สรุปอย่างย่อ หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นถึงดูยุ่งๆวุ่นๆอยู่กับเน็ตนัก ทำไมถึงติดมือถือจัง ทำไมถึงบ้าโซเชียล ทำไมไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนแล้วเอาแต่หมกตัวอยู่หน้าจอนานๆ ทำไมถึงชอบโพสอะไรแปลกๆที่ทำเอาผู้ใหญ่หรือพ่อแม่หัวหมุนหลายต่อหลายครั้ง หรืออีกร้อยคำถามที่ว่า ทำไม ทำไม ทำไม ทำไมอินเทอร์เน็ตและโซเชียลถึงเปลี่ยนเด็กสมัยนี้ไปได้ถึงเพียงนี้
ทุกทำไมที่ว่าทั้งหมดมีคำตอบอยู่ในเล่มนี้ครับ และทุกทำไมที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเรื่องใหม่อะไร เพราะเชื่อมั้ยว่าคุณและผม หรือคนที่กำลังมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นทุกวันนี้ต่างก็เคยเป็นแบบนี้ทั้งนั้น เพียงแต่วิธีการระหว่างรุ่นเรากับเค้ามันต่างกันเท่านั้นเอง
เราต้องเริ่มจากเข้าใจแก่นของเรื่องนี้ทั้งหมดก่อนว่า คนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้นต้องการแค่สองอย่าง ความเป็นส่วนตัว และเพื่อน
ตอนเราเป็นวัยรุ่นเราติดเพื่อนมั้ย? ผมคนนึงแหละครับที่ติดเพื่อนงอมแงมเลย เลิกเรียนก็อยู่เตะบอลด้วยกันนานๆ หรือรวมกลุ่มกันแซวผู้หญิงหน้าตึก หรือชวนกันไปทำเรื่องห่ามๆตามประสาเด็กวัยรุ่น ส่วนเพื่อนผู้หญิงรุ่นผมหรอครับ ก็จับกลุ่มกันทำการบ้าน บ้างก็ไปซื้อขนมมากินกัน(แล้วเด็กผู้ชายอย่างผมก็เข้าไปขอกินด้วย) ไม่ก็ไปนั่งคุยกระหนุงกระหนิงกับแฟน ไม่ก็จับกลุ่มเม้าส์เพื่อนด้วยกันอีกทอดนึง
นั่นคือพฤติกรรมรุ่นผมตอนที่เป็นวัยรุ่น เอ่อ..รุ่นผมคือปีนี้ผมเลข 3 กลางๆแล้วครับ ผมเชื่อว่าถ้าคุณเป็นรุ่นที่เกิดก่อนผมก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการกันไปเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วไม่ได้ต่างกันนัก เพราะใจความหลักก็คือเพื่อน..และความเป็นส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวที่ว่าคือ เรื่องที่เราทำกับเพื่อนพ่อแม่ไม่ค่อยรู้หรอก เพราะในยุคก่อนโซเชียลเวลาเราจะทำอะไรเราไม่ได้โพสให้โลกรู้ ไม่ได้โพสให้พ่อแม่มาตามสืบค้นเจอได้เหมือนสมัยนี้
ผมว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่กำลังเป็นพ่อแม่มีลูกที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือลูกกำลังเป็นวัยรุ่นอยู่แต่ไม่รู้จะรับมือลูกยังไงดี และก็เหมาะกับนักการตลาดหรือนักธุรกิจคนไหนก็ตามที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นและพ่อแม่ อ่านเพื่อเข้าใจว่าเค้าคิดยังไง หรืออ่านเพื่อย้อนกลับมาเข้าใจตัวเราตอนเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง
และนี่ก็คือสรุปอย่างย่อ
ส่วนสรุปอย่างยาวน่ะหรอครับ ส่วนตัวผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ถูกแปลออกมาช้าไปนิด แล้วผมก็อ่านช้าไปหน่อย คือหนังสือเล่มนี้ถูกแปลออกมาเมื่อปี 2561 ส่วนผมเพิ่งได้อ่านก็กุมภาพันธ์ 2562 เอง ทำให้เนื้อหาหลายส่วนอาจดูเก่าล้าสมัย แต่ถ้าอ่านดีๆก็จะรู้ว่าแก่นไม่ได้เก่าตามกาลเวลาเลย กลายเป็นเราที่เป็นผู้ใหญ่นี่แหละที่ลืมมันไปเอง จนต้องอ่านเล่มนี้เพื่อปัดฝุ่นความเข้าใจตัวเราตอนวัยรุ่นอีกครั้ง
ทำไมวัยรุ่นถึงต้องวุ่นเน็ต?
คุณสังเกตมั้ยครับว่าโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้มันไม่ควรถูกเรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” แล้วด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ Smart Phone ก็ไม่ควรเรียก เพราะเราแทบไม่ได้ใช้มันเป็นโทรศัพท์อย่างที่มันเคยเป็นแล้ว
ถ้าไม่เชื่องั้นถามหน่อย วันนี้มีคนโทรหาคุณกี่สาย? ส่วนตัวผมหรอ..ไม่มีเลยซักสายครับ วันไหนที่พีคสุดๆก็มีคนโทรเข้ามาแค่ 2-3 สาย แถมไม่อยากจะบอกว่าครึ่งนึงเป็นประกันด้วยซ้ำ ดังนั้นโทรศัพท์ทุกวันนี้มันกลายเป็นเครื่องมืออะไรซักอย่าง ที่เราเอาไว้แชต แชะ แชร์ หรือช้อป เราใช้มันแบบที่เรียกว่า personal computer แบบ pocket size น่าจะเหมาะกว่าด้วยซ้ำ เพราะกระทั่งการโทรหากันวันนี้เรายังมักโทรผ่านไลน์ ไม่ก็ Facebook Messenger เลยใช่มั้ยล่ะครับ
แล้วเวลาที่ใช้กับโทรศัพท์ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับ Social media รู้มั้ยครับว่าคนไทยนี่ใช้เน็ตผ่านมือถือเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้วนะครับ จากข้อมูลล่าสุดของ We are social จากทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา คนไทยใช้เน็ตผ่านมือถือเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 13 นาที ปรบมือให้กับการเป็นแชมป์โลกของเราหน่อยครับ ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้จริงๆ
แล้วทำไมเราถึงใช้ social media กันเยอะจังเลยล่ะ?
ก็เพราะ social media คือพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในโลกดิจิทัล พื้นที่ๆทำให้วัยรุ่นได้แสดงตัวตน ได้พบปะเพื่อน ถ้าเทียบกับคนรุ่นก่อนพื้นที่สาธารณะที่ให้เราได้รวมตัวกันก็คงหนีไม่พ้นห้าง โซนร้านเกม หรือโรงหนังมั้งครับ แต่ด้วยความเป็นจริงของวัยรุ่นสมัยนี้ที่ยุ่งมาก ไหนจะเรียนหนังสือแล้วต้องไปเรียนพิเศษต่อ หรือถ้าไม่เรียนพิเศษก็มักจะโดนกิจกรรมพิเศษที่พ่อแม่ยัดให้เรา ทำให้วัยรุ่นไม่ค่อยมีเวลาว่างที่จะได้ไปแฮงเอาท์กับเพื่อนฝูงเหมือนคนรุ่นเรา เค้าก็เลยดูเหมือนว่าหมกมุ่นกันอยู่แต่ในโลกโซเชียล ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วโลกโซเชียลนั้นแหละคือพื้นที่สาธารณะระหว่างเค้ากับเพื่อนๆครับ
สมัยก่อนถ้าเป็นรุ่นเรา ใครที่หมกมุ่นอยู่กับอินเทอร์เน็ต หรือเอาแต่คุยกับเพื่อนผ่านเน็ตจะถูกมองว่าเป็นพวกเข้าสังคมไม่เป็น เป็นพวกเนิร์ดหน้าจอที่ไม่น่าคบ แต่ในวันนี้สถานการณ์กลับกันครับ เพราะใครที่ไม่มี social account จะถูกมองว่าเป็นพวกแปลกแยก ไม่มีสังคม ไม่มีใครคบ หรือดูไม่น่าคบซะด้วยซ้ำ คนอะไรไม่มีเฟซบุ๊ก ลึกลับว่ะแก
แถมในยุค social media กำลังระบาดในหมู่วัยรุ่น บรรดาพ่อแม่ผู้ใหญ่ก็มักห้ามและกีดกันไม่ให้ลูกเล่นด้วย จำได้มั้ยครับที่ช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้ามักจะมีการขู่จากสมาคมผู้ใหญ่ผู้ปกครองอะไรทั้งหลายว่า ระวังการหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ต เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าใครที่กำลังคุยกับคุณอยู่จริงๆ แล้วก็มักจะเป็นภาพของชายกลางวัยหรือค่อนไปทางสูงวัยที่ชอบปลอมตัวเป็นวัยรุ่นเหมือนกันแล้วเข้ามาแชตกับลูกๆเราเพื่อหลอกล่อหวังผลทางเพศ
ถ้าให้พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ตาแก่หลังจอคนนึงกำลังแชตคุยกับลูกคุณเพื่อหวังหลอกฟันอยู่ อย่าให้ลูกคุณเล่นเน็ตตามลำพังล่ะ มันอันตราย!
ปั๊ดโถ่!
รู้มั้ยครับว่าจากข้อมูลจริงๆแล้วคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากชายสูงวัยอย่างที่สื่อชอบปะโคมกัน แต่มาจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือมาจากวัยรุ่นด้วนกันนี่แหละครับ น่าสงสัยชายวัยกลางคนที่มักต้องถูกมองว่าเป็นตัวอันตรายบนอินเทอร์เน็ตมาซะนานเลยนะ
พอพ่อแม่เริ่มกังวลเมื่อลูกใช้โซเชียล ครั้นจะห้ามก็ยากเพราะลูกมักมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองแล้ว พ่อแม่ก็เลยต้องสมัครเฟซบุ๊กเพื่อตามเข้าไปดูว่าลูกคุยอะไร คุยกับใคร โพสอะไรบ้าง
และนี่ก็เลยเป็นเหตุผลให้เด็กรุ่นใหม่ในวันนี้ไม่ค่อยใช้ facebook เหมือนคนรุ่นเราแล้วล่ะครับ เพราะพอเค้ารู้ว่าพ่อแม่เค้าอยู่ เค้าก็จะหนีไป platform อื่นที่ไม่มีผู้ใหญ่ตามเข้ามา
ถ้ามองให้ดีเรื่องนี้ก็เหมือนกับว่าวัยรุ่นจะไม่เข้าไปร้านอาหารที่มีแต่ผู้ใหญ่ เพราะเค้ารู้ว่าจะถูกจับตามองหรือรู้สึกแปลกแยก เค้าก็จะไปตามที่ๆเค้ารู้สึกว่าเป็นของเค้า มีความเป็นส่วนตัวที่ไม่ถูกพ่อแม่จับตามองยังไงล่ะครับ
นึกง่ายๆตอนเราเป็นวัยรุ่น เวลาเราคุยอะไรกันอย่างออกรสแล้วมีผู้ใหญ่เดินมา ต่อให้เรื่องนั้นไม่ได้ไม่ดีอะไรเราก็มักจะเงียบกันชั่วขณะ จนกว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะเดินผ่านไปใช่มั้ยครับ
ดังนั้นถ้าวัยรุ่นย้าย social platform หนีพ่อแม่ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ มันเป็นเรื่องที่เราก็เคยทำ แค่วิธีการในวันนี้มันต่างกันเท่านั้นเอง
แล้วทำไมวัยรุ่นชอบโพสอะไรเพี้ยนๆ?
เคยสงสัยมั้ยครับเวลาเราเข้าไปดูหน้าเฟซของวัยรุ่นซักคน หรือจะแพลตฟอร์มอื่นก็ตาม เรามักจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้โพสอะไรประหลาดๆ ไม่เห็นเข้าใจ ดูไม่รู้เรื่อง หรืออาจจะถึงขั้นดูพิลึกจนน่ากลัวก็มีนะครับ
เรื่องนี้ก็มีคำอธิบายที่ดีว่า หน้าฟีดของแต่ละคนก็เหมือนการตกแต่งห้องนอนของวัยรุ่น เวลาเราเป็นวัยรุ่นเรามักจะแต่งห้องนอนในแบบที่เราคิดว่าเจ๋ง เราอาจจะเอาภาพศิลปินคนนั้น ภาพดาราคนนี้ หรือมีของแปลกๆประหลาดๆที่เราเคยคิดว่าเท่ห์มาติดเต็มห้อง แต่พอเราโตขึ้นมาเราถึงกลับมาคิดได้ว่า ตอนนั้นเราแต่งห้องประหลาดๆแบบนี้ไปได้ยังไงนะ
นั่นแหละครับคิดเหมือนกันแค่แสดงออกกันคนละวิธีเท่านั้นเอง
แล้วที่น่าสนใจที่ลงลึกคือ เราสังเกตุเห็นใช่มั้ยครับว่าแม้ social platform ส่วนใหญ่มักจะทำอะไรได้คล้ายๆกัน ไม่ว่าจะโพสสเตตัส แชร์จากเพื่อน แชร์ลิงก์จากที่อื่น อัพโหลดรูปหรือคลิปวิดีโอ แต่ทำไมเราถึงต้องสมัครหลายอัน ทั้งๆที่คุณสมบัติมันไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นัก
ก็เพราะเราและวัยรุ่นนั้นเข้าใจกันดีกว่าแต่ละแพลตฟอร์มนั้นมีวิธีใช้งานมันยังไง จากการที่เราสังเกตุคนที่ใช้มาก่อนหน้าเรา เราก็จะพบว่าทวิตเตอร์เล่นยังไง เฟซบุ๊กใช้ยังไง IG เค้าโพสกันแบบไหน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าคนสมัยนี้จะสมัครหลาย social platform เพราะแต่ละอันพฤติกรรมการใช้ไม่เหมือนกันครับ แม้จะเป็นคนๆเดียวกัน เพราะมันมีกฏทางสังคมที่ซ่อนอยู่
วัยรุ่นบางคนอาจถึงขั้นแยก web browser ตามพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองด้วยนะครับ เค้ารอบคอบมาก เช่น คนๆเดียวกันอาจจะใช้ chrome เพื่อเสริชหาข้อมูลทำงาน หรือทำการบ้านทั่วๆไป และอาจจะใช้ firefox เพื่อเข้ากลุ่มคนชอบเรื่องแปลกประหลาดเหมือนกันก็ได้ เพราะเค้าไม่อยากให้คนอื่นตามประวัติการเข้าเว็บของเค้าเจอ ก็เลยต้องแยกช่องทางตามพฤติกรรมให้ชัดเจนไปเลยครับ
ถ้าถามว่าทำไมวัยรุ่นถึงต้องการความเป็นส่วนตัว ก็ต้องบอกว่าเพราะเค้าไม่ชอบให้ใครจับตามอง ไม่ต้องวัยรุ่นหรอกครับ เราก็เป็น โดยเฉพาะการจับตามองจากคนที่เรารู้สึกว่ามีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะพ่อแม่ เจ้านาย หรือรัฐบาลก็ตาม เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ไม่มีใครชอบให้รู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองว่าทำอะไรอยู่ใช่มั้ยล่ะครับ
วัยรุ่นบางคนฉลาดมากในเรื่องการป้องกันให้คนอื่นจับตามองทาง social คือเค้ารู้ว่าถ้าเค้ามีเฟซบุ๊กพ่อแม่ต้องตามมาขอเป็นเฟรนและแอดเค้าเป็นเพื่อนแน่ จากนั้นพ่อแม่ก็จะตามทุกฝีโพส ฝีแชร์ของลูก เพื่อดูว่าลูกชั้นยังเป็นเด็กดีอยู่หรือไม่ เค้าเลยใช้วิธีลบ account นั้นทิ้งไปเลย!
แต่อย่าเพิ่งตกใจครับ เค้าลบแค่ตอนกลางวัน เพราะเค้ารู้ว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยากจับตาดูเค้ามักจะเสริชหาเค้าตอนกลางวัน แต่เค้าจะกลับมาเปิดการใช้งานอีกครั้งตอนกลางคืน เพื่อเอาไว้ดูอัพเดทชีวิตเพื่อนรอบตัวว่าใครไปทำอะไรที่ไหนมา แล้วพอเช็คดูหมดแล้วก็กลับไปยกเลิกบัญชีอีกครั้ง ทำสลับไปมาแบบนี้ทุกวัน พ่อแม่หรือครูก็ไม่มีทางรู้ว่าเด็กคนนี้มีเฟซบุ๊ก เพราะเสริชหายังไงก็หาไม่เจอ
เป็นยังไงครับ อัจฉริยะจริงๆเด็กสมัยนี้
เพราะ social platform ส่วนใหญ่หรือย่าง Facebook เองนั้นมีปัญหาเรื่องความคงทนถาวรของข้อมูล คืออะไรที่เราโพสไปมักอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล มันก็เลยทำให้สามารถสืบค้นเจอได้ไม่ยาก จากปัญหานี้ก็เลยเกิดแพลตฟอร์มใหม่ที่วัยรุ่นต่างประเทศนิยม และบ้านเราก็กำลังมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่าง Snapchat
Snapchat เกิดมาจากความเข้าใจวัยรุ่นว่า อะไรที่ตามที่โพสหรือส่งกันนั้นเค้าไม่ได้จริงจังกับเรื่องพวกนั้น มันแค่เรื่องขำๆที่คุยกันแล้วก็หายไปกับสายลมเท่านั้นเอง
ผู้ใหญ่พอตามรอยวัยรุ่นไม่ได้ก็มักชอบคิดในแง่ร้ายว่า อ๋อ มันคือแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นเอาไว้ส่งภาพโป๊กันแน่ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วแทบไม่มีเลยครับ ส่วนใหญ่เป็นพวกภาพหรือคลิปบ้าๆบอๆตามประสาวัยรุ่นทั้งนั้น เรื่องพวกนี้เราก็เคยทำมาแล้วตอนเราเป็นวัยรุ่น
หรือวัยรุ่นก็รู้จักที่จะ “ซ่อนสารที่เข้าใจเฉพาะกลุ่ม” เวลาโพสอะไรออกไป ทำให้โพสนั้นแม้จะเห็นได้ทุกคนแต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจว่าจริงๆแล้วเจ้าตัวต้องการสื่อถึงอะไรกันแน่
เช่น เค้าอาจจะโพสเพลงนึงที่ดูเนื้อหาสดใสร่างเริงออกไป เพื่อให้พ่อแม่สบายใจว่าลูกปกติดีในกรณีที่เป็นพ่อแม่ลูกนี้เป็นเพื่อนกันบนเฟซ แต่ความจริงแล้วเพลงนั้นมีความหมายลับที่เศร้ามาก ที่เป็นที่เข้าใจกันในเฉพาะหมู่วัยรุ่นหรือเพื่อนๆเค้าเท่านั้น ฟังดูซับซ้อนดีใช่มั้ยล่ะครับ
สิ่งนี้เรียกว่า “Social Steganography” หรือการซ่อนสารไว้ในที่มองเห็นได้ง่าย จะว่าไปหลักการก็คล้ายกับ blockchain เลยนะครับ ข้อมูลเป็นสาธารณะ แต่เฉพาะคนที่มีกุญแจถอดรหัสเท่านั้นที่จะเข้าใจได้
สุดยอดไปเลยนะวัยรุ่น
ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ของวัยรุ่นอาจงงว่า ทำไมเด็กสมัยนี้ชอบโพสอะไรที่ทำให้ตัวเองดูน่าอับอายบนโซเชียล หรือโพสอะไรที่เรียกว่าเป็นเรื่อง fail ของตัววัยรุ่นเองนั่นแหละครับ
เรื่องนี้ก็มีเหตุผลที่น่าสนใจ เพราะวัยรุ่นบอกว่าการโพสให้ตัวเองดูแย่ ดีกว่าให้คนอื่นมาโพสให้เราดูแย่ เพราะถ้าคนอื่นเห็นเราโพสว่าตัวเองเรื่องนั้นแล้ว เค้าก็จะคิดว่าเรื่องนี้โพสต่อไปก็ซ้ำ และเราก็คงไม่ค่อยแคร์มันเท่าไหร่แล้วด้วย
ผมว่าเรื่องนี้ก็เหมือนกับผู้ใหญ่อย่างเราชอบตำหนิตัวเองกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เรื่องมันดูเบาลงยังไงล่ะครับ
เรียกได้ว่ายอมเล่นตัวเองดีกว่าปล่อยให้คนอื่นเล่นครับ
แล้วที่เราเห็นว่าวัยรุ่นนั้นติดโซเชียลจังไม่รู้ทำไม ความจริงวันนี้ไม่ใช่แค่วัยรุ่น แต่เราทุกคนนั่นแหละครับที่หมกมุ่นกับโซเชียล แต่อย่างที่บอกหนังสือเล่มนี้ออกมาช้าไปหน่อย ไม่งั้นคงสนุกกว่านี้เยอะเลย
ที่เราติดโซเชียลกันก็เพราะว่า “เพื่อน” ครับ
เราไม่ได้ติดโซเชียลแต่เราติดเพื่อนเรา และเพื่อนๆของเราก็อยู่บนโซเชียลกันทั้งนั้น อย่างที่บอกว่าวันนี้แทบไม่มีใครไม่เล่นโซเชียล พ่อแม่เรามักมีบัญชีเฟซบุ๊กกันแล้วใช่มั้ยล่ะครับ นั่นเค้าก็เอาไว้คุยกับเพื่อนๆเค้า เหมือนที่วัยรุ่นก็เอาไว้คุยกับเพื่อนๆบนโซเชียลยังไงล่ะครับ
แถมวัยรุ่นสมัยนี้ก็มักไม่ค่อยมีเวลาว่างเหมือนคนรุ่นเราอย่างที่บอก หรือเวลาจะออกไปไหนพ่อแม่ก็มักจะต้องตามประกบตลอดเวลา ด้วยเหตุที่ว่ากลัวลูกเป็นอันตราย สังคมทุกวันนี้มันน่ากลัวจะตายเรื่องอะไรจะปล่อยลูกไปไหนมาไหนคนเดียว
รู้มั้ยครับว่านี่ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กติดโซเชียล พอเค้าไม่มีเวลาออกไปเจอเพื่อนนอกบ้านมากเท่าไหร่ เค้าก็ยิ่งเอาเวลาอยู่หน้าจอกับโซเชียลเพื่ออยู่กับเพื่อนมากเท่านั้น
จากข้อมูลบอกว่าเด็กอเมริกันทุกวันนี้มีแค่ 13% เท่านั้นที่ไปโรงเรียนเอง อีก 45% มีคนขับรถรับส่ง นั่นก็หมายความว่าอาจจะเป็นพ่อแม่ เมื่อเทียบกับปี 1969 ตัวเลขนี้กลับตาลปัตรกันเลยครับ เพราะมีแค่ 12% เท่านั้นที่พ่อแม่ไปส่ง ส่วนอีกกว่า 48% ไม่เดินไปโรงเรียนเองก็ปั่นจักรยานไปโรงเรียนเองครับ
ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าเด็กบ้านเราเป็นยังไง ยังไปโรงเรียนเองกันเหมือนรุ่นผมเป็นส่วนใหญ่มั้ย หรือพ่อแม่และรถโรงเรียนไปรับส่งกันหมดแล้ว
การที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ของวัยรุ่นจะตื่นกลัวเป็นกังวลเรื่องอินเทอร์เน็ตและโซเชียลก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรอกครับ เพราะอย่างช่วงศตวรรษที่ 18 นวนิยายก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งเสพติด แถมยังทำลายโอกาสที่หญิงสาวจะหาสามีได้ด้วย!
ในช่วงทศวรรษ 1930 ตอนที่หนังสือการ์ตูนถือกำเนิดขึ้นมา ก็ถูกมองว่าไร้สาระและทำให้เยาวชนหมกมุ่นอยู่ในโลกแฟนตาซี แถมยังอาจจะส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงอีกด้วย
ถ้ารุ่นผมก็ต้องเป็นทีวีกับเกมนี่แหละครับ ที่พอเล่นมากๆเข้าก็หาว่าเราติด และเราก็จะสมองเสื่อมไม่เป็นผู้เป็นคน ผมว่าคุณเองก็คงโดนอะไรแบบนี้เหมือนกันใช่มั้ยล่ะครับ เวลาที่เราชอบอะไรซักอย่างมากๆตอนเราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักหาว่าเราหมกมุ่นจนเสพติดเกินไปเสมอ
หรือผู้ใหญ่บางคนที่บอกว่า อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเป็นแหล่งมั่วสุมของคนอันตราย
แต่รู้มั้ยครับจากข้อมูลบอกว่า คนที่มีแนวโน้มชอบยุ่งกับกลุ่มหรือแก๊งค์อันธพาลหรือคนอันตรายในชีวิตจริงเท่านั้น ที่จะเข้าไปอยู่ในเพจหรือเว็บที่อันตราย
ดังนั้นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมันก็แค่เครื่องมือที่ทำให้คนได้เจอกัน คนที่ชอบอะไรก็จะหาแบบนั้นด้วยตัวเองครับ ดีไม่ดีอยู่ที่คนครับ ไม่ได้อยู่ที่เน็ตหรือโซเชียล เพราะเป็นได้ทั้งแหล่งรวมโจร และแหล่งรวมคนอาสาทำดี
หนังสือเล่มนี้พูดถึงประเด็นเรื่อง Cyberbullying ไว้อย่างน่าสนใจ เปิดมุมมองใหม่ที่นึกไม่ถึงมาก่อนครับ
จากการสัมภาษณ์วัยรุ่นส่วนใหญ่พบว่าผู้ใหญ่และสื่อต่างๆตีความ bully หรือ “การกลั่นแกล้ง” ผิดไป เพราะจากปากวัยรุ่นเองบอกว่าการกลั่นแกล้งกันนั้นเป็นเรื่องของ “เด็กเล็ก” เด็กที่โตแล้วหรือพอขึ้นชั้นมัธยมปลายเรื่องนี้จะหายไปทันที เพราะประเด็นเรื่องดราม่าต่างหากที่วัยรุ่นโตแล้วให้ความสนใจ
ส่วนเรื่องการแกล้งกันที่ผู้ใหญ่ชอบกังวลกันไปนั้นก็ไม่ใช่อย่างที่วัยรุ่นรู้สึก เช่น การที่ใครคนนึงจะโพสประจานใครคนนึงให้อาย แต่คนคนนั้นก็กลับมาโพสตอบโต้หรือสู้กลับ จะเห็นว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่เป็นการสู้กันในแบบของวัยรุ่น ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นผู้ชายรุ่นผมที่ชอบตบหัวแกล้งกัน จากนั้นฝ่ายที่โดนตบก็ตบสู้กลับ เรื่องมันก็เท่านั้นเองครับ
การแกล้งกันคือการถูกกระทำฝ่ายเดียว โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถตอบโต้ได้ หรือแม้แต่ไม่กล้าตอบโต้ แบบนั้นวัยรุ่นถึงจะมองว่าเป็นการถูกกลั่นแกล้ง และก็อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่วัยเด็ก ม.ต้น พอขึ้น ม.ปลาย แล้วใครยังแกล้งคนอื่นดูจะดูงี่เง่ามากในสังคม ม.ปลาย หรือเอาง่ายๆมันไม่คูลเค้าไม่ทำกันครับ
อย่างเรื่อง sex education ที่เพิ่งดังใน netflix ไป ก็จะเห็นว่าคนที่ถูกกระทำไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เค้าก็จะหาทางตอบโต้กลับของเค้าเสมอ ถ้าไม่ด้วยกำลังก็ด้วยวาจา ไม่ได้วาจาก็ด้วยการโพสอะไรบางอย่างลงไป นั่นแหละครับ
หรือวัยรุ่นบางคนอาจทำเป็น bully ตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจก็มีนะครับ เช่น อาจทำเป็นว่ามีคนอื่นมาโพสอะไรแปลกๆทำให้ตัวเองเสียหายหรือน่าอายบนหน้าวอลล์ แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าตัวนั่นแหละที่ทำแบบนั้นเอง ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะวัยรุ่นมันจะทำอะไรเพื่อเรียกร้องความสนใจจากครอบครัวหรือคนใกล้ตัวทางอ้อมบ้างอยู่แล้วครับ
ปัญหาสำคัญคือเรามักคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ที่เกิดมาพร้อมอินเทอร์เน็ตนั้นจะมีความสามารถด้าน digital เองอย่างดีอยู่แล้ว
ถ้าตอบในมุมของการใช้เครื่องมือล่ะใช่ แต่ถ้าตอบในแง่ของความเข้าใจว่าเครื่องมือนั้นทำงานอย่างไรยังถือว่าไม่อย่างยิ่งครับ
เช่น เค้ารู้ว่าถ้าเค้าอยากรู้อะไรเค้าจะไปหาข้อมูลได้ที่ไหน ส่วนใหญ่อาจพุ่งตรงเข้า google หรืออาจโพสถามเพื่อน หรืออาจเข้าไปหาตามแฮชแทก แต่เค้าไม่รู้ครับว่าไอ้เครื่องมือดิจิทัลทั้งหลายที่เค้าใช้นั้นมันทำงานอย่างไร
เค้าไม่ค่อยสงสัยเท่าไหร่ว่าทำไมพอเสริชแล้วถึงขึ้นอันนี้ก่อนอันนั้น ทำไมลิงก์นั้นถึงไปอยู่ท้ายๆ ทั้งๆที่นี่เป็นทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล การที่จะต้องรู้จักตั้งคำถามของที่มาของข้อมูล รู้จักตั้งคำถามว่า algorithm เบื้องหลังนั้นมี bias จากวิศวกรที่สร้างมันขึ้นมามั้ย
เหมือนอย่าง siri ที่ฟังสำเนียงคนผิวขาวได้ดี แต่กับสำเนียงคนดำหรือคนลาตินนั้นกลับทำงานได้แย่มาก เพราะ engineer หรือผู้สร้าง siri นั้นใช้ชุดข้อมูลในการฝึกสอนที่มาจากคนขาวที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ เลยทำให้เกิด bias ของ algorithm ขึ้นมาทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวครับ
นี่เป็นสิ่งที่วัยรุ่นต้องเรียนรู้ และผู้ใหญ่อย่างเราก็ต้องรู้ที่จะแบ่งปันการวิเคราะห์ข้อมูลว่าอันไหนน่าเชื่อถือ อันไหนไม่น่าเชื่อถือด้วย
และทั้งหมดนี้ผมว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มเลยครับ แม้เนื้อหาจะเก่าไปหน่อย จากตัวอย่างที่พูดถึง MySpace ค่อนข้างเยอะ ซึ่งมันเคยฮิตเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่อย่างที่บอกครับว่า “แก่น” ของเรื่องยังคงไม่เก่าจากวันที่ผู้เขียนเริ่มหาข้อมูลเลยซักนิด
และพออ่านจบคุณจะพบว่า จริงๆแล้วเราทุกคนต่างก็เคยผ่านช่วงวัยรุ่นมาทั้งนั้น และเราต่างก็หลงลืมกันไปตามกาลเวลาว่าในตอนเป็นวัยรุ่นนั้นเราเป็นอย่างไร แล้วเราก็จะเผลอมองวัยรุ่นในวันนี้ว่าทำตัวแปลกประหลาด ทั้งที่ความจริงเราในช่วงเวลานั้นอาจจะแปลกประหลาดและเพี้ยนกว่าเค้าในวันนี้ด้วยซ้ำ
แค่เครื่องมือหรือวิธีในการการแสดงออกเท่านั้นที่ต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลับมาเข้าใจเค้าเพื่อเข้าใจตัวเราในอดีตอีกครั้งไม่ได้
วัยรุ่นในวันนี้ ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่งเสริมให้เค้าได้เรียนรู้ ไม่ใช่เอาแต่ห้ามปรามขัดขวางเค้านะครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 12 ของปี 2019
It’s Complicated: the social lives of networked teens
เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต
Danah Boyd เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล
สำนักพิมพ์ Bookscape
20190226