สรุปหนังสือ หางกระดิกหมา คอร์รัปชั่น Corruption

สรุปหนังสือหางกระดิกหมา เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความอัดแน่นความรู้เรื่องการคอร์รัปชั่น หรือถ้าจะเปรียบหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนหนังสือเรียนวิชา คอร์รัปชั่น 101 ก็ว่าได้ เพราะผู้เขียนอย่าง บรรนง พงษ์พานิช และ ธนกร จ๋วงพานิช นั้นช่างไปขุดหาเรื่องคอร์รัปชั่นมาเล่าได้แบบเร้าใจ แถมยังเล่าออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ให้เห็นขั้นตอนหรือถ้าเรียกให้ทันสมัยก็ต้องบอกว่า ออกมาเป็น Algorithm ของการโกงกันแบบชัดๆ ถ้าอ่านหนังสือหางกระดิกหมาชุดนี้ดูแล้วคุณจะรู้ว่า แท้จริงแล้วการโกงกิน ติดสินบน หรือคอร์รัปชั่นนั้นไม่เคยซับซ้อน เพราะทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีที่มาจากจุดกำเนิดเดียวกันทั้งโลก นั่นก็คือ “อำนาจรัฐ”

อำนาจรัฐคือสินค้าหลักของการคอร์รัปชั่น

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้เกลียดนักการเมืองผู้ปกครองคนใด แต่ผู้เขียนเล่าประหนึ่งประมาณว่า ประเทศใดรัฐมีอำนาจมาก ประเทศนั้นคอร์รัปชั่นกันถ้วนหน้าครับ

เพราะอำนาจรัฐนี่แหละคือสิ่งที่ใช้ในการตัดสินใจในแบบตามใจของผู้มีอำนาจ เปรียบเสมือนกรรมการฟุตบอลที่อยากเป่าเข้าข้างทีมไหนก็ได้ที่จ่ายให้ตัวเองมากกว่า โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบใดๆ ก็ตัวเองมีอำนาจมากที่สุดอยู่คนเดียว ทำให้ทุกคนต้องพึ่งพา และก็สรรหาของมากำนัลให้กับผู้ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ จะกำนัลให้มาเป็นนาฬิกาหรืออะไรก็สุดจะสรรหา แต่อย่าให้มาเป็นเช็คหรือโอนเงิน เพราะของแบบนี้มันตามรอยได้ นักคอร์รัปชั่นเค้าฉลาด ถ้าเค้าโง่ป่านนี้เค้าไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะมีโอกาสเอาอำนาจนั้นไปขายอีกทอดหรอกครับ

ดังนั้นที่เห็นบรรดาม็อบหลากสีออกมาประท้วงกันส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เป็นเพราะต้องการให้ฝ่ายที่มีอำนาจต้องแบ่งอำนาจนั้นมาให้ตัวเองบ้าง เพราะถ้าโกงกินคอร์รัปชั่นมากไปก็ถูกหมั่นใส้ให้เกิดม็อบ ดังนั้นทางที่ดีจึงต้องค่อยๆ กินอย่าออกหน้าออกตา อย่ากินมากเกินหรือเร็วไปจนเพื่อนที่กินช้าอิจฉา เรียกได้ว่ากินกันโกงกันอย่างสมัครสมานสามัคคีก็ว่าได้ครับ

และการคอร์รัปชั่นก็จะยิ่งเกิดขึ้นง่ายมาก ถ้าประเทศไหนระบุไหนข้อกฏหมายว่า “ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าหรือเจ้าพนักงาน” นั่นก็เท่ากับว่าถ้าวันไหนคุณพี่เจ้าหน้าที่รัฐเขาเอารมณ์ไม่ดี เขาก็จะเตะถ่วงงานราชการที่เขาควรต้องทำให้เราด้วยความรวดเร็วออกไปให้ล่าช้า หรือถ้าพี่เขาเลือกที่จะใช้ดุลยพินิจอย่างใจดีว่า “จ่ายพี่ 2 ล้าน แล้วจ่ายเข้าหลวงอีก 1 ล้าน หรือจะจ่ายเข้าหลวงทีเดียว 6 ล้านเลยน้องเลือกเอานะพี่ใจกว้างให้น้องเลือก”

เชื่อได้ว่าต่อให้เราไม่ได้เป็นคนเลว ไม่ได้อยากจะโกงชาติ ไม่ได้อยากจะติดสินบน แต่ถ้ามันช่วยประหยัดไปได้มากโขในยุคที่เงินหายากเหลือเกิน จะมีสักกี่คนที่บอกว่า “ไม่เป็นไรครับ 6 ล้านจิ๊บๆ ขอจ่ายเข้ารัฐเต็มๆ ดีกว่า”

ไม่ต้องบอกก็คงรู้นะครับว่ากฏหมายบ้านเรานั้นเต็มไปด้วยข้อความแบบนี้ทั้งนั้น เอะอะก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าพนักงาน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมข้าราชการไทยเงินเดือนไม่กี่หมื่น ถึงสามารถมีบ้านหลังใหญ่ยิ่งกว่า CEO บริษัทเอกชนข้ามชาติ แถมยังสามารถออกรถยุโรปหรูหราให้กับลูกทุกคนได้สบายครับ

เชื่อมั้ยครับว่าการทำงานล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นที่ประเทศอังกฤษมีวิธีแก้ไขและป้องกันที่น่าสนใจ นั่นก็คือเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการสามารถร้องเรียนแล้วเรียกปรับเงินให้กับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานนั้นได้ เสมือนกับถูกหักโบนัสปลายปีออกไปจนหมด แถมดีไม่ดียังต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าที่ตัวเองทำช้าด้วยครับ

แนวคิดนี้ทำให้ข้าราชการอังกฤษทำงานกันเร็วขึ้นโดยไม่ต้องให้คอยมากำกับตรวจสอบหรือเอาเจ้าหน้าที่รัฐมาให้คะแนนกันเอง แต่ให้ประชาชนหรือลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการนี่แหละเป็นคนตัดสินใจให้คะแนนไปเลยว่าควรได้ขึ้นเงินเดือนหรือลดเงินเดือนกันแน่ครับ

กฏหมายเรื่องการคอร์รัปชั่นที่อเมริกาก็น่าสนใจ โดยเขามีการให้ส่วนแบ่งคนแจ้งการทุจริตถึง 30% ในโครงการของรัฐ ดังนั้นใครรู้เข้ามีหรือจะไม่อยากแจ้ง เพราะ 30% ที่รัฐสามารถเรียกคืนมาจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ทุจริตได้ นั้นเป็นเงินจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าถูกหวยรางวัลที่หนึ่งสามงวดติดทีเดียวครับ

อีกแง่มุมหนึ่งที่หนังสือหางกระดิกหมาเล่มนี้เล่าก็น่าสนใจ นั่นคือมุมมองที่ว่าการโฆษณาหรือ PR ของหน่วยงานรัฐนี่แหละคือการคอร์รัปชั่นดีๆ นั่นเอง

เพราะงบประมาณเหล่านี้ก็ล้วนแต่มาจากภาษีประชาชน ดังนั้นข้าราชการหรือหน่วยงานรัฐจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาเงินของประชาชามาโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้ตัวเอง ในต่างประเทศการจะโฆษณาผลงานอะไรซักอย่างที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างหนัก และข้อมูลทุกอย่างต้องโปร่งใส

ลองมาดูประเทศไทยบ้านเรา รู้สึกเมื่อปีสองปีก่อนนี้หน่วยงานที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดกลับเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรให้ประกาศกันนักหนา ขนาดแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ใช้เงินแข่งกันมาตลอดยังต้องยอมถอย เรียกได้ว่าพวกท่านๆ ทั้งหลายขยันใช้งบ PR ให้พวกเรารักท่านเหลือเกินอย่างไรก็ไม่รู้นะครับเนี่ย

ที่คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ส่วนใหญ่นั้นก็เพราะเกิดจากการ “ได้กระจุก เสียกระจาย” ถ้าถามว่ามันคืออะไรก็คือการที่เมื่อไหร่ที่การคอร์รัปชั่นนั้นก่อให้เกิดผลดีกับคนแค่กระจุกหนึ่ง แต่ผลเสียนั้นเกิดกับภาพรวมของคนทั้งประเทศ

เช่น การโกงการก่อสร้างโครงการประเภท Mega Project ที่มักจะบวกเพิ่มจากที่ต้องใข้จริงไปอีก 30-40% แม้จะเป็นเงินรวมๆ กว่า 40,000-50,000 ล้านบาท แต่พอเอาไปหารกับคนทั้งประเทศก็ตกกันคนละไม่กี่บาท ผลคือไม่ค่อยมีใครออกมาเรียกร้องมากมายเท่าไหร่

แต่ถ้าคอร์รัปชั่นไหนเป็นแบบ “ได้กระจุก เสียกระจุก” คอร์รัปชั่นแบบนี้มักจะไปไม่ค่อยรอด เพราะมีคนที่เสียผลประโยชน์ชัดเจนจนพวกเขาต้องออกมาสู้สุดตัว ไม่ว่าจะโครงการสร้างเขื่อนทั้งหลาย หรือโครงการประเภทสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ก็ตาม ดังนั้นจะเห็นว่าโครงการพวกนี้มักสะดุดด้วยคนเดือดร้อนที่ไม่ใช่ทั้งประเทศ แต่ด้วยความเดือดร้อนทั้งหมดตกที่พวกเขา นั่นเลยทำให้พวกเขาไม่ยอมง่ายๆ ครับ

หนังสือหางกระดิกหมาเล่มนี้ยังบอกอีกว่ากลยุทธ์ที่จะทำให้ผู้คนหันมาต่อสู้และต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุดก็คือ “ความเห็นแก่ตัว”

ความเห็นแก่ตัวนี่แหละคืออาวุธที่ดีที่สุดที่จะใช้ต่อสู้กับคอร์รัปชั่น เพราะถ้าเราคิดว่าการที่นักการเมืองโกงประเทศไม่ใช่ความเดือดร้อนโดยตรงของเรา นั่นก็จะยิ่งพวกให้พวกเขาโกงเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเหิมเกริม

แต่ถ้าเราทำให้ผู้คนคิดว่าการที่นักการเมืองโกงกินชาติก็คือการโกงกินเราโดยตรง แน่นอนว่าคนเราต้องไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ ไม่ยอมให้ใครมาฉกชิงเงินในกระเป๋าเราไป ดังนั้นเราต้องลุกขึ้นมาเห็นแก่ตัวปกป้องส่งที่ควรจะเป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่เกินออกมาประมาณหลายหมื่นล้าน หรือโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่ดูน่าสงสัยและไร้ความโปร่งใส

ยิ่งสังคมเราเห็นแก่ตัวมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบคอร์รัปชั่นงบประมาณเราไปได้ง่ายๆ ครับ

ที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่า แม้แต่เงินสินบนที่รับๆ กันใต้โต๊ะก็ยังมีที่ตำรวจหรือข้าราชการเรียกว่า “สินบนสะอาด”

สินบนสะอาด พวกเขาจะถือว่าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นเงินที่ธุรกิจเต็มใจจ่าย เช่น ธุรกิจอาบอบนวดหรือคาราโอเกะ ที่คนเที่ยวก็อยากเที่ยว คนเปิดก็อยากเปิด แต่กฏหมายดันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นสินบนเลยเข้ามาทำหน้าที่นี้ ทำให้ตลาดนั้นเปิดขึ้นได้ครับ

เงินสินบนสะอาดเหล่านี้คนรับก็ไม่ใช่ใคร ตำรวจน้ำดีทั้งหลายที่เป็นใหญ่เป็นโตนั่นแหละ เพราะการจะเป็นใหญ่เป็นโตต้องมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่งกันมหาศาล และบรรดาตำรวยน้ำดีที่เลือกรับแต่สินบนสะอาดมาก็เอาเงินไปซื้อตำแหน่งใหญ่ๆ เพื่อจะได้สร้างผลงานเพื่อประเทศชาติและสังคมให้สะอาดขึ้นอย่างไรล่ะครับ

ฟังดูย้อนแย้งแต่นี่แหละคือเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

หนังสือเล่มนี้ยังสอนให้รู้ว่าคอร์รัปชั่นนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

คอร์รัปชั่นของภาคเอกชน

คอร์รัปชั่นของภาครัฐ

และคอร์รัปชั่นระหว่างเอกชนกับรัฐ และในหัวข้อนี้เองก็ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน

  1. ติดสินบนเพื่อซื้อความสะดวก เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
  2. ติดสินบนเพื่อให้พ้นผิดจากกระบวนการยุติธรรม อันนี้เห็นอยู่เรื่อยๆ
  3. ติดสินบนเพื่อซื้อความได้เปรียบ ข้อนี้ผู้เขียนถือว่าแย่สุด เพราะทำให้ไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพ ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง มีแต่ก่อให้เกิดการผูกขาด แล้วพอผูกขาดมันก็เลยออกมาห่วยอย่างที่เห็นกันเป็นประจำนี่แหละครับ

ผู้เขียนบอกว่าสิ่งที่แย่ที่สุดในสังคมไม่ใช่เรื่องของการคอร์รัปชั่น แต่เป็นเรื่องของการมองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีในสังคม เหมือนกับถ้ามีรถยนต์ก็ต้องเติมน้ำมัน ถ้าอยากให้สังคมเดินไปข้างหน้าก็ต้องมีการคอร์รัปชั่นพอเหมาะพอควรให้เศรษฐกิจเดินหน้าอย่างไรอย่างนั้น

ชุดความคิดนี้ผิดมหันต์ครับ

ส่วนวิธีรับมือกับคอร์รัปชั่นก็อย่างที่บอกไปตอนต้น คือลดอำนาจรัฐลง แก้ไขกฏหมายให้ลดการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ออกไปให้มากที่สุด ให้เป็นเรื่องของกลไกทางกฏหมายเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่มีหน้าที่แค่บังคับใช้กฏหมายไป และอีกเรื่องที่ต้องทำก็คือทำข้อมูลให้โปร่งใสตรวจสอบได้ และภาครัฐต้องเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดด้วยตัวเองภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ใช่ต้องให้ประชาชนไปร้องขอดูข้อมูลให้วุ่นวาย ต้องทำตัวโปร่งใสเองแต่แรกครับ!

สุดท้ายนี้จะขอเล่าสองเรื่องในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่ประเทศอินเดีย น่าสนใจตรงที่ว่าอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการคอร์รัปชั่นมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้อินเดียเองก็พยายามหาลดเรื่องการคอร์รัปชั่นอยู่ ส่วนหนึ่งก็ด้วยการผลักดันประชาชนให้ไม่เข้าร่วมกับการคอร์รัปชั่น นั่นก็เลยก่อให้เกิดธนบัตร 0 รูปี ขึ้นมาครับ

ธนบัตร 0 รูปี คือธนบัตรที่ไม่มีค่าใดๆ เลย แต่มีหน้าตาทุกอย่างเหมือนธนบัตรปกติของอินเดีย แต่ธนบัตรนี้มีหน้าที่เอาไว้ให้ประชาชนยื่นให้กับข้าราชการที่ทำงานอิดออดเพราะดูเหมือนว่าจะเรียกร้องสินบนให้ตัวเองทำงานเร็วขึ้น เมื่อประชาชนคนไหนพบเจอเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้ ก็ให้ยื่นธนบัตร 0 รูปีให้ เพื่อเป็นการแสดงออกให้รู้ว่า “ซักบาทเดียวกูก็ไม่ให้”

ผลคือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้รับธนบัตร 0 รูปีนี้รีบทำงานอย่างรวดเร็วขึ้นมาทันที เพราะรู้ว่าชาวบ้านเหล่านี้ไม่ใข่ตาสีตาสาที่จะยอมพวกเขาอีกต่อไป เพราะพวกข้าราชการเหล่านี้กลัวว่าวันนี้ยื่นธนบัตร 0 รูปีให้ ถ้ายังไม่ทำงานให้ดีวันหน้าคงโดนตรวจสอบแน่ๆ ครับ

ต่อจากธนบัตร 0 รูปี คือการเปิดเว็บไซต์แจ้งเบาะแสสินบน เป็นเว็บที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาโพสได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แต่สามารถเปิดเผยชื่อ ตำแหน่ง หรือสาขาของเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกร้องสินบนได้อย่างอิสระ

โดยภายในเว็บจะมีการเชิญชวนให้คนมาแชร์เรื่องราวการถูกเรียกรับสินบน จากนั้นก็จะมีการให้แชร์วิธีการปฏิเสธการจ่ายสินบนนั้น เพื่อให้ประชาชนคนอื่นเรียนรู้แตเนิ่นๆ ว่า ถ้าถูกเรียกร้องสินบนมาแบบนี้จะต้องรับมืออย่างไรครับ

บอกตรงๆ หนังสือเล่มนี้สนุกมาก เสียดายที่หนังสือชุดนี้มีแค่ 2 เล่มเท่านั้นเอง ถ้าใครอยากรู้จัก “คอร์รัปชั่น” เรื่องมหัศจรรย์ใกล้ตัวที่ดูเหมือนลึกลับแต่ความจริงแล้วเราอาจจะอยู่กับมันทุกวันก็ได้ ผมแนะนำให้คุณตามหาหนังสือชุดนี้ให้เจอ หางกระดิกหมาเท่าที่ผมเจอมีอยู่แค่ 2 เล่ม ถ้าใครรู้ว่ามีเล่มที่ 3 หรือ 4 หรือมากกว่านั้น ช่วยบอกเบาะแสให้ผมด้วยนะครับ

สรุปหนังสือ หางกระดิกหมา คอร์รัปชั่น Corruption

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 73 ของปี 2019

สรุปหนังสือ หางกระดิกหมา
บรรยง พงษ์พานิช และ ธนกร จ๋วงพานิช เขียน
สำนักพิมพ์ Openworlds

20191225

อ่านสรุปหนังสือหางกระดิกหมา เล่ม 2 ต่อ > https://summaread.net/economy/corruption-2/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/