ทุนนิยมที่มีหัวใจ ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา
หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแปลกในความคิดผม เพราะเป็นหนังสือที่เอาคำพูดที่คุณ สฤณี อาชวานันทกุล ที่ไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องของ “ทางรอดทุนนิยม: สังคมแห่งความร่วมมือ” ในวันนั้น พร้อมกับสิ่งที่ผู้บรรยายและผู้ฟังในวันนั้นได้ถกเถียงกันให้กลายเป็นหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เลยให้อารมณ์เหมือนได้ฟังเลคเชอร์ร่วมกับผู้ฟังคนอื่นๆ ขาดก็แต่ไม่ได้ร่วมถกเถียงความคิดที่แวบขึ้นมาในหัวด้วยเท่านั้น “ทุนนิยม” กลายเป็นระบบทางเศรษฐกิจยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกในวันนี้ แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็ยังยอมที่จะเป็นทุนนิยม จีนก็เป็นหนึ่งในทุนนิยมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกต่อเนื่องมากว่า 30 ปี นับแต่เปิดประเทศรับทุนเข้ามาและปล่อยให้ทุนไปตามความนิยมของเจ้าของทุนมากขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า “ทุนนิยมในปัจจุบัน” หรือ “ทุนนิยมแบบตลาดเสรี” นั้นจะดีต่อเราและโลกจริงหรือ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศโตวันโตคืน แต่กับทรัพยากรและธรรมชาตินั้นกลับร่อยหรอลงทุกทีๆ จนวันนี้ธรรมชาติเริ่มกลับมาเอาคืนมนุษย์เรามากขึ้นผ่านภัยธรรมชาติทั้งหลายที่เราก็ยังรับมือไม่ค่อยไหว เพราะแนวทางของทุนนิยมทุกวันนี้นั้นคือการแข่งกันลงเหว หรือที่เรียกว่า Race to the Bottom ยิ่งเอาทรัพยากรไปสนองความต้องการของคน ไปเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจมากเท่าไหร่ ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งสูญเสียไปมากเท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสียกับทุนนิยมมากขึ้นทุกที” เพราะในบัญชีรายรับจายจ่ายของบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ไม่ได้มีงบในส่วนของผลกระทบภายนอกรวมอยู่ด้วย เช่น การผลิตดินสอซักแท่งนอกจากจะมีต้นทุนเรื่องค่าต้นไม้ที่ต้องตัดจัดหามาแล้ว แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆอีกไม่ว่าจะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้นไม้ลดลงหนึ่งต้น หรือต้นไม้ต้นนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำที่ผลิตน้ำมาเลี้ยงประชากรปลายทาง เมื่อไม่ถูกนับหรือวัดค่าได้ ก็ไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ เมื่อไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ก็เท่ากับว่าไม่มีต้นทุนจริง แต่จริงๆต้นทุนนั้นกลับแย่งชิงจากธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน แต่คุณสฤณี ก็ไม่ได้บอกว่าต้องล้มเลิกทุนนิยมให้หมด แต่บอกเล่าถึงแนวทางของวิวัฒนาการทุนนิยมที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อโลกที่ยั่งยืน และโลกที่ยั่งยืนก็ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อโลกสวย แต่เพื่อให้ลูกหลานเรายังอยู่บนโลกใบนี้ได้ […]