จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นเบอร์สองของโลกรองจากแค่สหรัฐ หนึ่งในประเทศที่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งบ้านเราฟื้นตัวเร็วได้เพราะความแข็งแกร่งของค่าเงินหยวน หนึ่งในประเทศที่ปกครองแบบสังคมนิยมแต่กลับมีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่เปิดกว้างกว่าคอมมิวนิสต์ไหนๆในโลก หนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตแบบปาฏิหาริย์แบบเลขสองหลักโดยเฉลี่ยกว่า 30 ปีมาแล้ว หนึ่งในประเทศที่รายได้คนเมืองกับชาวชนบทยังต่างกันลิบลับ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีพุ่งทะยานสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก หนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าสุดล้ำไปให้คนทั้งโลก และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคสูงติดลำดับต้นๆของโลกแล้วในวันนี้
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Justin Yifu Lin นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน เคยเป็นรองกรรมการอาวุโสและนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก มาบอกเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ยุคยิ่งใหญ่เมื่อหลายร้อยปีก่อน จนถึงยุคตกต่ำสุดขีดของจีนตั้งแต่ยุโรปปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จ จนถึงวันที่จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
แต่อย่าเพิ่งตกใจกลัวไปนะครับ เห็นหน้าปกดูจริงจัง ชื่อดูขึงขัง แต่เนื้อหาในเล่มกลับอ่านง่ายกว่าที่คิด สารภาพตอนแรกผมยังแอบกลับว่าจะอ่านไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน แต่พออ่านไปกลับอ่านสนุก เข้าใจได้ ทำให้หนังสือที่มีตั้งสี่ร้อยกว่าหน้าสามารถอ่านจบได้ในไม่กี่วัน (ผมมีเวลาอ่านแค่ช่วงเช้าตอนอยู่บนรถไฟฟ้ามาทำงาน กับช่วงเย็นตอนอยู่บนรถไฟฟ้ากลับบ้านครับ)
พออ่านจบผมสรุปได้แบบนี้ครับ
จีนในอดีตเคยมีขนาดเศรษฐกิจที่น่าจะใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของทั้งโลก ใครๆก็อยากเข้ามาค้าขายกับจีนเพราะสินค้าจีนเป็นที่ต้องการในยุโรปมาก ไม่ว่าจะใบชาหรือเครื่องเผาเซรามิก ทำให้กลุ่มประเทศยุโรปในตอนนั้นต้องเสียดุลการค้าให้จีนมหาศาลมาก
แถมจีนเองก็แทบไม่สนใจที่จะซื้ออะไรจากฝั่งยุโรปกลับคืนไปด้วย เรียกได้ว่าแทบทุกชาติในโลกต้องคุกเข่าเข้าหาจีนเลยล่ะครับ
แถมจีนเองก็เป็นหนึ่งในชาติแรกของโลกที่เอกชนหรือผู้คนทั่วไปสามารถมีทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือที่ดินที่เป็นตัวเอง ยุโรปเองแต่ก่อนที่ดินทั้งหมดเป็นของพวกขุนนาง บรรดาชาวบ้านคนส่วนใหญ่เลยเป็นแค่แรงงานหรือไม่ก็ทาสติดที่ดิน
บวกกับเทคโนโลยีของจีนเองก็ล้ำหน้ากว่าใครในโลกมากเมื่ออดีต อย่างเทคโนโลยีการทำเหมืองขุดหาเกลือ จีนเองสามารถขุดเหมืองลงไปได้ลึกเป็นพันๆฟุตได้ตั้งแต่เป็นพันปีก่อน ผิดกับฝั่งชาติตะวันตกที่กว่าจะขุดได้ซักร้อยเมตรก็เมื่อร้อยปีที่ผ่านมาเอง
ยังไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีกระดาษและการพิมพ์ที่จีนคิดขึ้นมาได้เป็นชาติแรกๆของโลก รวมไปถึงเทคโนโลยีอย่างธนบัตรที่ปฏิรูปการค้าการซื้อขายให้คล่องตัวมากกว่าชาติใดในโลกด้วย
แถมสังคมการปกครองของจีนก็ก้าวล้ำกว่าชาติอื่นมากในอดีต แต่เดิมนั้นการจะได้ทำงานเป็นข้าราชการมีตำแหน่งใหญ่โตนั้นล้วนมาจากการสืบทอดทางสายเลือด แต่ที่ประเทศจีนตั้งแต่โบราณใช้การสอบจองหงวนเพื่อคัดคนที่มีความสามารถอย่างเท่าเทียม
อ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า ถ้าทำอย่างมันฟังดูดีหมดขนาดนี้แล้วทำไมจีนถึงตกต่ำได้เมื่อไม่นานมานี้ล่ะ
สาเหตุเพราะจีนปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ทันตะวันตกหรือชาติยุโรปครับ
เพราะจีนให้ความสำคัญกับความรู้ในแง่ปรัชญาการปกครอง การจะสอบข้าราชการหรือเป็นผู้มีความรู้ที่สังคมยอมรับคือต้องศึกษาตำราขงจื๊อนับสิบปี และความรู้สำคัญอย่างคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศจีน นี่เลยเป็นสาเหตุสำคัญให้จีนตกรถไฟโลกาภิวัฒน์ในตอนนั้นไป
เทคโนโลยีของจีนแต่เดิมนั้นเกิดขึ้นได้เพราะความรู้และประสบการณ์ส่วนบุคคล ไม่ได้เกิดจากการสั่งสงองค์รวมความรู้ไว้ในตำรา แต่ด้วยการที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีประชากรมาก ก็เลยทำให้เกิดเทคโนโลยีมากมายตามสัดส่วนประชากรที่จีนมี
แต่อังกฤษยุโรปนั้นใช้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นทำให้ความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากคนหนึ่งคนสะสมในช่วงเวลา 50 ปี ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ถึงปี เพราะเหตุนี้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษหรือยุโรปเลยสามารถแซงหน้าจีนจนน่าตกใจ
จีนเลยต้องหาทางออกใหม่ที่จะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ครั้งแรกคือการล้มล้างราชวงศ์จนกลายเป็นระบบประธานาธิบดีที่มีนายพล เจียง ไคเชก เป็นผู้นำ จนเกิดการปฏิวัติครั้งที่สองจากกลุ่มปัญญาชนเปลี่ยนจีนเข้าสู่ระบบสังคมนิยมจนถึงทุกวันนี้
จากเดิมแนวทางของสังคมนิยมคือการปลุกระดมเหล่ากรรมมาชีพให้ลุกขึ้นฮือต่อต้านนายทุน แบบที่เกิดในยุโรปตะวันออกหรือยุโรปทางใต้ แต่ในประเทศจีนนั้นต่างออกไปเพราะจีนเองไม่มีนายทุนมาก่อน กิจการที่เป็นเอกชนส่วนใหญ่จึงเป็นของพ่อค้าแม่ขายธรรมดา เรียกได้ว่าเถ้าแก่ห้างร้านตึกแถวก็ว่าได้ที่เป็นนายทุน แถมยังเป็นนายทุนรายย่อยๆไม่ใช่นายทุนรายใหญ่ๆแบบสังคมนิยมที่เป็นกัน
แต่ท่านประธานเหมา เจ๋อตง ค้นพบแนวทางใหม่ที่จะทำให้สังคมนิยมจีนประสบความสำเร็จได้ ก็คือพบว่าในจีนนั้นทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่กับ 4 ตระกูลหลัก การปฏิวัติของจีนคือการยึดทรัยากรเหล่านั้นออกมาแจกจ่ายให้ชาวไร่ชาวนา แถมการปฏิวัติในจีนยังไม่ได้เริ่มจากตัวเมืองหลวงตามแนวทางสังคมนิยมเดิม แต่เริ่มจากพื้นที่รอบนอกจนกลายเป็นกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองที่ประสบความสำเร็จนี่เอง
เมื่อปฏิวัติสำเร็จและพรรคคอมมิวนิสต์กลายมาเป็นผู้นำประเทศ แนวทางเศรษฐกิจจีนในตอนนั้นคือเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหญ่ หรือที่เรียกว่าวิสาหกิจที่ใช้ทุนเข้มข้นจนทำให้จีนตกที่นั่งลำบากเป็นเวลานานเพราะผิดกับความได้เปรียบที่จีนมีในเวลานั้น
จีนที่ได้เปรียบในเรื่องประชากรที่เป็นแรงงานเข้มข้นจำนวนมากกลับต้องอดอยากปากแห้ง เพราะผู้ปกครองต้องการดึงทรัพยากรทั้งหมดไปทุมให้กับวิสาหกิจที่ใช้ทุนสูงอย่าง อาวุธนิวเคลียร์ หรืออุตสาหกรรมอวกาศ หรือแม้แต่การส่งดาวเทียมขึ้นไปเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศ
กิจการเหล่านี้ใช้แรงงานคนน้อยซึ่งขัดกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของจีน แต่ต้องใช้ทุนมากซึ่งจีนในตอนนั้นก็ยังไม่มีทุนอะไร ทุนเดียวที่รัฐบาลกลางจีนหามาได้คือการใช้แรงงานเกษตรกรทั้งหลายให้ผลิตและขายสินค้าให้ส่วนกลางในราคาต่ำเพื่อให้คนในเมืองเกิดส่วนเกินเพื่อเอาไปอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ว่า
ผลคือชาวนายากจนแต่คนเมืองสบาย
นั่นคืออดีตของเศรษฐกิจจีนในยุคปฏิรูปประเทศเมื่อก้าวเข้าสู่คอมมิวนิสต์ที่รีบเร่งจะตามให้ทันประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างรัสเซียต้นแบบ หรือสหรัฐคู่แข่งในเวลานั้น ที่ตัวชี้วัดความเจริญคืออุตสาหกรรมหนักและไฮเทคที่ว่า
จากนั้นเศรษฐกิจจีนก็เหมือนจะดีแต่กลับมาสาหัสอีกรอบเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาคการเกษตร คือจากเดิมแต่ละครอบครัวจะมีที่ดินทำกินของตัวเอง จากนั้นก็ต่างคนต่างทำแล้วส่งขายให้รัฐ มาเป็นชวนชาวนาให้เอาที่ดินมารวมกัน แล้วใช้เครื่องไม้เครื่องมือร่วมกัน และช่วยกันทำนา นี่คือแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบ economic of scale หรือการประหยัดจากขนาด แรกเริ่มตอนปฏิรูปนั้นได้ผลไปในทางบวก เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นมากมายจากการร่วมแรงกันทำงาน แต่ไม่นานก็กลับมาตกต่ำผลผลิตหายไปฮวบฮาบ เพราะนโยบายเปลี่ยนจากที่เคยให้ทางเลือกชาวนาว่า เข้าร่วมได้อย่างเสรีและออกได้อย่างอิสระ กลายเป็นการบังคับให้ทำงานร่วมกัน
เมื่อถูกบังคับแรงจูงใจก็หายไป เพราะต่างคนต่างคิดว่าทำมากไปก็ไม่ได้ส่วนแบ่งเพิ่ม แถมยังต้องถูกบังคับให้ทำ เลยทำๆหลับๆ แค่เอาตัวรอดไปวันๆก็พอ
แต่จีนก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งตอนที่เกิดการปฏิรูปสองทางของเติ้ง เสี่ยวผิง คือการค่อยๆปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเดิมที่ไม่ใหญ่และสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศมากเป็นของเอกชน ปล่อยให้ไปเอาตัวรอดกันเอง แต่ก็ยังเก็บรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆที่สำคัญไว้ แม้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะเป็นตัวฉุดรั้งประเทศจีนเอาไว้ในเวลาเดียวกันนั่นเอง
ใจความสำคัญของเล่มนี้คือแนวทางเศรษฐกิจที่ฝืนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียมที่รัฐบาลจีนดำเนินผิดมาโดยตลอด เพราะแม้เศรษฐกิจจีนจะดูมีตัวเลขที่พุ่งสูงเอาๆ แต่รายได้กลับกระจายไปอย่างไม่เท่าเทียม เพราะรายได้ส่วนไม่น้อยยังถูกเอาไปช่วยรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนอยู่เสมอตั้งแต่ยุคการปฏิรูปประเทศ
นี่คือส่วนหนังของอดีตของเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมา และจีนก็ได้บทเรียนแล้วว่าควรจะทำอย่างไรกับอนาคตทางเศรษฐกิจตัวเอง
เมื่อการเติบโตอย่างมหัศจรยย์ของจีนตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่การเปิดประเทศเป็นตัวเร่งให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ หมากทางเศรษฐกิจต่อไปของจีนคือทำอย่างไรจะทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเท่าเทียมกัน
ทำอย่างไรที่จะให้ผู้คนยังคงรักที่จะอยู่ในชนบทและสามารถมีกินมีใช้อย่างสุขสบาย
ทำอย่างไรที่จะรักษาอัตราการจ้างงานในเมืองไว้ไม่ให้เกิดสลัมกลางเมืองขึ้นมา
จีนจะทำอย่างไร ต้องคิดตามดูกับผู้นำจีนคนใหม่ สีจิ้นผิง ว่าจะทำอย่างไรกับเศรษฐกิจจีนที่อาจจะกลายมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกครับ
เศรษฐกิจจีน ปริศนา ความท้าทาย อนาคต
DEMYSTIFYING THE CHINESE ECONOMY
JUSTIN YIFU LIN เขียน
ดร.อักษรศรี พานิชสาสน์ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds
เล่มที่ 119 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 2018 10 28