สรุปหนังสือ ปัญญาญาณ Intuition ของ Osho เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มแรกในชุด Insight for a New Way of Living จะเรียกว่าปรมาจารย์ด้านปรัญชานักคิดก็ไม่ผิดนัก เป็นคนแรกที่ทำให้ผมเข้าถึงและหลงไหลในปรัชญาจนหามาอ่านต่อเรื่อยๆ จนช่วงนึงที่ผมอ่านติดๆหลายเล่มก็จะมีคนใกล้ตัวบอกว่าผมดูหลุดๆจากคนปกติไปหน่อย
ที่ดูว่าหลุดๆไปหน่อยก็อาจจะเพราะยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเข้าใจในชีวิต ยิ่งเข้าใจในโลก ยิ่งเข้าใจในเกมกระดานผืนใหญ่ที่เรียกกันว่าเกมชีวิตนี้มากขึ้น ก็เลยยิ่งทำให้เรารู้ว่าความจริงแล้วเราไม่ต้องเล่นตามเกมของโลก เดินตามเกมของคนอื่น หรือแม้แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างเกมใหม่ขึ้นมาให้วุ่นวายเพราะอยากเป็นผู้คุมเกม เพียงแค่รู้ว่าหยุดตัวเองจากเกมแล้วก็เดินออกมาอย่างเงียบๆ เรียบง่ายแบบนั้นเลยชีวิต
แต่เกมชีวิต คือเกมที่ใครหลายคนอยากเป็นผู้ชนะ ชนะในการแข่งขันที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย และก็เต็มไปด้วยด่านต่างๆของชีวิตที่มีให้พิชิตไม่รู้จบ
เริ่มตั้งแต่เกมแรกเกิด ก็ถูกพ่อแม่จับใส่เกมพัฒนาการให้ไม่แพ้ลูกคนอื่น เพราะกลัวน้อยหน้าชาวบ้านว่าลูกตัวเองเป็นเด็กด้อยพัฒนาการ
ถัดมาก็เป็นเกมการศึกษา ที่ต้องแข่งขันกับคนมากมายไล่ไปทีละระดับชั้น เพื่อให้เลื่อนขั้นไปเรียนชั้นสูงขึ้นยังไม่พอ บางคนยังเพิ่มความยากของเกมด้วยการต้องเป็นที่หนึ่งในห้อง ที่หนึ่งในโรงเรียน หรือที่หนึ่งของจังหวัดด้วยซ้ำ
แล้วก็มาสู่เกมความรัก ที่แข่งกันเอาชนะใจอีกฝ่ายโดยไม่ยอมให้ใจของตัวเองไป เพราะเชื่อกันว่าเกมความรักเป็นเกมที่ใครให้ใจก่อนแพ้ ก็เลยลงท้ายด้วยความรักแบบปลอมๆของทั้งสองฝ่ายที่กลัวเจ็บจนไม่ได้รู้จักคำว่าสุข
ไหนจะเกมอาชีพ ที่ตำแหน่งงานดีๆในบริษัทดีๆนั้นมีน้อยกว่าความต้องการของคนมากมาย ยิ่งถ้าตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนเยอะขึ้น ก็ต้องยิ่งเล่นเกมย่อยๆอีกมากมายอีก ไม่ว่าจะเกมการเมืองในองค์กร หรือเกมเตรียมความพร้อมก่อนสัมภาษณ์
ยังมีอีกมากมายหลายเกมที่ไม่อาจหยิบมาเล่าได้หมด แต่ Osho ทำให้ผมตระหนักได้ในบางช่วงของชีวิตว่าผมกำลังเล่นอยู่ในเกมที่ไม่จำเป็นต้องเล่น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเกมที่สังคมหล่อหลอมเสมอไป
กลับมาที่ ปัญญาญาณ เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ผมต้องกลับมาอ่านซ้ำครั้งที่สอง เพราะจำได้ว่าอ่านจบครั้งแรกไปเมื่อซัก 3-4 ปีก่อน บอกตรงๆนั้นไม่ค่อยเข้าใจอะไรเท่าไหร่เลย เรียกได้ว่าอ่านแบบเข้าตาแต่ไม่เข้าหัวก็ว่าได้
ไม่เข้าใจว่าปัญญาญาณคืออะไร ปรีชาญาณคืออะไร แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วครับว่า ปัญญาญาณคือการรู้ ส่วนปรีชาญาณคือความรู้
การรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยกำหนดไม่ได้ ตั้งใจไม่ได้ เสมือนกับภาวะที่เรียกว่า “หยั่งรู้” หรือถ้าให้ภาษาชาวบ้านหน่อยก็ “ปิ๊งไอเดีย” บางอย่างขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจคิด แต่ตอนที่ตั้งใจคิดกลับคิดไม่ออกแบบนี้
ส่วนปรีชาญาณคือความรู้ ที่มาจากการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้
แต่นักคิดอัจฉริยะส่วนใหญ่บนโลก ต่างใช้ปัญญาณาญในการค้นพบความจริงที่กลายเป็นความรู้สำคัญของโลกหลายต่อหลายครั้ง
ว่ากันว่าไอน์สไตน์ ติดนิสัยชอบเล่นกับฟองสบู่เวลาอาบน้ำ จนทำให้อาบน้ำทีกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะหลายครั้งความคิดที่น่าทึ่งของไอน์สไตน์ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้แหละ
เหมือนหลายครั้งเวลาที่ผมคิดงานไม่ออกแล้วไปอาบน้ำ ก็ชอบคิดงานออกได้ตอนนั้นเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ดังนั้นถ้าคุณอยากเข้าถึงปัญญาญาณที่เป็นความรู้ที่จริงแท้ของชีวิต ไม่ใช่แค่ปรีชาญาณที่เป็นความรู้ทั่วไปที่ใครๆก็มีได้ หนังสือเล่มนี้ของ Osho จะเปิดความจริงให้คุณได้เห็นทางที่จะเข้าใจ
แต่ที่สำคัญคือคุณต้องอ่านอย่างเปิดใจ อย่าเพิ่งตั้งแง่เมื่อเจอบางประโยคที่ขัดกับที่คุณเคยรู้ เพราะ Osho พูดอย่างจริงใจเพื่อต้องการกระแทกเปลือกบางๆที่เกาะอยู่ในใจคุณออกไปนั่นเอง
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 97 ของปี 2018
สรุปหนังสือ ปัญญาญาณ Intuition
การรู้..ที่อยู่ “นอกเหนือเหตุผล”
Osho เขียน
ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด แปล
สำนักพิมพ์ Freemind
20180730
อ่านสรุปหนังสือเล่มอื่นของ Osho ต่อ https://summaread.net/category/osho/
สนใจสั่งซื้อได้ที่ https://www.hardcovershoponline.com/products/osho-6