หนังสือชุดอ่านการเมืองไทยผมมีเก็บเป็นกองดองไว้มานานมาก พอดีถึงโอกาสที่การเมืองบ้านเรากำลังร้อนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา ก็เลยถือโอกาสหยิบเอามาอ่านดูสักครั้ง แล้วยิ่งชื่อเล่มนี้คือ “การเมืองเรื่องผีทักษิณ” ยิ่งทำให้รู้สึกอยากลองหยิบมาตั้งใจอ่านจริงๆ ดูสักที ใจหนึ่งคืออยากรู้ว่าทักษิณในวันนั้นกับทักษิณในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปก็อยากรู้ว่าเปลี่ยนไปมากขนาดไหนครับ
แต่ต้องบอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้เขียนมาตั้งแต่ปี 2553 สมัยยังมีม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง การเมืองไทยยังคงวุ่นวายอยู่กับแค่คำว่าทักษิณ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ร่วม 14 ปีแล้ว เรามาลองดูกันดีกว่าครับว่าหนังสือชุดอ่านการเมืองไทยเล่ม 1 การเมืองเรื่องผีทักษิณนี้มีอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้าง
จุดกำเนิดม็อบยังเหมือนเดิม
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้คำตอบไว้น่าสนใจว่า ม็อบ นั้นเกิดขึ้นเพราะไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้พูด ได้แสดงออก ได้รู้สึกว่ามีคนรับรู้รับฟังตามระบบ ด้วยความที่ระเบียบราชการการปกครองของไทยดูเหมือนไม่ได้ให้ค่ากับเสียงของประชาชนแต่อย่างไร
ร้องเรียนไปก็เท่านั้น เรียกร้องไปก็ไม่เกิดผล พวกเขาเลยต้องก่อร่างสร้างม็อบออกมาประท้วงตามจุดต่างๆ นั่นก็เพื่อให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในการพูด การแสดงออก ให้ได้รับความสนใจ ซึ่งถ้าระบบการเมืองการปกครองดีมีการรับฟังและรับรู้ปัญหารวมถึงการแก้ไขที่ดีพอก็คงไม่ต้องเกิดม็อบขึ้นมามั้ง
ไม่ว่าจะม็อบเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองวันนั้น หรือกับม็อบระหว่างก่อนเลือกตั้งเมื่อปีก่อนไม่นานมานี้ ก็จะเห็นว่าล้วนอยู่ในเหตุผลหรือบริบทเดียวกัน คือเรียกร้องอะไรไปก็ไม่ฟัง จนทำให้ต้องออกมารวมตัวลงถนนประท้วงจึงจะเริ่มมีคนอยากฟัง โดยเฉพาะบรรดาท่านๆ ในสภาทั้งหลาย
ดังนั้นถนนจึงยังกลายเป็นเวทีทางการเมืองไทยไปอีกนาน ตราบใดที่ระบบราชการยังคงทำงานกันเหมือนเดิม
มีความขัดแย้ง แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรง
แง่มุมนี้ก็น่าสนใจครับ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่อยู่คู่กับสังคม เพราะไม่มีทางที่ทุกผู้คนจะคิดเห็นตรงกัน ความขัดแย้งนั้นมีข้อดีตรงที่ทำให้เราต้องคิดและพูดคุยถกเหตุผลกัน ส่วนเหตุผลใครจะได้รับความยอมรับมากกว่านั้น ก็ล้วนแต่จะทำให้สังคมพัฒนาไปอีกระดับ
แต่สังคมไทยเท่าที่เห็นเมื่อเกิดความขัดแย้งมากจะตามมาด้วยความรุนแรง จนทำให้สังคมเราพยายามพร่ำบอกว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ทั้งที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องเห็นแย้ง เห็นต่าง และขัดกันทางความคิด แต่เราไม่จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้งนั้น
ถ้าย้อนกลับไปดูม็อบก่อนหน้าที่เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็สามารถย้อนกลับไปได้จากข้อก่อนหน้าคือพวกเขาไม่รู้สึกว่ามีพื้นที่รับฟังปัญหาความคับข้องใจ ก็เลยต้องเริ่มออกมาลงถนน จากนั้นก็เริ่มเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อเกิดความนรุนแรงขึ้นจนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือทรัพย์สินเสียหาย ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่พัฒนาไปไหน กลัวความขัดแย้งเพราะคิดว่า ความขัดแย้ง = ความรุนแรง ทั้งที่ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายก็ล้วนมีความขัดแย้งเห็นต่างกันเป็นประจำ แต่ความรุนแรงอาจไม่ได้เกิดขึ้นตามมาทุกครั้งไป
ดังนั้นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือต้องปล่อยให้ความขัดแย้งได้ขัดเกลาความคิดของคนในสังคม แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรง และนั่นหมายความว่าระบอบ ระเบียบ กฏหมายต้องยุติธรรมหรือเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่คนนึงได้พักโทษสบายๆ ส่วนอีกคนอยู่ภายในเงื่อนไขเดียวกันแต่กลับไม่เคยได้รับการพิจารณาพักโทษเสียที
ถ้าเราเอาแต่กด แต่เอากลบว่าสังคมไทยห้ามเกิดความขัดแย้ง สุดท้ายมันก็จะปะทุออกมากลายเป็นความรุนแรงแล้วก็เกิดความสูญเสียในที่สุด
พอนะครับที่บอกว่าเราจะก้าวข้ามความขัดแย้ง จะรีบก้าวข้ามไปไหน ทำไมไม่ทำความเข้าใจความขัดแย้งนั้นก่อนว่า แย้งทำไม ขัดตรงไหน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้งแต่ไม่เกิดความรุนแรงให้เป็น เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่คิดต่างให้เป็น โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย ถ้าจะให้ทุกคนคิดเหมือนกันทั้งประเทศชาติก็ไม่ต้องสร้างนโยบายหรือคำขวัญว่า “ริเริ่ม” หรือ “สร้างสรรค์” หรอกครับ
ส่วนคำพูดที่บอกว่า “คิดอะไรที่มันสร้างสรรค์หน่อย” ก็กลายเป็นการเอาคำว่า “สร้างสรรค์” ไปทำให้เสื่อม ทำให้หมองยิ่งกว่าเดิม เพราะบริบทของผู้พูดจากที่ผมสังเกตมักจะเป็นผู้มีอำนาจใหญ่โต ถูกตั้งคำถามจากผู้ไม่มีอำนาจถึงสิ่งที่ไม่ชอบธรรม พอคำถามนั้นไม่ชอบใจก็เลยพยายามยัดเยียดว่าความคิดเหล่านั้นไม่สร้างสรรค์ ทั้งที่พวกท่านไม่ค่อยจะเปิดรับความคิดสร้างสรรค์สักเท่าไหร่เลย
ย้ำอีกครั้งนะครับว่าความขัดแย้งกับความรุนแรงเป็นคนละเรื่องกัน แต่ความรุนแรงมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งที่ไม่ได้รับความสนใจ ความเป็นธรรมจนเกิดคับแค้นใจได้
วิกฤตชนชั้นนำไทยเกิดเพราะไม่ใส่ใจลูกค้า
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจครับ หนังสือเล่มนี้บอกว่าวิกฤตชนชั้นนำไทยเกิดขึ้นเพราะไม่ใส่ใจคนชนชั้นกลางที่เป็นลูกค้าสักเท่าไหร่ ทำให้การรัฐประหารจากเดิมเคยได้รับความชอบธรรมจากคนชนชั้นกลางในเมืองที่มองคนนอกเมือง คนต่างจังหวัด เป็นคนละกลุ่มคนละพวกกับตัวเองจะไม่ได้ผลเหมือนเดิมอีกต่อไป
ดูจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็พอได้ พรรคลุงแพ้ยับ และดูจากผลการเลือกตั้งล่าสุดก็บอกได้ชัดว่าเหลือสองพรรคหลักที่จะขับเคี่ยวกัน ในวันที่ชนชั้นกลางเต็มเมือง และที่หนักกว่านั้นคือชนชั้นกลางส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองขยับลงไปด้านล่าง กลายเป็นชนชั้นที่ไม่สามารถขยับไปมากกว่านี้ได้ ในความรู้สึกย่อมหมายความว่าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนรายได้น้อยในประเทศนี้ไปแล้ว
ดูเหมือนความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงขึ้นจะทำให้ชนชั้นนำไทยหายใจลำบากมากขึ้นทุกที น่ารอดูว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าเรื่องนี้จะสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร
พืชพลังงานอาจกำลังแย่งอาหารเรา
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจครับ พืชพลังงานกับพืชอาหาร หนังสือเล่มนี้เล่าว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตพลังงานน้ำมันแพง ส่งผลให้พืชที่สามารถเอาไปแปรรูปเป็นพลังงานได้นั้นเริ่มแย่งชิงพื้นที่การปลูกพืชอาหารมนุษย์เรามากขึ้นเรื่อยๆ
เดิมที่พืชพลังงานเหล่านี้มักปลูกกันตามชายขอบทางการเกษตร หรือที่ดินที่ปลูกพืชอาหารไม่ได้ถึงเอามาปลูกพืชพลังงาน แต่ดูเหมือนว่าด้วยวิกฤตพลังงานค่าน้ำมันแพงส่งผลให้พื้นที่ที่เคยใช้เพาะปลูกพืชอาหารกินได้ของเราถูกเปลี่ยนเอามาปลูกพืชพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ แทนครับ
อาจส่งผลให้ราคาอาหารต่างๆ เพิ่มพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต น่าสนใจว่าทางรัฐบาลจะเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้อย่างไรที่ถูกพูดถึงขึ้นมาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน
แล้วก็ดูเหมือนว่านอกจากพืชพลังงานที่เข้าาแย่งพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารแล้ว ก็ยังมีบรรดาพืชเศรษฐกิจต่างๆ ที่ขายได้ราคาดีกว่าการปลูกพืชกินได้เข้ามาแย่งพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกที
ความขัดแย้งครั้งสุดท้าย A War That Ends All Wars
เวลามีใครบอกว่านี่คือความขัดแย้งครั้งสุดท้าย นี่คือสงครามครั้งสุดท้าย เชื่อไว้อย่างนึงว่าอย่าเชื่อคำพวกนี้มาก อย่างประโยคบ้านเราที่ชอบพูดกันหลังการรัฐประหารคือ ถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ตลอดเวลาเราเห็นแล้วว่าการรัฐประหารบ้านเราไม่เคยจบสิ้น ทุกครั้งที่บอกว่าถอยหนึ่ง สักพักก็ออกมารัฐประหารถอยกันอีกหนึ่ง จนทุกวันนี้ไม่รู้ว่าถอยหลังไปกี่ก้าวแล้ว
ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่าถ้าตราบใดที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับเรื่องความเห็นต่าง ความขัดแย้งที่เป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมได้ เราก็จะพยายามใช้กำลังระงับความขัดแย้งนั้นจากผู้มีอำนาจ ด้วยการอ้างเหตุว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” “สมานฉันท์” “ปรองดอง” หรือจะประดิษฐ์คำอะไรใหม่มาก็แล้วแต่
แต่หมายความทั้งหมดล้วนสื่อไปถึงเรื่องเดียวกัน นั่นก็คืออย่าออกมาโวยวายกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจกล่าวออกไป ไม่ว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะทำอะไร บรรดาประชาชนตัวเล็กก็ต้องห้ามแสดงความขัดแย้งไม่ยอมรับ ไม่อย่างนั้นจะถูกตราหน้าว่า “พวกสร้างความขัดแย้ง” “พวกแสดงออกไม่สร้างสรรค์” อะไรทำนองนี้
สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 1 การเมืองเรื่องผีทักษิณ
แม้เวลาจะผ่านมา 13-14 ปีนับจากวันที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก แต่ก็ดูเหมือนว่ายังคงอธิบายบริบทการเมืองไทยทุกวันนี้ได้อย่างดีแทบไม่ขาดตกบกพร่อง จะมีแก็แต่ตัวละครเดิมเปลี่ยนฝั่งบ้าง หรือมีตัวละครใหม่เกิดขึ้นมาบ้าง แต่ดูเหมือนว่าเนื้อเรื่องจากวันนั้นเข้มข้นขึ้น เมื่อการเมืองไทยมีความชัดเจนในหลายเรื่องมากขึ้น
อย่างเรื่องที่ไม่เคยถูกนำมาพูดก็สามารถหยิบขึ้นมาพูดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น คนที่เคยเห็นด้วยเริ่มเห็นต่าง บ้างก็อาจใช้คำว่าตาสว่าง บ้างก็ถูกมองว่าล้างสมอง ก็แล้วแต่ว่าผู้พูดอยู่ฝ่ายไหน
การเมืองไทยคงจะมีแต่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้พัฒนา หรือจุดแตกหักแล้วก่อร่างสร้างใหม่ ทั้งหมดนี้ก็ยากที่จะให้ข้อสรุปได้ เอาเป็นว่ามาคอยติดตามดูละครการเมืองไทยไปด้วยกันดีกว่าครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 10 ของปี 2024
สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 1 การเมืองเรื่องผีทักษิณ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน
สำนักพิมพ์ openbooks
อ่านสรุปหนังสือแนวการเมืองในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://summaread.net/category/politics/