สรุปรีวิวหนังสือ Populism : A very short introduction ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา ประชานิยมคืออะไร? และอะไรที่ไม่ใช่ประชานิยม

Populism : A very short introduction ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา

ประชานิยมคืออะไร? และอะไรไม่ใช่ประชานิยม?

ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมเข้าใจความหมายและที่มาที่ไปของคำว่า “ประชานิยม” ดีขึ้น

ถ้าให้ผมเดา ผมขอเดาว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า “ประชาชน” บวกกับ “ความนิยม” หรือ “เป็นที่นิยม” นั่นหมายความว่าอะไรก็ตามที่คนส่วนมากนิยมชมชอบ ก็สามารถนิยามว่าประชานิยมได้ไม่ยาก

เท่าที่ผมนึกออกผมเดาว่าคำนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันในบ้านเราตอนสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่น่าจะเป็นผู้ริเริ่มนโยบายแบบประชานิยมขึ้นมา จนกลายเป็นทุกพรรคต่างต้องมีนโยบายประชานิยมในแบบของตัวเอง

เท่าที่ผมนึกออกนโยบายประชานิยมในตอนนั้นที่ได้ใจประชาชนไปมาก น่าจะเป็น 30 บาท รักษาทุกโรค แม้จะโดนแซะโดนแซวว่าได้แต่พารา แต่ครอบครัวผมก็เป็นหนึ่งที่ได้ใช้สิทธิ์นี้ในการรักษาโรคมะเร็งอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าประชานิยมในบ้านเราเท่าที่ผมจำได้

แล้วอะไรที่ “ประชาไม่นิยม”

นั่นก็คือคนส่วนน้อยในสังคม ที่มักจะหมายถึงบรรดาชนชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่ง หรือทรัพย์สินที่ดินต่างๆ ก็แล้วแต่ กลุ่มคนเหล่านี้คือขั้วตรงข้ามของ “ประชานิยม” และมักจะถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มที่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ หรือประชาชนในสังคมนั่นเอง

ประชานิยมส่วนใหญ่แสดงออกว่าชิงชังระเบียบสถาบันการเมือง และวิจารณ์ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม และชนชั้นนำในด้านอื่นของสังคม และชนชั้นนำในด้านต่างๆ เหล่านี้เองถูกจำลองภาพว่าเป็นกลุ่มที่ชอบทุจริต ที่ต่อต้าน “เจตจำนงทั่วไป” ของประชาชน

ประชานิยม หรือประชาชนคนส่วนมากเลยกลายเป็นนิยามของคำว่า “ถูก” หรือ “ดี” ส่วนคนส่วนน้อยไม่ว่าจะด้วยความเป็นชนชั้นนำหรืออะไรก็ตามคือขั้วตรงข้ามที่ถูกนิยามว่า “ผิด”

ผู้นำหรือนักการเมืองสายประชานิยมจะพยายามนำเสนอว่าตัวเองคือตัวแทนของประชาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกบรรดา “ชนชั้นนำ” แต่เดิมเอาเปรียบ หรือมองข้ามมาโดยตลอด

ตัวแทนของประชานิยมมักเป็นเหมือนกันคือนำเสนอตัวเองออกมาในฐานะเสียงของประชาชน ในภาพลักษณ์ของคนนอกแวดวงการเมือง (เพราะนิยามให้พวกคนในแวดวงการเมืองที่เป็นคนส่วนน้อยนั้น “ผิด” ไปแล้ว) และบอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนที่แท้จริงของ “สามัญชน” นี่คือภาพลักษณ์ที่นักการเมืองสายประชานิยมสร้างขึ้น ไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริง

เพราะการจะได้ใจประชาชนคนส่วนใหญ่ ต้องทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ ให้เกิดการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ว่า “เค้าเป็นพวกเดียวกับเรา” ที่เป็นประชาชน

แถมยังนิยมใช้ภาษาที่เรียบง่ายสามานย์ หรือที่เรียกกันว่า “วาทกรรมโต๊ะเบียร์” Stamtiseh นี่คือกลยุทธ์ของนักประชานิยมที่พยายามทำตัวให้ดูเป็น “ชาวบ้านคนธรรมดา”

ผู้นำประชานิยมบางประเภทที่มาจากผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจที่ร่ำรวย มักนำเสนอภาพตัวเองเมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองว่า ตัวเองนั้นก็เป็นคนธรรมดาเหมือนประชาชนคนทั่วไป เพียงแต่รู้จักขยันสู้ชีวิตจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองได้อย่างทุกวันนี้ หาได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือเส้นสายในวงศ์ตระกูลเป็นบันไดมาสู่ความร่ำรวยแบบนักการเมืองก่อนหน้าไม่

อารมณ์ประหนึ่งว่าฉันรวยของฉันเอง ไม่ได้มีใครมาช่วยฉันเหมือนเขา คอนเซปนี้ไม่ได้มีแค่ในบ้านเรา แต่ที่โด่งดังมากคืออดีตนายกของอิตาลีตระกูลแบร์ลุสโกนี ที่บอกว่าตัวเองรวยจะแย่ ดังนั้นไม่ได้หวังว่าจะมากอบโกยทรัพย์สินอะไรอีกจากการเมืองเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ

แถมยังเน้นย้ำด้วยว่าที่ลงมาเล่นการเมืองเนี่ยเสียสละให้นะรู้มั้ย ชีวิตไม่ต้องลำบากก็ได้

นักประชานิยมเก่งๆ จะถนัดการจับประเด็นปัญหาทางสังคม แล้วปั้นให้กลายเป็นเรื่องการเมือง เพื่อจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนข้างมาก

แต่ประชานิยมก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชานิยมไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมกับอย่างเสมอภาค แต่หมายถึงพลังของเสียงส่วนมากโดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อย

ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า Groupthink ได้มั้ยนะแบบนี้

ประชานิยมเลยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับพหุนิยมอย่างสิ้นเชิง แล้วพหุนิยมคืออะไร?

พหุนิยมคือการมองว่าสังคมนั้นแบ่งแยกแตกแขนงออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆที่ทับซ้อนกันมากมาย ไม่ใช่การมองทั้งหมดเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว จนทำให้ลืมเสียงส่วนน้อยไป ดังนั้นแนวคิดหลักของพหุนิยมคือการกระจายอำนาจออกไปตามกลุ่มย่อยต่างๆมากมาย เพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจหรือความสำคัญมากเป็นพิเศษ

เหมือนบ้านเราทุกยุคหนึ่งเคยมีการพยายามแบ่งกลุ่มออกเป็น รากหญ้า กับชนชั้นกลาง

ประชานิยมเลยเป็นการมองหาจุดร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อรู้จุดว่จะได้ใจหรือเสียงข้างมากมาได้อย่างไร เช่น รากหญ้า ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นแรงงานในยุคแรก

แต่ประชานิยมก็ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพราะระบบอุปถัมภ์คือการ “แลกเปลี่ยน” กันโดยตรงระหว่างนักการเมืองกับผู้ลงคะแนน ไม่ว่าจะด้วยการซื้อเสียง ให้สิ่งของ หรือเลี้ยงโต๊ะจีนก็ตาม

แต่ภาพลักษณ์คนนอกของผู้นำสายประชานิยมนั้นก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ยาวนาน เพราะถ้านานวันเข้าจากผู้นำคนนอก ก็จะกลายเป็นคนในที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานจนถูกมองว่ากลายเป็นพวกนักการเมืองหน้าเดิมได้ในที่สุด

จนเกิดโอกาศของนักการเมืองประชานิยมคนใหม่เข้ามาแทนที่ได้

ประชานิยมทำให้ระบอบอำนาจนิยมกลายเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ประชานิยมเดียวกันนี้ก็สามารถทำให้ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นอำนาจนิยมเต็มใบได้เช่นกัน

ดังนั้นความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยคือ ประชานิยมไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่มันขัดแย้งกับเสรีประชาธิปไตย เพราะมันเป็นชุดความคิดที่ปกป้องเสียงข้างมากอย่างสุดโต่ง แต่ด้วยประชานิยมนี้เองก็เป็นขุมพลังให้บรรดากลุ่มคนชายขอบที่เคยถูกลืมมาแล้วมากมาย

สุดท้ายนี้เป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยากสำหรับผม แต่ก็น่าสนใจตรงที่ทำให้เข้าใจความหมายของประชานิยมได้ลึกซึ้งขึ้น

ถ้าจะบอกว่าเสรีประชาธิปไตยหรือพหุนิยมนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องการตลาดก็คงเป็นการแบ่งกลุ่ม STP ที่หลากหลาย แต่พอเป็นประชานิยมปุ๊บเหมือนกับการหา insight จนได้ key message หลักที่พูดออกไปแล้วสามารถกระชากใจคนส่วนใหญ่ให้กลายเป็นลูกค้าเราได้

สุดท้ายเมื่ออ่านเล่มนี้จบทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า อย่างใช้ความเป็นเสียงข้างมากของคนส่วนใหญ่ตัดสินทุกอย่าง เพราะหลายครั้งที่ความคิดดีๆนั้นมาจากเสียงเล็กๆของคนส่วนน้อยไม่น้อยเหมือนกัน

เปิดใจฟังกันมากขึ้น และลองคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน บางทีสิ่งที่สังคมยุคใหม่ต้องการจริงๆอาจเป็นการถกเถียงกันอย่างรอบด้านเพื่อส่วนรวมทั้งหมดก็ได้ครับ

#อ่านแล้วเล่า #Populism #ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา

Cas Mudde และ Cristobal Rovira Kaltwasser เขียน
เกษียร เตชะพีระ แปล
สำนักพิมพ์ BookScape

เล่มที่ 111 ของปี 2018
20180928

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/