ทำไม Skype ถึงไม่ได้เกิดมาจาก AT&T
Paypal ไม่ได้เป็นของ Visa
Twitter ไม่ได้มาจาก CNN
Uber ไม่ได้เริ่มต้นที่ GM หรือ Hertz
Google ไม่ได้แยกออกมาจาก Microsoft
iTune ไม่ได้มาจากค่ายเพลงดังอย่าง Sony
Instagram ไม่ได้ถูกคิดโดย Kodak
Netflix ไม่ได้กำเนิดออกมาจาก Blockbuster
เพราะนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ล้วนเกิดจาก “คนนอก” ทั้งสิ้น
น่าแปลกใจที่ “ยักษ์ใหญ่วงใน” ล้วนถูก “คนนอก” เข้ามาสั่นคลอนอยู่เสมอ ทั้งที่มีทรัพยากรมากกว่า มีความรู้ในอุตสาหกรรมนั้นมากมาย แต่กลับมองไม่เห็นจุดบอด ปัญหา หรือโอกาสรอบตัวที่มี จนล้วนแต่ถูกคนนอกที่เราพูดถึงเข้ามาสั่นสะเทือนให้ทั้งวงการโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ต้องขยับตัว
หรือเพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมีต้นทุนที่สูงกว่า?
ไม่ใช่ในแง่ของการลงทุนด้วยเหตุและผล แต่เป็นในแง่ของ “จิตวิทยา” ความรู้สึกที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ Kodak ที่สร้างนวัตกรรมอย่าง “กล้องดิจิทัล” ขึ้นได้ก่อนใครบนโลก กลับเก็บเทคโนโลยีนี้ไว้ก้นกรุเพื่อปกป้องธุรกิจฟิล์มของตัวเอง จนต้องล้มละลายในที่สุด
Blockchain ก็เหมือนกัน นวัตกรรมจาก “คนนอก” ที่จะเข้ามาสั่นสะเทือนระเบียบวิธีการธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหมดที่เป็นอยู่ให้ต้องปรับตัวกันตามๆไป
มองในแง่นึงก็รู้สึกว่า blockchain เหมือนกับ internet ตรงที่เปลี่ยนให้อะไรที่เคยเป็น physical เคยจับต้องได้ ให้อยู่ในรูปของ digital ที่จับต้องไม่ได้แต่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่
จากเดิมที่เคยต้องเดินไปธนาคาร หรือค้นหาข้อมูลในห้องสมุด ก็เปลี่ยนเป็นเอาห้องสมุดและธนาคารมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่เราจะเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้
ทั้งหมดนี้ลดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปจนถึงการใช้ชีวิตของเราทั้งหมด จากเดิมที่ต้องนั่งเฝ้าทีวีอยู่บ้านเพื่อรอดูละครเรื่องโปรด กลายมาเป็นจะดูละครเรื่องโปรดพร้อมกันตอนไหนก็ได้ แถมยังจะดูย้อนหลังเมื่อไหร่ก็ได้
นี่คือการปฏิวัติของ internet ที่เปลี่ยนข้อมูลรอบตัวเราให้กลายเป็นดิจิทัลไปเกือบทุกอย่างแล้ว
แล้ว blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนยังไงต่อ?
ต้องบอกว่าในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ “ข้อมูล” ส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ข้อมูลของสรรพากรก็จะถูกเก็บรวมศูนย์ไว้ที่สรรพากรเท่านั้น การจะเข้าถึงข้อมูล หรือการจะเข้าไปแก้ไข ก็ล้วนแต่ต้องผ่านสรรพากรเท่านั้น
หรืออย่าง Facebook ที่เราทุกคนใช้กันทุกวันก็เก็บข้อมูลทั้งหมดของเราไว้ที่เฟซบุ๊กเท่านั้น โดยเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเก็บอะไรและเอาข้อมูลของเราไปใช้อะไรบ้าง และข้อมูลที่เฟซบุ๊กเก็บไว้ก็ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ คิดง่ายๆว่าถ้าเปลี่ยนข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นเงินได้ เฟซบุ๊กเก็บเงินทั้งหมดไว้ในตึกของเฟซบุ๊กที่เปรียบเสมือนเซิฟเวอร์ที่ใหญ่โตมาก และก็ย่อมตกเป็นเป้าหมายปองของเหล่าโจรผู้ร้ายที่อยากจะขโมยเงินออกมาจากเฟซบุ๊ก และล่าสุดในกรณีโด่งดังที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่าง cambridge analytica ที่ข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนหลุดออกไป
ถ้าเปรียบข้อมูลเป็นเงิน คงไม่มีใครที่ไหนบนโลกที่จะเอาทรัพย์สินทั้งหมดที่ตัวเองมีเก็บรวมไว้ที่เดียว เพราะนั่นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ไม่เชื่อลองไปถามเพื่อนๆคนรอบตัวที่พอมีเงินฝากหลักล้านซิครับ ว่าเค้ากระจายทรัพย์สินออกไปอย่างไร บ้างก็เอาไปฝากที่พร้อมใช้เป็นเงินสด บ้างก็เอาไปเก็บในรูปของ LTF บ้างก็เอาไปลงในตลาดหุ้น หรือบ้างก็เอาไปลงในคอนโด
ดังนั้น Blockchain เลยเกิดขึ้นมาเพื่อการกระจายศูนย์ออกไป เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกรวมศูนย์ หรือการป้องกันการแก้ไขจากผู้ที่มีอำนาจเป็นเจ้าของศูนย์กลางที่เป็นอยู่
ลองคิดถึงกรณีที่พนักงานธนาคารทำเงินฝากในบัญชีคุณหายไป อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ แต่ก็เกิดขึ้นได้เพราะเค้าเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลของเราได้ โดยที่เราที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นแท้ๆกลับไม่มีสิทธิ์นั้นเลย
เมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกกระจายไว้บน Blockchain แล้วยังไงต่อ ข้อมูลเราจะไม่เป็นสาธารณะไปหมดหรอ? แล้วประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลจะต่างไปยังไง
หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงความเป็นส่วนตัว และความเป็นสาธารณะไว้อย่างน่าสนใจว่า “ก็เหมือนกับการที่คุณสามารถตะโกนอะไรออกไปก็ได้ โดยที่คุณยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครบ้างที่เข้าใจในสิ่งที่คุณตะโกนออกไป โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะให้บางคนที่เข้าใจทั้งประโยคที่คุณตะโกน หรือบางคนเข้าใจได้ทั้งหมด
Blockchain ทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ด้วยการเข้ารหัสแบบ SHA-256 ที่ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลเดียวกันได้หมด แต่คนที่เข้าใจความหมายของมันจะมีเฉพาะคนที่มีกุญแจเท่านั้น
เปรียบเหมือนกับข้อมูลทางการแพทย์ที่มีเฉพาะหมอเจ้าของคนไข้เท่านั้นที่รู้ว่าแฟ้มนี้เป็นของผู้ป่วยคนไหน ส่วนคนอื่นที่มาอ่านก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นใคร
ทั้งหมดที่น่าจะเกิดขึ้นคือ “ตัวกลาง” ที่จะถูกถอดออกไปจาก “ระบบ” ตัวกลางที่ว่าหมายถึงการ “รวมศูนย์” ไว้ที่ใดที่นึง ไม่ว่าจะเป็น Uber ที่เก็บข้อมูลคนขับและคนใช้ไว้ที่ตัวเอง หรือ Airbnb ที่เก็บข้อมูลห้องและผู้พัก ต้นทุนในการทำธุรกรรมผ่านคนกลางจะต่ำลงอีก เพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรงผ่านระบบที่ปราศจากคนกลางอย่าง Blockchain
หนังสือเล่มนี้ให้ภาพของอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับ Internet 2.0 อย่าง Blockchain แม่นมั้ยไม่รู้ ผมว่าอีกสิบปีข้างหน้าถ้าหยิบมาอ่านอีกครั้งก็จะบอกได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้คือผู้เขียนคนนี้ Don Tapscott เคยเขียนหนังสือชื่อว่า Digital Economy ไว้เมื่อปี 1995 ที่ทำนายถึงการเปลี่ยนขึ้นจาก Internet ได้ค่อนข้างแม่นมาก
ที่บอกว่าแม่นมากเพราะผมเพิ่งได้อ่านหนังสือที่ว่านี้เมื่อปีที่แล้ว 2017 เอง ทั้งที่เขียนไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วแต่แม่นอย่างกับตาเห็น บอกได้เลยว่ากว่า 80% ที่เขียนถือว่าตรงมาก
ดังนั้นพอผมเห็นหนังสือเล่มนี้ ที่เขียนโดยคนผู้นี้ ผมไม่ลังเลที่จะหยิบออกมาจากงานหนังสือล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันก่อน แล้วก็ต้องลัดคิวอ่านเล่มนี้ทั้งที่ยังมีอีกร้อยกว่าเล่มมารอก่อนหน้าแล้ว
ถ้าคุณทำงานการเงิน กฏหมาย หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะ “คนกลาง” คุณควรอ่านเล่มนี้ไว้เพื่อรู้จักและทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะกระทบกับชีวิตการงานของคุณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เพราะยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งรู้ว่าจะรับมือหรือร่วมมือกับมันยังไง
เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณเปลี่ยน โลกก็จะเปลี่ยนคุณเอง
Dan Tapscott และ Alex Tapscott เขียน
พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ แปล
สำนักพิมพ์ ดีไวน์ แมจิก