การ “ตีกรอบ” ให้บางเรื่อง หรือบางแง่มุมในชีวิต อาจเป็นสิ่งที่เราหลายคนเคยชินกัน เช่น กรอบความสำเร็จของชีวิต ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง มีบ้านมั้ย มีรถมั้ย มีครอบครัวมั้ย หรือ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีมั้ย หรืออาจมีอีกหน่อยเป็นมีเงินฝากเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณซักสองสามล้านมั้ย

พอมีกรอบ เราก็รู้ว่าจะต้องไปถึงแค่ไหน หรือแค่ไหนที่ไม่ต้องเกินกว่ากรอบที่กำหนดไป แม้แต่ในการทำงานการตลาด ก็ต้องมีการกำหนดกรอบการทำงาน ที่เรียกว่า Framework ว่าอะไรบ้างที่ต้องทำ เพื่อให้รู้ว่าอะไรบ้างที่ไม่ต้องทำ

เราส่วนใหญ่ชอบพูดเหมือนกันว่า ไม่ต้องการให้ชีวิตมีกรอบ แต่เรามักใช้ชีวิตแบบมีกรอบจนเคยชิน

หนุ่มเมืองจันท์ นำเสนอแนวคิดใหม่ในชื่อของฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 20 นี้ว่า “กรอบที่ไม่มีเส้น” บอกให้รู้ว่ากำหนดเป้าหมายปลายทางไว้นะ แต่ไม่มีเส้นที่ชัดเจนว่าตรงไหนหรือแค่ไหน บอกได้แค่ว่าประมาณๆนี้แหละ ยืดได้ หดได้ ไม่ตายตัว ชีวิตก็เลยมีชีวิตให้ลื่นไหล ไม่ติดกรอบที่ตีไว้ตั้งแต่เริ่ม นี่แหละ ศิลปะของการใช้ชีวิต

ให้มันปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีกรอบสำเร็จที่กำหนดในช่วงเวลานึง แล้วยึดใช้ตายตัวกัน

ตัวอย่าง “กรอบที่ไม่มีเส้น” ที่น่าสนใจของฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มนี้ก็เช่น

ใครว่าชีวิตจะเริ่มต้นใหม่ได้ต้องอยู่ในวัยหนุ่มสาวเท่านั้น

ผู้พันแซนเดอร์ ลุงหน้ายิ้มหนวดเคราสีขาวที่เป็นหุ่นตั้งอยู่หน้าร้าน KFC ทุกสาขาทั่วโลก เจ้าของสูตรไก่สุดอร่อยที่เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยกิน หรือถ้าจะมีก็คงน้อยมากๆ ที่เริ่มต้นขยายธุรกิจด้วยการขายแฟรนไชส์ในวัย 65 ปี

ครับ เริ่มต้นธุรกิจตอน 65 ปี ไปยิ่งใหญ่มีสาขาทั่วโลกตอนไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน

ถ้าลุงแซนเดอร์เริ่มต้นธุรกิจได้ในวัย 65 ปี หัวหงอกหัวขาวขนาดนั้น แล้วเราๆส่วนใหญ่ที่อ่านคอนเทนท์นี้กันจะเริ่มต้นทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้เลยหรอ

ใครว่าที่ดินมีแต่ขึ้น

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 นักธุรกิจคนหนึ่งค้นพบสัจธรรมชีวิตว่า ที่ดินราคาแพงแค่ไหนก็ไม่มีค่าถ้าแบงก์ไม่รับจำนอง

เพราะในเวลาวิกฤต สิ่งที่ดีที่สุดคือ “เงินสด” หรือ “ทอง” ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน เช็ค หุ้น อสังหา ไม่มีค่าอะไรเลย

ใครว่าคนเราจะคิดถึงคนอื่นขนาดนี้ไม่ได้

ชายคนหนึ่งรีบวิ่งขึ้นรถไฟเพราะกลัวตกขบวนรถไฟ พบว่ารองเท้าตัวเองหลุดหล่นลงไปตอนที่รถไฟวิ่งออกไปแล้ว

แทนที่เค้าจะบ่นให้กับความโชคร้ายแล้วเดินต่อไปด้วยรองเท้าข้างเดียวที่เหลือ แต่กลับเลือกที่จะถอดรองเท้าอีกข้างแล้วโยนไปให้ไกลที่สุด ให้ไปอยู่ใกล้ๆกับรองเท้าข้างแรกที่หล่นไป

คนข้างๆที่เห็นแปลกใจอย่างมากจนต้องเอ่ยปากถามว่า ทำแบบนั้นไปทำไม?

ชายคนนี้ตอบด้วยรอยยิ้มว่า ก็เผื่อว่ามีใครเก็บข้างแรกได้ ก็จะได้เจออีกข้างใกล้ๆ แล้วจะได้เอารองเท้าคู่นั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้

ชายคนนี้คือ มหาตมะ คานธี ที่คิดถึงคนอื่นอย่างสุดหัวใจครับ

ใครว่าคอนโดขายหมดวันแรกนั้นดี

อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของแบรนด์ Land & Houses ตำหนิลูกน้องเมื่อตอนไปเยี่ยมไซท์งานโครงการคอนโดมีเนียมที่เชียงใหม่ หลังจากลูกน้องดีใจที่นายแวะมาหา พร้อมกับรีบรายงานว่าคอนโดที่กำลังจะสร้างและเพิ่งเปิดจองนั้น ขายหมดจองเต็มตั้งแต่วันแรกเลย

เพราะอนันต์บอกว่า ถ้าขายหมดตั้งแต่วันแรก แสดงว่าตั้งราคาต่ำไป และถ้าตั้งราคาต่ำไปจนขายหมด แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมากระทบกับค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะอิฐ ปูน หรือน้ำมันค่าขนส่ง ก็จะไปกระทบกับต้นทุนทั้งหมด ทีนี้จากที่ขายได้คิดว่าจะเกิดรายได้ กลายเป็นขาดทุนเพราะขายราคานั้นไปแล้ว

การตั้งราคาขายที่ดีคือช่วงแรกที่เปิดให้จอง ให้ขายได้ซักครึ่งเดียวก่อน จากนั้นถ้าจองเต็มค่อยขยับราคาขายขึ้นไปอีกครั้งในระหว่างก่อสร้าง แล้วถ้าจองใกล้เต็มอีกก็ให้ขยับราคาขึ้นอีกครั้งตอนใกล้จะสร้างเสร็จ

สรุปแล้วคอนโดเดียวตั้งราคาขายได้อย่างน้อยสามครั้ง และได้ราคาที่ดีที่สุดทุกครั้ง แบบนี้ถึงจะเป็นการตั้งราคาที่ “เหมาะสม” ไม่ใช่เปิดตัวก็ขายหมด

เป็นสุดยอกกลยุทธ์การตั้งราคาจริงๆ

และชายคนนี้ก็ค้นพบอีกว่าไม่มีคนซื้อบ้านคนไหนอยากต่อเติม

อนันต์ อัศวโภคิน ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า คนที่ซื้อบ้านไปไม่มีใครอยากต่อเติมหรอก แต่ที่เห็นว่าต่อเติมกับแทบทุกคนเพราะ “ต้องทำ” เพราะบ้านที่ซื้อมานั้นเจ้าของโครงการ “มีให้ไม่ครบ” กับที่เค้าต้องใช้ เลยทำให้ต้องต่อเติมกันแทบทั้งนั้น

ใครว่าขายไม่ดีแล้วสุขไม่ได้

เจ้าของร้านกาแฟสดที่ขายดีมากในตลาดยิ่งเจริญคนหนึ่ง จากที่เคยเป็นทุกข์มานานเพราะร้านใหม่สาขา 2 ขายไม่ดีเท่าสาขาแรกเลยแม้แต่น้อย

ลงทุนไป 100,000 บาท แต่กลับได้กำไรกลับมาเดือนละแค่ 7,000 บาท แต่อยู่ดีๆมาวันหนึ่งเพียงข้ามคืนจากที่เคยทุกข์เป็นประจำ กลับมีความสุขและรอยยิ้มแทน ทั้งที่ยอดขายไม่เปลี่ยน ลูกค้าเท่าเดิม และกำไรก็ไม่เพิ่ม

แต่สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปในคืนนั้นก็คือ “ความคิด”

เจ้าของร้านคนนี้เปลี่ยนความคิดเลิกเอามาเปรียบเทียบกับสาขาแรกที่ขายดี เพราะกว่าสาขาแรกจะขายดีก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย และถ้าเปรียบเทียบกับว่าถ้าเอาเงิน 100,000 เดียวกันนี้ที่ลงทุนไปฝากธนาคาร อย่างดีทั้งปีก็ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 3% แต่นี่ได้กำไรเดือนละตั้ง 7% เยอะกว่าดอกเบี้ยจากหนึ่งปีตั้งขนาดไหน

พอคิดแค่นี้ก็ไม่ทุกข์อีกเลย สุขอย่างเดียว

สุดท้าย ถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับจินตนาการ

ถ้าซื้อเอาที่ดินกลางสุขุมวิทตารางวาละ 500,000 ขนาด 2 ไร่ รวมเป็นเงิน 400ล้านบาท มาทำสวนผลไม้ คงมีแต่คนบอกว่า “แพงชิบหาย”

แต่ถ้าเอาที่มาทำโครงการบ้านจัดสรร เป็นบ้านเดี่ยวขนาด 50 ตารางวา ทั้งโครงการสร้างได้ 16 หลัง ก็คงมีแต่คนบอกว่าโคตรแพง ไม่คุ้ม

แต่ถ้าเอาที่เดียวกันนี้มาสร้างคอนโดให้ได้ซัก 1,000 ยูนิต แล้วขายยูนิตละ 5-10 ล้าน เออ..ไม่แพงกับที่ดินราคา 400ล้าน

เห็นมั้ยครับ ถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับว่าเราจะจินตนาการมันยังไง

สุดท้ายแล้ว อีกหนึ่งข้อคิดที่น่าสนใจ ที่บอกให้เราถอยหลังออกมาหนึ่งก้าวเมื่อเราคิดว่าเรารู้อะไรดีแล้ว

เมื่อถอยออกมาหนึ่งเก้า เราจะอยู่ในจุดใหม่ รู้ใหม่ ในสิ่งที่เคยรู้ เราจะเห็นภาพรวมมากขึ้น เห็นภาพที่กว้างขึ้น และเกิดความเข้าใจมากขึ้น

ความรู้เดิม กลายเป็นความรู้ใหม่เมื่อถอยออกมามองอีกมุม

เป็นความคิดที่เป็นกรอบที่ไม่มีเส้นจริงๆครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 68 ของปี 2018

กรอบที่ไม่มีเส้น
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 20
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180526

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/