให้เกิดชนชั้น “ซามูไร”

ในสมัยโบราณเองการเมืองการปกครองก็คือการแย่งชิงกำลังอำนาจให้อยู่ในมือตัวเองมากที่สุด ในสมัยก่อนกษัตริย์ญี่ปุ่นก็พยายามลดอำนาจของแต่ละตระกูล ด้วยการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารลง อารมณ์บ้านเราก็คือการเลิกทาสนี่แหละครับ

เมื่อราชสำนักออกประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็หวังว่าบรรดาตระกูลต่างๆ ที่เคยสั่งสมกำลังทหารไว้และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงราชสำนักได้คงลดน้อยถอยลงจนหมดไป แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของการสั่งสมกำลังอำนาจแบบใหม่ ก่อให้เกิดชนชั้น ซามูไร หรือนักรบที่ภักดีกับนายไปจนตัวตาย เรียกง่ายๆ ว่าทหารอาชีพที่ภักดีที่สุดในยุคสมัยนั้นนั่นเอง

ซามูไรคือผู้ที่อยากมีอาชีพเป็นนักรบด้วยความสมัครใจ ยิ่งเก่งยิ่งได้ผลตอบแทนงาม ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันการเป็นซามูไรไม่น้อย เพราะเกียรติก็มีเงินทองศักดินาก็ได้ แต่การจะเป็นซามูไรได้ก็ไม่ง่าย เพราะต้องมีกฏระเบียบที่เคร่งครัดมากมาย ส่งผลให้บรรดาตระกูลผู้มีอำนาจต่างๆ พยายามสั่งสมกองกำลังซามูไรของตัวเองแทนการเกณฑ์ทหารที่ถูกยกเลิกไปครับ

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งอาจก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมได้

แยกผู้หญิงทั่วไปกับนางคณิกาด้วยการผูกผ้าโอบิ

Credit Photo: https://www.japan-guide.com/e/e4100.html

การผูกผ้าโอบิที่เรามักคุ้นเคยกันในชุดเต็มยศของผู้หญิงชาวญีปุ่น เพิ่งรู้ว่าปกติแล้วเค้าต้องผูกกันที่ด้านหลัง คนที่จะผูกผ้าโอบิไว้ด้านหน้านั้นถูกยกเว้นให้เฉพาะนางคณิกา หรือหญิงขายบริการในเวลานั้นเท่านั้น

สาเหตุเพราะถอดง่าย ถอดบ่อย เลยต้องทำให้ผูกง่ายตามไปด้วย การจะผูกผ้าโอบิข้างหลังได้ต้องใช้คนช่วย นางคณิกาอาจไม่สะดวกในการมีคนคอยช่วยผูกทุกครั้งเมื่อเสร็จกิจ ก็เลยต้องผูกด้านหน้าด้วยเหตุผลนี้นั่นเอง

Sakizome ซากิโซเมะ ลายผ้าจากการทอทีละเส้น

ลวดลายบนผ้าที่เราเห็นไม่ได้มาจากการย้อมหลังทอเสร็จ ไม่ได้มาจากการแต่งเติมสีสันภายหลัง แต่มาจากการออกแบบอย่างบรรจงตั้งแต่การคิดสรรลายขึ้นมา แล้วก็คำนวนว่าถ้าอยากได้ลายนี้จะต้องย้อมเส้นด้ายแต่ละเส้นอย่างไร

นี่คือการออกแบบที่ต้องใช้จินตนาการอย่างสูงมาก ถ้าย้อมผิดพลาดไปสักเส้นเดียวความสวยของทั้งผืนอาจสูญสิ้นได้ สมกับเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง ขนาดลายผ้ายังไม่เลือกย้อมหลังทอเสร็จหรือปักเอาทีหลัง แต่เลือกที่จะคิดตั้งแต่ต้นว่าจะทอผ้าทั้งผืนออกมาอย่างไรให้ได้ลวดลายแบบนั้น จะต้องย้อมเส้นไหนสีอะไรตรงช่วงไหนบ้าง มันคืองานที่ละเอียดที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินเลย

สรุปหนังสือ History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

สรุปหนังสือ History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นภายใน 1 วัน รงรอง วงศ์โอบอ้อม สำนักพิมพ์ torch

แม้ทริปเกียวโตผมจะลุยอ่านหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นมา 4 เล่มก่อนหน้า แต่ก็ยังพบว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรน่าสนใจให้เรียนรู้และสนุกอยู่ไม่น้อย

ใครกำลังจะไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นผมแนะนำ ให้ลองอ่านก่อนไปแล้วคุณจะเข้าใจประวัติศาสตร์ระหว่างทางมากขึ้น หรือถ้าใครชอบประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วก็อยากแนะนำ แล้วคุณจะเข้าใจที่มาที่ไปของหลายอย่างในวันนี้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 18 ของปี

สรุปหนังสือ History of Japan ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นภายใน 1 วัน
รงรอง วงศ์โอบอ้อม เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ torch

อ่านสรุปหนังสือแนวญี่ปุ่นในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อออนไลน์
https://s.shopee.co.th/8UnBjwsmJU

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/