ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้าถึงซามูไร

สรุปหนังสือญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้าถึงซามูไร จากชื่อเล่มบอกให้รู้ว่าเดิมทีผู้ปกครองญี่ปุ่นในยุคโบราณคือผู้อ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การปกครองของตัวเอง แต่ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือตระกูลกษัตริย์ประเทศนี้ไม่เคยถูกปฏิวัติ ถูกเปลี่ยนเชื้อสายหรือสกุลไปแต่อย่างไร ผิดกับประเทศอื่นๆ มักมีการเปลี่ยนสกุลหรือตระกูลอยู่เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครแย่งชิงอำนาจไปได้ในเวลานั้น

น่าสนใจอีกตรงที่ว่ามีการสร้างตำนานประวัติยืดยาวเพื่อปูความน่าเชื่อถือให้กับตระกูลกษัตริย์ผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่น แถมประเทศอื่นปกติเชื้อสายกษัตริย์จะเป็นแค่สมมติเทพ แต่ของประเทศญี่ปุ่นกลับบอกว่ากษัตริย์นั้นเป็นลูกหลานของเทพเจ้าโดยตรง

ขนาดกษัตริย์จีนยังถูกโค่นล้มหรือเปลี่ยนแปลงได้หากปฏิบัติตัวไม่ดี แต่ของญี่ปุ่นนั้นไม่มีการกล่าวถึงตรงนี้ในคู่มือตำราบรรพชน

นั่นเลยเป็นที่มาของชื่อหนังสือครึ่งแรก ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้า…แล้วตรงที่ว่า “ถึงซามูไร” หมายความว่าอย่างไร

ซามูไรเป็นชนชั้นใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากยุคความวุ่นวายของนักรบ เป็นชนชั้นที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนกฏห้ามผู้ปกครองหัวเมืองหรือไดเมียวต่างๆ เกณฑ์ทหาร เพราะทางราชสำนักต้องการลดทอนอำนาจของผู้มีอำนาจ แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือจุดของการถือกำเนิดชนชั้นซามูไร หรือจะนิยามว่าเป็นทหารรับจ้างที่บรรดาเจ้าผู้ปกครองหัวเมืองต้องจ้างเอาไว้ เพื่อสั่งสมกำลังบารมีระหว่างเมืองต่างๆ

ตอนหลังการปกครองประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับกษัตริย์อีกต่อไป กษัตริย์ถูกลดบทบาทการปกครองทั้งหมดลงให้เหลือแค่ในทางพิธีกรรม การประกอบพิธีต่างๆ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าประเทศจะต้องเดินหน้าไปทางไหน เพราะผู้ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศจริงๆ กลายเป็นชนชั้นนักรบซามูไรที่จะถูกเรียกต่อไปว่า “โชกุน” หรือผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศ จะเรียกว่าเป็นนายกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเวลานั้นก็ว่าได้

โชกุนก็เป็นการสืบต่อตำแหน่งอำนาจทางสายเลือดได้เหมือนกับตำแหน่งกษัตริย์ เพียงแต่สามารถเปลี่ยนตระกูลผู้นำคนที่เป็นโชกุนได้ สามารถแก่งแย่งอำนาจกันได้ ผิดกับกษัตริย์ญี่ปุ่นที่ไม่เคยมีเรื่องแบบนั้น

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวแบบแบ่งตามยุคสมัยต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคแห่งเทพเจ้า ยุคตำนานโจมง ซุยเซและจักรพรรดิยุคต้น วัฒนธรรมยาโยอิ โคฟุงและยามาโตะ ยุคที่เริ่มรวมเนื้อชาติญี่ปุ่น

จากนั้นก็เป็นยุคโบราณ จบสิ้นยุคบุพกาล มาสู่การปฏิรูปไทกะ พันธมิตรถัง(จีน)-ชิลลา(เกาหลี)ขับไล่ญี่ปุ่น แล้วก็มาถึงยุคนาระ ก่อร่างสร้างเมืองเฮโจเกียว ฉางอันทิศตะวันออก ยุคแห่งพุทธศาสนา เริ่มมีอำนาจของสงฆ์ในราชสำนัก สมัยรุ่งเรืองของคัมมุ

มาที่ยุคเฮอัน ยุคแห่งการแย่งชิงอำนาจระหว่างตระกูลต่างๆ ฟุจิวาระ มิชินางะ ไทระ กับสงครามเกนเป แล้วก็มาต่อที่ยุคคะมะคุระ รัฐบาลบากุฟุยุคแรก ยุคแห่งศาสนจักรนักรบ พระนักบวช และคนสามัญที่เริ่มจับอาวุธสู้ ยุคที่มองโกเริ่มรุกราน

ยุคมุโรมะจิ การกำเนิดขึ้นของไดเมียว ผู้ปกครองแต่ละจังหวัดภูมิภาค สงครามโอนิน

ยุคสงครามนานาแคว้น โอดะ โนบุนางะ แล้วก็ยุคอะซึจิ โมโมยามะ ยุคของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ กับ โทกุงาวะ อิเอยาสึ แล้วก็จบท้ายด้วยยุคเอโดะ ยุคแห่งความสงบสุขไร้สงครามที่ยาวนานถึงสองร้อยกว่าปี ก่อนจะเป็นญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน

นี่เป็นแค่สารบัญคำนำของหนังสือเล่มนี้ ที่บอกให้รู้ว่ารวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแบบครบทุกยุคสมัย ทีนี้ขอหยิบบางช่วงบางตอนในหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

คนญี่ปุ่นมีสองสาย

ในทางมานุษยวิทยา ผู้คนในเอเซียตะวันออกแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม Sundadonty ที่มักอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงไต้ กับ Sinodory ที่มักอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักอยู่ในจีน มองโกล เกาหลี และญี่ปุ่น

จากการสำรวจพบว่าในแผ่นดินของประเทศญี่ปุ่นมีคนทั้ง 2 กลุ่มนี้อาศัยอู่ ก็น่าจะอพยพเข้าไปตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ที่น่าแปลกใจคือในพื้นที่ตอนเหนือของญี่ปุ่นกลับมีลักษณะคล้ายชาวไอนุ และเอเซียตะวันออกเฉียงไต้ ส่วนในญี่ปุ่นตอนใต้ กลับมีความคล้ายกับชาวเอเซียตะวันออกทิศเหนือ

ปกติแล้วมันควรจะอยู่ในโซนที่ใกล้ตัวเองมากที่สุด คือคนที่คล้ายเอเซียใต้ ก็ควรอยู่ทางด้านใต้ของแผ่นดิน แต่นี่ดูคนเหนือมาอยู่ใต้ คนใต้มาอยู่เหนือ เป็นอะไรที่มีความน่าสนใจมาก

ควันไฟคือความชี้วัดความเจริญ

ในสมัยพระเจ้านินโตกุมหาราช จักรพรรดิองค์นี้ใช้ควันไฟเป็นตัวชี้วัดความเจริญ คุณอาจสงสัยว่าอย่างไร เพราะเขาบอกว่าได้ปีนขึ้นไปดูบนหอคอยสูง มองออกไปรอบเมืองไกลสุดสายตา แต่กลับไม่เห็นมีควันไฟหุงหาอาหารลอยขึ้นมาจากบ้านแต่อย่างไร บอกให้รู้ว่าประชาชนในเวลานั้นยากจนอย่างมากจนไม่สามารถจะหุงหาข้าวปลาอาหารกินได้

จักรพรรดิเลยตรัสอีกว่าไม่แปลกใจที่เวลาไปไหนจึงไม่มีใครสรรเสริญ เพราะประชาชนยังไม่อิ่มท้อง นั่นหมายความว่าเราก็ทำหน้าที่บกพร่อง เลยสั่งให้ยกเลิกการบังคับใช้แรงงานโดยสิ้นเชิงนานถึงสามปี ให้ประชาชนได้พักจากการทำงานให้รัฐ เพื่อกลับไปทำงานเลี้ยงปากท้องครอบครัวตัวเองก่อน

พระองค์ทรงไม่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ใส่เสื้อผ้าชุดเก่าไม่ต้องตัดใหม่บ่ยๆ อาหารถ้ายังกินได้ก็จะอุ่นกินซ้ำไม่ต้องทำใหม่ ฝึกยับยั้งชั่งใจไม่ฟุ่มเฟือยเกินความลำบากของประชาชน

พระราชวังเก่าก็ยังไม่สร้างใหม่ จุดเสียก็แค่ซ่อมให้พออยู่ได้ ทำแบบนี้จนเวลาผ่านไปสามปี พระเจ้านินโตกุเสด็จขึ้นไปบนหอคอยอีกครั้ง ทีนี้เห็นควันไฟจากการหุงหาอาหารเกิดขึ้นมากมาย ก็บอกให้รู้ว่าบ้านเมืองเริ่มกลับมาเจริญ ประชาชนอยู่ดีมีสุขแล้ว

ช่างเป็นพระราชาที่ประเสริฐจริงๆ

หลวงพ่อโตไดบุตสึ สร้างเพราะเชื่อว่าจะทำให้พันภัย

ในช่วงปี ค.ศ. 741 เกิดวิกฤตการณ์หลายครั้ง ตั้งแต่โรคระบาดไปจนถีงภัยแล้ง ผู้คนอดยาก เกิดกบฏและการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก เลยสั่งให้หล่อหลวงพ่อโต ไดบุตสึ ที่วัดไทโจจิ ด้วยความเชื่อว่าการทำบุญใหญ่จะทำให้ประชาชนและประเทศพ้นภัย ในขณะเดียวกันก็จะสร้างความสามัคคีให้ประชาชนรวมใจเป็นหนึ่งเดียว

มีการระดมแรงงานมากถึง 2.6 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นการทำบุญประเทศครั้งใหญ่เพราะไม่รู้ว่าจะต้องแก้ปัญหานี้อย่างไรแล้วในเวลานั้น แต่ก็ถือว่าทำให้คนในประเทศมีจุดร่วมกันที่จะทำสิ่งสำคัญต่อจิตใจครับ

ศาสนาเพื่อใคร ?

ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ในประเทศญี่ปุ่นสมัยก่อน ตอนที่เพิ่งย้ายเมืองหลวงมายังเกียวโต หรือ เฮอันเกียวในเวลานั้น มีพุทธศาสนานิกายเดิมที่คิดตามยาก คือเน้นการศึกษาปริยัติธรรมการขบคิดทางปรัชญามากกว่า ทำให้ผู้คนไม่อิน ไม่เข้าใจ จนเกิดสองนิกายใหม่ขึ้นมาที่เน้นการปฏิบัติตาม เน้นพิธีกรรม และที่สำคัญยังเป็นพิธีกรรมเพื่อปกป้องประเทศและสถาบันกษัตริย์ จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอย่างเต็มที่

แต่หลังจากนั้นก็เกิดนิกายใหม่ขึ้นอีก ชื่อว่านิกายสุขาวดี เป็นนิกายที่ให้ผู้คนได้ทำตามแบบง่ายๆ ไม่เน้นพิธีรีตองเยอะ แค่สวดไม่กี่คำ พร้อมกับมีพระพุทธรูปง่ายๆ ไม่ว่าจะทำจากไม้หรือหินก็ตาม ไม่เน้นความโอ่อ่าสวยงาม ด้วยความง่ายในการเข้าถึงจึงทำให้เป็นนิกายที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเวลานั้นมากที่สุด

นิกายหลังนี้ทำให้กลุ่มผู้ปกครองไม่พอใจ เพราะถือว่าทำให้ประชาชนเอาใจออกห่างจากพวกเขา ผู้ก่อตั้งเลยถูกเนรเทศออกไปให้ไกลผู้คน แต่ท้ายที่สุดประชาชนถือนำไปปฏิบัติตามอย่างมาก จนทำให้ต้องเชิญกลับมาและก็ไม่มีการสั่งห้ามนิกายนี้อีกต่อไป

ขนาดศาสนายังมีเป้าหมายว่าทำเพื่อใคร เพื่อชนชั้นสูงมากปัญญา เพื่อชนชั้นปกครองมากอำนาจ หรือเพื่อประชาชนทุกชนชั้น

แต่ดูจากสถานการณ์พุทธศาสนาในบ้านแล้วเราต้องบอกว่าเพื่อความบ้าบุญเหมือนซีรีส์สาธุใน Netflix จริงๆ

นวัตกรรมกองทัพปืนไฟ 3 ชั้น ที่ทำให้โอดะ โนบุนางะ เกือบครองแผ่นดิน

เรื่องกองทัพปืนไฟที่เรียงแถวซ้อนกัน 3 ชั้นของโอดะ โนบุนางะ ผมเคยเขียนเล่าสรุปไว้ในหนังสือที่เกี่ยวกับชีวประวัติของเขามาแล้วก่อนหน้า ถ้าให้สรุปย่อๆ คือปืนไฟ หรือปืนคาบศิลาสมัยก่อนนั้นยิงได้ทีละนัด ยิงแล้วต้องบรรจุกระสุนกับดินปืนด้วยมือ ซึ่งต้องใช้เวลาราวๆ 45 วินาที

ทำให้เดิมทีกองทหารปืนไฟนั้นจะเป็นแค่กองเปิดแล้วจบ ไม่สามารถทำการสู้รบต่อได้ แถมระยะหวังผลยังอยู่แค่ 50 เมตร ทำให้ถ้าจะต้องบรรจุกระสุนก็ไม่พอจะกลับมายิงซ้ำนัดที่สอง

แต่โอดะ โนบุนางะ นั้นมองต่าง มองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่มองว่าสามารถใช้กลยุทธ์แก้ไขเพื่อสร้างกองทัพปืนไฟให้ไร้เทียมทานได้ด้วยการให้ทหารปืนไฟยืนซ้อนกัน 3 แถว

แถวที่ 1 ยิงเสร็จ ก็จะถอยหลังกลับไปยังหลังสุด ระหว่างนั้นก็บรรจุกระสุนไป ระหว่างนั้นแถวที่สองจะก้าวมาข้างหน้า ทำการเล็ง แล้วก็ยิงออกไป ระหว่างนั้นแถวที่ 1 ก็จะเริ่มบรรจุกระสุนได้บ้างแล้ว

เมื่อแถวที่สองยิงเสร็จ แต่แถวที่หนึ่งยังบรรจุกระสุนกับดินปืนไม่เสร็จ แถวที่สามก็จะขยับขึ้นมารับหน้าที่เล็งและยิงต่อไป มาถึงตอนนี้แถวที่ 1 ก็ขยับมาอยู่ตรงกลาง และก็บรรจุกระสุนกับดินปืนเสร็จแล้วก็พร้อมก้าวเข้ามารับหน้าที่ยิงต่อ

ด้วยการออกแบบกองทหารปืนไฟ 3 แถวเช่นนี้ ทำให้สามารถยิงได้ต่อเนื่องไม่ต้องหยุดพักมีช่องว่าง และนั่นก็ทำให้กองทัพปืนไฟ หรือปืนคาบศิลาของโอดะ โนบุนางะ นั้นถูกขนานนามว่าไร้เทียมทานในเวลานั้น

ดังนั้นถ้าคุณเห็นว่าสิ่งใดดีแต่ดันมีจุดอ่อนใหญ่ ไม่ว่าจะช้าหรืออะไร ลองหาวิธีแก้แบบใหม่ที่จะทำให้เราสามารถใช้สิ่งนั้นจนได้เปรียบคู่แข่งโดยง่าย เหมือนที่โอดะทำ

ผู้นำที่เด็ดขาด ดีเด็ดขาด เหี้ยมเด็ดขาด

ยังคงเป็นเรื่องของโอดะ โนบุนางะ ตัวเขาเองเคยถูกขนานนามว่าจอมมาร ด้วยการเป็นแม่ทัพที่เด็ดขาดห้าวหาญ เคยทำการเผาภูเขาทั้งลูกเพื่อกำจัดศัตรูให้หมดสิ้น สั่งทหารให้ฆ่าทุกคนบนภูเขาลูกนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ลูกเด็กเล็กแดงโดยไม่มีข้อยกเว้น

แต่ในขณะเดียวกันตัวเขาเองก็ไม่ได้มีแค่ความโหดเหี้ยม แต่ยังมีความเป็นธรรมที่เด็ดขาด เขาเคยสั่งให้ประหารคนที่ขโมยเงินแค่เซ็นเดียว แม้จะน้อยนิดมากแต่ก็ถือเป็นความผิดที่ต้องลงโทษให้เด็ดขาด เลยทำให้บ้านเมืองในยุคนั้นที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจกฏระเบียบกลับมามีขื่อมีแปอีกครั้ง

มีเรื่องเล่าว่าระหว่างที่ตัวเขาออกไปล่าสัตว์ได้พบเจอคนพิการขอทานคนหนึ่ง ก็เลยมอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งให้และบอกให้ชาวบ้านคอยดูแลคนผู้นี้ด้วย

กับลูกน้องก็มีความใจกว้าง เปิดรับฟังความเห็นต่างอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผิดพร้อมจะแก้ไขในทันที เมื่อยึดเมืองใดมาได้ก็สั่งลูกน้องที่ส่งไปปกครองว่าห้ามขึ้นภาษี เรียกได้ว่าเป็นซามูไรที่มีจิตใจมุ่งมั่นในวิถีแห่งนักรบชายชาตรีอย่างมาก

กลยุทธ์การซื้อใจของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ เราก็แค่นักรบอาชีพหาได้มีความเคียดแค้นไม่

เมื่อโอดะ โนบุนางะ ตายไปโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อ เรื่องราวของเขาผมเคยสรุปไว้ในหนังสือเล่มก่อนหน้า ที่ประเด็นที่เจอในเล่มนี้น่าสนใจและไม่เคยเจอในเล่มก่อน นั่นก็คือการที่ครั้งหนึ่งตัวเขาสามารถซื้อใจศัตรูได้อย่างน่าประทับใจสุดๆ

ครั้งหนึ่งเขาเข้าไปขอพบศัตรูที่ต่อต้านเขาและกำลังจะพ่ายแพ้ ในตอนนั้นตัวเขาเข้าไปพบเพียงแค่ลำพังกับองครักษ์คู่ใจไม่กี่คน ไปยืนอยู่หน้าปราสาทเขาแล้วตะโกนว่า “เฮ้ย มาซาตะ ฮิเดโยชิมาแล้วโว้ย”

ฝ่ายตรงข้ามนึกว่ามาทวงหนี้ชีวิตที่รบแพ้ตามมรรยาทสงครามสมัยก่อน ที่ผู้แพ้ต้องทำการคว้านท้องตัวเอง แต่ฮิเดโยชิรีบบอกว่าไม่ได้มาทวงหนี้ชีวิตใดๆ ทั้งนั้น แถมก็อธิบายว่าเราต่างก็เป็นสหายเก่าแก้กัน แต่เพราะเราทั้งคู่เป็นซามูไร จึงต้องรบพุ่งกันตามหน้าที่ เราเป็นแค่ศัตรูกันชั่วคราวหาได้มีเรื่องเกลียดแค้นกันมาส่วนตัวแต่อย่างไร

ตอนนี้นายของเจ้าก็ตายไปแล้ว เราไม่ควรแค้นเคืองอะไรกัน แถมยังจบท้ายด้วยการบอกว่าตัวเขาต้องการให้อีกฝ่ายเขามาช่วยในการปกครองบ้านเมือง

เจอแบบนี้ไปฝ่ายตรงข้ามก็ช็อค แล้วจะไม่สามารถซื้อใจสร้างพันธมิตรเพิ่มลูกน้องที่จงรักภักดีได้อย่างไรจริงไหมครับ

กลยุทธ์ก้มหัวก่อนเพื่อให้อีกฝ่ายยอมก้มหัวให้

เรื่องราวระหว่างฮิเดโยชิ กับ โทกุงาวะ อิเอยาสึ สองนายทหารคนสนิทของโอดะ โนบุนางะ นายเก่าของทั้งคู่ที่พอหลังจากนายเก่าจากไป ฮิเดโยชิ ก็ก้าวขึ้นมากุมอำนาจต่อได้ทันท่วงที ส่วนตัวอิเอยาสึ เองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอะไรด้อยกว่าฮิเดโยชิ จึงไม่ได้ยอมรับในอำนาจของเขาสักเท่าไหร่

ทำให้เกิดการสู้รบกันอยู่บ้างทั้งสองฝ่าย แต่ก็หาได้มีผู้ใดชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผลัดกันแก้ผลัดกันชนะไปหลายครั้ง จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ยอมสงบศึกกัน จึงได้ทำการนัดพบกันที่เมืองหลวง

แต่ในเวลานั้นฮิเดโยชิ ผู้ที่ตามตำแหน่งนั้นมีอำนาจสูงกว่าอิเอยาสึ ได้ทำการแอบลอบเข้าไปหาตอนกลางคืนอย่างลับๆ แล้วก็ทำการชื่นชมแถมยังมอบดาบอันล้ำค่าให้ จากนั้นทั้งคู่กินเหล้าด้วยกัน

คืนถัดมาฮิเดโยชิก็เชิญอิเอยาสึไปพบพร้อมกับมอบอุปกรณ์ชงชาอันล้ำค่าให้ คืนถัดมาเขาก็ยังไปหาอิเอยาสึอีก คราวนี้มอบทองคำสามร้อยแท่งให้ จนตอนท้ายฮิเดโยชิเลยเปิดเผยเจตนาที่แท้จริงว่าตัวเขาต้องการให้อิเอยาสึ แสดงการเคารพและยอมรับอำนาจของเขาต่อหน้าไดเมียวคนอื่นๆ เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น

จากนั้นฮิเดโยชิก็ก้มศรีษะคาราวะอิเอยาสึถึง 3 ครั้งแล้วก็จากไป วันรุ่งขึ้นตอนเช้าที่พบกัน อิเอยาสึก็แสดงมรรยาทที่ดียอมรับฮิเดโยชิตามที่ถูกร้องขอ ทำให้ไดเมียวคนอื่นๆ ต่างพูดกันว่าอิเอยาสึยอมรับต่ออำนาจของฮิเดโยชิผู้เป็นนายแล้ว และจากนั้นบรรดาไดเมียวคนอื่นๆ ที่เคยรับใช้โนบุนางะ ต่างก็ยอมรับในฮิเดโยชิโดยง่าย

หลังจากนั้นฮิเดโยชิก็ยอมให้อิเอยาสึครองแผ่นดินของตัวเองไป และปฏิบัติต่ออิเอยาสึเสมือนไดเมียวอิสระคนหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่เข้าไปยุ่มย่ามเหมือนกับไดเมียวคนอื่นๆ นี่คือกลยุทธ์ของฮิเดโยชิที่น่าเรียนรู้ไว้

แต่ก็มีช่วงเวลาหนึ่งที่ฮิเดโยชิขอแลกเมืองในการปกครองกับอิเอยาสึ บอกว่าขอ 5 มณฑลที่อิเอยาสึปกครองอยู่กับ 8 มณฑลใหม่ที่ยึดครองมาได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านบน ที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นฐานที่มั่นของอิเอยาสึในอนาคต นั่นคือเมืองเอดะที่กลายมาเป็นเมืองโตเกียวในปัจจุบัน

บางครั้งการเอาศัตรูไปไกลก็ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะมันทำให้เรามีเวลาโฟกัสและทำให้เป็นปึกแผ่น ก่อนจะทำการศึกเพื่อตัดสินครั้งสุดท้าย

ตอนที่ก่อนฮิเดโยชิจะตาย ก็ได้ทำการฝากฝังกับบรรดาไดเมียวหรือซามูไรคนสำคัญว่าช่วยส่งเสริมสายเลือดเขาให้ได้เป็นผู้ปกครองคนต่อไป และนั่นก็เป็นจุดที่ได้ก่อตั้ง “สภาผู้อาสุโสทั้งห้า” เป็นเนื้อเรื่องที่มาของซีรีส์ Shogun ที่โด่งดังทาง Netflix ครับ

การปกครองในยุคเอโดะ

ยุคเอโดะที่อิเอยาสึสร้างขึ้นมานั้นก่อให้เกิดความสงบไร้สงครามนานถึง 260 ปี ด้วยหลักการปกครองอย่างแรกที่มองว่าประชาชนคือรากฐานของประเทศ ให้ความสำคัญกับคนทำงานมากกว่านักค้าเก็งกำไร อย่างชาวนา ช่างฝีมือ หรือพ่อค้าข้าวของที่จำเป็น

และไปลดความสำคัญของพ่อค้าของฟุ่มเฟือยหรือนักเก็งกำไร เพราะนั่นจะทำให้ประชาชนโลภไม่ขยันทำงานทำมาหากิน เอาแต่เก็งกำไรจนไม่ก่อให้เกิดผลผลิตอย่างข้าวปลาอาหารแต่อย่างไร เพราะถ้าเมื่อไหร่คนเห็นว่าการเก็งกำไรนั้นให้ผลตอบแทนมากกว่าการทำงาน คนก็จะอพยพเข้าเมืองหลวงมากขึ้น เกิดคนเร่ร่อนไร้งานมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาหรืออาชญากรรมมากขึ้น จนท้ายที่สุดทำให้เกิดความเสื่อมโทรมพินาศของบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านกฏหมายทางโชกุนผู้ปกครองก็ไม่ได้เอาแต่บังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด แต่เข้าใจว่าที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ปฏิบัติตามกฏหมายบ้างเมืองเพราะไม่รู้กฏหมาย เข้าไม่ถึงกฏหมาย หรืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็เลยสั่งให้บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องออกไปพูด สอน หรืออธิบายกฏหมายแก่ประชาชนอย่างน้อยเดือนละครั้งในการประชุมประจำเดือน

นับเป็นแนวคิดที่เข้าใจเข้าใจประชาชนอย่างยิ่ง มองว่าการให้ความรู้ประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ผิดกับประเทศไทยที่มองว่าการรู้กฏหมายเป็นหน้าที่ของประชาชน

สรุปหนังสือ ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้าถึงซามูไร

แม้ผมจะลุยอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาก็หลายเล่ม แต่ก็ยังพบว่าเล่มนี้มีแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยอ่านเจอและสามารถเรียนรู้นำไปปรับใช้กับชีวิตและธุรกิจได้ไม่น้อย ดังนั้นใครที่ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือประเทศญี่ปุ่นผมแนะนำให้อ่าน แล้วคุณจะพบว่ายังมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกมากครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 19 ของปี

สรุปหนังสือ ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้าถึงซามูไร
กรกิจ ดิษฐาน เขียน
สำนักพิมพ์ GYZY

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ: https://summaread.net/category/japan/
สั่งซื้อออนไลน์
https://s.shopee.co.th/7AHsLfOd9B
https://s.shopee.co.th/7AHsLgX5ve

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/