ชีวิตในศตวรรษนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเลยนะครับ และถ้าคุณคิดว่ามันยากแล้วที่จะใช้ชีวิตในศตวรรษนี้ แต่เหมือนว่าความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นนั้นกลับยากยิ่งกว่าจะจินตนาการไหว จนผมคิดว่าที่คิดๆกันว่า “ยาก” อยู่แล้วนั้นอาจจะกลายเป็น “ง่ายไปเลย” เมื่อเจอกับความน่าจะเป็นที่จะถาโถมเข้ามาดุจพายุทั้งหลายด้านพร้อมๆกัน
หนังสือเล่มนี้บอกถึง 21 สิ่งสำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ในศตวรรษที่เราส่วนใหญ่จะมีอายุยืนกว่าคนในวันนี้มาก หรือเอาง่ายๆว่าถ้าค่าเฉลี่ยของอายุคนในวันนี้อยู่ที่ 70 กว่าปี แต่เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไปน่าจะอายุยืนกันถึง 100 ปีเป็นเรื่องปกติ แล้วเมื่อเราอายุยืนขึ้นแต่การใช้ชีวิตกลับยิ่งยากขึ้นอย่างที่ยากจะจินตนาการได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็พอให้แนวทางที่น่าสนใจและก็มีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อยที่ให้เราได้เตรียมตัวรู้เพื่อจะรับมือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือถ้าไม่เกิดขึ้นก็ถือว่าโชคดีเสียด้วยซ้ำ
ผมว่าหนังสือเล่มนี้ถ้าคุณได้อ่านหนังสือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของ Klaus Schwab” ได้อ่าน “รู้ทันอนาคตที่(อาจจะ)ไม่มีคุณ” ได้อ่าน “บิ๊กดาต้า มหาประลัย Weapons of Math Destruction” หรือแม้แต่ Sapiens ในช่วงบทท้ายๆ รวมถึงหนังสือแนวอนาคตศาสตร์มาบ้าง หนังสือเล่มนี้จะช่วยปะติปะต่อข้อมูลทั้งหลายที่คุณเคยรู้มา รวมถึงให้ข้อมูลในมิติใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้คุณประกอบร่างเห็นภาพอนาคตอันใกล้ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นครับ
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหากว่า 400 หน้า ไม่นับรวมส่วนเชิงอรรภกว่า 50-60 หน้า ผมขอสรุปแต่ละบทเรียนออกมาเป็นส่วนสั้นๆ(หวังว่าจะไม่เผลอยาวอีก)ออกเป็น 21 และตามด้วยบทสรุปส่งท้ายในมุมมองของผมเองสำหรับการสรุปหนังสือเล่มนี้ครับ
21 Lessons for the 21st Century มีดังนี้ครับ
บทที่ 1 Disillusionment, The end of history has been postponed การขจัดภาพลวงตา เมื่อจุดสิ้นสุดประวัติศาสตร์ถูกเลื่อนออกไป
ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่า “เสรีนิยม” คือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ทางการเมืองโลก หลังจากคอมมิวนิสต์นั้นล่มสลายไปจากการการแตกตัวของโซเวียต หรือความพยายามในระดับนานาชาติที่ทำงานหนักมากในการรวมโลกให้เป็นหนึ่งด้วยองค์กรระดับโลกต่างๆมากมาย แต่กลับค่อยๆเกิดรอยแยกแตกสลายออกมาจากการเชื่อมโยงที่พยายามมาอย่างหนัก
Brexit ที่อังกฤษต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือจากนโยบาย Make America Great Again จากการตัดขาด Mexico ออกจากสหรัฐด้วยกำแพงใหญ่ยักษ์ยาวตลอดแนวชายแดนหลายพันกิโลเมตร เพราะกลัวว่าผู้อพยพจะเข้ามาแย่งงานคนอเมริกาทำ หรือหลายประเทศเสรีที่รวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปที่บอกว่าความหลากหลายคือหัวใจสำคัญ แต่กับกีดกันเหล่าผู้อพยพมากมายที่พยายามหลั่งไหลเข้ามา
ในความเป็นจริงแล้วคนอเมริกันอาจจะกลัวผู้อพยพมากเกินไป กลัวว่จะโดนชาวต่างชาติเข้ามาแย่งงานทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจากการพัฒนาภายในประเทศนี่แหละที่จะเป็นตัวแย่งงานเค้าไปไม่ใช่ผู้อพยพ
Algorithm จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่หลายพันล้านคนต้องตกงานในอนาคต กำแพงกั้นระหว่างประเทศไม่มีค่าเมื่อ data ที่สร้างมูลค่าไม่รู้จบสามารถส่งออกข้ามกำแพงไปได้โดยไร้ปัญหา หรือความเป็นจริงไม่ใช่แค่กำแพงทางกายภาพที่ Donald Trump ควรสร้าง แต่ควรเป็นกำแพงกั้นข้อมูลระหว่างประเทศที่เรียกว่า Firewall ต่างหากที่ควรมี
ภาษีก็ต้องวิวัฒนาการตามให้ทันยุคสมัย ไม่ใช่แค่การเก็บตามมูลค่าการจับจ่ายใช้สอย แต่ควรเก็บตามปริมาณ data ที่มีค่าดั่งเงินทองทุกวันนี้ เหมือนที่ผมเห็นข่าวว่า กสทช จะทดลองเก็บภาษีตามปริมาณการใช้ข้อมูลของผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตเป็นชาติแรกของโลก ผมว่าเรื่องนี้น่าชื่นชมและอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ทั้งโลกต้องทำตามก็ได้ใครจะรู้ครับ
และจากการที่ Donald Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็บอกให้รู้ว่า คนอเมริกาส่วนไม่น้อยนั้นอาจจะเหนื่อยจากการวิ่งตามกระแสโลก อยากจะหยุดเวลาไว้ที่วันวานที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหลายประเทศในโลกก็เริ่มมีความคิดแบบนั้น ชาติอิสลามหลายประเทศก็เริ่มความคิดที่ว่าจะนำรูปแบบการเมืองการปกครองในสมัย 1,400 ปีก่อนกลับมาอีกครั้ง เพราะบางทีนั่นอาจเป็นเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของมนุษยชาติทั้งหมดก็ได้
เพราะอำนาจของโลกในวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นักการเมืองหรือรัฐบาลเหมือนวันวาน แต่กลับขึ้นอยู่ในมือของ Algorithm ที่สร้างขึ้นโดยวิศวกร หรือโปรแกรมเมอร์อีกที
วันนี้ Algorithm ของ Facebook, Google, Amazon หรือ Baidu นั้นถูกเก็บงำเป็นความลับยิ่งกว่าสูตรการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งที่คนทั้งโลกใช้งานมันทุกวันเป็นประจำ แต่กลับไม่มีใครรู้เลยว่ามันทำงานอย่างไร เราปล่อยให้ Algorithm ชี้นำชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆจนแทบไม่มีใครคิดจะคัดค้านกับเรื่องนี้เลย
เราจะคิดอย่างไรถ้าวันหนึ่งข้างหน้าผู้พิพากษานั้นกลายเป็น AI เต็มตัว หรือการจะของบประมาณในการเริ่มโครงการอะไรซักอย่างต้องผ่าน Algorithm คิดประเมินให้ว่าได้หรือไม่ได้
นี่คือความน่ากลัวของเทคโนโลยีที่เราประเมินมันต่ำเกินไปในอนาคตอันไกล เพราะในอนาคตอันใกล้นั้นมีแต่เรื่องน่าตื่นตาตื่นใจที่มันทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเส้นชัยถูกเลื่อนไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายและจิตใจที่เริ่มอ่อนล้าก็อาจจะแค่อยากหยุดพักสงบๆเท่านั้นเอง
บทที่ 2 Work, When you grow up, you might not have a job งาน เมื่อเธอโตขึ้น เธออาจจะไม่มีงานทำ
ตลาดในในปี 2050 เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครรู้ว่ามันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จากสกิลในการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นเรื่องใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน จนเข้าสู่สกิลด้านดิจิทัลที่เป็นเรื่องใหม่ให้เรียนรู้เมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา และวันนี้สกิลด้าน data หรือการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลมากมายก็กำลังกลายเป็นสกิลสำคัญที่บริษัทใหญ่ๆและธุรกิจสตาร์อัพใหม่ๆต้องการ
คุณเห็นมั้ยว่าหลายบริษัทเริ่มประกาศหาคนในตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย data มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะ data scientist หรือ data analysis นั่นกำลังส่งสัญญาณให้รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค data หรือการจัดการกับ big data ยังไงให้เกิดประโยชน์ที่สุดแล้วครับ
สมัยก่อนเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแทนที่งานเดิมๆ ก็จะมักก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆตามมา และผู้คนก็แค่เข้าไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเพิ่มเติมก็สามารถกลับเข้ามาทำงานในตลาดงานได้เหมือนเดิมใช่มั้ยครับ
เช่น ในปี 1920 คนงานในฟาร์มที่โดนให้ออกจากงาน เมื่องจากมีการนำระบบเครื่องจักรการเกษตรมาใช้แทน ก็ยังอาจหางานใหม่ในโรงงานผลิตรถแทร็กเจอร์ได้
ในปี 1980 คนงานโรงงานที่ตกงานอาจเริ่มทำงานเป็นแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้
การเปลี่ยนแปลงอาชีพดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะการเปลี่ยนจากฟาร์มไปโรงงาน หรือเปลี่ยนจากโรงงานไปซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นทำได้แค่เรียนรู้ทักษะเพิ่มนิดหน่อยเท่านั้น
แต่งานในอนาคตนั้นจะต่างกับวันนี้โดยสิ้นเชิง โดยเป็นงานที่น่าจะต้องการทักษะเฉพาะทางชั้นสูง เช่น ถ้าคนตกงานจากงานบัญชีเพราะถูก AI เข้ามาจัดการแทนได้หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ในตอนนั้นอาจเกิดงานใหม่ๆอย่างพนักงานขับ Drone เข้ามาแทนที่ และการจะขับ Drone ให้เชี่ยวชาญกว่าระบบอัตโนมัติในเวลานั้นได้ก็หนีไม่ต้องการทักษะในระดับสูงเท่านั้น
เราเคยเชื่อกันว่ายังไงซะเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โปรแกรม หรือ AI ก็ไม่สามารถทดแทนความสามารถของมนุษย์ในเรื่องของสัญชาตญาณ หรือการหยั่งรู้ในแบบของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากพรสวรรค์หรือพรแสวงของมนุษย์ผู้นั้นก็ตาม
แต่รู้มั้ยครับว่าเจ้าสัญชาตญาณที่ว่านั้น (human intuition) แท้จริงแล้วคือสิ่งที่เรียกว่า “การรู้จำเรื่องรูปแบบ” (pattern recognition) ครับ
คนที่ขับรถเก่ง นักธนาคารเก่งๆ นักกฏหมายเก่งๆ หมอเก่งๆ นักออกแบบกราฟิกเก่งๆ ไมได้มีสัญชาตญาณราวกับเวทมนต์แต่อย่างไร แต่มาจากการสามารถรับรู้เรื่องรูปแบบบางอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆและซ้ำๆในแบบที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ และเจ้าตัวก็มักจะอธิบายไม่ได้ด้วย
และแม้แต่คนที่เก่งๆในทุกสายงาน ก็มักจะเผลอทำพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยอยู่บ้างใช่มั้ยล่ะครับ
ซึ่งทั้งหมดนี้เทียบกับ Algorithm ที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีจนสามารถค้นเจอรูปแบบที่ทำซ้ำได้ไม่รู้จบ และผ่านอีกจุดได้เปรียบหนึ่งของ AI ที่มนุษย์ไม่มีทางแข่งขันได้อย่างการ “ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย” (updatebility)
เพราะประสบการณ์ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล กว่าเราจะถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นได้ก็ต้องใช้ทั้งเวลา และใช้ทักศิลปะในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดออกไป ยังไม่นับอีกว่าแต่ละคนนั้นก็มีความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลที่แตกต่างกัน ผิดกับหุ่นยนต์หรือ AI ที่สามารถแชร์ข้อมูลให้กันได้ผ่านระบบ cloud ภายในไม่กี่วินาทีหรือถ้าข้อมูลเยอะหน่อยก็หลักนาที และหุ่นยนต์ล้านตัวก็สามารถทำได้ดีเหมือนตัวที่ทำได้ดีที่สุดเมื่อครู่ทันทีครับ
หรือบางคนอาจจะคิดว่า “การที่ AI จะฉลาดได้ก็ต้องมีผู้ฝึกสอน และผู้ฝึกสอนนั้นก็คือมนุษย์ และงานสอน AI ให้ฉลาดก็จะกลายเป็นงานใหม่ของมนุษย์ยังไงล่ะ”
เรื่องนั้นผมไม่เถียงครับ แต่รู้มั้ยครับว่าบางทีการสอน AI ให้ฉลาดอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์เลย เพราะ AI สามารถเรียนรู้จาก AI ด้วยกันได้ แถมยังสามารถก้าวข้ามความฉลาดของ AI ตัวเดิมที่เป็นครูสอนให้มันจนฉลาดกว่าได้มาแล้ว นั่นหมายความว่าในอนาคต AI อาจจะฉลาดขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดจนมนุษย์เองก็ไม่อาจเข้าใจได้เลยก็ได้ครับ
โปรแกรม AlphaZero เป็นโปรแกรมเล่นหมากรุกที่เก่งที่สุดในโลกในปัจจุบัน ที่สามารถเอาชนะโปรแกรมเล่นหมากรุกเดิมที่ชื่อว่า Stockfish 8 ที่เคยเป็นแชมเปี้ยนหมากรุกโลกเมื่อปี 2016
โดยเจ้าโปรแกรมแชมป์เดิมอย่าง Stockfish 8 นั้นเก่งจากการเรียนรู้การเดินหมากในประวัติศาสตร์ของการเล่นหมากรุกโลกย้อนหลังเป็นร้อยเป็นพันปี สามารถคำนวนการเดินหมากล่วงหน้าได้กว่า 70 ล้านตาต่อวินาที ต่างกับ AlphaZero โปรแกรมใหม่ที่ทำได้แค่ 80,000 ตาต่อวินาทีเท่านั้น
แทนที่ AlphaZero จะเลือกเรียนรู้วิธีการเดินหมากจากมนุษย์ มันใช้ทางลัดเรียนรู้จากเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นครูสอนตัวเองให้เล่นหมากรุกเป็นนั่นเอง
เชื่อมั้ยครับว่าพอมันไม่ได้เรียนรู้จากมนุษย์เจ้า AlphaZero ก็สามารถเดินหมากได้อย่างน่าทึ่งในแบบที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบการเดินหมากรุกใหม่ๆเหมือนอัจฉริยะหมากรุกผู้หนึ่งก็ว่าได้
ถ้าแบบนี้เราจะนับว่าเป็นหมากที่สร้างสรรค์หรือผิดมนุษย์มนากันแทนล่ะครับ?
สุดท้ายแล้วเจ้า AlphaZero ก็สามารถเอาชนะโปรแกรมแชมเปี้ยนโลกหมากรุกเดิมอย่าง Stockfish 8 ในที่สุดจนกลายเป็นแชมป์โลกหมากรุกรายใหม่ และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือมันใช้เวลาในการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็นแชมป์แค่ 4 ชั่วโมงเองครับ
4 ชั่วโมงจากจุดกำเนิดจนกลายเป็นอัจฉริยะแชมเปี้ยนโลก
รู้แบบนี้แล้วไม่รู้ว่างานในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเหลืออะไรให้มนุษย์ทำบ้าง ในเมื่อเราสามารถสอน AI ให้เก่งมากกว่าคนทั่วไปได้ และ AI ก็สามารถสอน AI ให้เหนือไปกว่านั้นได้อีก
บทที่ 3 Liberty, Big Data is watching you เสรีภาพ บิ๊กดาต้าจับตาคุณอยู่
ในความเป็นเสรีนิยมทั่วโลกเราถูกสอนว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีเจตจำนงเสรี หรือ free will ที่สามารถคิดและเลือกได้อย่างอิสระ แต่แท้จริงนั้นการคิดและเลือกของเรานั้นอาจไม่ได้อิสระจริงอย่างที่คิด แต่อาจจะเกิดจากการประมวลผลจากประสบการณ์ในอดีต สิ่งแวดล้อมรอบตัว และสารเคมีในร่างกาย จนชี้นำให้เราเลือกสิ่งนั้นอย่างบังคับและบอกให้เราเชื่อว่าเราเลือกมันอย่างเสรี
ในศตวรรษที่ 21 ร่างกายเราจะถูกเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์ต่างๆที่มากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้อาจจะมีแค่โทรศัพท์มือถือ บางคนอาจเริ่มมีอุปกรณ์สวมใส่อย่าง Apple Watch บางคนอาจมีอุปกรณ์บางอย่างที่ล้ำหน้ากว่านั้น และก็เป็นไปได้มากว่าในอนาคตเราคงฝังอุปกรณ์อะไรซักอย่างเพื่อเก็บข้อมูลร่างกายเราตลอดเวลาเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์ของเรา หรือไม่ก็ถ้าเราไม่ทำบริษัทประกันก็อาจปฏิเสธการทำประกันของเราก็ได้
พอเราถูกเก็บข้อมูลมากขึ้น Algorithm ก็จะเข้าใจตัวเรามากกว่าที่เราเข้าใจ มันอาจจะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มป่วย เมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มหิว หรือเมื่อไหร่ที่เรากำลังจะเริ่มโมโหกับคนรัก มันก็จะรีบบอกให้เราทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ อาจจะเปิดเพลงเบาๆผ่านลำโพงอัจฉิรยะอย่าง Google Home เพื่อทำให้เราใจเย็นลง
นั่นยังไงล่ะครับเจตจำนงเสรีที่ถูกควบคุมโดย Algorithm จาก Big Data
หรือ Netflix ในวันหน้าอาจจะรู้ว่าคุณชอบดูหนังที่มีเนื้อหาแบบไหน จากกล้องที่อยู่บนสมาร์ทโฟนหรือทีวีที่ขออนุญาตคุณในการเข้าถึงเพื่อบอกว่าจะทำให้ประสบการณ์การรับชม Netflix ของคุณดียิ่งขึ้น
จากนั้นกล้องก็จะวิเคระาห์กล้ามเนื้อบนใบหน้าเราออกมาเป็นพันๆครั้งในหนึ่งวินาที จนเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคุณว่าคุณชอบหัวเราะในฉากแบบไหน ประโยคแบบไหน จากนั้นก็จะเสนอหนังใหม่ๆที่มีเนื้อหาคล้ายเดิมให้คุณมากขึ้นเรื่อยๆ
นี่ยังไงล่ะครับเจตจำนงเสรีภายใต้ Big Data
หรือปัญหาเรื่องจริยธรรมกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ ที่เคยถกเถียงกันว่าเราจะยอมให้รถยนต์ขับเคลื่อนเองได้ 100% จริงหรือ แล้วจะทำอย่างไรถ้าเกิดปัญหาที่ต้องตัดสินใจระหว่างชีวิตคุณกับชีวิตเด็กที่พลัดล้มมาบนถนนโดยบังเอิญ
Algorithm การขับเคลื่อนของเองรถยนต์นั้นจะตัดสินใจอย่างไรถ้าทางเลือกมันมีแค่ชนเด็กตายแล้วคุณรอด หรือคุณยอมหักหลบไปชนเสาไฟให้เด็กรอดแต่คุณตาย และเผลอๆอาจทำให้รถที่วิ่งสวนทางมาตายไปด้วยก็ได้
นี่กลายเป็นปัญหาจริยธรรมที่กำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโจทย์ทางวิศวกรรม ด้วยการให้ผู้ใช้เลือกก่อนจะเดินทางว่าถ้าเกิดปัญหาทางสองแพร่งขึ้นมาจะตัดสินใจเลือกแบบไหน และบริษัทรถยนต์หรือผู้สร้าง Algorithm ก็ไม่ต้องตามมารับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะคุณเป็นผู้เลือกโดยเสรีอยู่แล้วใช่มั้ยครับ
หรือในเรื่องของเผด็จการดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของเรามากขึ้นทุกวัน ลองคิดดูซิครับว่าเมื่อรัฐบาลหันมาใช้ Algorithm ในการควบคุมประชากรมากขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น
ทุกภาพและทุกสเตตัสที่เราโพสไปบนโซเชียล หรือเขียนลงไปบนออนไลน์นั้นถูกตรวจสอบทุกคำโดยไม่ถามหรือต้องใช้หมายตรวจหมายค้นแบบเดิมเลยซักครั้ง
เมื่อก่อนการที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจบ้านเราได้ต้องมาพร้อมหมายค้น ไม่สามารถทำได้โดยอิสระ แต่วันนี้เจ้าหน้าที่สามารถทำได้โดยอิสระไม่ต้องใช้หมายค้นดิจิทัลใดๆเลย
และถ้า Algorithm ที่ใข้ตรวจสอบนั้นผิดพลาดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง เค้าโพสรูปในเฟซบุ๊กที่ตัวเค้ายืนอยู่ข้างรถแทร็กเตอร์ในี่ทำงาน ในภาพนั้นมีคำว่า “อรุณสวัสดิ์!” แต่เจ้าอัลกอริทึมอัตโนมัติแปลภาษาจากตัวอักษรอารบิกผิดไปเล็กน้อย แทนที่จะแปล Ysabechhum! ซึ่งหมายความว่า “อรุณสวัสดิ์!” กลับเข้าใจผิดคิดว่าเป็น Ydbachhum! ซึ่งหมายความว่า “ฆ่าพวกมัน!”
ชายผู้โชคร้ายเจ้าของรูปนั้นถูกกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิสราเอลยกกันไปจับตัวเค้าอย่างรวดเร็ว เพราะสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ตั้งใช้จะใช้รถแทร็กเตอร์ไล่ฆ่าทับคน
ลองคิดภาพดูนะครับว่า Algorithm ที่ทึ่มๆจะกลายเป็นตำรวจ digital ที่ตัดสินพลาดกับคนเป็นพันล้านคนในวันข้างหน้าดูนะครับ ว่ามันจะน่าสนุกซักแค่ไหน
การรวมศูนย์ข้อมูลและการตัดสินใจนั้นจะกลายเป็นทางออกใหม่ของการเมืองในยุค data ที่ต่างกับการรวมศูนย์แล้วพังพินาศในยุคคอมมิวนิสต์ของโซเวียตที่เคยเกิดขึ้นครับ
ในศตวรรษที่ 20 โซเวียตล่มสลายส่วนหนึ่งเพราะการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้การตัดสินใจล่าช้าจนไม่สามารถพัฒนาตามโลกาภิวัฒน์ได้ทัน ผิดกับคู่ปรับโลกเสรีอย่างอเมริกาที่ปล่อยให้เกิดการกระจายตัวของข้อมูลและการตัดสินใจออกไปหมด ทำให้เกิดการปรับตัวตามกระแสได้ทันจนกลายเป็นผู้นำในที่สุด
แต่นั่นเป็นเรื่องของศตวรรษที่ 20 ครับ เพราะในศตวรรษ์ที่ 21 ในยุคของ Big Data และขับเคลื่อนด้วย Algorithm นั้น การรวมศูนย์กลายเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการกระจัดการะจายของข้อมูล เพราะยิ่งข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งตัดสินใจได้ดีมากขึ้นเท่านั้น และนั่นจะกลายเป็นสวรรค์ของเผด็จการในยุคดิจิทัลอย่างที่เราไม่อาจนึกฝันเลยครับ
บทที่ 4 Equality, Those who own the data own the future ความเท่าเทียม ผู้ครอบครองข้อมูลคือผู้ครอบครองอนาคต
เราเคยเชื่อว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษที่ความเท่าเทียมเฟื่องฟูยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีทั้งหลายและ data อาจยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ทั้งหมด
เพราะ data จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและชีวิตของศตวรรษที่ 21 นี้
ในสมัยก่อนทรัพยากรสำคัญคือที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินมากที่สุดก็จะมีความมั่งคั่งมากกว่าคนอื่น และเราก็แยกชนชั้นสูงและชนชั้นล่างหรือสามัญชนด้วยจำนวนที่ดินที่ครอบครอง
ถัดไปความมั่งคงอยู่ในรูปแบบเครื่องจักรและโรงงานที่มีความสำคัญมากกว่าที่ดิน เพราะในยุคนี้ต่อให้มีที่ดินมากมาย แต่ถ้าไม่มีเครื่องจักร ไม่มีโรงงาน ก็ไม่สามารถสร้างผลผลิตมาแข่งขันสู้กันได้ ก่อให้เกิดระบบทุนนิยม เกิดเป็นชนชั้นนายทุนและกรรมาชีพ
ในช่วงนี้เกิดความสำคัญของชนชั้นกลางขึ้นมา โดยทั้งสองระบบเศรษฐกิจการเมืองทั้งเสรีนิยม และคอมมิวนิสต์ ต่างก็พยายามแย่งชิงทรัพยากรสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่เป็นชนชั้นกลางจำนวนมาก ให้หันมาเลือกข้างตัวเอง
ฟากเสรีนิยมก็ชักชวนผู้คนด้วยการบอกว่าคุณมีเสรีที่จะเลือก ระบบตลาดจะทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย และคุณก็จะมีความสุขมากขึ้นด้วยการได้เลือกบริโภคได้ตามใจ ฝั่งคอมมิวนิสต์ก็โฆษณาด้วยการบอกว่าที่นี่คือความเท่าเทียม ที่นี่ไม่มีนายทุนหรือชนชั้นสูงที่มาหากินกับหยาดเหงื่อแรงงานของเรา ทุกสิ่งที่เราทำได้จะกลายเป็นของเราเอง ทุกคนจะมีความสุขจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่เลือกเพื่อทุกคนมาอย่างดีแล้ว เราจะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยสวัสดิการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การดูแลสุขภาพ และเมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายรัฐสวัสดิการก็กลายมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลเสรีนิยมต้องรับช่วงต่อเพื่อดูแลชนชั้นกลางให้พาเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
แต่ในศตวรรษที่ 21 ผู้ที่ครอบครองข้อมูลจะกลายเป็นผู้ที่มั่งคั่ง การเมืองก็จะเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อควบคุมการไหลเวียนของข้อมูล อย่างที่เราเริ่มเห็นกฏหมายใหม่ๆที่เกิดออกมาเพื่อควบคุมข้อมูลเหล่านั้น โดยเฉพาะกฏ GDRP ที่ประกาศออกมาใช้ในภาคพื้นยุโรป แต่กลับส่งผลสะเทือนการเก็บ Data ของบริษัทชั้นนำทั่วโลก
ด้วยลักษณะพิเศษของ data ที่ไม่เหมือนกับทรัพยากรอื่นที่เคยมีมาตรงที่มันสามารถส่งต่อและทำซ้ำได้ในแบบที่แทบจะไม่มีข้อจำกัด จนอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ต่อมาว่า “ข้อมูลของเราเป็นของใครกันแน่” ข้อมูลสุขภาพที่ได้จากการฝังเซนเซอร์ในร่างกายเรากลับไปตกอยู่กับผู้อื่นที่เราไม่ต้องการได้อย่างไร และเราจะควบคุมทรัพยากร data นี้อย่างไรในอนาคต
และสิ่งที่น่ากลัวกว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจจาก data ยังไม่อาจน่ากลัวเท่าความไม่เท่าเทียมทางด้านชีววิทยาที่ได้มาจากเทคโนโลยี Bio-Engineer หรือการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมจากมนุษย์โฮโมเซเปียน ให้กลายเป็นสุดยอดมนุษย์ผู้ไม่มีข้อด้อยใดๆในยีนส์เลย
และชนชั้นกลางจำนวนมากก็จะไม่ใช่สาระสำคัญที่กลุ่มผู้นำจำนวนน้อยจะให้ความสำคัญอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาไปอย่างมาก ไม่ว่าจะปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติทั้งหลายที่สามารถเข้ามาแทนที่งานของชนชั้นกลางไปจนหมด จะทำให้คนหลายพันล้านคนบนโลกกลายเป็นชนชั้นที่ไร้ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป
มนุษย์จะแบ่งออกเป็นชนชั้นอภิมนุษย์ (superhuman) ผู้ที่สามารถเลือกตัดแต่งพันธุกรรมออกมาแบบไร้ที่ติและเต็มไปด้วยข้อได้เปรียบแต่กำเนิด กับโฮโมเซเปียนธรรมดาที่อาจจะเกิดมาพร้อมกับยีนส์ที่ไม่ดีแต่ไม่มีโอกาสแก้ไขได้ ทำให้แค่เกิดมาก็ต่างกันด้วยยีนส์ที่กำหนดสุขภาพ อุปนิสัย ไปจนถึงอนาคตแล้ว
ดังนั้นศตวรรษที่ 21 จะเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมมากกว่าที่เคยเป็นมาในทุกยุคสมัย ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Elysium เลยครับ
บทที่ 5 Community, Humans have bodies ชุมชน มนุษย์มีตัวตน
เมื่อปี 2017 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องชุมชนในระดับโลก เพราะสมาชิกในรูปแบบกลุ่มต่างๆทั่วโลกลดลงเหลือแค่หนึ่งในสี่ แต่เราจะทำอย่างไรในวันที่เราถอนตัวจากชีวิตออนไลน์แทบไม่ได้แล้ว
เฟซบุ๊กบอกให้เราเชื่อมต่อกับเพื่อนมากขึ้น แชร์ช่วงเวลาดีๆด้วยกันมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าการพบเจอเพื่อนในชีวิตจริงแต่ละครั้งเราใช้เวลาตรงนั้นในการสร้างภาพแชร์ออกไปบนออนไลน์ไม่น้อยเลยทีเดียว จนไม่แน่ใจว่าเราได้ใช้เวลาจริงๆกับเพื่อนตรงหน้ามากน้อยแค่ไหน
มันเป็นการเลือกระหว่างช่วงเวลาออนไลน์หรือออฟไลน์ ถ้า Algorithm ของ Facebook หรือ Google หรือ Social media ต่างๆไม่เลิกให้ค่ากับคะแนนความสำคัญบนออนไลน์ไปเป็นหลักการใหม่ที่เรียกว่า “เวลาที่ใช้ไปอย่างเหมาะสม” หรือ time well spent เราคงไม่ได้สัมผัสกับชุมชนจริงๆ และผู้คนจริงๆมากขึ้นอย่างที่ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กตั้งใจ
ยิ่งในวันที่เทคโนโลยีอย่าง AR และ VR กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ประสบการณ์เสมือนจริงยิ่งสมจริงขึ้นมาเรื่อยๆจนอาจจะถึงวันที่ “ประสบการณ์จริง” กลายเป็นของหรูหราราคาแพงที่แค่บางคนเท่านั้นจะเข้าถึงได้ในอนาคตก็ได้ครับ
บทที่ 6 Civilisation, There is just one civilisation in the world อารยธรรม โลกนี้มีอารยธรรมแค่เพียงหนึ่งเดียว
น่าแปลกที่เราอ้างอารยธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะอิสลามหรือตะวันตก จะเยอรมันหรือซีเรีย จะยุโรปหรือเอเซีย เราบอกว่าเรานั้นแตกต่างและหลากหลาย แต่กลับไม่มีใครมองเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของอารยธรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วสองเรื่อง นั่นก็เงินกับความรู้
เงิน เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นอารยธรรมสากลที่สุดในโลก ต่อให้ชาวอิสลามไม่ชอบอเมริกามากแค่ไหน ก็ไม่มีใครบ้าพอที่จะเผาเงินดอลลาร์ของอเมริกานั้น และในความเป็นจริงกลับยิ่งรักดอลลาร์นั้นด้วยซ้ำ เพราะเงินเป็นสิ่งหนึ่งในโลกที่ยอมรับกันโดยไม่มีข้อแตกต่างทางอารยธรรมใดๆ เราสามารถเอาเงินเค้ามาแลกเป็นเงินเราได้ไม่ยาก
ทำไมอารยธรรมโลกถึงไม่กลายเป็นหนึ่งเดียวที่หลอมรวมกันได้แบบที่เงินทำได้
ความรู้ คืออารยธรรมที่สองที่เป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก แม้แต่ในชาติอิสลามก็ยังยอมรับความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นหนึ่งเดียวกับชาติตะวันตก ในชาติคอมมิวนิสต์สุดขั้วอย่างเกาหลีเหนือก็ยังยอมรับคณิตศาสตร์เดียวกับญี่ปุ่นที่มีอารยธรรมต่างกันสุดขั้ว
เราเชื่อในความเป็นชาติ เชื่อในอารยธรรมของเราอย่างบ้าคลั่ง ทั้งที่ลืมคิดกันไปว่าชาติของประเทศทั้งหมดบนโลกนั้นล้วนเพิ่งเริ่มก่อตั้งมาแค่ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาเอง ก่อนหน้านี้เราอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืนที่ไร้เส้นแบ่งเขตแดนใดๆ แต่มาวันนี้เรากลับสร้างเส้นแบ่งทางอารยธรรมเพื่อกีดกันกันอย่างไม่รู้ตัว
บทที่ 7 Nationalism, Global Problems need global answers ลัทธิชาตินิยม ปัญหาระดับโลกต้องการคำตอบระดับโลก
จุดกำเนิดแรกเริ่มของชาติแรกในโลกนั้นเกิดขึ้นมาเพราะต้องการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่ใหญ่เกินกำลังกลุ่มตัวเองจะทำได้
ชนเผ่าโบราณริมแม่น้ำไนล์เมื่อหลายพันปีก่อนพบว่าถ้าฤดูไหนน้ำดีก็ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าปีไหนน้ำน้อยก็ทำให้อดอยากกันถ้วนหน้า ยังไม่นับว่าถ้าปีไหนน้ำหลากที่ก็จมน้ำตายเสียหายกันถ้วนหน้า ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหานี้ได้คือการต้องควบคุมแม่น้ำไนล์ให้ไหลตามต้องการ จึงเป็นที่มาของการสร้างเขื่อน
และการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมแม่น้ำนั้นก็ไม่สามารถทำได้ด้วยชนเผ่ากลุ่มเดียวหรือหนึ่งหมู่บ้านที่มีขนาดไม่เกิน 200-300 คนในตอนนั้น แต่ต้องเป็นการรวมตัวกันคนผู้คนนับหมื่นแสนขึ้นไปจนสามารถรวมพลังกันสร้างเขื่อนเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนขึ้นมาได้ และนั่นก็เป็นการรวมชาติได้เป็นครั้งแรกในอดีต
แต่ด้วยปัญหาที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยชาติใดชาติหนึ่ง ต่อให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ แต่แนวคิดเรื่องชาติต้องถูกเปลี่ยนไปให้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่ชาติ แต่ต้องเป็นพลเมืองโลก
เพราะ 3 ปัญหาใหญ่ในศตวรรษที่ 21 จะใหญ่มากจนไม่มีชาติใดชาติหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ทรงอำนาจพอจนสามารถแก้ไขมันได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโลก
นิวเคลียร์, ชีววิทยาหรือภาวะโลกร้อน และเทคโนโลยีปฏิวัติ
ต้องขอบคุณนิวเคลียร์ที่ทำให้โลกสงบสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกวันนี้ในสงครามแต่ละครั้งนั้นสั้นมากเมื่อเทียบกับสงครามก่อนยุคนิวเคลียร์ แต่ละครั้งใช้เวลาเป็นปีๆถึงหลายปี และก็มีคนตายเป็นแสนเป็นล้าน ถ้าเทียบกับสงครามทุกวันนี้ล่าสุดอินเดียปากีรบกัน 3 วันจบ และในแต่ละปีก็มีคนตายเพราะสงครามน้อยกว่าโรคเบาหวานเสียด้วยซ้ำ
แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศในโลกก็สะสมระเบิดนิวเคลียร์กันมากพอจนจะทำลายล้างโลกได้ไม่รู้กี่พันครั้ง และการจะพึ่งชาติมหาอำนาจเดียวให้ดูแลนั้นก็ไม่อาจทำได้ เพราะนิวเคลียร์ไม่ใช่ของหายากอีกต่อไป ดังนั้นวิกฤตนิวเคลียร์ต้องอาศัยการรวมใจจากทุกชาติบนโลก หรือต้องเกิดการจัดตั้งรัฐบาลโลกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างนั่งยืน
ปัญหาความท้าทายเรื่องนิเวศวิทยา จากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายมากขึ้นทุกที ปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่แทบจะไม่เคยลดลงเลยจากโลกนี้ ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัญหาสะสมที่กำลังทำลายล้างระบบนิเวศวิทยาหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ของเรา
ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ชาติใดชาติหนึ่งลงมือทำแล้วจะหยุด ถ้าจีนหยุดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แต่อเมริกาไม่ ผลกระทบก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับอเมริกา แต่มันสร้างผลกระทบต่อเนื่องทั้งโลก
หรือบางทีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นแม้จะส่งผลเสียต่อโลกทั้งใบ แต่ก็อาจทำให้บางประเทศในโลกที่เคยเสียเปรียบกลายเป็นจุดได้เปรียบขึ้นมา
ลองคิดดูซิว่าถ้าโลกร้อนขึ้นจนน้ำแข็งละลายมากขึ้น แถบไซบีเรียที่เคยเป็นน้ำแข็งมาตลอดจะกลายเป็นพื้นที่อบอุ่นใหม่ของโลก เมื่อนั้นความได้เปรียบทางเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนทิศทันที
ปัญหานี้ก็ต้องการความร่วมมือระดับโลกแบบที่รัฐบาลโลกเท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จก่อนที่มันจะสายไป
ปัญหาสุดท้ายการปฏิวัติจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน bio-engineer หรือพัทธุวิศวกรรม ลองคิดดูซิว่าถ้าประเทศหนึ่งห้ามการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านดังกล่าว บรรดาบริษัทและนักทดลองก็จะหันไปหาประเทศที่อนุญาตให้ทดลองได้ และเมื่อนั้นความได้เปรียบก็จะตกอยู่กับประเทศที่เปิดรับการทดลองเหล่านั้น ทำให้ประเทศที่เคยปิดกั้นต้องกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเองใหม่ ว่าจะเลือกระหว่างสิ่งที่เคยเชื่อ หรือความเสียเปรียบในการแข่งขันในอนาคต
ไม่ต้องเดาก็รู้ว่านักการเมืองจะเลือกทางไหน ดังนั้นปัญหานี้ถ้ายังเป็นการตัดสินใจแบบแยกประเทศ ก็จะไม่มีทางทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการรวมตัวในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เกิดผล
เพราะโลกเรามีใบเดียว และเราก็ล้วนพึ่งพาอาศัยชีววิทยาของโลกใบนี้ สิ่งที่เราทำแม้จะไม่เกิดผลกับตัวเราในวันนี้ แต่มันก็อาจจะไปส่งผลกับใครบางคนในอีกหลายพันกิโลเมตรโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเราไม่คิดถึงปัญหาระดับโลกในมุมมองระดับโลก ถึงเวลานั้นเราอาจจะไม่เหลือโลกให้แบ่งแยกกันแบบวันนี้แล้วก็ได้ครับ
บทที่ 8 Religion, God now serves the nation ศาสนา ปัจจุบันแม้พระเจ้าก็ยังรับใช้ชาติ
แต่ละชาติมักจะหยิบเอาศาสนาหลักของตัวเองไปตีความเพื่อเข้าข้างการตัดสินใจของตัวเองเป็นประจำ และศาสนาทั้งหลายก็กำลังเสื่อมความนิยมลงทุกวันในโลกของศตวรรษที่ 21
เพราะเมื่อก่อนเวลาเรามีปัญหาศาสนาเข้ามาแก้ปัญหานั้นให้เรา แต่วันนี้เราทุกศาสนาต่างใช้วิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาให้เรามากขึ้นทุกวัน เช่น สมัยก่อนเวลาจะทำการเกษตร เราต้องเข้าไปหาแม่มดหมอผี หรือศาสดาพยากรณ์ในการทำนายว่าช่วงไหนน้ำท่าจะมา ปีนี้จะแล้งหรือไม่แล้ง หรือปีนี้ควรปลูกอะไรดี แต่มาวันนี้เราสามารถใช้พยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้นทุกปี เราสามารถใช้เทคโนโลยีชลประทานสั่งน้ำให้ไหลเข้าที่นาได้ดั่งใจ หรือเราสามารถซื้อประกันผลผลิตในการป้องกันพืชผลไม่โตดั่งใจได้ตามต้องการ
หรือถ้าคุณเจ็บป่วยในสมัยก่อนคุณต้องไปรับการรักษาที่แตกต่างกันตามความเชื่อของพื้นนั่น ด้วยอาการเจ็บคอคุณอาจจะต้องถูกส่งไปหาพ่อมดหมอผีในที่นึง หรือถ้าคุณเป็นคนอีกพื้นที่นึงคุณอาจถูกส่งให้เข้าวัดไปสวดมนต์เป็นเวลา 3 วัน หรือถ้าเป็นอีกพื้นที่นึงด้วยอาการเดียวกันคุณอาจถูกให้หาสัตว์ซัก 3 ตัวมาบูชายันแล้วอาการเจ็บป่วยจะหายไป
แต่วันนี้ไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรด้วยอาการเจ็บคอนั้นสามารถรักษาได้ด้วยยาตัวเดียวกันจากทั่วโลก
นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมศาสนาและความเชื่อถึงค่อยๆเสื่อมความสำคัญลงในตัวมันเอง ส่วนหนึ่งเพราะศาสนาไม่เคยพัฒนาไปจากเดิมเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นมา พันปีก่อนเป็นอย่างไร ณ วันนี้มันก็เป็นไม่ต่างไปจากนั้นซักเท่าไหร่นัก
สิ่งที่ศาสนาหรือความเชื่อถนัดคือการตีความ ตีความสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น ถ้าเกิดฝนแล้งก็อาจจะแก้ด้วยการเต้นรำเพื่อขอฝน และทำพิธีบูชายันบางอย่าง แล้วถ้าฝนยังแล้งอยู่ก็อาจจะโทษว่าการเต้นรำนั้นไม่ถูกต้อง หรือสัตว์ที่นำมาบูชายันนั้นไม่ถูกใจเทพเจ้า สิ่งที่ศาสนาหรือความเชื่อทำได้ก็คือการโทษไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยพัฒนาตัวเองให้เก่งกาจขึ้นซักเท่าไหร่นัก
ผิดกับวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น คนจำนวนมากเลยหันมาเชื่อวิทยาศาสตร์หรือความรู้มากกว่าเรื่องงมงายปรัมปราอีกต่อไป
บทที่ 9 Immigration, Some cultures might be better than others การอพยพย้ายถิ่นฐาน บางวัฒนธรรมอาจเหนือกว่าวัฒนธรรม
สมัยก่อนเราอาจเหยียดกันด้วยเชื้อชาติ สีผิว เช่น เราเคยเชื่อกันว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่าคนผิวขาว หรือคนเอเซียนั้นด้อยกว่าคนตะวันตก แต่ในวันนี้ความเชื่อเหล่านั้นถูกพิสูจน์ผ่านวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่จริง คนดำไม่ได้มีอะไรด้อยกว่าทางชีววิทยาเลยซักนิด แถมยังเหนือกว่าในบางด้านอีกด้วยซ้ำ วันนี้การเหยียดกันเลยเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ว่าเพราะเธอทำตัวอย่างนั้นถึงได้ด้อยกว่าชั้นยังไงล่ะ
การเหยียดทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบถึงผู้อพยพมากมายที่เจ้าของประเทศทางยุโรปส่วนใหญ่ไม่เปิดรับ เพราะเค้าเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นทำวัฒนธรรมการกระทำตัวบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับประเทศเค้า ดังนั้นคนกลุ่มที่ว่าจึงไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในประเทศนี้
หรือแม้แต่การที่ Donald Trump บอกว่าคนเม็กซิกันด้อยกว่าคนอเมริกาไม่ใช่เพราะเชื้อชาติ แต่เพราะพวกเค้าทำตัวแบบนั้นแบบนี้ที่เราไม่ทำเท่านั้นเอง ดังนั้นประเทศอเมริกาเราจึงไม่เหมาะสมที่จะเปิดรับเค้าด้วยวัฒนธรรมที่ไม่เข้ากัน ถ้าเค้าอยากจะเข้ามาประเทศเรา เค้าก็ต้องทำตัวเหมือนเรา อยู่เหมือนเรา เป็นเหมือนเรา
บทที่ 10 Terrorism, Don’t panic การก่อการร้าย อย่าตระหนก
เริ่มจากรู้มั้ยครับว่าในแต่ละปีคนที่เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายนั้นมีจำนวนจริงๆน้อยมาก มากกว่าอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนในแต่ละวันอย่างเทียบไม่ได้อีกครับ แต่ทำไมเราส่วนใหญ่ถึงกลัวการก่อการร้ายมากเหลือเกิน
ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะสื่อต่างๆชอบโหมประโคมข่าวการก่อการร้ายให้ใหญ่โตเกินกว่าที่ควรจะเป็น เลยทำให้เรื่องการก่อการร้ายนั้นน่ากลัวเกินไปและใหญ่เกินจริงในความคิดเรา
การก่อการร้ายเปรียบเสมือนแมลงวัน ที่ไม่สามารถทำให้บ้านหลังนึงพังได้ แต่รู้มั้ยครับว่าถ้าแมลงวันนั้นฉลาดบินถูกจุดเข้าไปที่หูของวัวตัวหนึ่งแล้วส่งเสียงหึ่งๆน่ารำคาญ แล้วถ้าวัวตัวนั้นเกิดบ้าตามที่จะวิ่งชนข้าวของพังพินาศจนบ้านทั้งหลังพังลง นั่นก็เท่ากับว่าแมลงวันสามารถพังบ้านได้ด้วยวัวแต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของมันเอง
การก่อการร้ายเลยเป็นการสร้างภาพมากกว่าผลลัพธ์ อย่าง 911 ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผู้คนทั่วอเมริกาจนไปถึงทั่วโลกกลัวภาพที่เกิดขึ้นมากกว่าตัวผลลัพธ์เมื่อวิเคราะห์ออกมาจริงๆ และการก่อการร้ายก็จะยิ่งประสบความสำเร็จในแง่ของผลลัพธ์ในประเทศที่มีความปลอดภัยมากๆ ลองคิดดูซิว่าถ้าเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นในอิรัก หรือซีเรีย คงไม่มีใครตื่นตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเท่าไหร่นักจริงมั้ยครับ
การต่อต้านการก่อการร้ายที่ควรจะเป็นคือ รัฐบาลควรมุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านเครือข่ายอันน่ากลัวในทางลับ สื่อควรนำเสนออย่างพอเหมาะไม่ใส่สีตีไข่หรือตีโพยตีพายจนเกินไป และสุดท้ายก็คือจินตนาการของเราทุกคนเอง
การก่อการร้ายไม่ได้มุ่งหวังผลทางกายภาพ แต่มุ่งหวังผลกับความกลัวของคนส่วนใหญ่จนทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งใหม่ การเปลี่ยนผู้นำประเทศ หรือแม้แต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศนั้นๆไปเลย
เพราะการก่อการร้ายที่น่ากลัวจริงๆคือการใช้นิวเคลียร์ทำลายล้างทีได้เป็นล้านๆคน จนก่อให้เกิดสงครามจริงๆตามมาแบบที่เราเห็นอยู่ในภาพยนต์สายลับบ่อยๆครับ
บทที่ 11 WAR, Never underestimate human stupidity สงคราม ความประเมินความงี่เง่าของคนเราต่ำไป
เริ่มจากการเข้าใจก่อนว่ามนุษย์เรานั้นทำสงครามไปเพื่ออะไร ก็เพื่อต้องการแย่งชิงทรัพยากร ในสมัยก่อนก็หนีไม่พ้นที่ดิน จากนั้นก็เป็นแรงงานผู้คนที่ไล่ต้อนเอามาใช้แรงงาน จากนั้นก็เป็นเพื่อเอาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะสินแร่ ถ่านหิน น้ำมัน หรือยูเรเนียม แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้สงครามจะยิ่งด้ายค่าความสำคัญลง
เพราะการที่ประเทศหนึ่งมีชัยเหนือประเทศหนึ่งได้ไม่ได้ช่วยทำให้ประเทศนั้นมีความได้เปรียบแต่อย่างไร เพราะทรัพยากรสำคัญในวันนี้คือความรู้ คือข้อมูล ดังนั้นถ้าวันนี้จีนหรือรัสเซียยกทัพไปยึดครอง Silicon Valley ได้ ก็ไม่อาจยึดเอาความได้เปรียบที่ประเทศอเมริกามี หรืออยู่ในตัวคนอเมริกาได้ เพราะคนเหล่านั้นพร้อมจะบินหนีไปประเทศอื่นในทันที การรบแบบเดิมเลยไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการเมืองทุกวันนี้ นอกจากจะมีไร้เพื่อประดับบารมีอำนาจผู้นำ
สงครามที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นสงครามไซเบอร์เสียส่วนใหญ่ เป็นสงครามของ Algorithm เพื่อล้วงเอาข้อมูลลับของอีกฝ่าย หรือป้อนข้อมูลลวงให้อีกฝ่ายครับ
บทที่ 12 Humility, You are not the centre of the world ความถ่อมตน คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก
บรรดาศาสนา หรือชาตินิยมต่างๆมักหลงคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งปวงหรือโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ล้วนแต่หลงตัวเองคล้ายกัน โดยเฉพาะการยึดติดกับคัมภีร์เดิมของตัวเองที่ถูกเขียนขึ้นมาเมื่อไม่กี่พันปีก่อนว่าคือสาระสำคัญของโลกและจักรวาล จนลืมไปว่าแท้จริงแล้วอารยธรรมนั้นเริ่มมาก่อนหน้านั้นเป็นหมื่นปี ลืมไปว่าคณิตศาสตร์และภาษาเขียนนั้นมีมากว่าหมื่นปีแล้ว แต่ทำไมถึงยังยึดถือกันไปว่าอารยธรรมที่แท้จริงของมนุษยชาติเริ่มนับหนึ่งก็ตอนที่พระเจ้าของตัวเองจุติลงมาบนโลกกันนะ
นี่คือคำถามที่บนนี้มอบให้เรากลับไปทำความเข้าใจใหม่ ว่าทุกสิ่งที่อย่างล้วนมีมาก่อนหน้าเสมอ ก่อนจะมีมนุษย์เราก็คือลิงไร้หางสปีชีย์หนึ่ง ก่อนจะเป็นลิงเราก็เป็นสัตว์ชนิดอื่นมาก่อน หรือแม้แต่กระทั่งเรามีวิวัฒนาการมาจากอะมีบาด้วยซ้ำ
โลกนี้มีของที่เป็นสากลมากมายไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ฟิสิกส์ก็ไม่ใช่ของยิวหรือของคริสเตียน แต่เป็นของทุกคนบนโลกที่สามารถเรียนรู้ได้ ชีววิทยาก็หาใช่ของอิสลามหรือพุทธ แต่เป็นของที่ทุกคนเรียนรู้ได้
อย่าลำพองว่าเราคือศูนย์กลางของโลก หรือใจกลางของจักรวาล เราต่างเป็นแค่ธุลีในดาราจักรอันน้อยนิดนี้เมื่อเทียบกับหนึ่งแกแล็คซี่ด้วยซ้ำครับ
บทที่ 13 GOD, Don’t take the name of God in vain พระเจ้า อย่ากล่าวพระนามของพระเจ้าโดยเสียเปล่า
มนุษย์นั้นชอบกล่าวอ้างว่าอะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่และลึกลับล้วนต้องเป็นผลงานของพระเจ้า สมัยก่อนนั้นที่เรายังไม่รู้ว่าดวงอาทิตย์คืออะไร ดวงจันทร์คืออะไร ดวงดาวทั้งหลายบนท้องฟ้าคืออะไร เราก็กล่าวอ้างว่าเป็นผลงานของพระเจ้าที่สั่งให้พระอาทิตย์ขึ้นด้านนี้แล้วเรียกว่าทิศตะวันออก แล้วก็ตกด้านนั้นและก็เรียกว่าทิศตะวันตก
แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าเพราะอะไร เพราะการหมุนตัวของโลก เพราะการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และการเคลื่อนที่ของหมู่ดาวทั้งหลายในแกแล็คซี่ เราก็เลยยกพื้นที่ใหม่ให้พระเจ้านั่นก็คือจักรวาล จนเมื่อเราพบว่าจักรวาลน่าจะถือกำเนิดจากบิ๊กแบงเราก็ให้อำนาจใหม่กับพระเจ้าไปเรื่อยๆ
แต่ผู้เขียนตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า น่าแปลกที่พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสร้างโลกใบจิ๋ว และจักรวาลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ทำไมถึงต้องเอ่ยพระนามของพระเจ้ากับปัญหาจิ๋วๆอย่างการคุมกำเนิด การทำแท้ง การรักร่วมเพศ หรือการแต่งกายโชว์เนื้อหนังของผู้หญิงว่าเป็นบาป
เพราะถ้าพระเจ้ายิ่งใหญ่จริงคงไม่มีเวลามาสนใจเรื่องที่เล็กยิ่งกว่าขี้ประติ๋วแบบนี้บนดาวดวงเล็กๆแค่โลกใบเดียวหรอก เพราะท่านต้องดูแลทั้งจักรวาลนิจริงมั้ย
บทที่ 14 Secularism, Acknowledge your shadow คามิยนิยม ยอมรับเงาของตัวเอง
คามิยนิยมบางครั้งถูกตีความว่ากลุ่มคนผู้ไม่เชื่อในศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่คือกลุ่มคนที่เปิดรับทุกอย่างที่ดีกับตัวเอง เค้าเลยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับแค่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง
เค้าสามารถนั่งสมาธิกับชาวพุทธได้ในวันจันทร์ แล้วก็กินอาหารฮาลาลแบบอิสลามในวันอังคาร จากนั้นก็ไปสนทนากับแรบไบในวันพุธ แล้วก็สวดมนต์ร้องเพลงกับคริสในวันอาทิตย์ คามิยนิยมคือคนที่บูชาคุณค่าแห่งความจริง ความเมตตา ความเท่าเทียม เสรีภาพ ความกล้าหาญ และความรับผิดชอบ นี่คือพื้นฐานของสถาบันด้านประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
เวลาจะตัดสินอะไรเค้าจะไม่อ้างว่าพระเจ้าคิดอย่างไร หรือคัมภีร์บอกไว้ว่าอย่างไร แต่เค้าจะคิดจากมุมมองของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแบบคนกับคน ไม่ใช่แบบศาสนากับศาสนา
ถ้าเค้าจะคัดค้านการแต่งงานในเพศเดียวกันก็ไม่ใช่ด้วยเรื่องของหลักความเชื่อ หรือพระเจ้าบอกไว้ แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่สมควรในแง่มุมอื่นที่สามารถพิสูจน์หรือถกเถียงได้ ไม่ใช่ใช้ความเชื่อด้านพระเจ้ามาเป็นเสาหลักว่าห้ามเถียงไม่อย่างนั้นจะเป็นการลบหลู่
ดังนั้นคามิยนิยมไม่ใช่แค่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างลัทธิ fascism หรือชาตินิยมที่เคยเป็นมา แต่เป็นผู้ที่เชื่อในคุณค่าร่วมของประชาชนโลก เชื่อด้วยเหตุและผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ครับ
บทที่ 15 Ignorance, You know less than you think ความโง่เขลา คุณรู้น้อยกว่าที่คุณคิด
เราเคยเชื่อว่ามนุษย์ในวันนี้ต้องฉลาดกว่ามนุษย์ในยุคโบราณที่ยังเป็นพวกเก็บของป่าล่าสัตว์เหมื่อหมื่นกว่าปีก่อนเป็นไหนๆแน่
แต่ในความเป็นจริงแล้วสมองของเราหดตัวลงเล็กน้อยนะครับจากมนุษย์ในยุคนั้น เพราะเราไม่ต้องใช้ความรู้มากมายเพื่อมีชีวิตรอดเท่ากับคนป่าแต่อย่างไร
ลองคิดดูซิว่าสมัยก่อนคุณต้องรู้ว่าอะไรกินได้ไม่ได้ เห็ดแบบไหนมีพิษ หรือเราจะล่าสัตว์แบบนี้ได้อย่างไรโดยไม่ให้เจ็บตัว แต่ในวันนี้ถ้าเราอยากกินเราก็แค่เดินไปที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นก็เลือกหยิบอาหารจากวันหมดอายุ เท่านี้เราก็สามารถมีชีวิตรอดได้แล้ว
ดังนั้นในยุคที่เราจะถูก technology disruption นั้นก็จะยิ่งทำให้เรารู้น้อยลงไปอีก เราจะเหลือแค่เราต้องรู้แค่บางอย่างที่เฉพาะเจาะจงมากๆเพื่อให้มีงานทำ มีเงินมาซื้อข้าวกิน ยิ่งทำให้สมองเราใช้งานน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า
เราพึ่งพาความรู้ความสามารถของผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้เรามีชีวิตรอดครับ
บทที่ 16 Justice, One sense of justice might be out of date ความยุติธรรม สำนึกแห่งความยุติธรรมของเราอาจล้าสมัย
เพราะนิยามของความยุติธรรมในศตวรรษที่ 21 อาจไม่ใช่แค่การที่เราทำร้ายใครโดยตรงแบบเดิมๆตามตัวบนกฏหมาย แต่อาจหมายถึงการที่เราเลือกนั้นส่งผลกระทบไปทำร้ายใครด้วยหรือไม่ต่างหากครับ
เช่น ถ้าเราไม่เดินไปชกหน้าเพื่อนบ้าน หรือเด็กคนไหนในที่ห่างไกล เราก็คงไม่ได้ไปทำร้ายหรือทำผิดอะไรกับเค้าใช่มั้ยครับ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่ใช้แรงงานเด็กที่อยู่ห่างไกลด้วยค่าแรงต่ำและเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เป็นธรรมอย่างสิ้นเชิง แบบนี้ถือว่าเรายุติธรรมหรือผิดมั้ยครับ?
นี่จะกลายเป็นคำถามใหม่ของความยุติธรรมในศตวรรษนี้ ที่จะไม่ใช่การกระทำโดยตรงแต่หมายถึงผลกระทบโดยอ้อมจากการเลือกของเรา
ถ้าบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เป็นบริษัทปิโตรชื่อดังที่สัญญาว่าจะตอบแทนเรา 5% ทุกปี แต่บริษัทนั้นกลับไปทำให้แม่น้ำของชาวบ้านที่ห่างไกลเป็นพิษจนไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ แบบนี้เราควรได้รับผลกระทบอะไรในฐานะที่สนับสนุนบริษัทดังกล่าวจากการถือหุ้นด้วยมั้ยครับ
ไม่แน่นะครับความยุติธรรมข้างหน้าอาจครอบคลุมมาถึงจุดนี้ และนั่นเป็นสิ่งที่สามารถตรวจสอบและติดตามได้ไม่ยากเลยในยุค data ที่กำลังเป็นอยู่ครับ
บทที่ 17 Post-Truth, Some fake news lasts for ever ยุคหลังสัจธรรม ข่าวลวงบางชิ้นจะคงอยู่ตลอดไป
ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ในปี 1931 กองทัพญี่ปุ่นสร้างฉากการโจมตีตัวเองปลอมๆขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการรุกรานจีน หรือการตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษในออสเตเรียก็อ้างเหตุผลตามหลักกฏหมายของ terra nullius หรือ แผ่นดินที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งส่งผลให้ลบประวัติศาสตร์กว่า 50,000 ปี ของชาวอะบอริจินไปจนสิ้น
ก็เหมือนี่รัสเซียสร้างเหตุผลปลอมๆขึ้นมาเพื่อเข้ารุกรานยูเครนและยึดครองพื้นที่ในไครเมียโดยบอกว่ากองทัพที่เข้ายึดครองนั้นไม่ใช่ของรัสเซีย แต่เป็นประเทศเกิดใหม่ที่เป็นกองกำลังป้องกันตัวเองที่เกิดขึ้นเองของชาวบ้าน แต่เครื่องไม้เครื่องมือที่กองทัพนั้นใช้เป็นของรัสเซียทั้งนั้น
ทำไมมนุษย์เราถึงเชื่อในเรื่องโกหกง่ายดาย? นั่นก็เพราะการเชื่อในเรื่องเล่าหรือเรื่องแต่งนั้นเป็นจุดแข็งของสปีชีย์เราอย่างไม่น่าเชื่อ การสร้างจินตนาการร่วมทำให้เราสามารถรวมตัวกันเอาชนะสปีชีส์อื่นที่แข็งแกร่งกว่ามาได้ตลอด
และในขณะเดียวกันเราก็สร้างความเชื่อบางอย่างเพื่อเอามากดขี่มนุษย์ด้วยกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความด้อยกว่าของเพศหญิงที่ในพระคัมภีร์บอกว่าผู้หญิงนั้นล่อลวงให้อดัมต้องกินผลแอปเปิ้ลในสวนต้องห้าม หรือความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะในอินเดียที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นพันๆปีว่าห้ามติดต่อสัมพันธ์กันข้ามชนชั้น
ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งพันคนเชื่อเรื่องแต่งบางเรื่องเป็นเวลานาน 1 เดือน นั่นเรียกข่าวลวง เมื่อคนหนึ่งพันล้านคนเชื่อเรื่องนั้นเป็นเวลา 1,000 ปี นั่นเรียกศาสนา
ในช่วงเลือกตั้งที่อเมริกาในปี 2016 เคยมีการปล่อยข่าวลวงโจมตีฮิลลารี คลินตันว่าควบคุมเครือข่ายการค้ามนุษย์โดยกักขังเด็กๆไว้ที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าแห่งหนึ่ง แล้วก็มีชาวอเมริกามากมายเชื่อจนส่งผลต่อแคมเปญการเลือกตั้งของฮิลลาลี และมีบางคนพกปืนไปที่ร้านเพื่อขอให้เปิดชั้นใต้ดินให้ดู แต่กลับพบว่าร้านพิซซ่านั้นไม่มีชั้นใต้ดินด้วยซ้ำ!
นี่ยังไงล่ะครับพลังของข่าวลวงที่น่ากลัวเหลือเกินในยุคนี้
การสร้างแบรนด์ก็คือการหลอกลวงเช่นกัน อย่างโค้กเองที่สร้างภาพกับวัยรุ่น ความสดใส การออกกำลังกายมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วโค้กนั้นไม่ได้ทำให้สุขภาพดีหรือแข็งแรง แต่กลับทำให้เราเป็นโรคอ้วนหรือเบาหวานในระยะยาวด้วยซ้ำ
ทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ เราต้องรู้จักแยกแยะความจริงและความลวงออกจากข้อมูลที่ได้รับ ต้องรู้จักตรวจสอบแหล่งที่มาว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารแทนที่เราจะได้ใช้ประโยชน์มัน กลับกลายเป็นว่ามันใช้ประโยชน์เราครับ
บทที่ 18 Science Fiction, The future is not what you see in the movies นิยายวิทยาศาสตร์ อนาคตไม่ได้เป็นแบบที่เห็นในภาพยนต์
เรามักถูกภาพยนต์บ่มเพาะความคิดประเภทว่าเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งชิงชีวิตของคนส่วนใหญ่ไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคืออภิชนคนกลุ่มน้อยๆที่ต่างหากที่จะเอาชีวิตเราทั้งหมดไปด้วย Algorithm ของเค้า ด้วย AI ของเค้า
เราถูกหนังอย่าง Matrix บอกว่าเราจะถูกเครื่องจักรจองจำ แต่ในความเป็นจริงเราน่าจะถูกจองจำแบบเรื่อง Huger Game ของกลุ่มคนเล็กๆที่อาศัยอยู่ในวังและชาวบ้านก็ต้องส่งส่วยให้ตลอดเวลา แค่ทุกอย่างมันดูทันสมัยกว่าในหนังเท่านั้นเอง
ผู้เขียนบอกว่าเราน่าจะให้นักวิทยาศาสตร์หัดเรียนรู้วิธีที่จะเล่าเรื่องให้ได้อย่างผู้สร้างภาพยนต์ชั้นนำ ไม่ว่าจะ Speilberg หรือ Michael Bay เพื่อจะได้ถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ออกมาให้คนทั่วไปสนใจและเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ด้วยการผ่านบทความทางวิทยาศาสตร์ที่น้อยคนนักจะเข้าใจ หรือเขียนไว้เพื่อให้อ่านกันเองในวงนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน
บทที่ 19 Education, Change is the only constant การศึกษา ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งเดียวที่แน่นอน
เชื่อมั้ยว่าทักษะที่เราเรียนรู้ในวันนี้จะล้าสมัยจนไม่สามารถใช้หากินได้ก่อนปี 2050 ด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนาไปเร็วมากก่อให้เกิดงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้เมื่ออยู่ในศตวรรษที่ 21 คือการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงให้เร็วเกินกว่าที่จะจินตนาการไหว
ถ้าเป็นเมื่อพันปีหรือร้อยปีก่อน ทักษะที่เราเรียนรู้จากพ่อแม่ครูอาจารย์จะสามารถให้เราใช้งานไปได้ตลอดชีวิต อาจจะเป็นทักษะการอ่านเขียน ทักษะการเลี้ยงวัว แต่เราไม่มาทางนึกออกว่าการเมืองในปี 2050 จะเป็นอย่างไร หรือการติดต่อสื่อสารของเราในตอนนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนโทรศัพท์ไร้ปุ่มกดที่เมื่อ 20 ปีก่อนไม่เคยถือกำเนิดขึ้นมาก่อนด้วยซ้ำ และไม่มีใครคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะไร้สายและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งทักษะการเรียนรู้ภาษาที่ว่ายากนักหนาในบางภาษา และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเชี่ยวชาญหรือแม้แต่พอใช้งานได้ อาจจะไม่จำเป็นเมื่อ AI สามารถแปลภาษาที่เราได้ยินในทันทีแบบที่เจ้าของภาษาอาจจะยังทำไม่ได้ทุกคน
ทักษะสำคัญคือการแยกแยะข้อมูลให้เป็นและมองเห็นภาพรวมของข้อมูลต่างๆให้ออก
ในยุค data ที่เต็มไปด้วยข้อมูลในรูปแบบ digital ที่มีให้เราเรียนรู้ได้ไม่หมดนั้น สิ่งสำคัญคือการรู้จักแยกแยะว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือไม่น่าเชื่อถือ รู้จักแยกแยะว่าข้อมูลไหนเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรือข้อมูลไหนสามารถเอาไปต่อยอดกับเรื่องอื่นได้ และสามารถเอาข้อมูลท้งหมดมาประกอบรวมแล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ๆได้
นี่คือการใช้ข้อมูลแบบหลายมิติที่จะกลายเป็นทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 ในยุคที่ข้อมูลมีไม่จำกัด แต่เวลาเรากลับไม่เคยเพิ่มตาม ใครที่ใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์มากกว่ากัน คนนั้นคือผู้ชนะ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนบอกว่าโรงเรียนควรจะเปลี่ยนไปสอน 4C คือ Critical thinking การคิดเชิงวิพากษ์, Communication การสื่อสาร, Collaboration การประสานร่วมมือกัน และ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าแค่การพยายามป้อนข้อมูลให้นักเรียนแบบเดิมๆเหมือนที่เคยเป็นมา
ในศตวรรษที่ 21 ร่างกายเราจะยิ่งถูกแฮกผ่านเซนเซอร์ต่างๆ ดังนั้นถ้าเราไม่รู้จักตัวเองดีพอที่จะชี้นำ Algorithm ให้ทำเพื่อเราอย่างที่เราต้องการ เราก็จะเป็นฝ่ายถูก Algorithm ชี้นำให้เราทำอย่างที่เจ้าของมันที่เป็นอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆต้องการครับ
บทที่ 20 Meaning, Life is not a story ความหมาย ชีวิตไม่ใช่เร่องเล่า
บทนี้มีเนื้อหามากกว่าหลายๆบทที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของการทำให้เราตาสว่างหรืออย่างน้อยก็มองเห็นว่าเราทุกคนล้วนถูกเรื่องเล่ามากมายกล่อมเกลาให้เราเป็นเราโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเรื่องเล่าจากศาสนาที่พ่อแม่ป้อนให้เรา นักบวชป้อนให้เรา หรือแม้แต่ภาพยนตร์นิยายต่างๆป้อนให้เรา ว่าเราอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทุกอย่างที่หน้าที่ของตัวเอง หรือเรามีหน้าที่ต้องออกไปค้นหาชีวิตที่เป็นอิสระก็ตาม
เซเปียนยิ่งใหญ่ก็เพราะเรื่องเล่า แต่ในขณะเดียวกันความยิ่งใหญ่นั้นถูกจำกัดไว้ให้ก็กับแค่ผู้เล่าเรื่อง เพราะเรื่องเล่าเหล่านั้นกลับมาจำกัดผู้เชื่อให้ต้องอยู่ตามกรอบโดยไม่รู้ตัวมาเป็นเวลานาน
และพิธีกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่ต้องระวัง เพราะยิ่งถ้าเราลงมือทำอะไรบางอย่างลงไป นั่นก็เป็นการทำให้เราตอกย้ำความเชื่อนั้นให้ตัวเราเอง นี่เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เราควรต้องรู้เท่าทันเอาไว้ อย่าให้ใครมาชักจูงเรา
จงใช้ชีวิตเพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งหลาย อย่าหลงงมงายไปกับเรื่องเล่ามากมายรอบตัวโดยไม่ตั้งคำถามอย่างใส่ใจ อย่าใช้ชีวิตตามคลื่นแต่จงรู้จักมองคลื่นให้เห็นจุดเริ่มต้นและจุดจบอย่างเข้าใจ
บทที่ 21 Meditation, Just observe การทำสมาธิ แค่สังเกต
จากที่ผมจำได้จากเล่ม Sapiens รู้สึกว่าผู้เขียนน่าจะหลงไหลสนใจในการทำสมาธิเป็นประจำ เรื่องนี้ทำให้คิดย้อนถึงคนไทยที่นับถือพุทธทั้งหลายว่า เราเคยใช้เวลาไปกับการทำสมาธิแบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่การทำสมาธิเป็นหัวใจของพุทธ เป็นสิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าบรรลุธรรมก็ว่าได้
ผู้เขียนบอกว่าทักษะสุดท้ายที่สำคัญคือการใช้ชีวิตอยู่รู้และเข้าใจ เข้าใจจิตใจมากกว่าแค่ปัญญาหรือความฉลาดภายนอก เข้าใจมากกว่าแค่สมองด้วยเครื่องสแกนต่างๆ
นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจเรื่องสมาธิ เรื่องสมอง ด้วยการเชิญนักทำสมาธิเก่งๆมาวัดคลื่นสมอง แต่ตัวนักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยเหล่านั้นเองกลับไม่ค่อยลงมาสำรวจด้วยตัวเองทั้งที่ทำได้
เรามักใช้ชีวิตไปกับการกังวลอนาคต กังวลว่าตายแล้วไปไหน วิญญาณชั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งที่สาระสำคัญในชีวิตคือการอยู่กับชีวิตในนาทีนี้ วินาทีนี้ ชั่วขณะนี้เท่านั้น
การทำสมาธิทำให้เราสามารถรู้เท่าทันโลกรอบตัว รู้เท่าทันโลกในตัว รู้เท่าทันว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่ปฏิกิริยาอะไรบางอย่างในร่างกายเท่านั้น รู้ว่าความโกรธนั้นไม่ใช่ความจริง ความทุกข์นั้นไม่ใช่ความจริง มันก็เป็นอีกแค่ปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้เท่านั้น
ถ้าเราแก้ได้ก็ลุกขึ้นไปลงมือแก้ แต่ถ้าเราแก้ไม่ได้แล้วเราจะเอาใจไปใส่กับมันทำไม บางทีทางแก้ที่ดีที่สุดอาจจะเป็นแค่การปล่อยให้มันเป็นไปอย่างยอมรับและเข้าใจก็เท่านั้น
นี่คือทักษะสุดท้ายที่สำคัญยิ่งอย่างไม่น่าเชื่อ และคุณรู้มั้ยว่าการทำสมาธินั้นกลายเป็นคอร์สสอนที่ราคาแพงมากในฝากฝรั่งชาติตะวันตก ทั้งที่เป็นสิ่งที่อยู่กับพุทธมาตลอด แต่เรากลับสนใจมันน้อยมาก
และนี่คือสรุปหนังสือที่น่าจะใช้เวลาสรุปนานที่สุด เริ่มตั้งแต่ตอนสายๆของวัน จนถึงตอนนี้หกโมงเย็นแล้ว เป็นหนังสือที่ดีมากอีกหนึ่งเล่มที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน แม้เห็นภายนอกว่าทั้งดูหนาและใหญ่น่ากลัวไม่รู้ว่าจะอ่านจบเมื่อไหร่ แต่เชื่อมั้ยครับว่าอ่านง่ายกว่าที่คิดและอ่านสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ
ต้องชื่นชมผู้แปลที่สามารถถ่ายทอดได้อย่างไหลลื่น การจะแปลเรื่องที่มีความวิทยาศาสตร์ผสมกับความรู้หลากแขนงได้ดีขนาดนี้ต้องใช้ทักษะมหาศาล ผมรอติดตามเล่มหน้าอยู่นะครับ
สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของศตวรรษที่ 21 มากขึ้น เข้าใจว่าการจะอยู่รอดในศตวรรษนี้ได้ต้องมีทักษะอะไรบ้าง เริ่มจากการเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลกรอบตัว เข้าใจเกมของสังคม เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากเทคโนโลยี เข้าใจที่จะแยกแยะข้อมูลให้ออก วิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น และก็รู้จักใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์
บางทีทางออกของศตวรรษที่ 21 คือการเอาตัวเองออกจากระบบ เอาตัวเองออกจากเกมที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของ AI หรือผู้เขียนกฏ Algorithm ทั้งหลายขึ้นมา ออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้มากที่สุด แล้วก็หาความสุขเล็กๆน้อยๆให้ตัวเองทุกวัน ด้วยการนั่งอ่านหนังสือไปด้วยกันจนวันกว่าจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 22 ครับ
อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 22 ของปี 2019
21 Lessons for the 21st Century
21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21
Yuval Noah Harari เขียน
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต แปล
สำนักพิมพ์ GYPZY
20190408