ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม
สรุปหนังสือก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ในชุดหนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 ของคุณต้อง กวีวุฒิ หรือเจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่งที่คุ้นเคย ผมในฐานะแฟนหนังสือคุณต้องมานานตั้งแต่ก่อนจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว บอกตามตรงว่าชอบสไตลด์การเขียนของคุณต้องไม่แพ้พี่ตุ้ม หนุ่ม เมืองจันท์เลย เพราะรู้สึกว่าอยากเขียนบรรทัดละสั้นๆ แล้วขึ้นบรรทัดใหม่ได้บ่อยแบบนี้บ้างจัง แต่ บก. ผมไม่ค่อยยอมเท่าไหร่ หนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 เล่มนี้ก็ยังคงคอนเซปเดิมที่คุ้ยเคย คือการเล่าเรื่องราวของโลกธุรกิจที่เน้นจากมุมมองของคนที่เป็นลูกน้องหรือคนนอก ไม่ใช่มุมมองของคนที่นั่งหัวโต๊ะหรือคนที่เป็นหัวหน้า เพราะคนเหล่านี้มักจะมองโลกจากมุมบนและมุมกว้าง จนลืมมุมมองจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนแทน ทำให้หลายครั้งเกิดการ lost conntection หรือขาดการเชื่อมต่อทางใจในการทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หัวหน้าก็สั่งไปเรื่อยโดยไม่ได้เอาใจมาดูเลยว่าหน้างานที่ลูกน้องคนทำงานต้องเจอนั้นมีอุปสรรคแบบใดบ้าง หรือหลายครั้งคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารมักจะไปอบรมหลักสูตรเท่ห์ๆ เก๋ๆ หรืออ่านเจอในหนังสือบทความถึงเทรนด์การทำงานแบบคูลๆ แล้วรีบเอามาสั่งให้ลูกน้องทำตามโดยไม่ได้สำรวจบริบทในองค์กรเราว่าเหมาะกับสิ่งนั้นไหมมากน้อยแค่ไหน หรือที่หนักไปกว่านั้นคืออ่านแต่ชื่อและคำอธิบายก็รีบเอามาสั่งให้ลูกน้องต้องใช้ โดยขาดความเข้าใจบริบทจริงๆ หรือความรู้ในเชิงลึกว่ามันสามารถทำได้จริงขนาดไหน แล้วเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเดิมที่ทำอยู่อย่างไรบ้าง ปัญหาที่ผมเจอจากประสบการณ์ที่เคยเป็นลูกจ้างมาสิบกว่าปี บวกกับเป็นลูกน้องมาก็ร่วมสิบปี จนมาวันนี้ก็เพิ่งจะเป็นเจ้านายหรือเจ้าของบริษัทได้สักสองปี ทำให้มีความเข้าใจที่อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นลูกน้องมาก่อนได้มากกว่า และก็ทำให้มีความเข้าใจคนที่เป็นแต่ลูกจ้าง หรือต่อให้เป็นลูกจ้างบริหารก็จะไม่มีทางเข้าถึงใจมุมมองของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนที่เป็นเจ้าของเงินที่ต้องควักเงินจ่ายเงินเดือนลูกน้องทุกเดือนว่าพวกเขามีความคิดและรู้สึกอย่างไร สิ่งที่ผมพบเจออย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ซ้ำซาก ที่เป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ไม่ก้าวหน้าไปไหนนั่นก็คือ “การเพิ่มงานใหม่เข้าไปโดยไม่ลดงานเก่า” คนเป็นเจ้านายมักจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ จนลืมว่างานที่เรามอบหมายให้ลูกน้องนั้นล้นมือที่เขาจะรับผิดชอบได้แล้วหรือยัง และนั่นเองก็ทำให้ผลงานที่ลูกน้องทำออกมาไม่ค่อยดีอย่างที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจ […]