หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลใจดวงใจ เพราะห้องหนังสือบ้านผมมีหนังสือของเค้าคนนี้เยอะมากครับ คุณสฤณีชอบเขียนหรือแปลหนังสือแนวระบบเศรษฐกิจแบบรักษ์โลก หรือจะเรียกว่าทุนนิยมสีเขียวก็ว่าได้ ซึ่งเป็นหนังสืออีกสไตล์ที่ผมชอบมากโดยไม่รู้ตัว จนผมบังเอิญได้หนังสือเล่มนี้จากร้านหนังสือสำนักพิมพ์สมมติ ที่เป็น pop-up store เล็กๆตั้งอยู่เส้นกัลปพฤกษ์ บอกได้เลยว่าเป็นร้านที่ถ้าไม่ตั้งใจมาก็ยากที่จะเจอได้
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงมีเนื้อหาแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่กลับไม่เคยได้รู้จักมาซักเท่าไหร่เลย เช่น การประกันพืชผลบนดัชนีอากาศ
ต้องบอกว่าได้ยินเรื่องนี้ก็จากหนังสือทุนนิยมที่มีหัวใจ ของคุณสฤณี ที่ได้ไปบรรยายให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเมื่อสิบกว่าปีก่อนเหมือนกัน เป็นแนวคิดการทำประกัยภัยของชาวสวนไร่นาที่ฟังดูโลกาภิวัฒน์มาก
จากเดิมการทำประกันพืชผลนั้นทำกันบนเรื่องของราคาขาย ว่าถ้าราคาในปีไหนตกต่ำกว่าที่ทำประกันไว้ ก็จะได้รับเงินชดเชย หลายครั้งเราเห็นบรรดาชาวสวนไร่นาเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อมาเรียกร้องกระทรวงหรือนายกให้ช่วยรับประกันราคาพืชผลที่เพาะปลูกไว้ให้หน่อย พอได้ตามข้อเรียกร้องก็ยกกันกลับไป
นี่คือเรื่องที่ผมได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็กก็ว่าได้ครับ คุณสฤณีให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การรับประกันเรื่องราคาพืชผลนั้นอาจทำให้เกษตรกรไม่ยอมเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นที่น่าจะดีกว่ากับสภาพผืนดินและอากาศในถิ่นของตัวเอง เพราะตัวหลักประกันราคาเป็นตัวการันตีว่ายังไงๆก็ได้เงินชดเชยคืนแน่ๆ
แต่การประกันภัยรูปแบบใหม่ของชาวสวนไร่นาที่เรียกว่า “ประกันพืชผลบนดัชนีอากาศ” นั้นเป็นการรับประกันในแง่ของสภาพฝนฟ้าหรือน้ำจะต้องมาตามฤดูการ ถ้าฝนไม่ตกประกันจะจ่าย หรือถ้าฝนตกหนักจนน้ำท่วมเสียหายไป ประกันก็จะจ่าย แต่ถ้าปีไหนที่ฝนตกต้องดีน้ำท่าสมบูรณ์แต่ผลผลิตไม่ดีก็จะไม่จ่าย เพราะแนวคิดของประกันพืชผลบนดัชนีอากาศนี้มีอยู่ว่า ถ้าน้ำท่าดีอุดมสมบูรณ์ถ้าเกษตรกรตั้งใจเพาะปลูกรดน้ำใส่ปุ๋ย พืชผลก็น่าจะออกมาดีนะ
เพราะใจความสำคัญของการทำการเกษตรคือสภาพอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าสภาพอากาศเป็นไปตามที่คิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด ประกันตัวนี้จึงเหมาะกับเกษตรกรที่ขยันขันแข็ง และเหมาะกับเกษตรกรที่รู้จักใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ หรือรู้ว่าที่ดินบ้านตัวเองปลูกอะไรถึงจะดี ไม่ต้องมัวไปปลูกพืชตามกระแส หรือปลูกเพื่อคาดหวังว่าจะได้เงินชดเชยจากรัฐอีกต่อไป
โดยสภาพฟ้าฝนก็จะมีเครื่องมือวัดปริมาณน้ำผล ติดกระจายไปทั่วพื้นที่ บวกกับการใช้เครื่องมือต่างๆไม่ว่าจะดาวเทียมหรือยิ่งเป็น Big Data สมัยนี้ ก็ทำให้การทำประกันพืชผลแบบใหม่นี้แม่นยำมากยิ่งขึ้นครับ
นี่คือหนึ่งรูปแบบของโลกาภิวัฒน์ที่น่าสนใจกว่า 5G ในจริงๆครับ
ผู้เขียนบอกว่า “นักสำรวจ” อาจเป็นอาชีพแรกของโลก ที่บรรพบุรุษของมนุษย์เลือกเป็น เพราะหลังจากที่พวกเขาเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเพียงพอที่จะสามารถผลิตและเก็บรักษาปัจจัยสี่ ตลอดจนการันตีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวได้สำเร็จ
เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ออกเดินทางเพื่อหาทรัพยากรใหม่ๆต่างๆ พอหลายพันปีผ่านไป หลังจากแผ่นดินแทบทุกตารางกิโลเมตรในโลกถูกค้นพบ “นักสำรวจ” ผู้กล้าหาญสมัยโบราณก็กลายเป็น “นักท่องเที่ยว” ผู้แบกเป้สมัยใหม่ที่ออกค้นพบประสบการณ์ใหม่ในโลกใบเดิมให้ตัวเอง
โลกาภิวัฒน์เลยเป็น “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” จากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันอยู่คู่กับสัญชาติญาณในตัวเราทุกคนมานานแล้ว
หรือเรื่องที่คิดว่าเป็น “วัฒนธรรมของแท้ดั้งเดิม” ที่เราชอบยึดถือกันว่านั่นไทยแท้ หรือนี่คือความเป็นไทยออริจินัล แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมแท้ๆของชาติใดชาติหนึ่ง
เพราะแต่ละวัฒนธรรมก็ได้รับแรงบันดาลใจผ่านวัฒนธรรมอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น ผ้าที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นลายแอฟริกาตะวันตกดั้งเดิม จริงๆแล้วมาจากผ้าบาติกของเกาะชวาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่หลายครั้งผลิตในโรงโม่ของชาวดัตช์
ชุดพื้นเมืองของหญิงชาวเฮเรโร่ (Herero) ในประเทศนามิเบียก็ดัดแปลงมาจากชุดของมิชชันนารีเยอรมันในศตวรรษที่ 19
หรือเอาใกล้ตัวอาหารไทยหลายอย่างที่เราหลงคิดไปว่าเป็น “วัฒนธรรมไทยแท้แบบดั้งเดิม” ไม่ว่าจะรสชาติเผ็ดจากพริก แท้จริงแล้วพริกมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศชิลีนะครับ และก็เป็นฝรั่งโปรตุเกศที่นำเข้ามา ส่วนเนื้อหมูที่คนไทยชอบเอามาทำอาหารทั้งหลายประเทศก็เหมือนกัน นั่นก็เป็นฝรั่งนำเข้ามาในบ้านเราสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครับ
ส่วนลวดลายไทยๆตามผนังวัด เราก็ไปเอาของขอมมาดัดแปลง เอาของอินเดียมาดัดแปลง วรรณกรรมทั้งหลายก็เหมือนกันที่เราหวงนักหนา เราก็เอาของเค้ามากลืนเป็นของเราอีกทีไม่น้อยครับ
ดังนั้นวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ที่ให้คนสองเชื้อชาติเอาของที่ตัวเองมีมาแสดงต่อกัน แลกเปลี่ยนกัน หรือแอบหยิบฉวยมาเป็นของตนเสียมากกว่าครับ
หรืออันตรายจากโลกาภิวัฒน์ก็มีครับ ในแง่มุมของการเมืองเองของประเทศอย่างอเมริกา ก็ใช้การสื่อสารทั้งวิธีการและช่องทางที่พัฒนาไม่หยุด เพื่อสร้างความเชื่อให้คนในชาติสนับสนุนในเรื่องการทำสงครามต่อต้านการร้าย การสร้างศัตรูร่วมของคนในชาติ หรือล่าสุดก็พวกข่าวปลอมจนทำให้อเมริกาได้ประธานาธิบดีคนล่าสุดนี่ไงครับ
สรุปสุดท้ายคือยังไงโลกก็จะมีวิวัฒนาการต่อไป ยากจะคาดเดาได้ สิ่งนึงแน่ๆคือเราต้องรู้ว่าเราควรอยู่ตรงไหนในโลกที่เปลี่ยนไปทุกวันให้ได้ครับ
สรุปหนังสือ ล่องคลื่นโลกาภิวัฒน์ 1, The World is Round สฤณี อาชวานันทกุล เขียน สำนักพิมพ์ openbooks
เล่มที่ 122 ของปี 2018 อ่านเมื่อ 2018 11 14