เรียนเลขไปทำไม..ใครรู้บ้าง นั่นซิครับ จนผมอายุเข้าเลข 3 กลางๆแล้วหลายอย่างที่เรียนมาสมัยมัธยมจนวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไม
ในฐานะที่ผมเป็นเด็กสายวิทย์คณิตคนหนึ่ง(อย่าถามเรื่องเกรดเฉลี่ยจบมาเท่าไหร่ บอกได้แค่ว่ามันเลวร้ายจนคุณจะต้องช็อกถ้าได้รู้)ที่ต้องเรียนคณิตศาสตร์มากมั้ย ทั้ง matrix ทั้งแคลคูลัส ทั้ง log ทั้งบลาๆๆเต็มไปหมด ก็นั่นแหละครับ เรียนแบบไทยๆจบออกไปแบบงงๆ เพราะผู้สอนก็ไม่เคยบอกให้รู้ว่าไอ้ที่ต้องเรียนเนี่ยมันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเรายังไง เพราะถ้าบอกให้รู้ซักนิดเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่คงรักที่จะเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นอีกเยอะ
จนผมได้รับหนังสือเล่มนี้จากคุณ Pornput Suriyamongkol ที่อยู่ดีๆก็ inbox มาบอกว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งอยากส่งมาให้ลองอ่านดู และพอได้รับก็ถึงรู้ว่าเค้านี่แหละคือผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
พออ่านจบผมพบว่าถ้าคุณพรพุฒิ สุริยะมงคล ผู้เขียนมาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์สมัยผมเรียน ผมคงรักที่จะเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นอีกเยอะ เพราะคุณพรพุฒิสามารถบอกได้ว่าคณิตศาสตร์ชื่อยากๆแต่ละสมการหรือทฤษฎีนั้นเรียนไปทำไม
เช่น วิชา Matrix ที่ไม่เกี่ยวกับหนังเรื่อง Matrix แต่กับเกี่ยวกับวิธีการจัดอันดับผลการค้นหาของ Google ว่าเพจไหนควรอยู่บนหรือล่าง หรือแม้แต่ใช้กับการยืดขยายภาพหน้าจอสมาร์ทโฟนทุกวันนี้
หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจว่าหลักการเข้ารหัสบนอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ด้วยภาพประกอบที่เข้าใจง่ายทำให้เข้าใจว่า ผู้ใช้อย่างเราส่งกล้องข้อความพร้อมแม่กุญแจไปให้คนปลายทางที่ต้องการ จากนั้นคนปลายทางที่ต้องการก็เอาเนื้อหาใส่กล่องนั้นแล้วล็อคกุญแจที่เราให้ส่งกลับคืนมา เท่านี้ต่อให้เราถูกดักขโมยข้อมูลระหว่างทางก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะลูกกุญแจนั้นอยู่กับเราที่ปลายทางเท่านั้น
และจำนวนเฉพาะของคณิตศาสตร์ที่เราทุกคนรู้จักดีก็คือกุญแจสำคัญของการเข้ารหัสที่ว่ามาครับ
เพราะกุญแจที่จะเข้ารหัสข้อมูลนั้นมาจากตัวเลขจำนวนเฉพาะสองตัวที่คูณกันออกมาได้ นั่นหมายความว่าต่อให้ถูกขโมยข้อมูลไประหว่างทาง และรู้ว่าคำใบ้ของกุญแจคืออะไร แต่ก็ไม่สามารถถอดรหัสนั้นได้โดยง่าย หรือแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำได้ในช่วงอายุคนหรืออาจจะต้องใช้เวลานับพันปีล้านปี
ถ้าตอนเรียนอาจารย์สอนแบบนี้เราคงตั้งใจเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นอีกเยอะเห็นมั้ยคับ
หนังสือคเณิร์ตศาสตร์เล่มนี้ก็ทำให้ผมเพิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วดนตรีหรือตัวโน๊ตแต่ละตัวนั้นก็มาจากคณิตศาสตร์เช่นกัน
สมัยเด็กผมอยากเป็นนักดนตรีครับ ผมเคยชอบเล่นกีตาร์มาก สำหรับใครที่เล่นกีตาร์เหมือนกันเคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมความกว้างของเฟสกีตาร์นั้นไม่เท่ากัน แต่กลับค่อยๆลดหลั่นลงไปทีละนิดๆ และนั่นก็มาจากคณิตศาสตร์ครับ
ผมเพิ่งรู้ว่าสัดส่วนของเฟสกีตาร์ในแต่ละช่องนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.06 เท่าไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เสียงที่เพอร์เฟคอย่างที่เป็นนี้ ดังนั้นกีตาร์และเครื่องดนตรีนั้นไม่ได้มาจากแค่สุนทรีย์ แต่มาจากคณิตศาสตร์ที่สร้างความสุนทรีย์ให้เราโดยไม่รู้ตัวครับ
ค่า log ก็เหมือนกัน อันนี้สมัยเรียนเป็นอะไรที่ปวดหัวมาก แถมผมยังตกติด 0 วิชาคณิตศาสตร์สมัยมัธยมปลายจนถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่ได้ไปสอบซ่อมเลยเชื่อมั้ย แล้วถ้าไม่อ่านคเณิร์ตศาสตร์เล่มนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเจ้าค่า log เนี่ยเอาไว้ใช้คิดคำนวนเป็นสัดเป็นส่วนให้ง่ายขึ้น เช่น ค่า log ของความเป็นกรดด่างอย่าง PH เนี่ย เวลาตัวเลขต่างไปหนึ่ง แต่ความเป็นจริงแล้วความเข้มข้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป 10 เท่านะครับ
หรือค่าเดซิเบลก็เหมือนกัน จริงๆแล้วทุกๆ 20 เดซิเบลที่เปลี่ยนไป ระดับเสียงจะดังขึ้นถึง 10 เท่าเลยนะครับ ไม่ใช่แค่ 20 หน่วยแบบตรงไปตรงมาเหมือนเซนติเมตรอะไรอย่างนั้น
และสุดท้ายในเล่มที่ผมทึ่งคือคณิตศาสตร์ความน่าจะเป็นหรือสถิติสามารถช่วยให้คุณพ้นคดีได้
ที่สหรัฐอเมริกามีคดีความหนึ่งที่สามีผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าตกรรมภรรยานั้นถูกศาลตัดสินว่าไม่ผิดเพราะได้นักคณิตศาสตร์มาช่วยแก้ต่างให้ด้วยหลักสถิติว่ามีโอกาสน้อยมากถึง 1 ใน 2,500 ว่าชายคนนี้จะฆ่าภรรยาตัวเอง เมื่อศาลได้ยินแบบนี้ก็เลยตัดสินให้ว่าชายคนนี้ “น่าจะไม่ได้ฆ่า”
เป็นยังไงครับ คณิตศาสตร์ช่วยชีวิตไว้แท้ๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกนะครับว่าเค้าฆ่าจริงหรือไม่ฆ่า เพราะมันก็คือความน่าจะเป็นครับ
หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมคิดว่าถ้าเด็กไทยได้อาจารย์คณิตศาสตร์ที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งทีเค้าเรียนให้เข้ากับเรื่องใกล้ตัวและน่าสนใจได้แบบนี้ เด็กส่วนใหญ่คงหลงไหลในคณิตศาสตร์มากกว่านี้
สิ่งสำคัญคือไม่ใช่เรียนรู้อะไร แต่เป็นการทำให้รู้ว่าเค้าต้องเรียนไปทำไม สิ่งนี้มันสำคัญยังไงกับเค้า หรือมันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเค้าตรงไหนบ้าง เพราะนี่คือเสน่ห์ของคณิตศาสตร์ที่น้อยคนนักจะรู้ แบบที่คุณพรพุฒิ สุริยะมงคล รู้ และเลือกที่จะเอามาถ่ายทอดให้เราทุกคนได้รู้
ผมอยากเห็นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ครูวิชาคณิตศาสตร์ให้เด็กได้อ่านก่อนจะเริ่มเรียนคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำครับ
อย่าเอาแต่สอนให้เด็กท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่จงสอนให้เด็กรักที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองครับ แล้วคุณจะพบว่าชีวิตนั้นมีอะไรให้น่าเรียนรู้อีกเยอะ รวมถึงคณิตศาสตร์ที่เราเคยเกลียดและบ่นว่ายากกันนักหนาครับ
ปล. อ่านจบแล้วอยากกลับไปเรียนคณิตศาสตร์อีกครั้งเลย! จริงๆนะ
คเณิร์ตศาสตร์ ไม่เนิร์ดก็ควรอ่านแล้วคุณจะหลงรักคณิตศาสตร์แบบไม่รู้ตัว
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 20 ของปี 2019
คเณิร์ตศาสตร์
เรียนเลขไปทำไม..ใครรู้บ้าง
พรพุฒิ สุริยะมงคล เขียน
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด
20190301