ไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะมี “สมุด” เป็นเพื่อนได้ แต่เด็กผู้หญิงคนนึงที่ชื่อ แอนน์ แฟร้งค์ เธอมีเพื่อนรักและเพื่อนสนิทเป็นสมุดได้จริงๆ
เพราะเธอและครอบครัวต้องคอยหลบซ่อนจากตำรวจ ทหารเยอรมัน หรือพวกนาซี ที่คอยกวาดล้างชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่เราคุ้นกันดีในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ที่ชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพวกนาซีไปหลายล้านคน
เธอกับครอบครัว รวมถึงอีกหนึ่งครอบครัวชาวยิว และหมอชาวยิวอีกคนหนึ่ง รวมกันเป็น 8 คน ต้องคอยหลบซ่อนอยู่ในอาคารที่ทำงานเก่าของพ่อเธอในเมืองอัมสเตอร์ดัม เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ที่คนทั้ง 8 ต้องเบียดเสียดกันอยู่แต่ในห้องใต้หลังคาแคบๆ และไม่ได้ออกจากตึกแถวเล็กๆ 3 ชั้นครึ่งไปไหนเลย
ทำได้อย่างมากก็แค่ แง้มหน้าต่างนิดๆในวันที่ฟ้ามืด เพื่อรับสายลมและแสงจันทร์ช่วงสั้นๆ
แอนน์ แฟร้งค์ เล่าทุกอย่างให้เพื่อนสนิทที่สุดของเธอในช่วงเวลานั้นฟังทุกอย่าง ด้วยความที่เป็นสมุดเธอก็เลยสนิทใจที่จะเปิดเผยแม้แต่ในเรื่องที่ดูเหมือนน่าอายถ้าจะเล่าให้เพื่อนสนิทที่เป็นคนฟัง ไม่ว่าจะเรื่องที่เธอเกลียดแม่ในตอนต้น เรื่องที่เธออยากจะลองยั่วเพื่อนชาย หรือแม้แต่เรื่องที่เธอด่าเสียเพื่อนบ้านชาวยิวที่หลบอยู่ด้วยกันก็ตาม
แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกันคนที่ต้องคอยหลบซ่อนจากการถูกจับได้จากคนอื่นๆว่าช่างลำบากมากแค่ไหน
อ่านไปอ่านมาก็ทำให้คิดได้อีกแล้วว่า ชีวิตเรานั้นช่างสบายเหลือเกิน แม้แต่กับคนสมัยนี้ที่ว่าลำบาก ยังเทียบไม่ได้กับความไม่สะดวกของแอนน์ แฟร้งค์ หรือชาวยิวที่ต้องหลบๆซ่อนๆในเวลานั้นเลย
บางที่พวกเราก็เคยชินมากเกินไปจนมองข้ามสิ่งดีๆรอบตัวมากมายโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
แม้เธอและครอบครัว และคนอื่นๆที่อยู่ในที่ซ่อนเดียวกับเธอจะต้องจบชีวิตลงหลังจากถูกจับได้โดยทหารเยอรมันนาซีไม่นาน และก็หลังจากนั้นแปบเดียวสงครามก็ยุติลง ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่เวลาแค่ไม่กี่วันก็มีผลกับความเป็นความตายของคนหลายคนในเวลานั้น
ผมคิดว่าโลกต้องขอบคุณแอนน์ แฟร้งค์ อย่างมากที่อุตส่าห์จดบันทึกเรื่องราวในช่วงเวลานั้นอย่างละเอียด ทำให้เราที่อ่านได้เข้าใจถึงความโหดร้ายของสงคราม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงแสงสว่างหรือความหวังแม้ในช่วงเวลาที่ดูมืดมนที่สุด
แอนน์ แฟร้งค์ ถ้าเธอไม่ต้องเสียชีวิตในวันนั้น ในค่ายกักกันของนาซี เธออาจจะได้เป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ตามที่เธอได้ฝัน หรือ อาจไม่มีใครสนใจเรื่องราวของเธอเลยก็ได้ใครจะรู้
เพราะเรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผมก็เลยได้แต่คาดเดาเช่นนี้ หรือบางทีถ้าเธอยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่ดังด้วยการเขียน อย่างน้อยเธอก็ยังจะได้พบกับความสุขและสิ่งดีๆมากมายที่รอเธออยู่
บางครั้งเราก็ต้องรอให้เกิดสิ่งเลวร้าย เราถึงจะมองเห็นคุณงามความดีที่แสนจะธรรมดา
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี 2018
บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์ Anne Frank, The diary of a young girl
Anne Frank เขียน
สังวรณ์ ไกรฤกษ์ แปล
สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ