ประวัติศาสตร์หยาดฝน Rain: A Natural and Cultural History
ฝนเม็ดเล็ก ใครจะคิดว่าอารยธรรมที่เคยยิ่งใหญ่กลับล่มสลายเพราะขาดฝนเป็นจำนวนไม่น้อย และต่อให้ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเครื่องมือสุดไฮเทค และเทคโนโลยีอย่าง Big Data เราก็ยังเดาทางเดาใจฝนไม่ได้แม่นยำซักที ในยุค Big Data ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือพรั่งพร้อม และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง สิ่งที่น่าทึ่งก็คือการพยากรณ์ฝนแบบไฮเทคจะเที่ยงตรงมากขึ้นด้วยฝีมือนักอุตุนิยมวิทยา เพราะคำพยากรณ์ที่มีนักอุตุนิยมวิทยามาช่วยอ่านค่า จะแม่นยำกว่าคำพยากรณ์จากคอมพิวเตอร์ล้วนๆถึง 25% นักอุตุนิยมวิทยาไม่ตกในงานยุค Big Data และ AI แล้วนะครับ ส่วนในอดีตในช่วงยุค 1560-1660 ช่วงที่ยุโรปนิยมล่าแม่มดกัน ก็ตรงกับช่วงที่เกิดภูมิอากาศเลวร้ายที่สุดในยุคน้ำแข็งน้อยในปัจจุบัน (ใช่ครับ เรายังคงอยู่ในยุคน้ำแข็งน้อยที่ร้อนขึ้นนิดหน่อย) ในช่วงนั้นการล่าแม่มดคือการหาแพะให้กับปัญญาฝนไม่ตกต้อง หรือฝนตกหนักเกินไปจนเกินควบคุม น่าสงสารคนมากมายที่ต้องกลายเป็นแพะระบายอารมณ์โกรธของคนเพราะไม่รู้ว่าทำไมพายุฝนจึงถล่มเข้ามาจัง เพราะมีฝนถึงมีน้ำ เพราะมีน้ำถึงมีฝน แต่รู้มั้ยว่าน้ำเดียวกันนี้ในอดีตดาวศุกร์และดาวอังคารเองก็เคยมีน้ำระดับมหาสมุทรไม่น้อยไปกว่าโลกเลย แต่น้ำของดาวศุกร์นั้นกลับระเหยไปไม่กลายเป็นฝนเพื่อกลับมาเป็นน้ำในมหาสมุทรดังเดิมอีก ดาวศุกร์ก็เลยเป็นดาวที่มีไอน้ำและความชื้นสูงในอากาศ แต่ไร้ซึ่งน้ำโดยสิ้นเชิง และเจ้าสิ่งนี้แหละคือภัยร้ายที่ทำลายชีวิตบนดาวทั้งดวงที่เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจกยิ่งยวด” ก็เลยทำให้อุณหภูมิที่ร้อยอยู่แล้วบนดาวศุกร์กลายเป็นร้อนตับแตกยิ่งขึ้นไปอีก เพราะภาวะเรือนกระจกที่อันตรายที่สุดไม่ได้เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เกิดจาก “ไอน้ำ” ธรรมดาๆนี่แหละครับ ความร้อนทำให้น้ำกลายเป็นไอ แต่ถ้าไม่มีความเย็นเข้ามาทำให้ไอน้ำจับตัวกันกลายเป็นฝนให้ตกกลับลงมายังแหล่งน้ำ น้ำก็จะยิ่งระเหยไปเรื่อยๆจนหมดทั้งดาวแบบดาวศุกร์ และกลายเป็นบรรยากาศที่ชวนอึดอัดเหมือนเวลาฝนจะตกแต่ไม่ยอมตกยังไงล่ะครับ ส่วนดาวอังคารเองก็อย่างที่รู้กันผ่านข่าวเป็นประจำว่า มีร่องรอยของทางเดินน้ำหรือมหาสมุทรใหญ่ในอดีต แต่ด้วยความที่เย็นจนเกินไปจนทำให้น้ำเองก็ระเหยหายหรือไม่ก็กลายเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้ดินลงไป โชคดีที่โลกเรานั้นสามารถรักษาวัฏจักรของน้ำเอาไว้ได้ เราก็เลยยังเป็นดาวสีฟ้าที่อุดมไปด้วยน้ำและสิ่งมีชีวิตจนถึงทุกวันนี้ ฝนก็มีฟอสซิล ฟอสซิลรูปรอยหยดน้ำฝนที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในหินจากแอฟริกาใต้ […]