อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ หนึ่งในนักเขียนน้อยคนที่เขียนให้คนธรรมดาแบบผมเข้าใจและหลงไหลในเรื่องเศรษฐศาสตร์ได้ เพราะแนวคิดของอาจารย์คือ “ไม่ต้องแบกบันไดอ่าน” จนผมเองเป็นหนึ่งคนที่ตามเก็บตามอ่านหนังสือของอาจารย์แทบทุกเล่มเท่าที่จะหาได้ ตั้งแต่ซีรียส์ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ทั้งสิบเล่ม ขาดก็แต่เล่ม 6 ที่สำนักพิมพ์ไม่พิมพ์แล้วและก็หามือสองจากไหนไม่ได้ทั้งนั้น และชุดเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านทั้ง 10 เล่มของสำนักพิมพ์ Openworlds และก็ตามมาถึงชุดใหม่นี้ Global Change ที่มาถึงเล่ม 3 แล้ว
ถ้าถามว่าเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับคนเราชาวบ้านยังไง ผมว่าที่เกี่ยวที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุดก็คือเรื่องของ “ปากท้อง”
เพราะทุกอย่างที่เรากิน ทุกอย่างที่เราใช้ นั้นล้วนถูกผลิตสร้างเพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการแลกเปลี่ยนทั้งในระดับชาวบ้านที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์จุลภาค และระดับชาติที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์มหภาค ฉะนั้นใครที่ยังหายใจต้องกินต้องใช้ ผมว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ทั้งนั้น
แม้แต่ตายแล้วก็ยังต้องเกี่ยวอีกซักพักหรือไม่น้อย เพราะไหนจะงานศพ งานเลี้ยง งานเชงเม้งที่ลูกหลานต้องขับรถให้เศรษฐกิจดำเนินไปเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อบรรพบุรุษ กระดาษเงินกระดาษทองที่ต้องเผากันให้ต่างๆนาๆ ถ้าคนไทยก็การทำบุญใส่บาตรให้ญาติสนิทมิตรสหายคนรักที่ล่วงลับไปแล้ว..
เห็นมั้ยครับ..แม้แต่ตายไปก็ยังต้องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อยู่ดี
Global Change เล่มที่ 3 เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาของโลกที่เข้าสู่ยุค AI หรือ 4.0 ในทุกภาคส่วน ผลกระทบในด้านบวกก็มีมากมายมหาศาลไม่ว่าจะความสะดวกสบายในชีวิต การเชื่อมต่อหรือเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ การเปิดโอกาสให้คนต่างๆมากมายทั่วโลก แต่ก็อย่าลืมว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน
ผลกระทบด้านที่เกี่ยวกับมนุษย์เรามากที่สุดก็คือการตกงานหรือตำแหน่งงานที่จะหายไปในอนาคตอย่างรวดเร็ว อย่างในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เริ่มด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้คนงานและสัตว์ที่ต้องใช้แรงงานเพื่อให้เกิดผลผลิตไม่จำเป็นอีกต่อไป
ต่อมาที่การปฏิวัติครั้งที่ 2 คือไฟฟ้า ทำให้เกิดการผลิตในปริมาณมากล้นจนเกิดเป็น Economic of scale เครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆมากมายเข้ามาแทนที่คนชั้นล่างอีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ขยายฐานชนชั้นกลางขึ้นมาอย่างมากมาย
พอก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือเรื่องของสารสนเทศ ไอที หรืออินเตอร์เนต ที่ทำให้การเข้าข้อมูลความรู้ต่างๆ หรือการเชื่อมต่อกันนั้นง่ายระดับปลายนิ้วคลิ๊ก จากโลกที่เคยกว้างใหญ่ต้องใช้เวลาแรมเดือนในการจะเข้าถึงกัน หดไกล้ลงจนโลกนั้นเล็กกว่าที่เราคิด เรื่องที่เกิดขึ้นในมุมใบ มาถึงโตเกียวได้ในเสี้ยววินาที..
และโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่ชอบเรียกกันว่า 4.0 เนี่ยแหละ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่คือการต่อยอดและผสมผสานเทคโนโลยีหลายด้านที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติอุตสหากรรมครั้งที่สาม เพื่อให้รับใช้มนุษย์ได้หลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีเหล่านั้นก็เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (ถ้านึกไม่ออกก็นึกถึงหุ่น Asimo ของ Honda ก็ได้) นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และพันธุวิศวกรรม ตัวอย่างทั้งหมดนี้คือผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร และสุดท้ายจะเป็นอันตรายต่อโลกมากน้อยเพียงใด
อาจจะมีหุ่นที่ฉลาดกว่ามนุษย์ หรือเชื้อโรคร้ายแรงที่เกิดจากพันธุวิศวกรรมก็เป็นได้
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแค่ไหน แต่ถ้าเรารู้จักปรับตัวไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ เราก็จะอยู่รอดและมีสุขตามอัตภาพที่หาได้บนโลกนี้ได้ไม่ยาก ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน”
สัจธรรมจากสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน ก็ยังคงจริงไปอีกสองพันห้าร้อยปีถัดไปแน่นอน