หลอกสมองให้ลองคิดกลับด้าน Law of Illusion

“เราไม่ได้เห็นโลกอย่างที่มันเป็น แต่เลือกทุกคนต่างเห็นโลกอย่างที่เราเลือกมอง”
ถ้าให้เลือกสรุปจบทั้งเล่มในหนึ่งบรรทัด ผมคงเลือกประโยคนี้

เพราะคนเราไม่ได้เห็นโลกอย่างที่มันเป็นซักเท่าไหร่ แต่เราทุกคนต่างมี “แว่นตา” ที่ใช้มองแต่ละสิ่ง แต่ละเรื่องที่ต่างกันไป คนนึงอาจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่อีกคนอาจมองเรื่องเดียวกันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เรื่องแบบนี้มีให้พบเจออยู่เป็นประจำ

เหมือนที่วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ที่นำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตสงครามโลกครั้งที่สองจนพลิกกลับมาเอาชนะนาซีได้ในครั้งนั้น เคยกล่าวเอาไว้ว่า “คนธรรมดามองเห็นปัญหาเป็นปัญหา แต่คนฉลาดมองเห็นปัญหาเป็นโอกาส” (ประโยคประมานนี้) แค่ประโยคนี้ก็ย้ำเตือนได้ดีถึง “มุมมอง” ของเรื่องเดียวกันที่ให้ผลต่างกันเกินคาด และทั้งหมดนี้ก็มาจากการ “หลอกสมองให้ลองคิดกลับด้าน” เหมือนชื่อหนังสือเล่มนี้จริงๆครับ

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบเจอเรื่องหนึ่งในชีวิต แล้วถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา มันก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เราคิดจริงๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เรากลับมองว่านั่นคือโอกาส โอกาสที่จะทำให้เราได้ปรับปรุงมันให้ดีขึ้น โอกาสที่จะทำให้เราได้ฝึกฝนให้เราเก่งขึ้น มันก็จะเป็นโอกาสอย่างที่เราเลือกมองในเรื่องเดียวกันจริงๆ

ว่ากันว่าสมองของคนเราล้วนมีส่วนประกอบและโครงสร้างแทบไม่ต่างกันนัก แต่ทำไมคนเราถึงใช้สมองที่คล้ายคลึงกันแต่กลับมีประสิทธิภาพต่างกันเหลือเกิน คนนึงเก่ง คนนึงธรรมดา ส่วนอีกคนกลับไม่ฉลาดเอาเสียเลย

ทั้งหมดนี้ผู้เขียนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสมองและความคิดกล่าวไว้ว่า ตัวสมองไม่ต่าง แต่สิ่งที่ต่างคือ “ความคิด” แค่ความคิดว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้นั้น ก็ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันมากแล้ว

ลองย้อนกลับถามตัวเองดูหน่อยมั้ยว่า อะไรบ้างที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้บ้างในตอนนี้ แล้วอยากให้เราลองคิดดูว่าถ้าในเรื่องที่เรากำลังกังวลหรือคิดว่า “ยังไงก็ทำไม่ได้นี้” ให้ลองเปลี่ยนความคิดเล่นๆใหม่ว่า “ยังไงก็ทำได้แน่ๆ” กับปัญหาเดียวกันดู แล้วคุณจะรู้ว่าคุณจะพบคำตอบให้กับปัญหานั้นได้ไม่ยากเย็น

เพราะไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณทำได้ หรือทำไม่ได้ คุณก็คิดถูกทั้งนั้น…

ลองคิดดูเล่นๆก็ได้ครับ คุณจำตอนที่คุณกำลังหัดเดินได้มั้ยครับ…คุณจำมันไม่ได้แน่ๆแหละ เพราะคุณคงยังเด็กเกินกว่าจะจำได้ ขอโทษที แหะๆ งั้นผมขอเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า คุณเคยเห็นเด็กทารกตอนที่กำลังหัดเดินมั้ยครับ

ไม่ว่าจะลูก หลาน ลูกของเพื่อนหรือญาติข้างบ้านก็แล้วแต่ คุณคงจะจำได้ว่าเด็กทารกทุกคนนั้นต่างพยายามยืนและเดินให้ได้อย่างสุดกำลัง ไม่ว่าจะล้มกี่ร้อยกี่พันครั้ง ร้องให้จ้าเพราะล้มกี่สิบกี่ร้อยครั้ง ก็ไม่เคยละความพยายามที่จะเดินให้ได้เลยซักที แม้ว่าจะต้องผ่านเวลาเป็นเดือนๆก็ยังไม่เคยละความพยายามจนสามารถเดินกันได้ทุกคน

ทั้งหมดนี้เพราะบรรดาเด็กทารกทุกคนไม่เคยมีความคิดที่ว่า “เอาเถอะ ชีวิตนี้เราคงเดินไม่ได้แน่ๆ แค่คลาดอ้อแอ้ๆได้ก็เก่งแล้ว เราจะคลานไปแบบนี้ตลอดชีวิตแหละ” ผมเชื่อว่าไม่เคยมีเด็กทารกคนไหนที่คิดแบบนี้แน่ หรืออย่างน้อยเค้าก็ไม่คิดว่าเค้าจะไม่มีทางเดินไม่ได้ เค้ารู้แค่ว่าเค้าต้องการเดิน และเค้าต้องเดินให้ได้ นี่คือความคิดในสมองของเด็กทารกทุกคน แต่แล้วพอเราโตขึ้นทำไมความคิดในสมองเรากลับเปลี่ยนไป

อุปสรรคหลายๆเรื่องผ่านเข้ามาในชีวิตแค่ไม่กี่ครั้ง หรือไม่กี่วัน ก็พาลทำให้เราคิดอยู่บ่อยๆว่า “ทำไม่ได้แน่ๆ” พาลให้เราถอดใจได้บ่อยๆล่ะครับ เราลืมไปแล้วหรอว่าเราต่างเคยเป็นแค่เด็กทารกที่ไม่คิดว่าจะเดินและวิ่งได้ด้วยซ้ำ ในวันที่เราได้แค่คลานไปรอบๆเท่านั้นเอง

ถ้าเราเชื่อว่ามันจริง มันก็มักจะจริงอย่างที่เราเชื่อแหละครับ

เหมือนเรื่องราวของร้านขายลอตเตอรี่ชื่อดังในญี่ปุ่นที่มียอดขายสูงสุดในประเทศแบบทิ้งห่างคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น

เรื่องมันเริ่มต้นที่ว่า ในกฏหมายการขายลอตเตอรี่นั้น ทุกร้านต่างถูกกำหนดให้ขายในราคาเดียวกันคือ 300 เยน ห้ามบวกหรือลดแม้แต่เยนเดียว แต่กลับมีร้านนึงที่คิดให้ตัวเองแตกต่างจากคู่แข่งในกติกาเดียวกันได้ด้วยการ เอาลอตเตอรี่ของร้านตัวเองไปให้วัดดังปลุกเสก คนก็พาลเชื่อว่าถ้าซื้อที่ร้านนี้ต้องโชคดีถูกรางวัลกว่าที่ร้านอื่นแน่ๆ

พอทีนี้ก็เริ่มขายได้มากขึ้น แล้วพอขายได้มากขึ้นก็เริ่มมีคนถูกรางวัลจากร้านนี้ขึ้นมา (แน่นอนครับคิดตามตรรกะง่ายๆ ถ้าขายได้มากขึ้นก็ย่อมมีสัดส่วนคนถูกรางวัลเยอะขึ้นนั่นเอง) พอเริ่มมีลูกค้าถูกรางวัลจากร้านตัวเองก็ยิ่งทำประกาศแปะบอกผู้คนให้รู้ว่าร้านนี้มีคนซื้อแล้วถูกรางวัลนะ พอคนเห็นว่าร้านนี้มีคนซื้อแล้วถูกรางวัลจริงๆ คนก็ยิ่งแห่มาซื้อร้านนี้มากขึ้นอีก จนทำให้มีคนถูกรางวัลบ่อยขึ้นอีก และทั้งหมดก็วนเวียนอย่างที่ผมเล่าไป จนทำให้ร้านนี้มียอดขายปีๆนึงหลายหมื่นล้านเยนมากๆครับ

แหม น่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับลอตเตอรี่บ้านเราบ้างนะครับ จะได้ไม่ต้องรอแค่หลวงพ่อให้เลขท้าย แต่ให้หลวงพ่อปลุกเสกลอตเตอรี่ให้ทั้งกระบะมันไปเลย

นี่แหละครับอีกหนึ่งพลังของความคิดที่เฮโลแห่กันเชื่อว่าซื้อร้านนี้แล้วจะดวงดี จนเกิดผลลัพธ์อย่างที่คิด

คนคิดบวก กับคนคิดลบ เราเลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหน

อยากจะบอกว่าสมองคนเราก็เหมือนหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ ยิ่งเราป้อนข้อมูลแบบไหนเข้าไปบ่อยๆ มันก็จะยิ่งกลายเป็นแบบไหน ถ้าเรายิ่งป้อนความคิดลบเข้าไปเยอะๆ เช่น เราคงทำไม่ได้ เราคงเป็นคนโชคร้าย เราก็มักจะกลายเป็นแบบนั้น แต่กับคนที่คิดบวกเป็นประจำ คิดว่าตัวเองทำได้แน่ๆ คิดว่านี่ไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นโจทย์ที่น่าท้าทาย หรือแม้แต่คิดว่าตัวเองมักเป็นคนโชคดี เค้าก็จะได้ผลลัพธ์แบบนั้นอยู่เป็นประจำครับ

เพราะสมองมีส่วนที่เรียกว่า IRA ที่จะคอยกำหนดพฤติกรรมจากหน่วยความจำของเราที่เราป้อนใส่มันบ่อยๆอย่างที่บอกไป ถ้าเราอยากเป็นคนที่มีพฤติกรรมแบบไหน มองโลกในแง่ร้าย หรือมองโลกในแง่ดี ก็รู้แล้วนะครับว่าควรจะต้องป้อนคำสั่งแบบไหนเข้าไปบ่อยๆ

เหมือนกับเรื่องราวของ โซอิจิโร่ ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งบริษัท Honda ระดับโลก

ในยุคเริ่มต้นบริษัทคุณ โซอิจิโร่ ฮอนดะ ถูกรบเร้ามือใหม่ในวงการรถยนต์ที่ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์อะไรเลยที่ชื่อ ทาเคโอะ ฟูจิซาว่า ที่เป็นเสมือนมือขวาของตัวเองว่า “ต้องสร้างมอเตอร์ไซค์รุ่น 50cc ให้ได้” แต่ทางคุณ โซอิจิโร่ ฮอนดะ ก็ตอกกลับว่า “เป็นไปไม่ได้ ในต่างประเทศแม้แต่ในฝั่งประเทศตะวันตกยังไม่มีใครทำได้เลย แล้วเราจะทำได้อย่างไร”

แต่คุณ ทาเคโอะ ฟูจิซาว่า ก็ไม่ละความพยายามและยังรบเร้าต่อว่า “ก็เพราะยังไม่มีใครทำนี่แหละยิ่งต้องรีบทำ” ในช่วงแรกทาง ฮอนดะ ไม่ได้สนใจจนผ่านไปช่วงเวลานึงเมื่อโดนรบเร้าเรื่องนี้นานขึ้น ฮอนดะ ก็เลยตัดสินใจว่า “เอาล่ะ จะลองทำดูก็ได้” จนทำให้มอเตอร์ไซค์ฮอนด้ากลายเป็นที่นิยมมากมาย และทำให้บริษัทฮอนด้ากลายเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกขึ้นมา

จะเห็นว่าเรื่องนี้เริ่มแรกจาก “ความคิด” ของเจ้าของและผู้มีความรู้ที่ถูก “กรอบ” ของ “ความรู้เดิม” นั้นตีกรอบว่า “ทำไม่ได้” แต่กับ “มือใหม่” ที่ไม่มีความรู้ก็เลย “ไม่มีกรอบ” ของความเป็นไปได้ แต่มีความคิดๆคิดว่า “น่าจะเป็นไปได้” เท่านั้นเองครับ

แค่จากคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วเปลี่ยนมาคิดว่าลองดูก็ได้ จนกระทั่งทำขึ้นมาได้ในที่สุด นี่คือจุดพลิกผันความยิ่งใหญ่ของฮอนด้า

และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุด “ทุกขปิติ” หรือความสุขที่ได้พบกับปัญหาหรือความทุกข์

นี่คือความคิดของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่มีเหมือนกัน ก็คือเมื่อเจอปัญหาเค้าจะไม่มีแต่ความทุกข์ แต่จะมีความสุขที่ได้แก้ปัญหา ได้ลองทำ ได้ลองผิด จนรู้ถูก และเมื่อมีปัญหาหรือทุกข์ใหม่ๆเข้ามา เค้าก็จะยิ่งมีความสุขสนุกไปกับการแก้ปัญหานั้นๆยิ่งขึ้น

คนเราแค่ทัศนคติต่าง ก็ต่างกันหลายขุมแล้วล่ะครับ

ส่วนตัวผมเมื่อไม่กี่เดือนก่อนผมไม่คิดว่าผมจะวิ่งได้ถึง 3 กิโล จนผมวิ่งได้ 3 กิโล และผมก็ไม่คิดว่าผมจะวิ่งได้ถึง 4 กิโล จนผมวิ่งได้เกิน 4 กิโล และผมก็เคยคิดว่าผมน่าจะวิ่งได้เต็มที่แค่ 5 กิโล แต่ผมกลับวิ่งได้ถึง 6 กิโลแล้วตอนนี้ ใครจะรู้ว่าไม่แน่วันข้างหน้าผมอาจจะไปลงมินิมาราธอนกับเค้าบ้างก็ได้ ถ้าผมคิดว่าผมทำได้…แล้วทำไมผมจะไม่ลองทำจนกว่าผมจะทำมันได้ล่ะครับ ขอให้คุณคิดว่าคุณก็ทำมันได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องไหนในชีวิตก็ตาม

จำไว้นะครับว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณทำได้ หรือทำไม่ได้ คุณคิดถูกทั้งนั้น”

ฟุมิโอะ นิชิดะ เขียน
สกล โสภิตอาชาศักดิ์ แปล
สำนักพิมพ์ MOVE Publishing

เล่มที่ 5 ของปี 2018
20180110-20180112

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/