Democracy: A very short introduction ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา
ประชาธิปไตย…คำที่คุ้นเคยแต่ใครเอยจะรู้ว่า แท้จริงแล้วประชาธิปไตยที่เข้าใจกันมานั้นมีที่มาอย่างไร Democracy แรกเริ่มเดิมทีจากรากคำภาษากรีกโบราณ มาจากสองคำผสมกันระหว่างคำว่า Demos ที่หมายถึงประชาชน กับ Krator ที่หมายถึงการปกครอง เมื่อรวมกันแล้วก็หมายความว่า “การปกครองโดยประชาชน” ในยุคกรีกโบราณที่ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นนั้น อริสโตเติล ปราชญ์นักคิดชื่อดังผู้สนับสนุนประชาธิปไตยคนแรกๆกลับไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยที่มี “การเลือกตั้ง” ในแบบที่เป็นอยู่ ในสมัยนั้นอริสโตเติลสนับสนุนให้ใช้การ “จับฉลาก” เลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานหรือตัดสินใจ เพราะอริสโตเติลรู้ว่าคนเรานั้นโลภและเขลาเกินกว่าที่คิด ทำให้ไม่มั่นใจว่าถ้าต้องโหวตกันก็จะมวลหมู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อปัญญา เหมือนที่มีคนกล่าวว่า “ความเขลาจะมีชัยเหนือปัญญา และปริมาณจะสำคัญกว่าความรู้” ว่าไปก็คือแนวคิดว่า “ประชานิยม” ในทุกวันนี้ ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นตัวการพาประชาธิปไตยไปสู่ความเสียหาย เพราะประชานิยมคือการที่พรรคต่างๆแข่งขันกันเอาใจประชาชนหมู่มาก ด้วยนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นให้คนส่วนมากเลือกตัวเอง จนไม่มีใครกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ดีต่อประชาชนหมู่มากจริงๆ ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือนพ่อแม่ตามใจลูกเพราะกลัวว่าลูกจะไม่รักกระมัง ประชาธิปไตยแบบประชานิยมคือการเมืองของการกระตุ้นเร้า มากกว่าการเมืองเหตุผล แต่เหนือไปกว่านั้นมันคือการเมืองที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน ไปจากประเด็นสำคัญที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง กลับไปที่กรีกโบราณต้นกำเนิดของประชาธิปไตยอีกครั้ง ในสมัยนั้นประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของทุกคน แต่เป็นแค่เรื่องของชนชั้นสูงที่ร่ำรวยพอไม่ต้องทำมาหากิน จนมีเวลามาถกเถียงเรื่องความคิดและการปกครอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินจนไม่ต้องทำกิน ก็มีสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ กรีกเองก็ไม่เคยมีความคิดที่จะแบ่งปัน “ประชาธิปไตย” ให้กับชาติอื่นแต่อย่างไรในตอนนั้น ประชาธิปไตยเลยเป็นเสมือนเครื่องเชิดชูสถานะของตนให้เหนือกว่าในความคิดของชาวกรีก จากกรีกสู่โรมัน ประชาธิปไตยก็ปรับเปลี่ยนไปในชื่อใหม่ที่เรียกว่า “สาธารณรัฐนิยม” จนเข้าสู่ยุคเผด็จการอย่างไม่มีวันหวนกลับเมื่อซีซาร์เข้ามาปกครอง จากสาธารณรัฐก็เลยกลายเป็นจักรวรรดิโรมันจนท้ายที่สุด พอพูดถึงประชาธิปไตยทุกวันนี้เรามักนึกถึงเรื่องของ “สิทธิ” มากกว่า […]