วิชาความสุข ที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด Happier

“ความสุขของเราคืออะไร?” และ “ทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นความสุขของเรา?”

คำถามแรกคือคำถามที่ผุดขึ้นมาทันทีเมื่อเริ่มอ่านและอ่านจบ ส่วนคำถามที่สองเริ่มโผล่ออกมาเมื่อย้อนคิดถึงคำถามแรก

ถ้าจะบอกว่าความสุขคือจุดมุ่งหมายสูงสุดในการใช้ชีวิตของคนเราก็ไม่ผิดนัก เพราะทุกคนต่างก็ดิ้นรนแสวงหาความสุขกันทั้งนั้น เพียงแต่ “ความสุขของเราคืออะไร?” นี่คือคำถามที่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีคำตอบในใจอยู่แล้ว

เช่น มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวให้อยู่สุขสบาย (บางคนต้องการเดือนละสองหมื่น แต่บางคนก็ต้องการเดือนละสองล้าน) หรืออาจจะเป็น เมื่อทำธุรกิจประสบความสำเร็จจนมีเงินเก็บถึงจุดนึง (บางคนต้องการสิบล้านบาท หรือบางคนก็ต้องการร้อยล้านบาทขึ้นไป) หรือบางคนอาจจะเป็นการที่ได้เรียนจบเกรียตินิยม หรืออาจจะเป็นการได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคงและมีชื่อเสียง หรืออาจจะเป็นการได้มีตำแหน่งใหญ่โต เป็น VP หรือบอร์ดบริหาร หรือบางคนอาจจะแค่ได้กินของอร่อยๆอย่างไอศกรีมซักแท่ง

นั่นแหละครับความสุขที่ต่างกันไปของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่ก็คงคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงิน บ้าน รถ งาน สถานะทางสังคม อะไรทำนองนี้ ว่าแต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความสุขของคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ได้อย่างไร

เพราะค่านิยมของคำว่า “ความสำเร็จ” ครับ

ค่านิยมของคำว่า “ความสำเร็จ” คือที่สังคมรอบตัวปลูกฝังเรามาตั้งแต่เด็ก เราถูกสั่งสอนให้ต้องเป็นคนที่ “ประสบความสำเร็จ” ในชีวิตให้ได้ แล้วก็ถูกปลูกฝังต่อว่าต้องมีบ้าน มีครอบครัว มีหน้าที่การงานที่ดี (ไม่รู้ว่าไอ้หัวข้อการมีบ้านนี่เป็นโฆษณาระดับจิตสำนึกให้ต้องมีบ้านกันทุกคนเลยรึเปล่านะ) เลยไม่แน่ใจว่าคำว่า “ความสุข” ทุกวันนี้คือความสุขจริงๆ หรือเป็นเพียงแค่ “ชุดความคิด” ที่ส่งต่อให้กัน

หนังสือเล่มนี้สอนให้เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “ความสุข” ที่แท้จริงของเราคืออะไร ถ้าเรายังยืนยันว่า “เงิน” หรือ “หน้าที่การงาน” หนังสือเล่มนี้ท้าทายให้เราถามตัวเองให้ลึกลงไปอีกข้อสู่คำถามที่สองที่ผมบอกไว้แต่ต้นว่า “ทำไมสิ่งนี้ถึงกลายเป็นความสุขของเรา?”

ครับ ทำไมเงินถึงกลายเป็นความสุขของเรา?

ทำไมการมีบ้านถึงกลายเป็นความสุขของเรา?

หรือทำไมการมีคนรักถึงกลายเป็นความสุขของเรา?

หรือแม้แต่ทำไมการได้มีตำแหน่งใหญ่โตในหน้าที่การงานถึงกลายเป็นความสุขของเรา?

เราเคยถามคำถามนี้กับตัวเองบ้างมั้ยครับว่าทำไม “สิ่งต่างๆ” ที่เป็น “เงื่อนไขที่จะทำให้เรามีความสุข” ถึงกลายเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งๆที่ทำไมตอนเด็กเรากลับมีความสุขได้กับเรื่องง่ายๆ อย่างการได้เล่นน้ำในกาละมัง หรือการได้กินไอศกรีมจากรถเข็นซักแท่ง

ทำไมยิ่งโตขึ้นความสุขเรายิ่งดู “ยากขึ้น” และ “แพงขึ้น” เรื่อยๆล่ะ…ทำไม

ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าให้เราละความทะยานอยากที่เคยมีไปทั้งหมด

แต่แค่ให้เราถามตัวเองกลับว่าทั้งหมดที่เรากำลังทำไปให้ถึงความสุขที่เป็นเป้าหมายเรานั้นมันจะทำให้เรามีความสุขจริงๆหรอ หรือเมื่อพอไปถึงจุดหมายนั้นเราก็ต้องหาเป้าหมายต่อไปเพื่อวิ่งแข่งสู่เป้าหมายเข้าไปเรื่อยๆ หรือจริงๆแล้วการวิ่งแข่งคือความสุขของคนบางคนกันแน่

หนังสือเล่มนี้เตือนสติให้ผมได้กลับมาคิดนิดนึงว่า การที่เราจะมีเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องหา “ความหมาย” ให้กับเป้าหมายนั้นด้วยว่าทำไมถึงต้องเป็นเป้าหมายนี้ เพื่อที่จะทำให้ระหว่างทางที่เรากำลังจะเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นมีความหมายยิ่งขึ้น

อย่างใช้ชีวิตเหมือนการขับรถเพื่อมุ่งไปให้สู่เป้าหมายจนลืมมองความสวยงามที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

แต่จงใช้ชีวิตให้เหมือนกับการจิบไวน์ ที่ค่อยๆละเมียดในการจิบ ในการดม ในการกระดกเพื่อให้ดื่มด่ำเต็มอิ่มกับความสุขในการดื่มไวน์ฉันใด การใช้ชีวิตให้ละเมียด ให้ละเอียด ให้มีจังหวะช้า ก็เหมือนการใช้ชีวิตให้เป็นฉันนั้น

หนังสือเล่มนี้บอกว่าคนเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตออกเป็นสี่กลุ่ม

1. หนูวิ่งแข่ง คือพวกที่ยอมทุกข์ในวันนี้เพื่อความสุขในวันหน้า วิ่งเหนื่อยไปเรื่อยๆคว้าก้อนเนยรางวัลก้อนใหม่ๆไปเรื่อยๆ

2. เจ้าสำราญ คือไม่ยอมรับความทุกข์ใดๆ ใช้ชีวิตเพื่อความสุขในตอนนี้เท่านั้น ผลเสียอาจเสพย์ติดความสุขระยะสั้นจนเหมือนคนติดยาได้ในระยะยาว

3. คนหดหู่ ที่ติดอยู่กับอดีตที่เป็นทุกข์ จนมองภาพอนาคตก็เป็นทุกข์ ไม่เหลือที่ให้ความสุขมีโอกาสเข้ามาเลย คนกลุ่มนี้คือคนที่คิดว่าพรุ่งนี้จะไม่มีวันดีขึ้น และวันนี้ก็แย่ยิ่งกว่าเมื่อวาน

4. คนที่มองหาทั้งความพอใจและความหมาย ความพอใจในความสุขปัจจุบัน และความหมายของเป้าหมายในระยะยาวที่มีค่า คนกลุ่มนี้คือคนที่มีความสุขกับชีวิตมากกว่า 3 กลุ่มแรก เค้าต้องเผชิญกับความทุกข์และปัญหา แต่เค้าก็จะสนุกกับการแก้ไขมันและกลับมามีความสุขได้ในระยะเวลาไม่นาน

ถ้าเรามีเป้าหมายที่มีความหมาย ระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายเราก็จะมีความสุขมากกว่าการใช้ชีวิตแบบมีแต่เป้าหมายที่ไร้ซึ่งความหมาย

นี่คือหนึ่งในวิชาความสุขที่ไม่มีมหาลัยไหนๆในเมืองไทยสอน แต่ฮาร์วาร์ด มหาลัยที่ขึ้นชื่อเรื่องวิชาการความโหดหินนั้นกลับมีสอน คงถึงเวลาที่เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเองจริงๆซักทีว่า เป้าหมายที่เรามีให้ตัวเองนั้นแท้จริงแล้วความหมายมันคืออะไร

ถ้าเป้าหมายนั้นไม่มีความหมาย แล้วคุณอยากจะเสียเวลาที่ลดน้อยลงเรื่อยๆในชีวิตคุณให้กับเป้าหมายนั้นอยู่หรือไม่

ส่วนสำหรับผม..ผมพอเริ่มจะมีคำตอบให้ตัวเองบ้างแล้วครับ

Tal Ben-Shahar เขียน
พรเลิศ อิฐฐ์ แปล
สำนักพิมพ์ WeLearn

เล่มที่ 6 ของปี 2018
20180115

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/