THE ART OF POWER ศิลปะแห่งอำนาจ ติช นัท ฮันห์

อำนาจคืออะไร?

เมื่อก่อนจะอ่านหนังสือเล่มนี้ของท่าน ติช นัท ฮันห์ (พระชาวเวียดนามที่ดูเหมือนว่าน่าจะเข้าใจเรื่องเซน และหลักของพุทธแบบถึงแก่นในแบบของท่านเองด้วยเช่นกัน) ในความเข้าใจของผมถึง “อำนาจ” คือ พลัง หมายถึงขุมพลัง หรือความแข็งแกร่ง ถ้าเปรียบเป็นคนก็นึกถึง Superman เลยก็ได้ ยอดมนุษย์ที่เสมือนเทพเหนือกว่ายอดมนุษย์ทั้งมวลในจักวาล DC ดังนั้น “อำนาจ” หรือ Power นั้นก็คงหมายถึงพลังที่ทำให้เราเหนือกว่าผู้อื่นทั้งมวล ไม่ว่าจะด้วยร่างกาย เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ตำแหน่ง

แต่ในความเข้าใจใหม่ที่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจความหมายของ “อำนาจ” หรือ Power ที่ลึกซึ้งแต่เรียบง่าย อ่อนโยนและทรงพลังยิ่งกว่า ก็คือ “ใจ” พลังที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอกอย่างที่เราคุ้นกัน แต่กลับมาจากปัจจัยภายในที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน นั้นก็คือ “ความคิด” หรือ “จิตใจ” ของเรานั่นเอง

เพราะเหมือนสุภาษิตที่บอกว่า เห็นช้างตัวเท่ามด เห็นมดตัวเท่าช้าง ก็เป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าปัญหาหรือสิ่งต่างๆจะเล็กหรือใหญ่ จะเลวหรือร้าย นั้นขึ้นอยู่กับเราหาใช่ปัจจัยอื่นใดภายนอกไม่

เช่น งาน

ยิ่งเราทุ่มเทให้กับการงาน จนเรามีตำแหน่งใหญ่โต มีทรัพย์สมบัติรายได้มากขึ้นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรากลับยิ่งมี “พลัง” หรือ “อำนาจ” น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะ “กลัว” ที่จะสูญเสียพลัง หรืออำนาจที่ได้มานั้นไป จนทำให้อำนาจที่เราควรเป็นนายมัน แท้จริงแล้วมันกลับเป็นนายเรา อำนาจเหล่านั้นทำให้เราต้องติดอยู่ในวังวนของการ “รักษา” อำนาจนั้นให้อยู่กับเรานานๆ ไม่ลดน้อยถอยลง

เห็นมั้ยครับว่า ไม่รู้ว่าตกลงใครเป็นนายใครกันแน่ ยิ่งมีเหมือนยิ่งขาด ยิ่งมากเหมือนยิ่งน้อย

พระพุทธเจ้าเคยยกตัวอย่างเรื่องนี้มาเรื่องหนึ่งว่า นกตัวเล็กๆตัวหนึ่งที่ฉกชิ้นเนื้อจากคนขายเนื้อ นกตัวนั้นบินขึ้นฟ้า มันพบกับนกตัวใหญ่ที่บินมาและพยายามที่จะแย่งเนื้อชิ้นนั้น เจ้านกตัวเล็กรู้ว่ามันคงถูกนกตัวใหญ่ฆ่าอย่างแน่นอนหากไม่ปล่อยชิ้นเนื้อ ทั้งๆที่รู้ มันยังคงไม่อาจปล่อยชิ้นเนื้อนั้นได้

เหมือนมั้ยครับ? เหมือนกับชีวิตของเราส่วนใหญ่ หรือบางครั้งบางช่วงในชีวิตเรามั้ยครับ ที่เรารู้ว่าสุดท้ายมันคงไม่รอดแต่เราก็ยังพยายามฝืนมันไว้เพราะหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์

เงินทองก็เหมือนกัน เราจะเห็นว่าเงินทั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจำเป็นต้องถวิลหาเลย เราต้องการเงินสำหรับการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน แต่ไม่จำเป็นที่ต้องมีอะไรมากๆ

เราต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น อยากมีบ้านหลังใหญ่ๆ อยากกินอาหารดีๆ หายากๆ ราคาแพงๆ ทั้งๆที่ปัจจัยพื้นฐานที่เราต้องการนั้นน้อยนิดกว่านั้นเยอะ เราต้องการพื้นที่แค่ไม่กี่เสื่อเพื่อนอนหลับให้เต็มอิ่ม เราต้องการอาหารแค่นิดเดียวเพื่อให้เราอิ่มท้องได้ทั้งวัน

จนเรามักคิดว่าการได้วิ่งไล่ล่าเป้าหมายอะไรบางอย่างคือ “ความสุข” ของชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วนการไล่ล่าอะไรบางอย่างหาใช่ความสุขไม่ นั่นคือ “ความตื่นเต้น” ต่างหาก

เราต้องแยกให้ออกระหว่างความสุข ความตื่นเต้น คนส่วนมากคิดว่าความตื่นเต้นคือความสุข สำหรับบางคนการคิดถึงอะไรซักอย่าง หรือคาดหวังถึงบางสิ่งที่คิดว่าเป็นความสุข เพียงเท่านั้นเขาก็เป็นสุขแล้ว

สมมุติว่าเรากำลังเดินอยู่ในทะเลทราย เรากำลังจะตายเพราะความกระหายน้ำ ทันใดนั้นเราเห็นแหล่งน้ำอยู่ไกลๆ เรารู้ดีว่าทันทีที่เราไปถึงที่นั่นเราจะได้กินน้ำมากมายในลำธาร และเราจะรอดชีวิต แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นหรือดื่มน้ำนั้นจริงๆ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงบางสิ่งในใจ นั่นคือความตื่นเต้น ความหวัง ความปิติเบิกบาน แต่ยังไม่ใช่ความสุข ความสุขจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ดื่มน้ำและความกระหายได้ถูกระงับไปแล้วจริงๆเท่านั้น

เหมือนเราสามารถซื้อลูกเทนนิสได้ แต่เราไม่สามารถซื้อความสุขจากการเล่นเทนนิสได้ เราต้องลงมือทำมันด้วยตัวเองถึงจะพบกับความสุขนั้น

หรือเราสามารถซื้อชุดออกกำลังกายสวยงาม กับรองเท้าวิ่งรุ่นที่ดีที่สุดได้ แต่เราไม่สามารถซื้อหาความสุขหรือประสบการณ์จากการวิ่งนั้นได้

หรือเราสามารถซื้อถ้วยรางวัลหรือจ่ายสินบนใต้โต๊ะเพื่อรับรางวัลบุคคลดีเด่นได้ แต่เราไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าของการได้มาถึงสิ่งนั้นได้

เราต้องแยกให้ออกระหว่างความจริงกับความเท็จ

แต่หลายคนก็มักจะกังวลถึงความสุขไป “ล่วงหน้า” ว่าเดี๋ยวความสุขก็คงหมดไป และความทุกข์ก็คงจะเข้ามาแน่ๆ จนทำให้ช่วงเวลาที่ควรจะมีความสุขนั้นกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เราเฝ้ารอควาทุกข์ที่เราไม่ต้องการ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ความสุขนั้นมีอยู่นานเพียงแค่หนึ่งลมหายใจ หรือหนึ่งก้าวเดิน เมื่อเรารู้ถึงศิลปะของการสร้างสติ สมาธิ และปัญญา เราก็จะรู้ว่าเราสามารถสร้างความสุขขึ้นใหม่ในลมหายใจหรือก้าวต่อไปได้

ง่ายใช่มั้ยครับความสุขที่เราต่างก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะมา แท้จริงนั้นกลับอยู่ในตัวเรามาตลอด

สุดท้ายนี้การมี “อำนาจ” หรือการ “เป็นเจ้าของ” นั้นไม่ได้หมายถึงความสามารถในการได้มา หรือครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่หมายถึงความสามารถในการ “สูญเสีย” มันไปต่างหากครับ

ถ้าเรามีแต่เราไม่กล้าทิ้งมันไป นั่นไม่ใช่ของเรา แต่เราต่างหากที่เป็นของมัน

ขอให้คุณพบกับอำนาจ หรือพลังในตัวคุณ ที่เราทุกคนต่างหลงลืมมันไปเสียนาน เราได้แต่พยายามมองหาจากโลกภายนอกอยู่ทุกวัน จนลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่สุดนั้นกลับอยู่ภายในตัวเราเสมอมา

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 24 ของปี 2018

THE ART OF POWER ศิลปะแห่งอำนาจ
ติช นัท ฮันห์ เขียน
จิตร์ ตัณฑเสถียร และสังฆะหมู่บ้านพลัมประเทศไทย แปล
สำนักพิมพ์ Freemind

20180224

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/