The Little Book of Ikigai อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่

The Little Book of Ikigai อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่

ถ้าให้สรุปสั้นๆกับหนังสือ The Little Book of Ikigai เล่มนี้ผมก็สรุปได้ว่า การได้ทำคือรางวัลในตัวมันเอง เพราะภาพรวมของทั้งเล่มคือการบอกให้เราเข้าใจว่า แก่นของอิคิไกนั้นคือการที่บอกให้เรารู้ว่าอย่าคาดหวังรางวัลจากการกระทำนั้น เพราะนั่นคือบ่อเกิดของความทุกข์ทั้งปวง เหมือนกับหลายครั้งเรามักจะได้ยินคนพูดกันว่า ทำไปทำไม? หรือ ทำไปเพื่ออะไร? บอกให้รู้ว่ามนุษย์เรานั้นถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย แต่อิคิไกคือให้เรากลายเป็นเป้าหมายของตัวเราเอง

นั่นคือไม่ต้องทำไปเพื่ออะไร หรือทำไปทำไม ทำแล้วจะได้อะไรกลับมา เอาแค่ให้ได้ทำ และทำให้ดีที่สุด ทำอย่างมีความสุข แค่นี้ก็อิคิไกแล้ว

นี่คือสรุปอย่างย่อที่ผมจะมอบให้หนังสือเล่มนี้ แต่สำหรับคนที่ยังพอมีเวลาอ่านสรุปกับผมต่ออีกหน่อย ไม่รีบไปไหน ผมก็มีสรุปหนังสือเล่มนี้แบบเต็มๆให้คุณได้อ่านกัน เอาเป็นแค่ต่อให้เขียนไปแล้วไม่มีใครอ่านก็ไม่เป็นไร เพราะแค่ผมได้เขียนให้ตัวเองได้อ่านอีกครั้งเมื่อ 1 ปีผ่านไปผมก็สุขแล้ว

เพราะถ้าใครที่อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต น่าจะไม่เหมาะกับหลักการหรือแนวคิดแบบอิคิไก เพราะหนังสืออิคิไกเล่มนี้บอกให้รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จก็มีอิคิไกได้ ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จก็มาจากอิคิไกไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างง่ายๆที่หลายคนน่าจะรู้จักก็คือร้านซูชิชื่อดังที่สุดในญี่ปุ่น หรือน่าจะเป็นร้านซูชิอันดับหนึ่งของโลกก็ได้ นั่นก็คือ Jiro Sushi

Jiro Sushi ร้านนี้เป็นร้านซูชิที่ได้รับดาว 3 ดวงจากมิชิลิน ถือว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดร้านอาหารของโลกที่ควรไปเพื่อกิน ไม่ใช่ไปแล้วแวะกินเหมือนร้านอาหารทั่วไปครับ

ถ้าใครเคยดูสารคดีของร้านซูชิ Jiro แห่งนี้จะพบว่า เบื้องหลังของข้าวปั้นซูชิที่แสนจะธรรมดานั้นช่างไม่ธรรมดาเอาเสียเลย ลองดูตัวอย่างภาพยนต์สารคดีที่ว่านี้ก่อนจะอ่านต่อก็ได้ครับ

เบื้องหลังของซูชิแต่ละคำนั้นมาจากขั้นตอนการกระทำที่ละเอียดอ่อนแต่ทรงพลัง กว่าจะได้ข้าวหนึ่งหม้อ กว่าจะแล่ปลาได้หนึ่งตัว กว่าจะปั้นออกมาเป็นหนึ่งคำ นั้นต้องใช้พลังมหาศาลของทุกคนในร้านจริงๆ

แต่ร้าน Jiro Sushi ของจริงนั้นไม่ได้เป็นร้านใหญ่โต เป็นร้านเล็กๆ แต่เมื่อตอนเริ่มต้นนั้นเล็กกว่านี้มาก ด้วยการที่ร้านมีขนาดเล็กมากทำให้ Jiro Ono ต้องประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ๆ เช่น ภาชนะพิเศษที่พอเหมาะกับพื้นที่หลังเคาเตอร์บาร์ของร้านที่แคบกว่าปกติ

จนทำให้ร้านอื่นๆพากันเลียนแบบและทำตาม จนกลายเป็นมาตรฐานของร้านซูชิส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นทุกวันนี้

จากคุณ Jiro Ono เจ้าของร้านซูชิ Jiro ก็เป็นเรื่องของพ่อค้าปลาที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดทุกวันเพื่อออกไปพบปลาที่ดีที่สุดก่อนคนอื่นครับ

พ่อค้าปลาคนนี้ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นพ่อค้าปลาที่หาวัตถุดิบปลาชั้นดีมาส่งให้กับร้าน Jiro Sushi นี่แหละครับ เพราะร้านอาหารชั้นยอดจะไม่สามารถเป็นไปได้ ถ้าไม่ได้วัตถุดิบชั้นเยี่ยม

และเราจะเห็นว่าเมื่อร้าน Jiro Sushi โด่งดังระดับโลกขนาดนี้ มีคนรอจองคิวข้ามเดือน บางทีข้ามปีเพื่อให้ได้กิน แต่กลับไม่มีความคิดที่จะขยายร้านสาขาออกไปให้ทั่วประเทศแบบที่ควรจะเป็นตามหลักวิชาธุรกิจหรือการตลาด แต่เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบอิคิไกกันถ้วนหน้า นั่นหมายความว่าแต่ละคนก็แค่ทำอะไรเล็กๆพอตัว แต่ก็กันอย่างทุ่มเทแบบบ้าคลั่ง

นั่นเลยเป็นเหตุผลให้ธุรกิจร้านค้า หรือร้านอาหารที่ญี่ปุ่นนั้นจะไม่ค่อยเจอร้านที่เป็นเครือใหญ่ๆมากมายเหมือนที่อื่น แต่เราจะเห็นร้านค้ารายย่อยเต็มไปหมดทั่วประเทศ

และร้านเล็กๆเหล่านี้เองที่ต่างพยายามสร้างสรรค์ความ Unique ในแบบของตัวเองขึ้นมา เพราะไม่มีใครอยากไปก๊อปของใคร เพราะแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายในการทำไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างแค่ร้านราเมงอาหารพื้นๆของญี่ปุ่น แต่เรากลับพบความหลากหลายที่แตกต่างกันแทบทุกร้าน และนั่นก็คือที่มาของคำว่า โคดาวาริ หรือ การทำสิ่งเล็กๆให้ยิ่งใหญ่ อย่างการทำราเมน 1 ชามครับ

เพราะร้านราเมนส่วนใหญ่ที่เป็นร้านเล็กๆ จะมีกรรมาวิธีในการนวดแป้งทำเส้นของตัวเอง หรือการทำน้ำซุปในแบบของตัวเองที่จะหายากในการเอาน้ำซุปราเมนสำเร็จรูปมาขายลูกค้า ดังนั้นเจ้าของร้านราเมนที่มี โคดาวาริ ในตัวก็จะใส่ใจกับรายละเอียดทั้งหมดในการทำ จนทำให้เกิดการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนครับ

เหมือนตอนที่ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน ตอนนั้นผมสั่งอาหารมาเยอะเกินไปจนกินไม่หมด แต่ที่เหลือในชามก็ไม่ได้มากจนน่าเกลียด แต่ตอนนั้นเชฟในร้านเดินเข้ามาถามผมด้วยตัวเองเลยว่าอาหารที่เค้าทำไม่อร่อยถูกปากเราหรอ เชฟดูซีเรียสและผิดหวังมากกับการที่ผมกินเหลือ จนผมต้องพยายามอธิบายว่าที่ผมกินไม่หมดเพราะผมอิ่มมาก่อนที่จะเข้าร้านมา เรียกได้ว่าหลังจากนั้นเวลาผมไปญี่ปุ่นผมไม่กล้ากินเหลืออีกต่อไปเลยครับ

โคดาวาริก็ไม่ได้มีแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในศาสดาผู้โด่งดังอย่าง Steve Jobs ก็เป็นคนที่มีโคดาวาริในตัวสูงมากอย่างน่าทึ่ง และนั่นก็แสดงออกผ่านสินค้าต่างๆของ Apple แต่สิ่งที่เราจะเห็นใกล้ตัวที่สุดก็คือโทรศัพท์อย่าง iPhone นั่นเองครับ

iPhone เป็นผลงานการออกแบบในรายละเอียดขั้นสุด สุดขนาดที่ว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เป็นเจ้าของบริษัทคงมองข้ามเรื่องเล็กๆเหล่านั้นไปนานแล้ว และก็รีบเข็นสินค้าออกมาขายให้เร็วที่สุดเพื่อโกยกำไร แต่เป็นโชคดีของ Apple ที่ Steve Jobs ไม่ใช่แบบนั้น เค้าทำจน iPhone แทบจะใช้คำว่า Perfect ได้ในการเปิดตัวออกมาแต่ละครั้งที่ Steve Jobs ยังอยู่ และนั่นก็ทำให้เกิดสาวก Apple ขึ้นมากมายบนโลกครับ

ดังนั้นโคดาวาริไม่ใช่แนวทางในการทำธุรกิจที่ดีทั่วไป เพราะเมื่อถึงจุดนึงของการลงมือทำจะพบว่าเมื่อทุกอย่างมันดีพอแล้ว การจะทุ่มเททรัพยากรลงไปอีกจะไม่ก่อให้เกิดผลกำไรเป็นสัดส่วนที่คุ้มกับทุนเท่าก่อนหน้า เพราะมันจะเป็นแค่การเพิ่มรายละเอียดเล็กๆน้อยๆลงไป เหมือนการนั่งตัดเล็มเส้นผมทีละเส้นแทนที่จะตัดให้แค่เป็นทรงที่สวยงามครับ

เพราะโคดาวาริคือการทุ่มเทลงไปแบบไม่เคยพอ ทำไปทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบมากที่สุด เหมือนกับการทุ่มเทจนไร้เหตุผลก็ว่าได้ครับ

เหมือนมัสก์เมลอน ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของเมลอนของญี่ปุ่น หรืออาจจะเป็นของโลกก็ว่าได้ เพราะมัสก์เมลอนเกิดจากการที่ผู้ปลูกนั้นทุ่มเททำอย่างถึงที่สุด จนถ้าเป็นนักธุรกิจเข้ามาเห็นก็คงจะหาว่าบ้า เพราะเจ้าของฟาร์มมัสก์เมลอนนั้นทุ่มเทถึงขนาดที่ว่า ให้หนึ่งต้นมีผลเมลอนแค่หนึ่งลูก

เพราะเค้าเชื่อว่าถ้าหนึ่งต้นมีเมลอนหลายลูก สารอาหารก็จะถูกกระจายออกไปยังลูกอื่นๆ แต่ถ้าทั้งต้นเมลอนมีแค่ลูกเดียว ก็จะทำให้ได้รับสารอาหารของทั้งต้นอย่างเต็มที่ และนั่นก็น่าจะทำให้คนกินได้รับความอร่อยแบบถึงที่สุดครับ

เป็นยังไงครับความทุ่มเทแบบบ้าคลั่งของเจ้าของฟาร์มคนนี้ ปกติจะมีแต่คนที่อยากให้ต้นที่ตัวเองปลูกมีผลดกๆ แต่เจ้าของฟาร์มคนนี้จะคอยตัดผลใหม่ๆที่กำลังจะเกิดออกอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้มารบกวนการสะสมสารอาหารของหนึ่งผลมัสก์เมลอนที่ตั้งใจครับ

และแน่นอนด้วยการกระทำนี้ทำให้มัสก์เมลอนของที่นี่มีราคาแพงมากเพราะเริ่มต้นที่ลูกละ 20,000 เยน หรือตีเป็นเงินไทยแบบเร็วๆก็ราวๆ 6,000 บาท ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าถ้าต่อให้ไม่ตัดเมลอนออกเลยซักลูก หนึ่งต้นเมลอนจะสามารถทำเงินได้เท่าที่มัสก์เมลอนทำมั้ยครับ

และเรื่องการทุ่มเททำอะไรให้สุดแบบญี่ปุ่นนี้ก็ยังสะท้อนมาถึงภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านของญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานที่จีนหรือที่อื่นๆใดในโลกได้ แต่นั่นไม่ใช่เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นทำออกมาได้ไม่ดี แต่เป็นเพราะทำออกมาได้ดีเกินมาตรฐานตลาดไปเยอะ จนส่งผลให้ไม่มีใครซื้อไหวครับ

แต่ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นยังคงได้เปรียบมาก นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้การผลิตที่ซับซ้อนมาก เช่น กล้องทางการแพทย์ ทำให้ญี่ปุ่นทิ้งห่างคู่แข่งทุกชาติในโลกไปไกลมากครับ

ชิกเซนต์มิฮายยี (Mihaly Csikszentmihalyi) บอกว่า สุขที่ได้ทำก่อให้เกิดภาวะลื่นไหล เทียบเคียงได้กับการทำสมาธิ หรือการบรรลุนั่นเอง

เพราะแม้อาชีพนักวาดการ์ตูนที่ญี่ปุ่นจะเป็นอาชีพที่รายได้น้อยมาก แต่ก็ยังคงเป็นอาชีพในฝันของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ที่ทุ่มเทเขียนการ์ตูนต่อไปเรื่อยๆแม้จะไม่โด่งดัง เพราะคนเหล่านี้ล้วนมีความสุขที่ได้ทำ โดยไม่ได้คาดหวังจะต้องได้ผลลัพธ์ใดกลับมา

หรืออย่างอาชีพนักดนตรีประจำราชสำนักก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความอิคิไกสูงมาก เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นอะไรก็ตามในวังในราชสำนัก นั่นย่อมต้องการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงมากเพื่อให้สมบูรณ์แบบที่สุด

แล้วรู้มั้ยครับว่าแทบทุกครั้งที่นักดนตรีประจำราชสำนักเหล่านี้บรรเลงเพลงออกมา ก็จะไม่มีใครอยู่ในปราสาทในวัง เพื่อคอยฟังดนตรีของพวกเขาเลย แต่พวกเขาก็ยังเล่นไปอย่างเต็มที่ไม่มีผ่อนปรน เล่นอย่างมีความสุขที่สุด เพียงเพราะการได้เล่นดนตรีก็ถือว่าเป็นรางวัลที่ทำให้ชีวิตนั้นมีความสุขในตัวมันแล้ว

เพราะคนฟังไม่สำคัญเท่ากับการได้เล่น ถือเป็นขั้นสุดของการใช้ชีวิตจริงๆครับ

เรื่องอิคิไกและความยั่งยืนก็เป็นอะไรที่น่าทึ่ง ด้วยเรื่องของศาลเจ้าอิเสะที่มีอายุนานกว่า 1,200 ปี เป็นระดับมรดกโลกก็ว่าได้

เพียงแต่ที่น่าทึ่งคือไม่ใช่ว่าศาลเจ้านี้ทุกชิ้นส่วนจะมีอายุยาวนาน 1,200 ปีจริงๆ แต่เป็นเพราะพิธีกรรมในการรื้อและสร้างศาลเจ้าอิสะนี้ใหม่ทุก 20 ปี ที่ทำกันมาอย่างยาวนานต่อเนื่องกว่า 1,200 ปีต่างหากครับ

ที่น่าอัศจรรย์ของศาลเจ้านี้คือ ไม่มีการใช้ตะปูเพื่อยึดไม้แต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน แต่เกิดจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาช้านานให้ศาลเจ้าอิสะนี้ยึดกันอย่างมั่นคงได้ด้วยตัวของมันเอง

ผลที่ตามมาคือศาลเจ้าอิเสะนี้จะทนแรงแผ่นดินไหวที่รุนแรงของญี่ปุ่นได้ดีมาก เพราะทุกชิ้นส่วนจะกระจายแรงสั่นสะเทือนให้กันอย่างเท่าเทียม เพราะถ้ามีตะปูเป็นตัวยึดจุดนั้นจะต้องเสียหายก่อนใครเพื่อนจนอาจทำให้ทั้งศาลเจ้าพังได้โดยง่ายก็ได้ครับ

เรื่องภัยพิบัติก็เหมือนกัน เรื่องนี้ก็สะท้อนความเป็นอิคิไกของคนญี่ปุ่นได้ดี ตรงที่ว่าอะไรก็ตามที่ฆ่าเราไม่ตาย มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

เพราะญี่ปุ่นนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นเป็นประจำ เรียกได้ว่าในช่วงชีวิตคนๆหนึ่งแทบจะไม่มีใครเลยที่จะไม่เจอภัยพิบัติที่ร้ายแรงซักครั้งในชีวิต แต่ที่น่าสนใจคือทุกครั้งญี่ปุ่นก็จะฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่ใช่แค่พื้นฟูเท่านั้น ยังไม่เคยก้าวถอยหลังหรือพัฒนาน้อยลงด้วยเลยในแต่ละครั้ง

เราแทบจะไม่เคยเห็นซากปรักหักพังจากภัยพิบัติครั้งก่อนๆ เราจะเห็นแต่ตึกรามบ้านช่องใหม่ๆเสมอทุกครั้งที่ไป จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือหนึ่งในประเทศที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงเป็นประจำ

เพราะอิคิไกคือความสุขเล็กๆ ดังนั้นเราจะเห็นคนญี่ปุ่นหมกมุ่นหรือเอาจริงเอาจังกับกิจกรรมยามว่างมาก อย่างตอนไปญี่ปุ่นผมจะเห็นมีห้างที่ขายพวกของ DIY งานฝีมือจุกจิกเยอะมาก อย่างห้าง Tokyu Hands เป็นห้างหนึ่งที่ผมชอบมาก เพราะผมจะได้เห็นอะไรแปลกๆที่ไม่เคยได้เห็นในบ้านเราเลย

เช่น เค้าจะมีโซนขายแผ่นหนัง ให้เราซื้อแผ่นหนังไปแล้วเอาไปทำเป็นกระเป๋า หรืออะไรก็ตามไว้ใช้เอง นี่คือกิจกรรมยามว่างแบบทุ่มเทหนักมากของคนญี่ปุ่น ทำเอาคนไทยอย่างผมทั้งทึ่งและเคารพคนญี่ปุ่นที่มีอิคิไกไปเต็มๆเลยครับ

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญของอิคิไกเริ่มต้นที่การรู้จักยอมรับตัวเองก่อน ถ้าเรายอมรับตัวเองได้เราก็จะมีความสุขได้ทันทีโดยไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย คนส่วนใหญ่ต้องการให้คนอื่นยอมรับตัวเอง หรือชื่นชมตัวเอง เราถึงจะมีความสุข แต่กับคนที่มีอิคิไกนั้นไม่จำเป็นต้องให้ใครมายอมรับ ทำให้ทุกการกระทำของคนที่มีอิคิไกนั้นเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ ทำไปด้วยการไม่หวังผล แต่ก็ยังคงเป็นการทำไปด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทำเพื่อให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน ทำเพื่อให้เกินกว่าคำว่าสมบูรณ์แบบ

โดยแก่นของอิคิไกในเล่มนี้นั้นมี 5 หัวข้อ

  1. การเริ่มต้นเล็กๆ
  2. การปลดปล่อยตัวเอง
  3. ความสอดคล้องและยั่งยืน
  4. ความสุขกับสิ่งเล็กๆ
  5. การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ หรือปัจจุบันขณะ

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบก็ทำให้ผมพบว่า จุดเริ่มต้นของการสรุปหนังสือของผมไม่ได้มาจากการหวังผลตอบแทนใดๆกลับมา จุดเริ่มต้นในการสรุปหนังสือของผมมาจากการที่ผมอยากสรุปเอาไว้ให้ตัวเองได้กลับมาอ่านอีกครั้งในปีหน้า ทุกครั้งที่ผมได้กลับมาอ่านสรุปหนังสือเล่มเก่าของตัวเอง ก็ทำให้ผมได้พบมุมมองใหม่ๆอีกครั้ง

ส่วนจากการสรุปส่วนตัวกลายเป็นเพจอ่านแล้วเล่า ก็มาจากคนรอบตัวที่อยากให้ผมทำเป็นเพจ เพื่อที่เค้าจะได้แชร์ออกไปเก็บไว้ได้ง่ายๆบ้าง และนั่นก็เลยทำให้ผมทำเพจอ่านแล้วเล่ามาจนถึงวันนี้ ดังนั้นการที่ผมได้อ่านและสรุปหนังสือของผมก็ถือเป็นความสุขในตัวที่ได้ทำแล้ว แต่การที่มีพวกคุณเข้ามาอ่าน เข้ามาอยู่เป็นเพื่อน เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ถือเป็นรางวัลที่เกินคาดคิดเสมอสำหรับผมครับ

ค้นหาอิคิไกของตัวคุณเองให้เจอ แล้วก็จงมีความสุขที่ได้ทำมัน เพราะการได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ก็ถือเป็นรางวัลในตัวเองแล้ว

สุดท้ายเมื่ออ่านจบหนังสือเล่มนี้ให้อีกมุมมองหนึ่งกับผมว่า IKIGAI มีความเหมือนกับทฤษฎีของ Charle Darwin ว่าด้วยเรื่องของวิวัฒนาการ เพราะสิ่งมีชีวิตเรานั้นล้วนมีวิวัฒนาการไปทีละเล็กทีละน้อย สะสมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด เราไม่ได้เกิดมาครั้งแรกบนโลกแล้วเป็นมนุษย์ทันที แต่เราถือกำเนิดมาจากสัตว์เซลล์เดียว กลายเป็นปลา กลายเป็นลิง แล้วค่อยๆสะสมวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นมนุษย์ครับ

The Little Book of Ikigai อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 58 ของปี 2019

สรุปหนังสือ The Little Book of Ikigai
อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่
เมื่อการงานไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากชีวิต ปรัชญาชาวญี่ปุ่นที่จะทำให้คุณอยากตื่นแต่เช้าเพื่อออกไปทำสิ่งที่รัก
Ken Mogi เขียน
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล
สำนักพิมพ์ MOVE

20190927

อ่านสรุปหนังสือแนว Ikigai ต่อ > https://summaread.net/business/japan-success/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/2mEdGGh

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/