The Internet of Things อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง

เขียนโดย Samuel Greengard แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล สำนักพิมพ์ openworlds

สำหรับคนทำงานเกี่ยวกับดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี คำว่า internet of things หรือที่เราเรียกกันย่อๆว่า IoT นั้นคงเป็นอะไรที่คุ้นเคยและคิดว่ารู้จักกันดี แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็เหมือนได้เปิดโลกรู้จักความหมายของ Internet of things อีกหลายเรื่องหลากแง่มุมที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย

หนังสือ The Internet of Things เล่มนี้เล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ในยุคแรกเริ่มที่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิด จนมาถึงในอนาคตอันไกลที่โลกเราจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อเพิ่มขึ้นประมาณ 250 ชิ้นต่อวินาที ในปี 2020 จนมากถึง 1,500,000,000,000 ชิ้นทั้งโลก จนเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมหาศาลระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด จนกลายเป็น Big Data (ต้องเรียกว่าโคตรของโคตร big data ถึงจะถูก) สิ่งที่ต้องการตามมาก็คือพลังในการประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างที่ต้องการ ไม่อย่างนั้นข้อมูลที่ไม่เกิดค่าหรือสามารถใช้ประโยชน์ได้ก็ไม่ต่างอะไรกับกองขยะของข้อมูลเลย

นอกจาก IoT แล้ว ก็ยังมี IoH (Internet of Humans) คือตัวเราเองก็ยังส่งข้อมูลของตัวเองขึ้นไปบน Cloud เหมือนกับสิ่งของที่เชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลเหมือนกัน เช่น Apple Watch หรือ Fitbit ที่คอยวัดข้อมูลของเรา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนก้าวที่เดิน จังหวะหัวใจที่เต้น หรือเราเบิร์นไปแล้วกี่แคลอรี่ แต่ในความหมายของ IoH นั้นไปไกลกว่านั้น ไกลขนาดที่ว่าข้อมูลแทบทุกอย่างของคนเราจะวัดได้ผ่านหุ่นยนต์ nanobot หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จะส่งข้อมูลของคนเราตลอด 24 ชั่วโมงขึ้นไปบน Cloud เซิฟเวอร์เพื่อเก็บและประมวลผลส่งคำตอบที่เราต้องการกลับมาให้

และเมื่อ IoT กับ IoH เกิดขึ้นแล้วก็จะเข้าสู่นิยามใหม่ที่เรียกว่า IoE (Internet of Everything) หรือทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเชื่อมต่อกันหมดแล้ว

แต่ทั้งหมดนี้จะตามมาด้วยปัญหาใหญ่หนึ่งปัญหาสำคัญนั่นคือเรื่องของ “ความปลอดภัยของข้อมูล” เพราะข้อมูลทุกอย่างของเราที่เคยถือว่าเป็นส่วนตัวนั้นจะไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป และจะเกิดปัญหาการสวมรอยทางดิจิทัลกันมากขึ้น เคสเบาะๆคือการขโมยบัตรเครดิตไปใช้ อีกหน่อยเราอาจจะถูกใครก็ไม่รู้มาสวมตัวกลายเป็นเราทั้งคน และตัวเราก็จะกลายเป็นใครไปแทนก็ไม่รู้

แต่…ทุกอย่างย่อมมีสองด้านมาพร้อมกัน เราไม่อาจเลือกแค่กลางวันโดยปราศจากกลางคืนไปได้ เมื่อ IoT เข้ามาเพื่อทำให้ชีวิตทุกด้านเราง่ายขึ้น มันก็ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะถูกคนที่ไม่หวังดีเข้าถึงตัวเราได้แบบประชิดตัวเช่นกันถ้าใครที่เคยดูภาพยนต์เรื่อง Fast and Furious 8 มา ยังจำฉากที่กลุ่มตัวเอกของเรื่องถูกฝูงรถไล่ล่าผ่านการแฮก จนมีสภาพเหมือนถูกฝูงรถซอมบี้ไล่ล่ายังไงยังงั้นมั้ยครับ

คุณคือ Big Data…รู้มั้ยครับว่ามนุษย์คนนึงนั้นสร้างข้อมูลขึ้นมามากถึง 6 เทระไบต์ ถ้าถามว่าแล้วมันเยอะขนาดไหน ก็ลองนึกถึงหนังสือซัก 3 ล้านเล่มดูแล้วกันครับ นั่นแหละครับคนหนึ่งคนมีข้อมูลตั้งแต่เกิดจนตายเยอะประมาณนั้นเลย

ปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องของ “พลังงาน” เพราะการเชื่อมต่อเข้าสู่ดิจิทัลตลอดเวลานั้นต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล คิดภาพเล่นๆเอาแค่ทุกวันนี้มือถือเราถ้าไม่ชาร์จระหว่างวัน หรือพกพาวเวอร์แบงก์สำรองไว้ คงใช้งานได้ไม่ถึงครึ่งวันแน่ๆ แต่ปัญหาก็ย่อมจะมาพร้อมกับทางออก เพราะในเร็วๆนี้หน้าจอมือถือของเรา หรือแม้แต่จอแสดงผลทุกประเภทนั้นจะกลายเป็นหน้าจอที่สามารถชาร์จพลังแสงอาทิตย์ได้ในตัว (ลองเสริชคำว่า “Solar Panels in the Screens” ดูครับแล้วคุณจะทึ่ง)

บริบทของข้อมูล…จะเปลี่ยนชีวิตเราทุกคนไปอีกระดับ ทุกวันนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ IoT หรือการวัดและจัดเก็บข้อมูลจากสิ่งรอบตัวเท่านั้น แต่ลองคิดดูซิว่าถ้าวันนึงระบบประมวลผล หรือ ai สามารถเข้าใจบริบทของข้อมูลนั้นได้ ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปได้อีกขนาดไหน สมมติว่าเราใส่ fitbit ไว้ที่ข้อมือของเรา แล้วเราก็กำลังจะเดินจากจุด a ไป b สิ่งข้อมูลรู้คือเราเดินไปเป็นระยะทางเท่าไหร่ เดินไปกี่ก้าว ใช้พลังงานไปกี่แคล ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง แต่ถ้าระบบสามารถเข้าใจบริบทของข้อมูลได้แบบมนุษย์มากขึ้น เช่น จากจุด a ไป b คือการที่เรากำลังเดินไปซื้อกาแฟที่สตาร์บัค ระบบอาจจะส่งข้อมูลที่เตือนว่าคุณกินกาแฟเยอะเกินไปแล้วช่วงนี้ หรืออาจจะส่งส่วนลดกระตุ้นให้คุณไปกินกาแฟที่ True Coffee แทนก็ได้

การศึกษาที่จะเปลี่ยนรูปแบบไป จากเดิมเราต้องเรียนรู้วิชาเพื่อจะได้มีความรู้นั้นติดตัวไป แต่ในเร็ววันนี้เด็กยุคใหม่อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรติดตัวมากนัก เพราะทุกความรู้หรือคำตอบนั้นสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต จนเกิดแนวโน้มที่เรียกว่า “de-skilling” การเลิกพึ่งพาทักษะ เพราะจะแทนได้ง่ายๆด้วย “ทักเสริช” (สวัสดี Siri ฉันอยากรู้ว่า…)

แล้วสมาธิก็สั้นลงจนปลาทองยังจำอะไรได้มากกว่า เพราะเราถูกเร้าด้วยข้อมูลมากมายตลอดเวลา มีการทดลองจากการดูข่าวทีวีพบว่า กลุ่มที่ดูข่าวโดยไม่มีตัววิ่งด้านล่างอย่างพวกตลาดหุ้น หรือข่าวด่วนตัวหนังสือแทรกนั้น สามารถจดจำเข้าใจเนื้อหาของข่าวได้ดีกว่ากลุ่มที่มีตัวหนังสือวิ่งแทรกตลอดเวลาอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ยังเป็นแค่คนที่มี “ความสนใจจำกัด”

ทั้งหมดแล้วที่หนังสือ The Internet of Things จะบอกก็คือ ทั้งหมดนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เราเพิ่งจะเริ่มเชื่อมต่อสิ่งรอบตัวเข้าหากันเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น ทั้งหมดที่เราต้องทำก็คือเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก IoT ให้มากที่สุด และก็พยายามรู้เท่าทันมันให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตไปอีกคน

The Internet of Things อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง

Samuel Greengard เขียน
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds

อ่านเมื่อปี 2017

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/