สรุปอย่างย่อ หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจแก่นของชาวสวีเดน ดินแดนกำเนิดแบรนด์ IKEA ที่ว่าด้วยหลักของความ “พอดีที่ดีพอ” ไม่ใช่แค่พอดีแบบผ่านๆ แต่พอดีในแบบที่ถ้ามันดีพอแล้วก็พอ ไม่ต้องเพอร์เฟคนักหรอกชีวิต ให้มันมีจังหวะชีวิต มีช่องว่างให้หายใจหายคอบ้าง
ดังนั้นถ้าใครเป็นสายสโลว์ไลฟ์แบบมีความรับผิดชอบ ผมว่าหนังสือเล่มนี้ใช่กับคุณเลย หรือถ้าใครที่เป็นพวกตึงไปก็ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อจะได้เห็นวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจทำให้คุณผ่อนคลายเป็นสุขมากขึ้นก็ได้
หนังสือปรัชญาการใช้ชีวิตเล่มนี้แปลกกว่าเล่มอื่น ตรงที่มีสูตรอาหารแบบ lagom ของชาวสวีเดนมากมายให้ลองทำ เรียกได้ว่าถ้าใครที่ชอบทำอาหารก็เหมาะที่จะลองทำอาหารแบบ lagom แล้วขายออนไลน์ดูก็ได้นะครับ
สรุปอย่างย่อผ่านไปก็เข้าสู่สรุปอย่างยาว แต่เชื่อมั้ยว่าเนื้อหาเล่มนี้อ่านดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรให้ต้องพับเก็บไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ก็จะพยายามไม่ให้มันซีเรียสหรือจริงจังเกินไปกับการเขียนสรุปเล่มนี้ เพราะเดี๋ยวมันจะผิดกับคอนเซปเล่มครับ
ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าแล้ว lagom มันหน้าตาเป็นยังไง คุณลองนึกตัวอย่างถึงนมกึ่งพร่องมันเนยดูแล้วกัน
นมกึ่งพร่องมันเนยคือนมที่ดีกว่านมทั่วไปที่มีเนย แต่ก็ยังไม่ได้ดีที่สุดเหมือนนมพร่องมันเนย 100% เพราะถ้ามากไปบางที 10% สุดท้ายอาจต้องใช้เวลาถึง 90% ในการทำ ดังนั้นก็ทำให้มันกึ่งพร่องมันเนยนี่แหละ เอาซัก 90% ให้เป็นนมที่ดี อีก 10% ก็ให้มันเหลือเอาไว้บ้าง ให้ชีวิตมันมีสีสัน เพื่อจะได้เอาเวลาไปใช้กับอย่างอื่นได้มากขึ้น
เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงเวลาผมทำงานเหมือนกันนะครับ ส่วนใหญ่เรามักจะใช้เวลา 20% เพื่อทำงาน 80% ให้สำเร็จ อย่างการทำพรีเซนเทชั่นหรือคิดไอเดีย และเราต้องใช้เวลาอีกเยอะมากเพื่อทำให้มัน complete 100% หรือเรียกได้ว่าดีจนแทบไม่เหลือที่ติ
ถ้าเรารู้จักใช้เวลาแค่พอดีเพื่อทำให้มันดีพอ เราก็จะได้มีเวลาทำอะไรดีๆให้กับชีวิตอีกเยอะ อย่าไปซีเรียสกับชีวิตเกินไป แต่ก็ไม่ได้บอกให้ต้องชุ่ยๆไปกับการใช้ชีวิตนะครับ
เพราะการทำงานมากขึ้นให้ได้เงินมากขึ้นนั้นอาจไม่ใช่ความสุขสำเร็จของชีวิตเสียทีเดีย
มีการวิจัยออกมาแล้วว่าการที่เราได้รายได้มากขึ้นจะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นถึงแค่จุดหนึ่ง พอเลยจุดนั้นแล้วเงินที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเท่าไหร่นัก ดังนั้นการมีเงินมากๆไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอ คุณแค่ทำงานให้ได้เงินเท่าที่คุณต้องการและใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย แต่ไม่ต้องถึงขนาดให้ได้ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟู่ฟ่า เพราะแบบนั้นอาจทำให้คุณมีช่วงเวลาที่เครียดมากกว่าที่คิดว่าจะสุขก็ได้ครับ
การทำงานแบบ “ลากอม” ก็ไม่เหมือนใคร เค้าบอกว่าให้ทำไปซักพักแล้วก็หยุดพักเบรกจิบกาแฟคุยกันบ้าง อย่าก้มหน้าก้มทำทำงานจนหน้าดำคร่ำเครียด
เพราะมีการศึกษามาแล้วว่า สมองของเรานั้นจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้หยุดพักทุกๆ 90 นาที และสูตรของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้สูงสุดคือ พัก 17 นาทีทุกๆการทำงาน 52 นาที
พักเพื่อเริ่ม เครื่องยนต์ถ้าเอาแต่เร่งมันยังพังเร็วเลย แล้วนับประสาอะไรกับสมองก้อนนิ่มๆล่ะครับ
และแม้ว่าชาวสวีเดนจะมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่กลับได้อันดับ 6 ในดัชนีความสามารถในการแข่งขันโลกเชียวนะครับ
เห็นมั้ยครับว่าทำน้อยได้มากมีจริงๆ ทำแค่พอดีให้ดีพอ ทำแบบ Lagom ไม่ใช่นั่งทำงานจนหลังค่อมครับ
วิถีแบบ lagom นั้นจะว่าเป็นพวกสโลว์ไลฟ์ก็ว่าได้ เพราะชาวสวีเดนชอบเดินเข้าป่าเพื่อไปหาของป่าออกมากินกันเป็นจริงเป็นจังด้วย อย่างบลูเบอร์รี่ในฤดูร้อนที่มีให้เก็บฟรีกันเต็มป่า แต่คุณอาจจะคิดว่าจะเหลือไว้ให้คนอื่นเก็บกินได้ด้วยหรอ ไม่ได้มีใครมาเก็บของฟรีจากป่าไปขายหมดหรอ
ก็วิถีแบบ lagom ของชาวสวีเดนไม่ใช่แบบนั้นนิครับ เค้าเก็บแค่พอดี แค่พอกิน แค่พออิ่ม แค่พอสุขสันต์เท่านั้นเอง
อีกหนึ่งวิถี lagom ที่น่าสนใจคือ ด้วยความที่เค้าจะทำอะไรแบบพอดีๆ ไม่ต้องมากจนล้นเกิน เอาแค่เท่าที่ต้องใช้ต้องทำ ก็เลยเกิดสิ่งหนึ่งที่ชื่อว่า kopstopp อ่านว่า เคิพสต็อพพ์
เคิพสต็อพพ์ คือการตัดสินใจหยุดซื้อทุกสิ่งอย่างช่วงหนึ่ง ทำให้เราตระหนักว่าบางครั้งสิ่งที่ซื้อนั้นก็ไม่ได้จำเป็นเลย
บางคนถึงขั้นไม่ซื้ออะไรเลยนอกจากอาหารเป็นเวลาหนึ่งเดือน นอกจากช่วยประหยัดเงินแล้วก็ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะทุกอย่างที่เราซื้อล้วนมาจากธรรมชาติทั้งนั้นจริงมั้ยครับ
แถมยังเป็นการลดวิถีบริโภคนิยมที่ทำกันไปในตัวด้วยครับ
หรือถ้าจะช้อปเค้าก็จะลดการรบกวนโลก ด้วยการเอาถ้วย ชาม ขวด โหล หรือกล่องไปใส่สินค้าที่ต้องการเอง
เพราะที่สวีเดนนั้นมีร้านขายของแบบคิดตามน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรืออื่นๆเริ่มมีมากขึ้นในสวีเดน เป็นร้านที่ไม่มีภาชนะให้ คุณต้องหาอะไรมาใส่กลับบ้านไปเอง ผมว่าก็คล้ายๆตลาดบ้านเราแต่ไม่มีถุง เหมือนสั่งแม่ค้าขอผักกาดสองหัวก็เอาใส่ตะกร้าตัวเองกลับบ้าน
เป็นการลดการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์ลงได้อย่างน่าสนใจมากครับ
เอาล่ะ ผมว่าสรุปไว้ซักประมานนี้แหละกำลังพอดี ไม่อย่างนั้นมันจะมากเกินไปจนไม่เหลืออะไรให้คุณอ่าน ผมอยากให้คุณได้ลองอ่านเอง โดยเฉพาะในวันที่เราต่างใช้ชีวิตกันเร่งรีบเหลือเกิน
หยุดเพื่อเริ่ม เริ่มเพื่อหยุด แต่ถ้าคุณเริ่มอ่านไปซักพัก คุณอาจจะไม่อยากให้มันจบก็ได้ครับ เพราะเนื้อหามันดีเกินที่คิดจริงๆ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 15 ของปี 2019
Lagom ความพอดีนี่แหละดีที่สุด
Linnea Dunne เขียน
รัตนา ธรรมพักตรกุล แปล
สำนักพิมพ์ STEPS ในเครือบริษัทอมรินทร์
20190313