ทักษะการเป็นผู้นำดูเหมือนจะเป็นพรสวรรค์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นผู้นำได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้การจะเป็นผู้นำที่ดีจากแบบอย่างที่ดี และเราก็สามารถเรียนรู้ที่จะไม่เป็นผู้นำแย่ๆ จากตัวอย่างที่มีให้เห็นได้ เหมือนที่หนังสือ Leadershit เล่มนี้รวบรวมตัวอย่างผู้นำที่ดีและผู้นำแย่ๆ มาให้เราเห็นภาพโดยสะดวกว่าเราอยากจะเป็นผู้นำแบบไหนกันแน่นะ
เพิ่มเติมอีกนิดคำว่า Leadershit ผมเคยพูดเล่นๆ กับพี่เก่ง Creative Talk ในช่วงกลางปี 2021 ที่โควิดระบาดหนักมากในบ้านเรา ถึงขนาดที่มีคนมากมายที่ติดเชื้อต้องรอเตียงอยู่บ้านจนพาลทำให้คนทั้งบ้านติดเชื้อตามไปด้วย
และที่หนักกว่านั้นคือการที่คนรอเตียงอยู่บ้านจนต้องตายคาบ้านท่ามกลางพ่อแม่พี่น้องที่ได้แต่มองดูตาปริบๆ ท่ามกลางศึกยื้อชิงวัคซีนในบ้านเราที่สะท้อนให้เห็นภาพผู้นำที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากว่าเรามีวัคซีนที่ดีที่สุดแล้ว เหมาะสมที่สุดแล้ว เราดำเนินการเต็มที่แล้ว พยายามโทรหาเตียงหน่อยเดี๋ยวก็ติด เรียกได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุด ที่เผยให้เห็นความเป็นผู้นำของผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนว่าชีวิตประชาชนอาจไม่ได้มีความหมายใดกับท่านๆ เลย
ในช่วงนั้นผมได้เห็นหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่านผู้นำ รัฐบาล ข้าราชการมากมาย ไปจนถึงเหล่าผู้ใหญ่กันเองก็ออกมาวิจารณ์กันเองไม่น้อย เช่น ตอนที่ผู้ใหญ่บางคนบอกยังไม่ได้เอกสารจากหน่วยงานหนึ่ง แล้วหน่วยงานนั้นออกมาแถลงข่าวทันทีว่าก็เพราะยังไม่มีใครส่งเอกสารมาให้
เรียกได้ว่าจากเกมลิงชิงบอลกลายเป็นเกมโยนขี้ให้กันท่ามกลางสื่อ ใครตอบคำถามไม่ดีเตรียมทัวร์ลงได้ง่ายๆ เรียกได้ว่าระบบที่เคยอยู่ชิลๆ กันมาได้ตั้งแต่สมัยอดีตกาลถูกเปิดโปงให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลและหน่วยงานราชการของไทย
พูดแล้วก็จะยิ่งไหลไปไกลเพราะมีสิ่งที่ให้วิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนทำให้คำที่ผมกับเพื่อนๆ พี่ๆ เคยพูดกันเล่นๆ ว่า #Leadershit จะมีคนใจตรงกันในประเด็นนี้จนกลายมาเป็นหนังสือ Leadershit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า…ถ้าไม่อยากโดนด่า 7 ชั่วโคตรให้อายไปจนถึงบรรพบุรุษบนสวรรค์ อายไปจนถึงรุ่นหลานเหลนในอนาคตว่าทำไมปู่ทวดของเราจึงทำเรื่องน่าอับอายแก่วงศ์ตระกูลได้มากมายขนาดนี้ ผมจึงอยากให้เราทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้กัน เพราะ
อ่านเพื่อตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในบ้านแล้วกับผู้นำคนนั้นทำให้เราเห็น พูดให้เราได้ยิน แสดงออกให้เราประจักษ์
อ่านเพื่อให้เห็นตัวอย่างที่ควรทำตามจากผู้นำเก่งๆ ฉลาดๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้เราเรียนรู้ทำตามได้
ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ หน้าที่ 16 ที่คุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เขียนไว้ว่า “วิกฤตโควิด-19 เหมือนเป็นข้อสอบชุดเดียวกันที่แจกให้ “ผู้นำ” แต่ละคนว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร”
จริงครับ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสแบบนี้เราแทบไม่มีตัวอย่างใดให้เรียนรู้จากอดีต ครั้นจากอดีตที่เคยเกิดขึ้นครั้งใหญ่ ก็ล้วนห่างไกลนานเกินไปจนไม่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการจัดการได้
ถ้าเป็นวิกฤตทางการเงินยังพอมีทางแก้ แต่ไม่มีตำราใดที่บอกให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับการล็อคดาวน์พร้อมกันทั้งโลกขนาดนี้มาก่อน
ใครจะไปคาดคิดหละครับว่าอยู่ดีๆ โลกทั้งใบต้องหยุดชะงัก เราจะออกจากบ้านไม่ได้เป็นเวลา 14 วันอย่างน้อย การออกจากบ้านไปพบปะผู้คนกลายเป็นเรื่องน่ากลัว ลำพังการจะพบปะกันเองกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทยังดูเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเราไม่รู้ว่าใครจะเป็นพาหะพาเจ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้มาให้เราบ้าง เพราะเราทุกคนต่างก็กลัวว่าเราจะเป็นคนนำเชื้อมาแพร่ให้คนในบ้าน ในวันที่ความรู้ในการบริหารจัดการกับเจ้าเชื้อไวรัสนี้ยังมีน้อยมากเกินไป
การตัดสินใจของผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการตัดสินใจของผู้นำในเวลานั้นคือถ้าตัดสินใจไปแล้วผิด จะตัดสินใจใหม่ให้กลับมาถูกได้อย่างไรสำคัญกว่า
เพราะไม่มีผู้นำคนไหนสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอ ผู้นำที่แท้จริงคือคนที่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้รวดเร็วตามสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดี
ผิดรีบยอมรับแล้วแก้ ไม่ใช่ผิดแล้วก็ยังจะมาแถว่าฉันถูก พวกเธอแหละที่ไม่รู้ไม่ฉลาดเท่าฉัน
แล้วผู้นำที่ดีก็ควรจะต้องเป็นผู้ฟังมากกว่าพูด เพราะถ้าผู้นำเอาแต่พูดไม่ยอมฟัง แล้วจะไปได้ข้อมูลใหม่ๆ ข้อมูลดีๆ ข้อมูลที่มากกว่าที่มีไปใช้ตัดสินใจได้อย่างไร
แต่เราคงเห็นแล้วจากผู้นำใกล้ตัวที่เอาแต่พูด พูดไปเรื่อย พูดโดยไม่รู้ พูดโดยไม่ได้แคร์หรือสนใจว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร “ก็ทำอยู่นี่ไง ปั๊ดโถ่!” หรือ “จะเอาอะไรกับผมอีก?!” ผู้นำแบบนี้สมกับนิยามของหนังสือเล่มนี้ Leadershit จริงๆ ครับ
แล้วผู้นำที่ดีก่อนพูดควรตอบคำถาม 3 ข้อนี้ให้ได้ก่อนจะเอ่ยปากพูดออกมา (ผมชอบเนื้อหาส่วนนี้มาก)
- เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูดออกมาไหม? ไม่งั้นก็จะพูดพล่ามไปเรื่อยน้ำลาฟูเต็มปาก พูดในสิ่งที่ไม่ได้ประโยชน์ใดกับผู้ฟัง โดยเฉพาะคนเป็นผู้นำที่เอา air time หลายสิบนาทีไปพูดแล้วมีใจความแค่ 3 วินาที (เสียดาย air time เอาไปบริจาคให้เอกชนซื้อโฆษณาแล้วเอามาเป็นค่าวัคซีนดีๆ ดีกว่าครับ)
- เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูดออกมาด้วยตัวเราเองไหม? คำถามข้อดีนี้ ทำให้ผมได้ฉุกคิดว่าหลายครั้งเราไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง อย่างแรกเพื่อรักษาภาพพจน์ อย่างที่สองคือถ้าไม่มีความรู้จริงเรื่องนี้ก็ควรหุบปากไม่ต้องแสดงความเห็น ปล่อยให้คนที่เขามีความรู้จริงๆ เป็นผู้ตอบดีกว่า ไม่งั้นคนเขาจะพูดได้ว่ายิ่งพูดยิ่งดูโง่ หรือถ้าแสบหน่อยคือ ถ้าไม่พูดก็ไม่มีใครรู้ว่าโง่นะครับท่าน
- เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูดออกมาด้วยตัวเราเองตอนนี้ไหม? คำถามนี้ยิ่งดีขึ้นมาใหญ่ บอกให้เรารู้จักคิดก่อนว่าต้องพูดเลยหรือเอากลับไปคิดให้ดีก่อนพูด หลายเรื่องเราควรใช้เวลาหาข้อมูลก่อน ไม่ใช่คิดว่ามีไมค์จ่อปากแล้วต้องพูดทุกเรื่อย ทุกที่ ทุกเวลาเสมอไป
เพราะคำพูดเป็นนายเราเมื่อเราพ่นมันออกไป ความฉลาดวันได้จากคำพูด หรืออย่างน้อยก็อย่าพูดให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองโง่กว่าที่คิดเลยครับ
เป็นผู้นำอย่าบ่นให้ใครฟังว่าเหนื่อย
เพราะการเป็นผู้นำคือการต้องเก็บความทุกข์ยากไว้ในใจได้ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตแบบนี้เราจะแสดงออกให้คนอื่นรู้สึกว่าเราเหนื่อยหรือหมดปัญญาเพราะทำมาแล้วทุกทางไม่ได้
เหมือนที่ผู้นำบางคนชอบพูดว่า “จะเอาอะไรอีก?!”
ประโยคนี้บอกให้รู้ว่าเขาคนนี้ทำงานเยอะมาก ทำงานเหนื่อยมาก แต่ประชาชนคนฟังยังไม่รู้สึกพอใจในผลงานเลย นั่นบอกให้รู้ว่าการที่คุณทำงานหนักไปแต่ไม่ค่อยเกิดผล คุณกำลังขยันแบบไม่ฉลาด ผู้ตามไม่ได้ต้องการคนขยัน แต่ต้องการคนที่ทำงานฉลาดๆ แล้วเกิดผลงานมากกว่าครับ
เข้าทำนองว่าฉลาดเรื่องโง่ๆ ไหมนะผู้นำแบบนี้
หนังสือเล่มนี้บอกว่า อับราฮัม ลินคอล์น บอกไว้ว่าถ้าอยากรู้ว่าใครมีเนื้อแท้อย่างไร ให้ลองมอบอำนาจให้เขาดู แต่ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ต่อยอดคำนี้ได้อย่างคมคายถูกใจผมว่า “ถ้าอยากรู้ว่าตอนที่ใครมีอำนาจแล้วเขาเป็นอย่างไร ให้ลองเอาอำนาจออกจากมือเขาดูซิครับ”
จริงครับ เมื่อคนหนึ่งไร้ซึ่งอำนาจ สิ่งที่จะทำให้เขายังคงมีอำนาจอยู่คือคำว่า “บารมี”
บารมี เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าแท้จริงแล้วใครมีอำนาจมากกว่ากัน อำนาจอาจได้มาจากการแต่งตั้ง หรืออาจจะยึดขโมยอำนาจนั้นมา แต่บารมีนั้นมาจากการสร้างจนเกิดการยอมรับ คุณคงเคยเห็นใช่ไหมครับว่าทำไมบางคนไม่มีอำนาจแล้ว แต่ยังคงมีบารมีที่คนที่มีอำนาจมากกว่าต้องมาขอคำแนะนำ ขอให้ช่วยเหลือทั้งที่ตัวเขาอาจไร้ซึ่งอำนาจในการสั่งการทำปฏิบัติแล้ว
เรื่องสุดท้ายในเล่มที่ผมชอบ ก็คือตอนที่คุณท้อฟฟี่ ดูสารคดีเกี่ยวกับหมูสามชั้นของเกาหลีใน Netflix
เอาจริงๆ ผมก็ดูเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้ดูแล้วมองเห็นแง่มุมที่ลึกซึ้งได้แบบที่คุณท้อฟฟี่มองจริงๆ อันนี้ต้องขอคาราวะเลย
คุณท้อฟฟี่บอกว่าที่เกาหลีเขาพยายามทำให้ทุกส่วนของเนื้อหมูหนึ่งตัวอร่อยที่สุด เขาจะไม่บอกว่าเนื้อส่วนไหนไม่อร่อย หรือไม่ดีเมื่อเทียบกับเนื้อส่วนอื่น แต่เขาจะคิดว่าเรายังไม่เจอวิธีที่ทำให้เนื้อหมูส่วนนี้แสดงศักยภาพสูงสุดในตัวมันเองออกมา
ซึ่งนี่ก็คือวิธีคิดของผู้นำที่ดีที่จะไม่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าโง่หรือไร้ความสามารถ หรือด้อยกว่าคนอื่น เพราะแต่ละคนมีดีในตัวเอง เพียงแต่ดีของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป
หน้าที่ของผู้นำคือค้นหาแง่ดีในตัวผู้ตามแต่ละคนให้โลกได้รับรู้ว่าคนนี้มีดีไม่เหมือนคนอื่นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใคร เพราะทุกคนต่างดีแตกต่างกันไปครับ
และนี่ก็คือสรุปหนังสือ Leadershit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ดีในวันหน้าสิ่งใดควรหนีห่างไม่ทำตาม เพราะผมเชื่อว่าวันนี้เรามีตัวอย่างให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน
ท่ามกลางวิกฤตสังคมและประเทศชาติยิ่งต้องการผู้นำที่เก่งและดี แต่ช่วยเอานิยามคำว่าดีให้เป็นที่ยอมรับกันในสังคมด้วยนะครับ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองดีแต่ตรวจสอบทรัพย์สินหรือวิจารณ์ไม่ได้ อันนี้ผู้คนเขาจะเรียกว่า คนดีย์ พอมี ย.ยักษ์ และการันต์เติมเข้าไปมันไม่ค่อยจะเป็นเรื่องดีๆ ที่น่าภูมิใจสักเท่าไหร่เลย
อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 23 ของปี 2021
สรุปหนังสือ Leadershit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า
สารพันบทเรียนจากการทำงานและโลกยุคใหม่ที่อยากให้ “ผู้นำ” ทุกคนได้อ่าน
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
อ่านสรุปหนังสือของท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ต่อ > คลิ๊ก
สั่งซื้อออนไลน์ > คลิ๊ก