ดร. วิรไท สันติประภพ, นักเศรษฐศาสตร์พเนจร

เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเศรษฐศาสตร์อีกเล่มที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก และก็ทำให้เข้าใจภาพความจริงของเศรษฐกิจบ้านเมืองเราในช่วงก่อนยุค คสช ได้มากพอควร

และพออ่านจบก็เลยเพิ่งรู้ว่าผมมีหนังสือของนักเขียนคนนี้อยู่อีกเล่มแต่ยังไม่ได้อ่าน คือ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ” เป็นเล่มที่ได้จากงานหนังสือเมื่อต้นปี 2560 แต่เล่มนี้เพิ่งได้มาจากงานหนังสือเมื่อปลายปีเดียวกันแต่ดันอ่านจบก่อนซะงั้น

เนื้อหาหลักๆของเล่มผมว่าแบ่งเป็นสองส่วน คือ “ประชานิยม” กับ “ทุนนิยม” (ความจริงในเล่มมีเนื้อหาหลายหัวข้อ อันนี้ผมขอสรุปจากความรู้สึกส่วนตัวของผมนะครับ)

“ประชานิยม”

กลายเป็นสิ่งที่คนไทยถูกพรรคการเมืองและรัฐบาลตั้งแต่ยุคทักษิณมอบให้ เสมือนขนมเค้กที่ปราศจากคำเตือนถึงอันตรายของโรคต่างๆที่จะตามมา เพราะทุกครั้งที่ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดๆก็ตามต้องการคะแนนนิยมจากประชาชน ก็จะหยิบเอานโยบายประชานิยมต่างๆขึ้นมาหาเสียง

ไม่ว่าจะรถไฟฟ้า 20บาททุกสายทุกเส้น(จนวันนี้บินหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้) ไปจนถึงจำนำข้าวทุกเมล็ด และอีกมากมายหลายนโยบายประชานิยมชวนให้ประชาชนฝันหวานไปไม่รู้กี่ตลบ

แต่บรรดารัฐบาลและพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่เคยบอกที่มาของ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะทำให้นโยบายประชานิยมที่เราๆทุกคนชื่นชมกันว่า “เงิน” ที่จะเอามาอุดหนุนเหล่านั้นจะต้องหามาจากไหน เพราะรัฐบาลไหนๆก็ตามไม่ได้มีกระเป๋าโดราเอมอนที่จะเสกเงินออกมาสร้างประชานิยมต่างๆได้มากมายโดยไม่เกิดผลกระทบตามมา

แต่ทั้งหมดที่พูดมาก็ใช่ว่าจะต่อต้านประชานิยมนะครับ ประชานิยมผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี ตราบที่ไม่มอมเมาประชาชนมากเกินไป

เพราะจุดเริ่มต้นของ “ประชานิยม” นั้นมีจาก “รัฐสวัสดิการ” ที่มีอยู่ในประเทศแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย แต่สิ่งที่ประชาชนต้อง “จ่าย” ให้กับรัฐสวัสดิการเหล่านั้นคือ “ภาษีที่สูงมาก” จนทำให้คนสแกนดิเนเวียในหลายประเทศนั้นไม่ได้ขวนขวายที่จะทำงานหนักเพื่อหาเงินได้มากๆ เพราะหาได้มากก็ต้องจ่ายให้รัฐมาก ก็เลยชิลๆสบายๆ ทำงานประมาณนึง แล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปหาความสุข

แต่ในบ้านเรากลับไม่กล้าหาทางหาเงินเพิ่มขึ้นจากประชาชนซักเท่าไหร่ ก็เพราะกลัวคะแนนนิยมจะหดตกต่ำ เลยต้องพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยวิธีการนี้ผู้เขียนก็บอกเป็นนัยๆว่า เหมือนกับการกินกระทิงแดงกระตุ้น หรือยาม้ากระตุ้นเป็นพักๆ แต่สุดท้ายแล้วร่างกายก็เสื่อมโทรมอยู่ดี เพราะไม่ได้ดีแข็งแรงโดยพื้นฐานของเศรษฐกิจเอง

นี่แหละครับคือความน่ากลัวของ “ประชานิยม” ที่เราส่วนใหญ่มักฝันหวานตาลอยเมื่อได้ยินว่าใครจะให้โน่นให้นี่ ถ้าตีความมองอีกด้านหนึ่งเอาเข้าจริงประชานิยมนี่ก็แทบไม่ต่างจากการ “ซื้อเสียง” คนทั้งประเทศด้วยนโยบายขายฝันที่ไม่ค่อยจะทำได้จริงซักเท่าไหร่นัก แถมไม่ถูกจับแบบการซื้อเสียงด้วยเงินสดๆเหมือนสมัยก่อนเลย

เรื่องที่สอง

“ทุนนิยม”

ผู้เขียนหมายถึงบรรดา “นายทุน” และ “บริษัท” ห้างร้านทั้งหลายในบ้านเรา ที่ต้องสู้ทนฟันฝ่ากับอุปสรรคทางเศรษฐกิจโดยที่รัฐบาลและข้าราชการนั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมยังต้องยัดเงินใต้โต๊ะให้บรรดาข้าราชการทั้งหลายไม่กลายป็นอุปสรรคแทนด้วยซ้ำ

ผิดกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว รัฐบาลและข้าราชการในประเทศเหล่านั้นมีหน้าที่ลดอุปสรรค กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนเพื่อให้ออกไปเติบโต ต่อสู้กับต่างชาติในระดับโลกด้วยซ้ำ

แต่ส่วนนึงผู้เขียนก็ชมว่าบรรดานักธุรกิจนายทุนบ้านเรานั้นเก่ง ที่สามารถพาบริษัทไทยออกไปไกลถึงระดับโลกได้มากมายแม้รัฐบาลและข้าราชการจะไม่ค่อยช่วยอะไรอย่างที่บอก และก็อยากให้บรรดานักธุรกิจเหล่านั้นหันมาลงทุนกับการพัฒนาสังคมในประเทศบ้าง

เหมือนบริษัทใหญ่ๆในต่างประเทศที่ต่างลงทุนในสังคมในประเทศมากมาย ไม่ใช่แค่การทำ CSR สวยหรูเพื่อออกข่าว PR เยอะๆ แต่เป็นการสร้างและส่งเสริมสังคมอย่างจริงๆจังๆ

เพราะในที่สุดแล้วถ้าบริษัทเอาแต่สูบผลประโยชน์จากแผ่นดินและผู้คนไป วันนึงสุดท้ายที่ไม่เหลืออะไรให้สูบก็จะเป็นตัวบริษัทองค์กรนั้นเองแหละที่จะต้องล้มตายตามกันไป

ด้วยแนวคิดนี้บริษัทใหญ่ๆในต่างประเทศถึงคิดถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างจริงๆจังๆมากขึ้น IKEA เองก็ปลูกป่าเพิ่มเติม และปลูกป่าของตัวเองในระยะยาวมากขึ้น บริษัทแฟชั่นบางแห่งก็หันมาใช้การย้อมขาวฟอกสีโดยไม่ใช้น้ำ ทั้งๆที่ปกติแล้วขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้แหล่งน้ำมากมายเพราะถ้ามองในระยะยาวถึงความยั่งยืนในทุกด้าน ถ้าวันนึงแหล่งน้ำหมดไป ธุรกิจเหล่านี้เองก็จะไม่สามารถอยู่ได้ เค้าเลยเลือกที่จะปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ไม่รอให้วิกฤตินั้นมาถึง

เห็นมั้ยครับว่าเรื่องของ CSR กับ “ความยั่นยืน หรือ sustainable นั้นมันคนละเรื่องกันเลย

ทั้งหมดของทั้งสองเรื่องหลักไม่ว่าจะ “ทุนนิยม” หรือ “ประชานิยม” นั้นวนกลับมาเรื่องของรัฐบาลและข้าราชการ ที่ต้องรู้จักปรับตัวใหม่ให้เข้ากับสมัยนิยมมากขึ้น

ต้องรู้จัก “ไม่ทำ” ในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะแต่ไหนแต่ไรมาราชการมักจะคุ้นกับการ “เพิ่ม” ขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆเข้าไป จนทำให้เหมือนคนอ้วนอุ้ยอ้ายที่ขยับตัวทำอะไรก็ยาก

ดังนั้นวันนี้เราต้องเริ่มจากการมองให้ออกว่าสิ่งไหนไม่จำเป็นที่จะต้องทำ ก็เอามันออกไปให้ตัวเราเบาขึ้น คล่องขึ้น สะดวกขึ้น เพราะข้าราชการเป็นเสาหลักของชาติ ถ้าเปรียบกับร่างกายก็เหมือนกระดูก หน่วยธุรกิจก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ และรัฐบาลหรือผู้นำก็เหมือนกับสมอง

ลองคิดดูซิว่าถ้ากระดูกคด(ข้าราชการทำงานผิดเพี้ยนไปหมด) ก็ต้องเป็นภาระหนักที่กล้ามเนื้อ(ภาคธุรกิจ)ที่ต้องพยายามพาร่างกายไปข้างหน้าตามคำสั่งของสมอง(รัฐบาลหรือผู้นำ) แต่ถ้าสมองนั้นกลับมองไม่ออกว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำแต่ก็ยังดันทุรังจะทำมันไป ก็เท่ากับเป็นการเปลืองทั้งพลังงานกล้ามเนื้อ และฝืนโครงสร้างกระดูกของร่างกาย จะทำให้พาลตายไปทั้งร่าง

การปฏิรูปต้องเริ่มจากการจัดกระดูก เสริมกล้ามเนื้อ และบำรุงสมอง เพื่อให้ร่างกายทั้งหมดสามารถวิ่งแข่งกับชาติอื่นๆได้ครับ

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/